สถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย. - 1 ก.ค. 65

2 กรกฎาคม 2565

Amnesty International

สหรัฐอเมริกา : คำตัดสินศาลฎีกาที่ยกเลิกสิทธิทำแท้งตามรัฐธรรมนูญเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์

วันที่ 24 มิถุนายน 2565

 

จากกรณีที่คณะตุลาการศาลฎีกาสหรัฐมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงกลับคำพิพากษาคดี Roe v Wade ฉบับปี 2516 ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิการยุติตั้งครรภ์ของผู้หญิงเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ทาราห์ เดแมนต์ (Tarah Demant) รักษาการผู้อำนวยการโครงการการผลักดันเชิงนโยบายและกิจการของรัฐ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกากล่าวว่า วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเนื่องจากศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาคดี Roe v Wade และเพิกถอนสิทธิ์ในการทำแท้งของชาวอเมริกัน 

 

ผู้หญิงนับล้านคนในสหรัฐอเมริกาที่สามารถตั้งครรภ์ได้ กำลังเผชิญกับอนาคตที่จะไม่สามารถตัดสินใจที่ส่งผลต่อร่างกายของพวกเขา อนาคตของพวกเขาและสวัสดิภาพของครอบครัวพวกเขาได้เลย

 

“การพิจารณาคดีนี้ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสหรัฐอเมริกาโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของพวกเขาในการตั้งครรภ์ คุณอาจจะรู้จักบางคนที่เคยทำแท้ง เราต่างรู้ว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิงในสหรัฐต่างแสวงหาการทำแท้งในช่วงชีวิตของพวกเขา” เดแมนต์กล่าว

 

ประชาชนเหมือนถูกผลักให้กำเนิดบุตร พวกเขาจะถูกผลักให้ไปทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และนี้เป็นผลของการรณรงค์ที่จะควบคุมร่างกายของผู้หญิง เด็กและประชาชนที่ตั้งครรภ์มานับทศวรรษ และปูทางไปสู่การออกกฎหมายของรัฐเพื่อลงโทษการทำแท้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่นเดียวกับร่างกฎหมายที่มุ่งตัดสิทธิมนุษยชนจากประชาชนในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งร่างกฎหมายต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิในการคุมกำเนิด เพศ การสมรสเท่าเทียมและกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ

 

“สำหรับผู้ที่สนับสนุนเราและคนอื่นๆ ทั่วโลกที่กำลังเฝ้าดูด้วยความรู้สึกหวาดกลัวและเจ็บปวดที่เรารู้สึกและเราอยากจะบอกว่า ไม่ว่าคุณกำลังรู้สึกโกรธ กลัว ถูกหักหลัง เศร้าเสียใจ คุณไม่ได้อยู่คนเดียว คุณเป็นหนึ่งในชาวอเมริกันนับล้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินในวันนี้ คุณเป็นหนึ่งในผู้คนนับสิบล้านคนทั่วโลกที่เคลื่อนไหวขบวนการรากหญ้าเพื่อสิทธิมนุษยชนนี้ นี่คือที่มาของพลังและความหวังของพวกเรา พวกเราคือส่วนใหญ่” เดแมนต์กล่าว

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3OAzgTG

 

ยูเครน : แอมเนสตี้สรุปรายงานสอบสวนเหตุโจมตีโรงละครในเมืองมาริอูโปลจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถือเป็นอาชญากรรมสงครามโดยกองกำลังรัสเซีย

30 มิถุนายน 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้สรุปผลการสืบสวนสอบสวนอย่างกว้างขวางพบว่า กองกำลังทหารรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงคราม หลังจากโจมตีโรงละครมาริอูโปลในประเทศยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบรายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

ในรายงานฉบับล่าสุด " ‘Children’: The Attack on the Donetsk Regional Academic Drama Theatre in Mariupol, Ukraine ระบุว่าองค์กรที่จัดทำรายงานได้ชี้ว่าทหารรัสเซียมีแนวโน้มโจมตีโรงละครอย่างจงใจแม้รับรู้ว่ามีพลเรือนกว่าร้อยชีวิตกำลังหลบภัยอยู่ที่นั้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา และทำให้การโจมตีครั้งนี้ได้กลายเป็นอาชญกรรมสงครามอย่างชัดเจน

 

