องค์กรสิทธิยินดี ดีเอสไอรับคดี“บิลลี่ถูกอุ้มหาย”เป็นคดีพิเศษ ชี้ไทยต้องเร่งดำเนินการกว่านี้

2 กรกฎาคม 2561

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) แอมเนสตี้ อินเตอร์ เนชั่นแนล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ร่วมกันออกแถลงการณ์พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งดำเนินการตามกฎหมาย และมาตรการที่จะคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวยังมีความล่าช้าอยู่มาก

 

“การสืบสวนสอบสวนกรณีที่นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง “บิลลี่” หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ถูกกระทำการในลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหาย ควรมุ่งเน้นไปที่การค้นหาที่อยู่ของบิลลี่ ควรบอกกล่าวความคืบหน้าในการสอบสวนคดีต่อครอบครัวของบิลลี่อย่างต่อเนื่อง และเร่งนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าผู้กระทำจะมีตำแหน่งหรือสถานะใด”

 

ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561 หลังจากการประชุมคณะกรรมการคดี พิเศษ ครั้งที่ 1/2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ได้ ออกแถลงการณ์อันน่ายินดีว่า ดีเอสไอมีมติให้กรณีที่นักกิจกรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ซึ่งถูกกระทำการในลักษณะเช่นการบังคับให้สูญหายนั้นเป็น “คดีพิเศษ” ที่ต้อง “ดำเนินการสืบสวนและสอบสวน ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547”

 

มีผู้พบเห็นนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภริยาของบิลลี่ได้ทำการยื่นคำร้องต่อดีเอสไอ รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็ได้ทำการเรียกร้องมาขอให้ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และเรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อิสระ เป็นกลาง มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงพิธีสารมินนิโซตา ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2559 ซึ่งได้มีข้อตกลงร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560

 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังมิได้ดำเนินการตามข้อผูกพันที่ได้ให้ไว้หลายต่อหลายครั้ง ว่าจะทำการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้มีมติเห็นชอบที่จะลงนามใน ICPPED แต่อย่างไรก็ตาม ไอซีเจได้ รับทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่าการลงนามในอนุสัญญา ICPPED จะเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการตรากฎหมายภายในประเทศเพื่อรับรองให้อนุสัญญาฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายในประเทศ

 

นอกจากนั้นประเทศไทยยังคงต้องทำการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีต่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย ตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention against Torture หรือ CAT) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นยังคงล่าช้า

 

ไอซีเจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอช ยังคงกังวลว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมารและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นั้นจะยังไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2560 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 และ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2561 กลุ่มภาคประชาสังคมได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย รวมถึงกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย เกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่จำเป็นต้องปรับแก้เพื่อให้ร่างกฎหมายเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

 

ความเป็นมา

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การอุ้มหาย” เป็นอีกหนึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งได้รับการนิยามไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่า หมายถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่ง สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล โดยพยายามปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นๆ ทั้งนี้ การบังคุบให้สูญหายนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) นั้นมักจะให้คำอธิบายว่าการบังคับให้สูญหายเป็น “การกระทำผิดต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์” และเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ “รุนแรงและชัดเจน”


ข้อมูลเพิ่มเติมและการทำงานของแอมเนสตี้