สิงคโปร์: ต้องยุติการลงโทษที่โหดร้ายด้วยการแขวนคอ หลังการประหารชีวิตผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญา

28 เมษายน 2565

Amnesty International

ภายถ่ายโดย: @Mohd Rasfan, AFP via Getty

เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยหลังทางการสิงคโปร์ประหารชีวิตนาเกนธราน ธรรมลิงกัม พลเมืองชาวมาเลเซียด้วยการแขวนคอว่า การประหารชีวิตนาเกนธราน เป็นการกระทำที่น่าละอายของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นสิ่งทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นแม้จะมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องทั้งในสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมทั้งเสียงประท้วงจากทั่วโลกด้วย

“การแขวนคอนาเกนธรานเน้นให้เห็นข้อบกพร่องที่ลึกซึ้งของโทษประหารชีวิตในสิงคโปร์ และความน่ากลัวจากที่ยังมีการใช้โทษเช่นนี้ต่อไป เขาถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ตามคำตัดสินของศาลที่พิพากษาให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิตในข้อหาลักลอบนำเข้ายาเสพติด ท่ามกลางข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเขา และแม้จะมีการวินิจฉัยพบว่า เขาเป็นผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งการประหารบุคคลที่มีความบกพร่องเช่นนี้ นับเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ" 

“รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประหารชีวิตบุคคลไปแล้วสองคนในช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน และมีกำหนดจะแขวนคอชายอีกหนึ่งคนในวันศุกร์นี้ นับเป็นการกระทำที่สวนทางกับแนวโน้มของการบังคับใช้โทษประหารชีวิตของทั่วโลก ที่มุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

 

“ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่า การลงโทษเช่นนี้เป็นคำตอบให้กับการแก้ไขปัญหาการค้ายาเสพติดในประเทศ และอันเนื่องมาจากคดีที่น่าตกใจนี้ ทางการสิงคโปร์ต้องยุติการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามที่เป็นอยู่ และต้องทบทวนอย่างเร่งด่วนต่อการใช้โทษประหารชีวิต โดยมุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต”  

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ศาลตัดสินว่านาเกนธราน เค. ธรรมลิงกัมมีความผิดและให้รับโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 จากการนำสารไดอะมอร์ฟีน (เฮโรอีน) 42.72 กรัม (ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ) เข้าประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายน 2552 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่าเขามีความผิด และตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 กฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศห้ามไม่ให้ใช้โทษประหารชีวิตเชิงบังคับ เนื่องจากทำให้ผู้พิพากษาไม่สามารถใช้ดุลพินิจเพื่อพิจารณาเหตุในการบรรเทาโทษได้ นอกจากนั้น กฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศยังกำหนดให้ใช้โทษประหารชีวิตได้เฉพาะกับ “อาชญากรรมร้ายแรง” (most serious crimes) ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าคนตายโดยเจตนา

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งวินิจฉัยนาเกนธรานเมื่อปี 2556, 2559 และ 2560 ต่างให้ความเห็นว่า เขามีภาวะบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาชนิดก้ำกึ่ง และมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาในการรับรู้ “ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งวินิจฉัยนาเกนทรานเมื่อปี 2556, 2559 และ 2560 ต่างให้ความเห็นว่า เขามีภาวะบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาชนิดก้ำกึ่ง และภาวะบกพร่องด้านสติปัญญาในการรับรู้ “ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดความจงรักภักดีในทางที่ผิดและมีการประเมินที่ผิดพลาด ทำให้เสี่ยงที่อาจทำผิดกฎหมายได้” ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับข้อกังวลนี้ โดยระบุว่า “ความบกพร่องตามที่อ้างว่าอาจส่งผลต่อการประเมินความเสี่ยง และอาจทำให้เขามีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ไม่ได้ส่งผลที่จะเป็นเหตุบรรเทาความผิดของเขาได้เลย” หน่วยงานตามสนธิสัญญาที่ดูแลอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งสิงคโปร์เป็นรัฐภาคี มีคำสั่งห้ามไม่ให้ใช้โทษประหารชีวิตกับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางจิตใจและสติปัญญา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปกป้องตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาศาลได้ยกคำร้องและคำอุทธรณ์อื่นๆ ของนาเกนธราน รวมทั้งคำอุทธรณ์ในวินาทีสุดท้ายของแม่เขา ซึ่งได้ยื่นคำร้องทางอาญาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยขณะนั้นไม่มีทนายความอยู่ด้วย 

คดีของนาเกนธรานส่งผลให้เกิดการประท้วงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในมาเลเซียและสิงคโปร์ หลายวันก่อนที่จะเกิดการประหารชีวิต ในวันที่ 25 เมษายน ผู้ประท้วงหลายร้อยคนมารวมตัวกันในสวนสาธารณะหงหลิม ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่ทางการอนุญาตให้มีการประท้วงได้ในสิงคโปร์ เป็นการชุมนุมแบบเงียบๆ อยู่นานสามชั่วโมง ในวันที่ 26 เมษายน มีการประท้วงด้านนอกสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสิงคโปร์ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากก่อนที่จะต้องยุติลงเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจ คดีของนาเกนธรานได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระดับสากล รวมทั้งจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้ชำนาญการอื่นๆ ขององค์การสหประชาชาติ 

ดาชีนามูรที เคลาลาห์ ชายชาวมาเลเซีย มีกำหนดจะถูกประหารชีวิตในวันที่ 29 เมษายน ในคดียาเสพติด แม้จะอยู่ระหว่างการยื่นคำคัดค้านในศาลของสิงคโปร์ และมีกำหนดพิจารณาในเดือนพฤษภาคม ตามหลักประกันระดับสากลเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ต้องโทษประหารชีวิต การประหารชีวิตไม่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างที่มีการอุทธรณ์คดีหรือมีการยื่นคำคัดค้านตามขั้นตอนปฏิบัติใดๆ  

สิงคโปร์มักอ้างว่าโทษประหารชีวิตเป็นแนวทางที่ป้องกันไม่ให้บุคคลก่ออาชญากรรม และสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ เป็นข้ออ้างที่ถูกท้าทายมาแล้วหลายครั้ง และไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันว่าโทษประหารชีวิตมีประสิทธิภาพมากกว่าการจำคุกตลอดชีวิต ในแง่การลดการก่ออาชญากรรม มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า นโยบายการลงโทษในคดียาเสพติดที่บังคับใช้โทษอย่างรุนแรงก่อให้เกิดอันตราย มากกว่าจะคุ้มครองบุคคลจากปัญหาที่เกิดจากยาเสพติด 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือการติดต่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ

press@amnesty.org 

kevin.darling@amnesty.org