คณะทำงานตอบโต้สถานการณ์วิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตและเก็บรวบรวมหลักฐานดิจิทัลจำนวนมาก โดยสรุปได้ว่าการโจมตีในครั้งนั้นดำเนินการโดยเครื่องบินต่อสู้รัสเซียซึ่งทิ้งระเบิดที่มีน้ำหนัก 500 กิโลกรัมจำนวน 2 ลูกในบริเวณใกล้เคียงกันและต่อมาได้เกิดระเบิดขึ้น

 

“ หลังจากการสืบสวนสอบสวนภาพถ่ายดาวเทียมและการสัมภาษณ์พยายานบุคคลจำนวนมากอย่างเข้มข้นนานหลายเดือน เราสรุปได้ว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการก่ออาชญากรรมสงครามอย่างชัดเจนโดยกองทัพรัสเซีย ” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

 

คาลามาร์ดกล่าวอีกว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากจากการโจมตีอันไร้ความปรานีนี้ การเสียชีวิตของพวกเขาน่าจะเกิดจากการกองกำลังรัสเซียได้กำหนดเป้าหมายโจมตีไปที่พลเรือนยูเครนอย่างจงใจ

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมารัสเซียได้ยิงขีปนาวุธโจมตีห้างสรรพสินค้าในเมืองเครเมนชุก ประเทศยูเครน และคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 18 ราย  บาดเจ็บอย่างน้อย 40 ราย ต่อมารัสเซียได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กำหนดเป้าหมายการโจมตีไปที่ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3bGUEbj

 

สหรัฐอเมริกา : แอมเนสตี้ประณามนโยบายการย้ายถิ่นฐานอย่างไร้มนุษยธรรมของสหรัฐ ระบุเป็นอันตรายมากขึ้นต่อผู้คนที่ต้องการการคุ้มครอง

วันที่ 28 มิถุนายน 2565

 

จากรายงานข่าวที่ระบุว่า พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย ในรถบรรทุกที่เมืองซานแอนโตนิโอ มลรัฐเทกซัส และผู้โดยสารคนอื่นๆ อีกกว่าสิบรายถูกนำส่งโรงพยาบาลนั้น 

.

เอริกา เกบารา-โรซาส (Erika Guevara-Rosas) ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าโศกนาฏกรรมในเมืองซานแอนโตนิโอครั้งนี้เป็นตัวอย่างอันน่าเศร้าของความล้มเหลวของรัฐต่างๆ ทั่วอเมริกาในการปกป้องผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัย เป็นเรื่องสะเทือนใจที่สะท้อนว่าสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนและจะเกิดขึ้นต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการย้ายถิ่นของสหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างทั่วถึง

 

"นโยบายการย้ายถิ่นที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมเป็นอันตรายต่อชีวิต บีบบังคับให้ผู้คนใช้เส้นทางที่เสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือหาสถานที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถสร้างชีวิตใหม่ได้ แทนที่จะผลักดันผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยเข้าสู่สถานการณ์ที่สิ้นหวังซึ่งเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ จมน้ำ หรืออดน้ำจนเสียชีวิต รัฐต่างๆ ต้องนำสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของนโยบายและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อปกป้องพวกเขา" เอริกากล่าว

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3y6cigg

 

จีน : การไต่สวนนักศึกษาชาวอุยกูร์เป็นการตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลจีนในการจำคุกชาวมุสลิม

วันที่ 27 มิถุนายน 2565

 

ซูลาร์ ยาสิน (Zular Yasin) นักศึกษาชาวอุยกูร์ที่กำลังถูกไต่สวนในข้อหาแบ่งแยกดินแดนในเมืองอุรุมชี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนในการคุมขังชาวมุสลิมอย่างผิดกฎหมายในเขตซินเจียง 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า นักศึกษารายนี้ถูกกักขังที่บ้านของเขาเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ขณะที่ครอบครัวของเขาได้รับแจ้งว่าเขาจะถูกลงโทษจำคุกนานถึง 5 ปี ทั้งนี้เขาตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากเขาได้เดินทางไปประเทศตุรกีเมื่อตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่นเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

 

เกวน ลี (Gwen Lee) เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การดำเนินคดีครั้งนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของภูเขาน้ำแข็งที่เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค และชาวมุสลิมอื่นๆ ในซินเจียง แต่ได้สะท้อนภาพรวมกลไกการปราบปรามของรัฐบาลจีน

 

