เลือกตั้ง 66: Human Rights Agenda วาระสิทธิมนุษยชน

ถึงเวลาฟังเสียงที่คุณอาจไม่เคยได้ยิน!


ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเริ่มพัฒนาข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมพร้อมทั้งจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับ "เด็กและเยาวชน" และสมาชิกแอมเนสตี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม

เพราะ Human Rights Agenda “วาระสิทธิมนุษยชน” กำลังจะกลับมาก่อนการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยในครั้งนี้!

Human Rights Agenda “วาระสิทธิมนุษยชน” คือเวทีและเส้นทางที่เราจะเรียกร้องผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้ยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน ย้ำรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และยุติการลอยนวลพ้นผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ

หนึ่งเสียงในการเลือกตั้ง คือหนึ่งเสียงสำคัญของการกำหนดทิศทางใหม่ของประเทศไทย และเสียงของประชาชนจะต้องถูกรับฟัง

และเราอยากฟังผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองมาทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน และที่สำคัญ เราอยากชวนมาฟังเสียงของประชาชนและภาคประชาสังคมในหลากหลายภาคส่วน

ในปีนี้เราจึงมาพร้อมกับห้าหัวข้อใหญ่ ๆ

  1. การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล เเละมาตรการป้องกันการทุจริต
  2. ประเด็นเฉพาะกลุ่ม (รวมถึงเรื่องผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ ฯลฯ)
  3. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม
  4. กรอบกฎหมายระหว่างประเทศเเละภายในประเทศ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เเละสถาบันสิทธิมนุษยชน
  5. สิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง (รวมถึงการสังหารนอกกฎหมาย การป้องกันการทรมานเเละการบังคับบุคคลให้สูญหาย คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สิทธิในการสมรส การค้ามนุษย์ การใช้แรงงาน ฯลฯ)


เพราะสิทธิมนุษยชนคือเรื่องของทุกคน! ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทย พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของก้าวต่อไปของประเทศไทยทั้งสิ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริม คุ้มครอง และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

กดดาวน์โหลดรายงานและข้อเสนอแนะ

#HumanRightsAgenda2023 - HEAR THE UNHEARD!

ทำไมต้องเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ทำไม #วาะสิทธิมนุษยชนถึงสำคัญ

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนชาวไทยจะเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่และใช้อำนาจอธิปไตยแทนพวกเขาในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งกำหนดทิศทางและสัญญาประชาคมสำหรับการบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า

ท่ามกลางโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้ยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน เพื่อเน้นย้ำให้รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และยุติการลอยนวลพ้นผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ 

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริม คุ้มครอง และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ ตั้งแต่การปลอดจากการทรมานไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จึงเป็นโอกาสที่จะได้เห็นการเคารพต่อพันธกิจเหล่านี้และความพยายามจะขับเคลื่อนพันธกิจเหล่านี้ให้เป็นกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเตรียมปฏิบัติการภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งมีลักษณะจำกัดหรือคุกคาม การเข้าถึงสิทธินานัปการ รัฐบาลควรเสนอให้มีมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจัดตั้งกลไกเพื่อสนับสนุนให้ผู้เสียหายเข้าถึงความยุติธรรมได้ นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรให้คำมั่นสัญญาในการแก้ไขข้อท้าทายในอนาคต รวมถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผ่านการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น 

 

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนี้เป็นการเลือกตั้งอีกครั้งที่สำคัญ ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองควรจะทบทวนภาวะขาดดุลด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เป็นอยู่ และแสดงความยึดมั่นในพันธกิจต่อประชาชนที่จะปฏิรูปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชิญชวนให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านและพรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ในด้านต่างๆ

ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคม

กรอบกฎหมายระหว่างประเทศเเละภายในประเทศ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและสถาบันสิทธิมนุษยชน

  1. การลงนามเเละให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

  • เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ เเละพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานเเละการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อย่างเร่งด่วน

