แด่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิผู้กล้าหาญ

8 มีนาคม 2565

Amnesty International


“ถ้าผืนดินเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต

มือของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็เป็นเหมือนมือที่ปกป้อง โอบกอด และสร้างชีวิตให้กับมนุษยชาติ”

 

ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสิทธิสตรีสากล เพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงเรื่องความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพราะมนุษย์ทุกคนนั้นล้วนเกิดมาพร้อมกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วยมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม และสิทธิในที่อยู่อาศัยหรือทรัพยากรของตน  

ทว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศ กลับยังคงเป็นรากฐานของปัญหาจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ การได้รับค่าจ้างต่ำ การไม่ได้รับการศึกษา และการบริการด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ยังคงพบเจอกับการถูกเลือกปฏิบัติอีกเป็นจำนวนมาก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแล้วต้องถูกเคารพและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ในฐานะมนุษยชาติคนหนึ่ง เนื่องในวันสตรีสากล เราจึงขอชวนคุณอ่านเรื่องราวของ "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" และผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บนเส้นทางของการต่อสู้เพื่อ “สิทธิในที่ดิน” ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของความเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติ จากมิติทางอำนาจเชิงโครงสร้าง.. ที่มากกว่าที่คุณอาจเคยได้เห็น  

 

 เทมเพลตกลาง (2).png

 

 

อมร นักต่อสู้ในฐานะพลเมือง

 

“พี่อมร หรือ อมรรัตน์ ทองพัฒน์” กรรมการบริหารฝ่ายสตรี ขององค์กรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงและที่ดินและนักสู้ในฐานะพลเมือง มักย้ำอยู่เสมอว่า “อย่ามองผู้หญิงว่าเป็นผู้หญิงแค่ที่เพศกำเนิด แต่จงมองผู้หญิงในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป”

อมรเริ่มเดินบนเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากฐานะของลูกแม่ค้าในตลาด เธอเล่าว่า “พี่ก็เป็นแค่ลูกแม่ค้าอยู่ในตลาด เราอยู่ด้วยกัน 5 คนพี่น้อง แล้วพ่อแม่รวมเป็น 7 คน ตอนเด็กๆ เราต้องอยู่ห้องแคบๆ 

“เราไม่ได้เป็นคนจนที่ขี้เกียจ แต่โครงสร้างของรัฐมันผลักดันความเหลื่อมล้ำมาให้เราต้องเป็นคนจน จนลืมตาอ้าปากแทบไม่ได้” 

เก่าที่เพื่อนใหม่ที่เรา เป็นสำนวนที่เราได้ยินจากพี่อมรพร้อมกับรอยยิ้มที่ฉายให้เห็นภาพในอดีตที่เป็นความทรงจำ เธอเล่าว่า  “พอไปโรงเรียน สภาพครอบครัวเราไม่ได้พร้อมเหมือนคนอื่น เสื้อผ้าที่ใส่ไปโรงเรียนก็ไม่มีเหมือนเพื่อน การกินอยู่ก็ไม่ได้ดีเหมือนเพื่อน รัฐบาลไม่เคยลงมาแก้ไขและจัดสรรสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่ดีให้เรา”  

ครอบครัวกับความมั่นคงที่แสวงหา 

พี่อมรเล่าต่อจากเดิมว่าตนได้แยกตัวออกมามีครอบครัวมีลูก และตนเริ่มคิดเรื่องของความมั่นคงในปัจจัยสี่ที่พลเมืองทั่วไปควรได้รับการดูแลส่งเสริมจากภาครัฐ แต่รัฐกลับตีตราพลเมืองว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดิน 

