สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรอบสัปดาห์ 20 - 24 มิถุนายน 2565

25 มิถุนายน 2565

Amnesty International

ไทย : แอมเนสตี้ส่งจดหมายถึง ผบ.ตร. เร่งสืบสวนคดีการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ สมน้อย

วันที่ 20 มิถุนายน 2565

 

จากกรณีนายวาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ผู้ชุมนุมที่ถูกยิงด้วยกระสุนระหว่างการชุมนุมบริเวณสถานีตำรวจนครบาลดินแดง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยมารดาของวาฤทธิ์และทนายความได้พยายามร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง และได้ติดตามความคืบหน้าทางคดีกับสถานีตำรวจนครบาลดินแดง และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ทั้งนี้ข้อมูลจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุว่า จากการสอบถามไปยังสำนักงานอัยการฯ ซึ่งให้ข้อมูลว่าได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวน สน. ดินแดงแล้ว และได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สน. ดินแดงดำเนินการสอบสวนในบางประเด็นเพิ่มเติม และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 สำนักงานอัยการฯ แจ้งว่าได้มีหนังสือเตือนไปยังพนักงานสอบสวน สน. ดินแดง ถึง 5 ครั้ง ซึ่งจะครบกำหนดที่พนักงานสอบสวน สน. ดินแดง ต้องส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีความกังวลต่อความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของคดีนายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการร่วมชุมนุม และขอให้เจ้าหน้าที่เร่งสืบสวนและดำเนินการทางคดีอย่างไม่ล่าช้า เป็นอิสระ และสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ครอบครัวของผู้เสียหายได้รับความยุติธรรม 

 

การปฏิบัติเหล่านี้ยังสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำอันตรายทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมหรือผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามข้อเรียกร้องต่อไปนี้

 

  1. ให้สถานีตำรวจนครบาลดินแดงส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมให้กับอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เพื่อให้มีการสอบสวน สืบสวน ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งชี้แจงกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความรับผิดและหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่เป็นเด็กเเละครอบครัวของผู้เสียหายอย่างเเท้จริง

 

  1. ประสานงานให้ความคุ้มครองสิทธิที่จะเข้าถึงและได้รับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายจากรัฐผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว และรายงายความคืบหน้าของกระบวนการอย่างต่อเนื่องให้กับญาติผู้เสียหายและทนาย

 

  1. เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะแนวทางการประกาศใช้ข้อกำหนดและการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยกเลิกบทบัญญัติที่ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความรับผิดและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การปรับปรุงหลักการในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ให้สอดรับคล้องกับหลักการระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

อ่านต่อ 

https://bit.ly/39QVMJ8

 

อัฟกานิสถาน : ยุติความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน

วันที่ 20 มิถุนายน 2565

 

สมาชิกสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถานยืนหยัดร่วมกันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานทั่วโลกเนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล

 

ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยกย่องความแข็งแกร่งและความกล้าหาญของพวกเขาที่ต้องถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง เนื่องจากความขัดแย้งและการประหัตประหารชีวิต 

 

ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรับทราบถึงความทุกข์ยากอันแสนสาหัสที่พวกเขาได้เผชิญ โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงให้คำมั่นสัญญาที่จะส่งต่อข้อเรียกร้องและปกป้องสิทธิของพวกเขา

 

วิกฤตผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันเป็นหนึ่งในสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ยืดเยื้อมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีชาวอัฟกันมากกว่า 6 ล้านคนถูกขับไล่ออกจากบ้านและประเทศของพวกเขาเพราะความขัดแย้ง ความรุนแรงและความยากจน ในจำนวนนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอีกจำนวน 3.5 ล้านคนและมีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ อีกกว่า 2.5 ล้านคน จำนวนผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจของกลุ่มตอลิบานในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งนับเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่สำคัญที่ประเทศอัฟกานิสถานกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3ygyKEI

 

ญี่ปุ่น : คำตัดสินของศาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับคำสั่งห้ามแต่งงานเพศเดียวกันที่ไม่ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญกระทบต่อหลักการความเท่าเทียม

วันที่ 20 มิถุนายน 2565

 

