นานาทัศนะจากประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต

8 เมษายน 2557

Amnesty International Thailand

 

โทษประหารเป็นการสังหารชีวิตตามคำสั่งของรัฐโดยผ่านการไตร่ตรองและใช้กระบวนการศาล โทษประหารถือเป็นบทลงโทษที่ปฏิเสธสิทธิในการมีชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง การใช้ความรุนแรงของรัฐที่ผ่านการไตร่ตรองโดยอ้างว่าทำเพื่อความยุติธรรม ย่อมทำให้เกิดรอยแปดเปื้อนต่อระบบยุติธรรมนั้นๆ

ในปี 2555 มี 140 ประเทศทั่วโลกตัดสินใจหันหลังให้กับการใช้โทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ มีเพียง 58 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต  ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศส่วนน้อยนี้ เฉพาะในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มี 23 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ ได้แก่ บรูไน ลาว พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต้ ภูฏาน เนปาล ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซามัวร์ หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาลู วานูอาตู มัลดีฟส์ นาอูรู เกาหลีใต้ ปาปัวนิวกีนี ศรีลังกา ตองกา ฟิจิ  และ มองโกเลียได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับฉบับที่สอง แห่งกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งพิธีสารดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต   มีเพียง 13 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ จีน เกาหลีเหนือ อินเดีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ในบรรดาประเทศที่หันหลังให้กับโทษประหารชีวิตนั้นต่างตระหนักดีว่ากระบวนการยุติธรรมอาจเกิดข้อบกพร่องร้ายแรงได้ตลอดเวลา และการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมอาจเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต แม้ในประเทศที่อ้างว่ามีระบบยุติธรรมที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งกว่า 30 มลรัฐยังคงใช้โทษประหารชีวิตกลับพบว่า ตั้งแต่ปี 2519 ถึงปัจจุบัน ในทุกๆ นักโทษ 10 คน ที่ถูกประหารชีวิต จะมีหนึ่งคนที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และได้รับการปล่อยตัวหลังจากใช้เวลาเฉลี่ย 10 ปี อยู่ในแดนประหารอย่างโดดเดี่ยว นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตยังไม่มีผลใดๆ ในการป้องปรามอาชญากรรม

ปัจจัยที่ผลักดันให้แต่ละประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้นก็แตกต่างกันไป ทั้งการเปลี่ยนผ่านจากระบบการปกครองที่กดขี่และลิดรอนสิทธิของประชาชนไปเป็นระบบการปกครองใหม่ เช่น การสิ้นสุดของระบอบการปกครองที่เหยียดสีผิวอย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้ การบรรลุข้อตกลงสันติภาพหลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา และการบรรลุข้อตกลงสันติภาพของกลุ่มผู้นำเขมรหลายฝ่ายหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงภายใต้การปกครองของผู้นำเขมรแดงในประเทศกัมพูชา

ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ภาวะผู้นำทางการเมือง เช่น การผลักดันร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศสโดยมีนายโรแบร์ แบดองแต (Robert Badinter) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นเป็นผู้นำคนสำคัญ แม้ว่าในยุค 1980 ประชาชนฝรั่งเศสกว่าร้อยละ 60-65 จะสนับสนุนโทษประหารชีวิตก็ตาม การตัดสินใจของประธานาธิบดีมองโกเลีย และผู้ว่าการรัฐคอนเน็คติคัต รัฐแมรี่แลนด์ รัฐนิวเม็กซิโกในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้นำประเทศก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิต เช่น อดีตประธานาธิบดีเนลสัน เมนเดลาแห่งแอฟริการใต้ และอดีตประธานาธิบดีคิมแดจุงแห่งเกาหลีใต้ต่างเคยถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตจากคดีที่มูลเหตุจูงใจทางการเมือง เมื่อทั้งสองคนได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงสนับสนุนแนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิต

 

ประเทศติมอร์-เลสเต้

ประเทศติมอร์-เลสเต้ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชจากอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2518 - 2545 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตพลเมืองอย่างใหญ่หลวง  นายโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดีประเทศติมอร์-เลสเต้ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2550-2555 และเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2539 เป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศติมอร์-เลสเต้หลังจากได้รับเอกราช อดีตประธานาธิบดีรามอส-ฮอร์ต้าได้กล่าวถึงมูลเหตุจูงใจที่ตนสนับสนุนแนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ว่า “ข้าพเจ้าภูมิใจที่จะพูดว่าสิทธิอันละเมิดมิได้ของการมีชีวิตได้ถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศติมอร์-เลสเตของข้าพเจ้า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพของประเทศเราไม่ใช่ไม่มีการเสียสละ ในการแสวงหาศักดิ์ศรีและการตัดสินใจด้วยตนเอง บุคคลอันเป็นที่รักของเราหลาย ๆ คนต้องเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจตลอดเวลาถึงคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของการมีชีวิต ดังนั้น สิ่งแรก ๆ สิ่งหนึ่งที่เราทำหลังจากได้รับอิสรภาพเมื่อ 10 ปีมาแล้วคือการรับรองว่าจะไม่มีใครได้รับโทษประหารชีวิต”   ปัจจุบันประเทศติมอร์-เลสเต้ไม่มีโทษประหารชีวิตและบทลงโทษสูงสุดที่ใช้แทน คือ การจำคุก 25 ปี ไม่มีการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิต

 

ประเทศฟิลิปปินส์

รัฐสภาประเทศฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 โดยนางกลอเรีย มาคาปากัล อาโรโย ประธานาธิบดีในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามรับรอง อดีตประธานานาธิบดีอาโรโย่กล่าวว่า “เราขอเฉลิมฉลองให้แก่ชัยชนะของฝ่ายที่สนับสนุนคุณค่าของชีวิต ขอบคุณรัฐสภาที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้อย่างรวดเร็ว แต่โปรดเข้าใจว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้นจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”  การยกเลิกโทษประหารชีวิตในฟิลิปปินส์เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชน เช่น Free Legal Assistance Group (FLAG) คริสต์จักรโรมันคาธอลิก และสมาชิกรัฐสภา บทลงโทษสูงสุดที่นำมาใช้แทนโทษประหารชีวิต คือ โทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปี 1 วัน จนถึง โทษจำคุก 40 ปี ขึ้นอยู่กับฐานความผิด ในเดือนกรกฎาคม ปี 2556 วุฒิสมาชิกซอตโต พยายามเสนอกฎหมายเพื่อนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งโดยอ้างว่าจะช่วยยับยั้งอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น แต่ประธานาธิบดีเบนิกโน อควิโน กล่าวตอบว่า “ทั้งทนายความ เจ้าหน้าที่รัฐ และแม้แต่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ต่างก็เชื่อเช่นเดียวกันว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศเรานั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบและยังมีข้อบกพร่อง การปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรมนั้นจึงสำคัญกว่าการใช้โทษประหารชีวิต”

 

ประเทศแอฟริกาใต้

ประเทศแอฟริกาใต้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไปในปี 2538 และสำหรับอาชญากรรมทุกประเภทในปี 2540 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มีคำวินิจฉัยในปี 2538 ว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นบทลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในขณะนั้นปรากฎว่า ร้อยละ 62-78 ยังคงสนับสนุนโทษประหารชีวิต แต่นายอาเธอร์ ชาสคาร์ลสัน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า “ แม้ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่มีข้อกังขาต่อคำวินิจฉัยของศาล แต่เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชากรส่วนน้อยที่ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย”  สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การผลักดันเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในแอฟริกาใต้ คือ ประสบการณ์ในระหว่างการปกครองโดยรัฐบาลที่เหยียดสีผิว มักมีรายงานว่าศาลที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาผิวขาวมักจะเลือกปฏิบัติต่อจำเลยผิวสีและใช้บทลงโทษร้ายแรงแก่พวกเขามากกว่าที่ลงโทษจำเลยผิวขาว มีการลงโทษประหารชีวิตต่อประชากรผิวสีทั้งในคดีอาญาทั่วไปและคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มการเมือง ผู้นำศาสนา สหภาพแรงงาน และนักกฎหมาย จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด หลังจากที่รัฐสภาแอฟริกาใต้แก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและตราบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการมีชีวิตในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ต่อมามีกลุ่มที่เรียกร้องให้นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งโดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้การเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น แต่ก็ถูกคัดค้านโดยนายเนสสัน เมนดาลา และอาร์คบิชอป เดสมอน ตูตู อดีตผู้นำทางการเมืองคนสำคัญในยุคต่อต้านการเหยียดสีผิว บทลงโทษสูงสุดที่รัฐนำมาใช้แทนโทษประหารชีวิต คือ โทษจำคุกตลอดชีวิตซึ่งสามารถยื่นขอลดหย่อนโทษได้หลังจากที่จำคุกไปแล้วอย่างน้อย 25 ปี

 

ประเทศเซเนกัล

ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเซเนกัลนับถือศาสนาอิสลาม โดยมีเครือข่ายองค์กรอิสลามเป็นกลุ่มสำคัญที่สนับสนุนการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต  แม้ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตหลายครั้งในปี 2546-2547 แต่รัฐสภาก็มีความพยายามผ่านกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยบุคคลสำคัญที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว คือ นาย Sergine Diop รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นและเครือข่ายองค์กรเอกชน รวมถึงอดีตประธานาธิบดี Abdoulaye Wade ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงผ่านสภาได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม ปี 2547  ประเทศเซเนกัลยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทุกประเภทในเดือนธันวาคม 2547 ส่วนผู้ต้องโทษประหารชีวิตในขณะนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงโทษเป็นโทษจำคุก

จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่ามีปัจจัยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่ผลักดันให้ผู้นำทางการเมือง ศาล ข้าราชการ หรือผู้นำทางศาสนาตัดสินใจสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต เช่น การเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองที่กดขี่ การตระหนักในคุณค่าของชีวิตหลังจากที่สังคมเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และภาวะผู้นำทางการเมือง ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศในขณะนั้นมักจะคัดค้านการตัดสินใจยกเลิกโทษประหารชีวิตเสมอ แต่ความตระหนักของผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายและการยืนหยัดในสิทธิในการมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่มีอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างก็มุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต แม้จะมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และศาสนาแตกต่างกันก็ตาม