“พี่มองหาความมั่นคงของชีวิตให้กับลูกและครอบครัวเราไม่มีที่ดินเพราะที่เราอยู่มันเป็นที่ดินของรัฐ และเขาก็ตีตราว่าเราเป็นผู้บุกรุก” จากความมั่นคงเรื่องที่อยู่ ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาในเรื่องของที่ดินทำกิน เธอเล่าต่อว่าในช่วงที่ยังไม่มีทะเบียนบ้าน ครอบครัวของเธอต้องเช่าน้ำ เช่าไฟของคนอื่น เสียเงินเดือนหนึ่งเป็นพันๆ ทำให้เธอรู้สึกว่า ชีวิตของเธอและครอบครัวแทบจะไม่มั่นคงในด้านอะไรเลย 

ในปี 2548 เธอจึงเริ่มเดินหน้าเรียกร้องต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินจากคำชักชวนของเพื่อนๆ ทำให้เธอมองเห็นว่าตนเองมีสิทธิในด้านที่ดินด้วยเช่นเดียวกัน “เรามีสิทธิด้วยเหรอ สิทธิด้านที่ดินเนี่ย” พี่อมรอุทานออกมาด้วยน้ำเสียงที่มีความหวังของนักต่อสู้ การต่อสู้ย่อมแลกมาด้วยแผลทางจิตใจและร่างกาย 

ในปี 2550 พี่อมรมุ่งหน้าต่อสู้พร้อมกับความหวังที่ไกลแสนไกล เธอพยายามหาความรู้ พร้อมร่วมขบวนไปกับเครือข่ายเรียกร้องและเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ของนายทุนว่ามีการทำผิดตามเงื่อนไขหรือไม่ ตามมติของ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 เพื่อตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอ.คีรีรัฐนิคม

พี่อมรเล่าว่าในช่วงที่เธอขับเคลื่อนร่วมกันกับเครือข่ายที่ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เธอและเพื่อนร่วมขบวนการถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากคำบอกเล่า เธอกล่าวว่าเธอถูกทุบตี

“พอเราเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ว่ามันผิดเงื่อนไขหรือไม่  กลับกลายเป็นว่ามีการสลายการชุมนุม”  

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอไม่ได้รู้เรื่องสิทธิมากนัก และต้องเดินทางตามหาคำตอบว่าต้องต่อสู้แบบไหนจึงจะได้สิทธิในที่ดินกลับคืนมา

ปี 2551 เธอจึงได้เข้ามาในพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่ในปัจจุบัน ช่วงแรกๆ การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของภาครัฐก็ไม่ได้เข้ามาช่วยจัดสรรให้ ทำให้เธอต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะพลเมือง และได้เข้าร่วมกับองค์กรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือว่า สกต. “พอเข้ามาในองค์กรก็ทำให้เรารู้ว่าเรามีตัวตนนะ เรามีตัวตนคือคำว่ามร...เรามี คำว่าสิทธิพลเมือง คือตัวเรา จนถึงทุกวันนี้”

ผู้หญิงกับขบวนการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิในที่ดิน

“บทบาทของเราไม่เหมือนกับผู้หญิงท้องถิ่นดั้งเดิม สมมติว่าผู้หญิงท้องถิ่นดั้งเดิม คือคนที่เขามีที่ดิน เขาจะต่อสู้เพื่อปากท้อง แต่การต่อสู้ในฐานะผู้หญิงสกต. ในพื้นที่มันมีทั้งอิทธิพล ทั้งด้านมืด ด้านสว่าง อิทธิพลท้องถิ่น ทั้งข้าราชการ นโยบายรัฐ ทำให้ไม่มีความปลอดภัยทั้งนั้น และอำนาจพวกนี้เคยทำให้ผู้หญิงของ สกต.สูญเสียชีวิตถึง 2 คนค่ะ

 “ผู้หญิงถูกกระทำเยอะค่ะไม่ว่าทางด้านอะไร หรือว่าเรื่องโอกาสที่ว่าเรามีการตัดสินใจด้านนโยบายที่ว่ากระทบเราอยู่ตอนนี้ หรือว่าด้านกฎหมายหรือการทำงาน