หลังจากที่ศาลแขวงโอซากาในประเทศญี่ปุ่นไม่รับคำร้องของคู่รักเพศเดียวกัน 3 คู่และตัดสินชี้ขาดให้คำสั่งห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 นั้น Boram Jang นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวนับว่าเป็นการทำลายและฉุดรั้งความก้าวหน้าของสิทธิที่เท่าเทียมกันภายในประเทศอย่างมาก อีกทั้งคำตัดสินดังกล่าวยังได้เน้นย้ำถึงอคติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI)และความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะให้ความสำคัญในประเด็นนี้

 

แม้ในปีที่ผ่านมาศาลแขวงซัปโปโรได้ตัดสินให้การห้ามแต่งงานเพศเดียวกันผิดรัฐธรรมนูญและนับว่าเป็นความหวังที่คืบหน้าของประเด็นนี้ แต่ปัจจุบันคำสั่งของศาลแขวงโอซากากลับเป็นการทำร้ายคู่รักเพศเดียวกันและทำให้พวกเขารู้สึกว่ากลับไปที่เดิม

 

ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นทบทวนกฎหมายท้ังหมด รวมทั้งนโยบายและการเลือกปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกันในทุกช่วงอายุ 

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3biHvoJ



ซาอุดีอาระเบีย : การรื้อถอนขนาดใหญ่และการบังคับขับไล่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติในซาอุดีอาระเบีย

วันที่ 22 มิถุนายน 2565

 

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียกำลังดำเนินโครงการรื้อถอนและการขับไล่ขนาดใหญ่ โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาตร์ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ปี 2030 ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย โครงการนี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่าครึ่งล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ข้างเคียงกว่า 60 แห่งในเมืองเจดดาห์ซึ่งเป็นเมืองที่ติดทะเล ทั้งนี้เอกสารของเทศบาลเมืองเจดดาห์ระบุว่ามีประชาชนกว่า 558,000 คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรื้อถอนนี้

 

Diana Semaan, รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือกล่าวว่า ทางการกำลังก่อสร้างโครงการนี้บนต้นทุนชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทางการไม่เพียงแต่ขับไล่ประชาชนออกจากบ้านของพวกเขาโดยไม่ได้ให้เวลาและค่าชดเชยที่เหมาะสมเพื่อหาที่อยู่ใหม่ แต่ทางการยังเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาตินับแสนคนโดยไม่ให้พวกเขาได้รับค่าชดเชยจากโครงการนี้

 

ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซาอุดีอาระเบียเพื่อสอบถามและแสดงความกังวลเกี่ยวกับการรื้อถอนดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการขับไล่ แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับใดๆ 

 

ขณะที่ประชาชนหลายคนได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ในการประท้วงการรื้อถอนบ้านของพวกเขาในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งเสียงสะท้อนถึงความยากลำบากที่พวกเขาได้เผชิญในการหาที่อยู่อาศัยใหม่อีกด้วย ขณะเดียวกันพวกเขากำลังประท้วงด้วยต้นทุนชีวิตที่สูง รวมทั้งบ้านของผู้ที่ถูกขับไล่ ความล่าช้าของการชดเชย ค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นและบริการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมืองเจดดาห์

 

อ่านต่อ 

https://bit.ly/3HRcTqx

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล : แอมเนสตี้เสนอกฎระดับโลก 20 ข้อเพื่อยุติการใช้ไม้กระบองตำรวจในทางที่ผิด

วันที่ 23 มิถุนายน 2565

 

อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่กฎ 20 ข้อของการใช้ไม้กระบองที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเป็นเนื้อหาที่มาจากหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติเมื่อปี 2558 ของแอมเนสตี้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้มีการห้ามใช้โดยเด็ดขาดสำหรับกระบองที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย เช่น กระบองที่มีหนามแหลม และเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาการควบคุมการซื้อขายกระบองและสินค้าเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะถูกนำไปใช้สำหรับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย

 

ข้อเสนอของแอมเนสตี้มีขึ้นหลังจากคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศอินเดียใช้ไม้กระบองทำร้ายผู้ชุมนุมและผู้ถูกควบคุมเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ้งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกจะต้องแก้ปัญหาการใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้องและแพร่หลาย รวมทั้งการใช้อาวุธในลักษณะตีแบบเดียวกันอย่างอื่นด้วย