ยาสินเป็นเหยื่อรายล่าสุดของการรณรงค์ของรัฐบาลจีนในการกักขังชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่นๆ ในเรือนจำจำนวนมาก ครอบครัวของเขาบอกว่ารัฐบาลจีนไม่ได้หาหลักฐานใดๆ สำหรับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน

 

เขาได้ให้การต่อสู้ในชั้นศาลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยทนายที่รัฐบาลจีนแต่งตั้งให้ แทนที่จะเป็นทนายที่เขาเลือกเอง ซึ่งขัดต่อมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

 

ยาสินได้ศึกษาเกี่ยวกับทางด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยอิสตันบูลเป็นระยะเวลา 2 ปีด้วยกันระหว่างปี 2557 - 2559 ขณะที่ชาวอุยกูร์และชาวเมืองซินเจียงคนอื่นๆ ที่เคยไปต่างประเทศก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเช่นเดียวกัน

 

การดำเนินคดีชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในเมืองซินเจียงมักถูกปกปิดเป็นความลับ ทั้งนี้แอมเนสตี้ได้รับทราบความทุกข์ทรมานของยาสินโดยติดต่อผ่านญาติพี่น้องเขาที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ 

 

ญาติของเขารายหนึ่งที่เป็นชาวดัตช์ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ตำรวจไม่มีหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรมที่เขาถูกกล่าวหา ประเทศจีนไม่มีกฎหมายเลย ส่วนชาวอุยกูร์ก็กำลังตกเป็นเป้าหมายและถูกคุมขังด้วยข้อหาที่ไม่มีอยู่จริง ขณะที่ญาติของยาสินรายนี้ก็เรียกร้องให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์แทรกแซงคดีดังกล่าว

 

ล่าสุดรัฐบาลจีนอ้างว่าประชาชนบางส่วนกำลังได้รับการปล่อยตัวหรือสิ้นสุดการปรับทัศนคติที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในระดับนานาชาติ ลีบอกว่า แม้จะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเมื่อเหยื่อเหล่านี้ถูกส่งตัวเข้าคุกตามอำเภอใจ เนื่องจากใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือหลังการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม 

 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะถูกคุมขังในคุกหรือในค่าย การคุมขัง การทรมานและการประหัตประหารชาวอุยกูร์และกลุ่มมุสลิมอื่นๆ ในเมืองซินเจียงนั้นล้วนผิดกฎหมายและดำเนินการอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง ประชาคมโลก รวมทั้งสหประชาชาติจะต้องเพิ่มความพยายามอย่างทวีคูณในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเมืองซินเจียงโดยทางการปักกิ่ง 

 

อ่านต่อ :

https://bit.ly/3ucEcWK



ฮ่องกง : แอมเนสตี้เรียกร้องผู้ว่าเกาะฮ่องกงคนใหม่ยุติแผนทำลายเสรีภาพของพลเมือง

วันที่ 30 มิถุนายน 2565

 

หลังจากที่นายจอห์น ลีได้รับเลือกดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกง” คนใหม่ ต่อจากนางแคร์ลี หล่ำและเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยก่อนหน้านี้เขาได้ประกาศแผนที่จะนำกฎหมายการปราบปรามมาใช้ในเกาะฮ่องกง 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แสดงความกังวลต่อแผนการปราบปรามดังกล่าวและเรียกร้องให้ผู้นำเกาะฮ่องกงคนใหม่เปลี่ยนแนวทางของตนเองอย่างสิ้นเชิงเพื่อป้องกันการล่มสลายของสิทธิมนุษยชนของประชาชน 

 

เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก  (Erwin van der Borght) ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า จากประวัติการทำงานด้านการปราบปรามของลีที่ผ่านมานั้นทำให้เกิดข้อกังวลทางด้านสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงอย่างมาก อีกทั้งเขายังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของฮ่องกงและเป็นผู้นำการปราบปรามนักกิจกรรม นักการเมืองฝ่ายค้าน และภาคประชาสังคมต่างๆ โดยใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้เขายังชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงในปี 2562 อีกด้วย

 

รัฐบาลท้องถิ่นชุดใหม่มักมองหาโอกาสที่จะทำลายอดีตเสมอ ทั้งนี้อนาคตของเสรีภาพของฮ่องกงขึ้นอยู่กับรัฐบาลของลีที่จะเปลี่ยนจากการใช้จุดยืนอันรุนแรงที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดบนเกาะฮ่องกง โดยต้องเริ่มจากยกระดับกฎหมายให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3bARYMx