“และเรากำลังพูดถึงผู้หญิงทั่วไปและทั่วโลก เรายังเข้าไม่ถึงกระบวนการที่เรามีส่วนร่วมให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจได้ ทั้งๆ ที่ว่าผู้หญิงเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลก สร้างสังคม สร้างครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจหรือว่าวัฒนธรรม การปลูกพืชอาหาร เก็บเมล็ดพันธุ์ แต่ว่าในตัวผู้หญิงเองกลับยังไม่มีสิทธิ ยังไม่มีความเท่าเทียมกับคนบางกลุ่มในจุดนั้น พี่คิดว่าก็มีความยาก แต่ว่าเราก็ต้องสู้.. สู้เพื่อปกป้องสิทธิของเรา”  นี่คือเสียงนักปกป้องสิทธิผู้หญิง ที่มีชื่อว่า “อมรรัตน์ ทองพัฒน์”

เธอยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ยังมีผู้หญิงในด้านแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือกำหนดค่าแรงตัวเองให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และแรงงานหญิงยังคงถูกตัดสิทธิในการรักษาในหลายด้าน เช่น ด้านประกันสังคมเป็นต้น

จนถึงวันนี้ผู้หญิงยังคงต้องพบเจอกับอุปสรรคในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น เรื่องสิทธิที่ดิน ที่เป็นผลกระทบทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องถูกดำเนินคดี ถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออกเพราะกฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และนโยบายรัฐ เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตอนนี้และในวันสตรีสากล เธออยากสร้างพลังให้ผู้หญิงด้วยกันว่า  “จงเชื่อมั่นในสิทธิของผู้หญิง และร่วมกันปกป้องสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน และฝากถึงผู้มีอำนาจให้คืนสิทธิพลเมือง เสรีภาพ  ความเสมอภาค ภราดรภาพ อิสรภาพ  ประชาธิปไตย ให้พลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน”

  

เทมเพลตกลาง (3).png

 

พลอย เยาวชนนักปกป้องสิทธิชุมชน

 

ก่อนหน้านี้พลอยเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน จากการเข้าร่วมค่ายที่หมู่บ้านของตนเองตามคำชักชวนของเพื่อน และเดินเข้าสู่เส้นทางนักกิจกรรมเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากรในชุมชนผ่านความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

 

“เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของหมู่บ้าน ที่เปลี่ยนไปในทางลบมาโดยตลอด เราพูดในสิ่งที่เห็น คิดตามสิ่งที่เราได้พบเจอในขณะนั้น จนก่อให้เกิดประเด็นด้านการฟ้องร้องขึ้นมา และมันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิที่ดินและปกป้องทรัพยากรของตนเองค่ะ”  

ปี 2558 บริษัท ทุ่งคำ หรือเหมืองแร่เมืองเลย ได้ยื่นฟ้องพลอยในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หลังรายงานผลกระทบจากการทำเหมือง อ้างว่าสิ่งที่เธอรายงานไม่ใช่ความจริง สถานพินิจฯ จึงได้ส่งหนังสือเชิญเด็กให้ถ้อยคำ  เพื่อให้พลอยเข้ารายงานตัว

พลอยย้ำกับเราตลอดการสัมภาษณ์ว่าตนพูดความจริง และมีข้อมูลรวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่เป็นหลักฐานยืนยันผลกระทบจากกรณีเหมืองแร่เมืองเลย “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบ้านเราคือเรื่องของทรัพยากรน้ำที่เริ่มมีสารปนเปื้อน ปลาเริ่มตาย มีกลิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแจ้งออกมาว่าน้ำ ปู ปลา  ไม่สามารถกินได้ ทำให้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านมันเปลี่ยนไป  จากที่เคยใช้น้ำ เคยกินปู กินปลากัน ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” 