  • เร่งรัดการลงนามหรือให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของเเรงงานข้ามชาติเเละสมาชิกในครอบครัว พร้อมทั้งพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ตลอดทั้งพิจารณารับข้อเสนอแนะในการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

  • เร่งรัดการลงนามหรือให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 1 ว่าด้วยการพิจารณาคำร้องส่วนบุคคล เเละฉบับที่ 2 ว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิตของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง 

 

  1. สถาบันสิทธิมนุษยชน

  • เร่งรัดพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส โดยพิจารณามอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถดำเนินการทางคดีเเทนผู้เสียหายได้ เพิ่มความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งปฏิบัติงานในหน้าที่จากความรับผิดทางเเพ่ง อาญา เเละปกครอง เเละประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เเละคณะกรรมการ เป็นต้น

  • ดำเนินการให้การปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเเท้จริง โดยรัฐบาลต้องรายงานผลการปฏิบัติเเละจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนเเละภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปรับปรุงเเผนฯ ดังกล่าวเป็นระยะ 

 

  1. ความร่วมมือและการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคม 

  • ระงับการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเเละสภาผู้เเทนราษฎร เเละยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มกราคม 2565 เเละวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวจากการพิจารณาของฝ่ายบริหารเเละฝ่ายนิติบัญญัติอย่างถาวร 

  • พิจารณาออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงกฎหมายต่อต้านการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (คดี SLAPPs) 

  • ยุติการคุกคาม เเละสอดส่องการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างผิดกฎหมายหรือเลือกปฏิบัติโดยทันที 

 

  1. กรอบรัฐธรรมนูญเเละกรอบกฎหมาย

  • เร่งรัดทบทวนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เเละประกันความโปร่งใสเเละมาตรการในการปฏิบัติงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการยกเลิกอำนาจเเละหน้าที่ของวุฒิสภาในการความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 อย่างเร่งด่วน 

  • เร่งรัดทบทวนเเละยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากการบังคับใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เเละบางส่วนของจังหวัดสงขลา เเละยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 อย่างเร่งด่วน

 

การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล และการทุจริต

  1. ความเสมอภาคเเละการไม่เลือกปฏิบัติ 

  • เร่งรัดทบทวนเพื่อแก้ไขมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ 

 

  1. การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง 

  • พิจารณาทบทวนเเละแก้ไขมาตรา 17 วรรคสองของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2548 เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบอย่างเร่งด่วน เเละทบทวนเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอื่นเเละเเนวปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงเเละกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน สถานศึกษา เเละสถาบันวิชาชีพต่างๆ

 

  1. การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเชื้อชาติ 

  • เร่งรัดรับรองสิทธิของเเรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในการเข้าถึงโครงการเเละนโยบายเยียวยาจากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ‘ม.33 เรารักกัน’ เเละประกันสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขจากรัฐ ให้แก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในห้องกักเเละบริเวณชายแดน ตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติเเละหลักมนุษยธรรม 

  • ยุติการตรวจเเละเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA ในกลุ่มชาติพันธุ์เเละกลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนา โดยเฉพาะการตรวจหรือเก็บ DNA เพื่อใช้การดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุความรุนเเรง หรือเพื่อดำเนินการตามนโยบายป้องกันเเละปราบปรามยาเสพติด เเละชี้เเจงให้ผู้ถูกตรวจเเละเก็บ DNA ทราบถึงการจัดเก็บ การใช้งาน เเละทำลายตัวอย่าง DNA ที่ตรวจเเละเก็บมาเเล้วด้วยเหตุผลดังกล่าวทันที 

 

  1. ธรรมาภิบาลเเละการทุจริต 

  • เร่งรัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องปิดปากในคดีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ...เเละกำหนดนโยบายระดับชาติเพื่อคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล ผู้แจ้งเหตุ หรือผู้รายงานเหตุทุจริตและเรื่องที่เกี่ยวเนื่องให้ได้รับการคุ้มครองไม่ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา

  • พิจารณาดำเนินมาตรการทางกฎหมาย ให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเเละคณะกรรมาธิการภายใต้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สามารถเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่ได้

 

สิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง

  1. สิทธิในการมีชื่อ การระบุตัวตน เเละสัญชาติ  

  • เร่งขจัดเเนวปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยสัญชาติเเละทะเบียนราษฎร์ เเละมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการขจัดการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ โดยเฉพาะเด็กและกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เเละกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย เเละกระทรวงพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ ต้องเพิ่มงบประมาณเเละดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้ผู้ไร้รัฐหรือไร้สัญชาติสามารถเข้าถึงระบบลงทะเบียนของรัฐได้  

 

  1. การสมรสเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว 

  • เร่งรัดพิจารณาและออกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะการทบทวนเเละผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ....และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ...ในสมัยถัดไปของการประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ ต้องรับรองว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เเละครอบคลุมถึงสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

 

  1. การควบคุมตัวโดยพลการ การสังหารนอกกฎหมาย การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย 

  • ยุติการปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว ปิดล้อม เเละการสังหารนอกกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำโดยเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พัฒนากลไกรับเรื่องร้องเรียน เเละเร่งสอบสวนตลอดทั้งเยียวยาให้กับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการนั้น 

  • เร่งรัดให้ยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการทรมานเเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ของพระราชบัญญัติฯ ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยรัฐสภาต้องโหวตไม่รับรองการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวทันที 

 

  1. การเข้าถึงความยุติธรรมเเละการเยียวยา

  • กำหนดนโยบายเเละทบทวนเเนวปฏิบัติที่กีดกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเเละการเยียวยาของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนา ผู้หญิง เด็ก เเรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัย เเละผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณเเละสถิติของการร้องเรียนเหตุการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การขอรับค่าชดเชยเยียวยาทั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เเละพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เป็นต้น 

 

  1. การค้ามนุษย์เเละรูปแบบการนำคนลงเป็นทาส

  • กำหนดมาตรการถาวรในการบริหารจัดการเเรงงานข้ามชาติ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนเเรงงานข้ามชาติ ปราบปรามกระบวนการนายหน้าเเละปรับปรุงให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเเรงงานข้ามชาติสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงทั้งในภาษาไทยเเละภาษาของเเรงงานข้ามชาติ 

 

  1. การงดเว้นการผลักดันกลับไปเผชิญภัยอันตราย 

  • ยุติการตรวจค้น จับกุม เเละส่งกลับผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาเเละประเทศอื่น โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเเละชายเเดน พัฒนาระบบการคัดกรองเเละยกเลิกการส่งผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัยจากประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา เเละเวียดนามพร้อมกับเเรงงานข้ามชาติจากประเทศข้างต้น 

  • รับรองการบังคับใช้มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการทรมานเเละการเเละกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่าจะมีผลบังคับใช้เพื่อป้องกันการส่งผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัยกลับ ซึ่งขัดต่อหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย 

 

  1. โทษประหาร

  • พิจารณาและศึกษาเพื่อออกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตด้วยการหารือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยกระทรวงยุติธรรมเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดทำเเละนำเสนอรายงานทั้งเชิงปริมาณเเละคุณภาพถึงผลดีเเละผลเสียของการคงโทษประหารชีวิตไว้

  • ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ อย่างน้อยให้สอดคล้องกับข้อบทที่ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ประกันสิทธิในการเข้าถึงเเละมีทนายความในทุกประเภทคดี เเละสิทธิที่จะได้รับการทบทวนคำพิพากษาโดยศาลสูง โดยเฉพาะในคดียาเสพติด

 

  1. เสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุม

  • จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด เเละสำนักงานศาลยุติธรรม โดยการสนับสนุนของกรมคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในการพิจารณาเเละกลั่นกรองกลุ่มคดีที่ถูกเเจ้งข้อหากล่าวหรือฟ้องร้องตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ประกาศเเละข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เเต่ละหน่วยงานดำเนินการยุติการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ระหว่างการเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2563 ถึงปัจจุบันโดยทันที 