อียิปต์ : แอมเนสตี้เรียกร้องยกเลิกโทษประหารชีวิตในการพิจารณาคดีหมู่ที่ไม่เป็นธรรมและไร้ความปราณี

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 

 

จากกรณีที่ศาลอาญาในกรุงไคโรได้ตัดสินผู้ต้องหา 206 คน โดยพิพากษาให้ประหารชีวิต 10 คนและจำคุก 153 คนตั้งแต่ 10 ปีจนถึงตลอดชีวิต แอมนา กูเอลลาลี (Amna Guellali) รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า คำตัดสินในวันนี้เป็นการดูถูกความยุติธรรม การพิจารณาหมู่ครั้งนี้สำหรับประชาชนมากกว่า 200 คนโดยเป็นคดีที่เกียวกับการบังคับให้สูญหายและการทรมาน รวมทั้งเด็กด้วย ขณะที่ทางการอียิปต์ไม่ให้จำเลยเข้าถึงทนายความของตน ตลอดจนกระบวนก่อนการพิจารณาคดีและกระบวนการพิจารณาคดี บางคนถูกห้ามไม่ให้พบครอบครัวตั้งแต่ปี 2559 ส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวในสภาพที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมที่เรือนจำอัล-อัคราบ (al-Aqrab) และ โตรา (Tora) อันฉาวโฉ่ซึ่งเท่ากับเป็นการทรมาน

 

ทางการต้องดำเนินการสืบสวนสอบข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายและการทรมานทั้งหมด อีกทั้งต้องอนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนเข้าถึงทนาย ครอบครัวและการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมในทันที 

 

นอกจากนี้ทางการต้องยกเลิกคำตัดสินและสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวไว้นานกว่าสองปีในคดีที่ขัดต่อกฎหมายอียิปต์

 

หากถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล พวกเขาจะต้องได้รับการพิจารณาคดีใหม่อย่างยุติธรรมโดยไม่มีการใช้โทษประหารชีวิต

 

การลงโทษผู้ต้องหา 10 คนด้วยโทษประหารชีวิตและกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ทางการต้องประกาศพักใช้โทษประหารชีวิตโดยทันทีและระงับโทษประหารชีวิตซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การยกเลิก

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3y0ZkQV

 

คิวบา : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประณามการลงโทษจำคุกสองศิลปินที่ใช้งานศิลปะสะท้อนปัญหาในคิวบา

วันที่ 24 มิถุนายน 2565

 

จากกรณีที่ศาลท้องถิ่นในเมืองฮาวานาได้มีคำตัดสินลงโทษจำคุก ลูอิส มานูเอล โอเตโร อัลคานตารา (Luis Manuel Otero Alcántara) เป็นระยะเวลา 5 ปีและ มายเคล คาสติโย่ เปเรซ (Maykel Castillo Pérez) เป็นระยะเวลา 9 ปีตามลำดับ โดยทั้งสองเป็นศิลปินที่ใช้ผลงานศิลปะของตัวเองสะท้อนปัญหาการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในประเทศคิวบา ด้าน เอริกา เกบารา-โรซาส (Erika Guevara-Rosas) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับศิลปินทั้งสองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่รัฐบาลของ มิเกล ดีอาซ คาเนล (Miguel Diaz-Canel) ใช้ระบบตุลาการเพื่อทำให้เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์กลายเป็นอาชญากร รวมถึงการแจ้งข้อกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

 

แม้มีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายในประชาคมโลก แต่กระบวนการพิจารณาคดีของ ลูอิสและเปเรซที่ไม่ควรเกิดขึ้น ก็ยังเดินหน้าและอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจอย่างเข้มงวด

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลจากนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าว โดยประณามการปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงในบริเวณใกล้เคียงที่พักของพวกเขาเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาออกไปนอกบริเวณศาลที่มีการพิจารณาคดี

 

การพิจารณาคดีของลูอิสและเปเรซเป็นตัวอย่างที่น่าอับอายของวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากนโยบายการปราบปรามของรัฐบาลคิวบาที่มีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอประณามการลงโทษนักโทษทางความคิดที่ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเองเท่านั้น 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้ปล่อยลูอิสและเปเรซอย่างเร่งด่วนและไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกเพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและปกป้องสิทธิของพวกเขาในประเทศคิวบา

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3NiARfG