พลอยเล่าย้อนกลับไปในช่วงนั้นเพิ่มเติมว่า “เราเคยอยู่ห่างกับริมน้ำสายนี้แค่ 100 เมตร และได้ใช้ประโยชน์จากมัน ทั้งหาปูหาปลามากิน ใช้อุปโภคชำระล้างร่างกาย พอมาวันหนึ่งแหล่งน้ำสายนี้ใช้ประโยชน์ไม่ได้อีกแล้ว เราก็ต้องไปหาที่ใหม่ ที่เดินทางไปไกลถึง 10 กิโลเมตร เพื่อให้ร่างกายเราไม่ต้องเจอกับสารปนเปื้อน หรือต้องไปซื้อในตลาดทำให้วิถีชีวิตคนจนในชนบท ต้องดิ้นรนเพิ่มมากขึ้น” พลอยกล่าว 

 “ในการดำรงชีวิต  เด็กๆ ในหมู่บ้านที่เคยสนุกสนานเล่นน้ำกับแหล่งน้ำสายนี้ก็ต้องเจอกับภาวะด้านสุขภาพ เป็นผื่นคันตามตัว ซึ่งการทำเหมืองแร่ในครั้งนั้นของนายทุน ส่งผลกระทบทั้งทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ระบบเศรษฐกิจ  ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพของคนบริเวณนั้น จนกลายเป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบแบบกลุ่มที่เป็นระยะยาว”  

เมื่อสายน้ำมีสารปนเปื้อน มลพิษจึงส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในภาพกว้างเป็นผลพวงถัดมา ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงทำการเรียกร้องเพื่อให้สภาพแวดล้อมถูกแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม และได้รวมตัวกันในฐานะ “กลุ่มคนรักบ้านเกิด” ร่วมกันกับพลอย

แม้ในช่วงแรกจะดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้ได้รับการรับฟังและแก้ไขจากภาครัฐ แต่สุดท้ายการรับฟังเสียงของชาวบ้าน ก็เป็นเพียงแค่การรับฟัง ที่ยังไม่ได้นำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยแท้จริง รวมถึงการฟื้นฟูที่เกิดขึ้นในขณะนั้นกลับไปฟื้นฟูที่เหมืองแร่แทน ทว่าพื้นที่ริมน้ำกลับถูกลืม

 การแก้ไขยังไม่ได้รับอย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ในช่วงที่เริ่มแก้ไขจะมีการปิดเหมืองแล้ว แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าจะเป็นการปิดที่ถาวร สำหรับหนูแล้ว หนูมองว่าธรรมชาติบำบัดตัวเองดีกว่าให้เราไปบำบัด เพราะถ้าเราเข้าไปบำบัด มันก็เหมือนเราเอาสารปนเปื้อนเข้าไปทำให้มันเพิ่มอยู่ดี  เรารอให้กาลเวลามันช่วยกันบำบัดให้ธรรมชาติดีขึ้นดีกว่า”  

และการเรียกร้องในฐานะเด็กผู้หญิง ก็เริ่มมีความท้าทายที่พ่วงติดมากับความเสี่ยงจากผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น  เรากลัวนะ มันมีความกลัวไปหมด แต่ในความกลัวเราก็แฝงความกล้าเราเข้าไปอยู่ เราไม่ได้มองเห็นแค่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เรามองเห็นคนในหมู่บ้านเรา และเรามีกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มคนรักบ้านเกิดต่อสู้เคียงข้างเรา ทำให้เราอุ่นใจขึ้นที่กลุ่มสนับสนุนเราในสิ่งที่เราออกมาพูด”  

“แต่เราออกมาพูดความจริง เราไม่ได้ออกมาพูดพล่อยๆ ลอยๆ เรามีหลักฐาน เราเห็นว่าสิ่งแวดล้อมมันเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ต้องกลัว”   

พลอยเป็นเยาวชนที่มองถึงหลักการต่อสู้ที่เท่าเทียม เธอลุกขึ้นต่อสู้ในสถานการณ์ที่เชื่อว่าการทำงานในประเด็นสิทธิเราต้องคำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญโดยเฉพาะหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เพราะเธอเห็นเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจหรือกลุ่มคนที่มักเอาเรื่องเพศมาเป็นประเด็นในการเลือกปฏิบัติ