ทั้งนี้ หากเป็นคดีที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของศาล พนักงานอัยการต้องยุติการดำเนินคดีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ  พ.ศ.2553 เเละหากมีการสั่งฟ้องคดีเเล้ว พนักงานอัยการควรสั่งถอนฟ้อง เช่นเดียวกับศาลที่ควรสั่งยกฟ้องในคดีเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าว

  • พิจารณาทบทวนเเละยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ซึ่งขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด เเละมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ เเละการเเสดงความคิดเห็น ตลอดจนยกเลิกการใช้อุปกรณ์ติดตามอิเลคทรอนิคส์เเละข้อกำหนดให้อยู่ในเคหะสถานตลอด 24 ชั่วโมงโดยทันที 

 

  1. เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นเเละการเเสดงออก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

  • เร่งรัดทบทวนการดำเนินคดีกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งหมด ที่ถูกเเจ้งข้อกล่าวตามกฎหมายข้างต้นเเละกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง เเละดำเนินมาตรการเฉพาะในการยุติการดำเนินคดีกับเด็กกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะเด็กที่ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานตามมาตรา 112 เเละมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เเละความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 

 

  1. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

  • เร่งรัดยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยเฉพาะการกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน เเละทบทวนกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีในศาลทหาร เช่น พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เเละกำหนดให้การพิจารณาคดีในศาลทหารนั้น อย่างน้อยต้องสอดคล้องกับข้อบทที่ 14 ของกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลสูง สิทธิในการมีเเละเข้าถึงทนายความ เเละสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี

 

สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม

  1. สิทธิในสวัสดิการสังคม 

  • รับรองสิทธิในสวัสดิการสังคมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้ครอบคลุมเเละเข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยบุคคลทุกกลุ่ม เเละหน่วยงานรัฐต้องกำหนดมาตรการพิเศษในการสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้หญิง เด็ก คนพิการ เเรงงานข้ามชาติ ผู้เเสวงหาที่ลี้ภัยเเละผู้ลี้ภัย เเละผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการสังคมได้ทุกรูปแบบ ทั้งสิทธิในบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา เเละที่อยู่อาศัย เป็นต้น 

 

  1. สิทธิในการพัฒนาเเละแผนปฏิบัติการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน  

  • เร่งรัดทบทวนการบังคับใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ฉบับที่ 13 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม หลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เเละมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา เช่น Sustainable Development Goals 

รัฐต้องพิจารณารับเเละปฏิบัติตามคำเเนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องนำข้อเเนะนำดังกล่าวบรรจุไว้ในเเผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

 

  1. สิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่พอเพียง  

  • เร่งรัดทบทวนการดำเนินโครงการพัฒนาโดยรัฐ เเละ/หรือโดยการสนับสนุนของภาคเอกชนที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเเละพื้นที่การทำกินของประชาชนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ

รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของบุคคลในพื้นที่ เเละเร่งสอบสวนถึงกรณีการคุกคาม ข่มขู่ เเละการสังหารนอกกระบวนการทางกฎหมายต่อกลุ่มชาวบ้านหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็น/พื้นที่ดังกล่าว 

 

  1. สิทธิในสุขภาพ 

  • รับรองสิทธิในการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เเละสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเเรงงานข้ามชาติ เด็กที่เกิดจากเเรงงานข้ามชาติ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวโดยครอบคลุมถึงสิทธิในสุขภาพทางเพศเเละอนามัยเจริญพันธุ์  

  • รับรองสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเด็กเเละเยาวชน และหามาตรการที่เหมาะสมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านดังกล่าวได้โดยไม่มีข้อจำกัด เเละไม่เลือกปฏิบัติ 

 

  1. สิทธิในการศึกษา 

  • รับรองสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมเเละไม่มีค่าใช้จ่ายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทุกคน รวมถึงเด็กเเรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัย คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นประกอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการพิเศษสำหรับเด็กพิการให้สามารถเข้าศึกษาร่วมกับเด็กทั่วไปได้

 

  1. สิทธิเเรงงานและสิทธิในการทำงาน การจ้างงาน  

  • เร่งรัดเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการใช้หลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการต่อรองร่วมกันอย่างเร่งด่วน 

  • พิจารณาออกกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองเเรงงานแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการจ้างงาน ให้ได้รับสิทธิไม่น้อยไปกว่าเเรงงานอื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเเรงงาน 

 

ประเด็นเฉพาะกลุ่ม

  1. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

  • ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาและคดีเเพ่งต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน เเละทบทวนประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรา 161/1 เเละมาตรา 165/2 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เเละมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ในการคุ้มครองการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

  • เร่งรัดกำหนดแนวทางการพิจารณาคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องร้อง หรือถูกกล่าวหา โดยสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องทำงานร่วมกันกับกรมคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การยุติการดำเนินคดีอาญาและคดีเเพ่ง ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเกิดผลขึ้นจริง 

 

  1. ผู้ลี้ภัยเเละผู้ขอลี้ภัย 

  • พิจารณาเเละศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 เเละพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967  พร้อมทั้งทบทวนกฎหมายภายใน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเเละไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เเละประกาศที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับทั้งอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ เเละอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยและพิธีสารดังกล่าว

 

  1. เเรงงานข้ามชาติ 

  • เร่งรัดเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว และอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการใช้หลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการต่อรองร่วมกันอย่างเร่งด่วน  

 

  1. สมาชิกของชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ 

  • รับรองนิยามเเละสิทธิของชนกลุ่มน้อยเเละกลุ่มชาติพันธุ์ตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตลอดทั้งเพิ่มความคุ้มครองทางกฎหมายในการส่งเสริมการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว 

 

  1. คนพิการ 

  • พิจารณาทบทวนเเละเร่งแก้ไขมาตรา 15 วรรคสามของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เเละทบทวนเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอื่นเเละเเนวปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อด้วยเหตุทางสภาพร่างกาย รวมถึนโยบายของรัฐที่ออกมาเพื่อเยียวยาให้แก่คนพิการในช่วงการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย 

  • ขจัดอุปสรรคทางกายภาพเเละอคติในการปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษาเเละประกอบอาชีพในด้านต่างๆ ส่งเสริมเเละสนับสนุนงบประมาณในการอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงสิทธิด้านนั้นๆ ตลอดทั้งอบรมเจ้าหน้าที่ บุคลากรทั้งภาครัฐเเละเอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจเเละพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้พิการร้ายเเรง หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือยากจน หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

 

  1. ผู้หญิง 

  • ปรับปรุงการใช้ทรัพยากรจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินกิจกรรมอันเพื่อรับรองเเละส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตามนิยามเเละหลักการที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 

 

  1. เด็ก 

  • ทบทวนมาตรการเยียวยาเเละการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง เเละผู้หญิงหม้าย ให้เข้าถึงมาตรการเยียวยาจากรัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ ปรับปรุงกระบวนการดังกล่าวให้ไม่ซ้ำซ้อนกับกระบวนการอื่น เเละส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา เเละการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ 

  • พิจารณากำหนดใช้มาตรการชั่วคราวพิเศษตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ในการกำหนดจำนวนหรือสัดส่วนของผู้หญิงในสภาผู้เเทนราษฎรหรือที่เป็นต้วเเทนพรรคการเมือง ทั้งนี้ ด้วยการคำนึงถึงความหลากหลายมิใช่เฉพาะเรื่องเพศ เเต่ด้วยความเคารพในอัตลักษณ์ด้านอื่นด้วย เช่น การมีผู้เเทนจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนา เป็นต้น

 

กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น

4 เมษายน 2566

เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)

สถานที่ : หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

 

20 เมษายน 2566 

วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน 

สถานที่ : ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร

 

28 เมษายน 2566 

สถานที่ : ริมบึงสีฐาน ขอนแก่น

 

29 เมษายน 2566 

สถานที่ : ลานประตูท่าแพ เชียงใหม่ 

 

6 พฤษภาคม 2566 

สถานที่ : ลานวัฒนธรรมปัตตานี