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้เผยแพร่รายงานสั้นฉบับใหม่ ก่อนถึง “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือ “วันต่อต้านการทรมานสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เพื่อกำหนดแนวทางและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้อาวุธเหล่านี้และให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่เน้นให้เห็นถึงหลักการสำคัญในแง่ของความถูกต้องตามกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความรับผิดตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่ไม่ใช้ไม้กระบองเป็นเครื่องมือเพื่อการลงโทษ เพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบ หรือเพื่อทำร้ายบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว แต่จากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ยังคงใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้องในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์



รายงานใหม่ฉบับนี้จะถูกนำเสนอระหว่างการประชุมที่ร่วมจัดโดยสมาคมป้องกันการทรมาน (APT) และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ว่าด้วยการป้องกันการทรมานในบริบทของการชุมนุมสาธารณะ ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

 

อ่านต่อ : 

https://bit.ly/3OA5qP1

 

รัสเซีย : บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รัสเซียเปิดประมูลรางวัลโนเบล ระดมทุนช่วยเหลือเด็กพลัดถิ่นชาวยูเครน 

20 มิถุนายน 2565

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นาย Dmitry Muratov บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Novaya Gazeta ซึ่งเป็นสื่ออิสระในประเทศรัสเซียได้เปิดประมูลรางวัลโนเบลที่เขาได้รับร่วมกับ Maria Ressa ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2564 สำหรับความพยายามที่พวกเขาร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยเงินที่ได้จากการประมูลครั้งนี้จะนำไปช่วยเหลือเด็กผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน การประมูลครั้งนี้ปิดด้วยราคา 103.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

Dmitry บอกว่า ประเทศของเขาได้รุกรานยูเครนและเขาในฐานะพลเมืองของรัสเซีย เขารู้สึกถึงความรับผิดชอบ และเขามั่นใจว่ายังมีพลเมืองรัสเซียจำนวนมากที่ต้องการกระทำบางอย่างเช่นกัน 

 

อ่านต่อ

https://bit.ly/3HQm76D

 

เลบานอน : แอมเนสตี้เรียกร้องให้ศาลทหารเลบานอนยุติดำเนินคดีและเพิกถอนข้อหาทั้งหมดต่อนักแสดงตลก

23 มิถุนายน 2565

 

จากกรณีที่ Shaden Fakih นักแสดงตลกและนักกิจกรรมชาวเลบานอนได้ถูกหน่วยงานความมั่นคงภายใน (ISF) ฟ้องต่อศาลทหารด้วยข้อหาดูหมิ่นและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หลังจากเธอได้โทรศัพท์ไปยังสายด่วนฮอตไลน์ของหน่วยงานความมั่นคงภายในเพื่อของให้ส่งผ้าอนามัยมาให้เธอในระหว่างช่วงล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และต่อมาเธอโพสต์คลิปวิดีโอดังกล่าวลงในบัญชีโซเซียลมีเดียส่วนตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 

 

ทางสำนักงานอาชญากรรมไซเบอร์ได้สอบปากคำเธอครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 และศาลทหารมีกำหนดไต่สวนเธอในวันที่ 24 มิถุนายน 2565

 

Dianna Semaan รักษาการรองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือระบุว่า กรณีของ Shaden Fakih ถือว่าเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ทางการเลบานอนได้ใช้กฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการหมิ่นประมาทในทางที่ผิดเพื่อกำจัดเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการพยายามนำนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวเข้าสู่กระบวนการในศาลทหารและเรียกร้องให้ทางการเลบานอนยุติการดำเนินคดีต่อ Shaden Fakih ทันที รวมทั้งยุติการควบคุมพลเมืองและนักกิจกรรมโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลทหารเพื่อหยุดการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดและใช้เพื่อป้องปรามการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานต่างๆ 

 

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงและทหารของเลบานอนได้คุกคามและทำการสอบสวนนักกิจกรรมที่โพสต์ข้อความลงในโซเซียลมีเดียเพื่อวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐจำนวนมาก นักกิจกรรมหลายคนมักถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดเจน

 

อ่านต่อ 

https://bit.ly/3HWiL24