ทว่า เธอพบว่าในช่วงมีกิจกรรมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิ สิ่งที่เจ้าหน้าที่มักจะทำคือ การต่อสู้ถ้าผู้หญิงเข้าไปปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้หญิงจะได้รับการประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย ถ้าผู้ชายเจ้าหน้าที่ก็จะมีการใช้ความรุนแรงมากกว่า แต่ถ้าผู้หญิงจะใช้คำพูดที่ดีกว่า

ถ้าผู้ชายเดินเข้าไปเขาจะลงไม้ลงมือ แต่ถ้าผู้หญิงเข้าไปเขาจะมีชุดความคิดว่า เราเป็นผู้หญิงเขาจะไม่กระทำความรุนแรงกับเราหรืออาจจะกระทำน้อยลง” พลอยเสริมว่านี่คือวัฒนธรรมหนึ่งที่ฝังลึกว่าผู้หญิงมีความอ่อนแอและมองว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า และแข่งแกร่งกว่าผู้หญิง  “ถ้าคุณมองลึกลงไป ผู้หญิงก็มีความแข็งแกร่งและมีความกล้าไม่ต่างกับผู้ชายเลย อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าสังคมเรามันยังมีชุดความคิดแบบอนุรักษ์นิยมในเรื่องของชายเป็นใหญ่อยู่”

“ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เราจะมองว่าผู้หญิงเป็นคนอ่อนแอไม่ได้เหมือนเดิมแล้วนะ เพราะคุณต้องปรับเปลี่ยนชุดความคิดแบบเดิมๆ ว่า ผู้หญิงไม่ใช่เพศที่อ่อนแอ ทุกวันนี้ทำกิจกรรมที่โรงเรียนหรือที่มหาลัย ผู้หญิงด้วยซ้ำที่เป็นคนแบกของหนักๆ ผู้ชายจับจีบผ้ามันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องปกติ เราไม่ควรเอาเพศกำเนิดมากำหนดว่าคนนี้เหมาะแบบนี้คนเพศนี้เหมาะกับแบบนี้ คนที่จะตัดสินใจว่าอะไรเหมาะสมกับเขา ก็คือคนที่ต้องทำหรือต้องอยู่กับสิ่งนั้นมากกว่า”   

 เทมเพลตกลาง (5).png

 

พรชิตา ฟ้าประทานไพร  เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

พรชิตา ฟ้าประทานไพร  คือเยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงโปว์ และต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินและทรัพยากร จากหมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เธอเป็นนักปกป้องสิทธิที่เป็นเยาวชน ผู้ต่อสู้เพื่อร่วมขบวนการกับกลุ่มเพื่อนเครือข่ายภาคีของเธอ เพื่อเรียกร้องถึงผู้มีอำนาจหรือรัฐบาล ให้ปกป้องและคุ้มครองญาติพี่น้องของเธอให้เหมือนมนุษย์คนหนึ่งในสังคมไทย 

 “ในชุมชนมีปัญหาเรื่องประเด็นเหมืองแร่ถ่านหิน ในปี 2562 มีป้ายมาติดขอสัมปทานจำนวนพื้นที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา จนมีเครือข่ายหนึ่งที่อยู่ในอมก๋อย เขาไม่เห็นด้วยกับโครงการ ก็เลยมาให้ความรู้เรื่องสิทธิในที่ดิน นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจนายทุนและรัฐ ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้มีทั้งคนในหมู่บ้านแล้วก็เยาวชนในพื้นที่ที่ได้ร่วมกันต่อต้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน”  เธอเล่าต่อว่าการเรียกร้องของเธอเริ่มเข้มข้นมากขึ้นภายหลังที่มีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมได้เข้าไปในพื้นที่ และได้มีการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิ และให้ความรู้ด้านกฎหมายทำให้พวกเธอลุกขึ้นต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย เธอยังบอกต่อว่า หนูจะไม่ยอมให้ผลกระทบ ปัญหาฝุ่น ปัญหาเสียง ปัญหาเรื่องของสุขภาพ หรือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ที่มีผลมาจากเหมืองแร่มันส่งผลร้ายต่อคนในชุมชนในหมู่บ้านหนูค่ะ ดังนั้นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างหนูในตอนนั้นก็ต้องเรียกร้อง ออกมาขับเคลื่อนเท่าที่ทำได้”

การต่อสู้ของเธอไม่ได้ถูกโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการออกมาปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น กลับทำให้เธอถูกคุกคาม ข่มขู่ จากผู้มีอำนาจ 

พรชิตาเล่าให้ฟังว่าในช่วงแรกที่เธอต่อสู้เรื่องนี้ มีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเธอข่มขู่ว่า “ออกมาคัดค้านเรื่องเหมืองแร่ระวังตัวด้วยนะ  เขามีอำนาจ เขาโชว์ว่าเขามีปืน เขามีเงิน เขาจะฆ่าเราเมื่อไหร่ก็ได้ เขาจะสั่งใครฆ่าเราก็ได้”   

ในฐานะผู้หญิงที่ขับเคลื่อนประเด็นและต่อสู้ในสังคมที่ยังคงมีบรรยากาศของความชายเป็นใหญ่ ทำให้เธอถูกมองจากสายตาของผู้มีอำนาจว่าเป็นเพียง “เด็กผู้หญิงที่เปราะบาง” พรชิตาเชื่อเสมอว่าผู้หญิงนั้นมีพลังในตัวเอง นั่นคือพลังของความนุ่มนวลแต่ซ่อนเร้นไปด้วยความแข็งแกร่ง 

“ในอีกมิติของการเป็นเด็กผู้หญิงที่ต้องขับเคลื่อนประเด็นสิทธิไปด้วยนั้นก็เสี่ยงเหมือนกัน เพราะสายตาผู้มีอำนาจเขามองว่าเราก็แค่เด็กผู้หญิงที่เปราะบาง จะจัดการเมื่อไหร่ก็ได้”  เธอย้ำฝากทิ้งท้ายว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชาย เราดูการทำงานผ่านศักยภาพมากกว่า ดังนั้นอยากจะให้กำลังใจผู้หญิงนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทุกๆ คนว่า เราเป็นแม่หญิงที่มีความแข็งแกร่งไม่แพ้กับใคร ขอแค่เพียงแสดงพลังของแม่หญิง มาสู้กับพวกนายทุนบ้าอำนาจ หรือผู้ใหญ่ที่กระหายอำนาจ คุณก็จะเป็นแม่หญิงแห่งนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีพวกเราเกาะบ่าเดินสนับสนุนไปตลอดเส้นทางจนกว่าจะเจอชัยชนะไปพร้อม ๆ กัน”

 

เทมเพลตกลาง (4).png

 

สรวรรณ นิรันรัตน์ ผู้ไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรม

 

พี่ตาล เป็นนักปกป้องสิทธิที่ทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ที่อยู่บริเวณบ้านเกิดของตัวเอง เธอเล่าย้อนให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางของนักปกป้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมานิว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจ จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย “เพราะว่าพี่มีโอกาสไปร่วมอบรมของแอมเนสตี้ แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า อ้าว ในฐานะที่เราเป็นคนในพื้นที่ท้องถิ่น เราก็มีสิทธิในการที่จะปกป้องชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง รวมทั้งพี่น้องของเราซึ่งอยู่ในท้องถิ่นของเราก็คือพี่น้องชาติพันธุ์มานิ หรือวันนี้เราใช้คำว่าชนเผ่ามานิ”  

สิทธิในการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมนั้น ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมอย่างอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเอง ยังได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง หรือ UNDRIP 

ทว่ากลุ่มชาติพันธุ์มานิยังคงพบเจอปัญหาในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิทธิในที่ดินหรือสิทธิที่อยู่อาศัย จากที่ทำกินที่กำลังถูกรุกราน หรือแม้แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะถูกรัฐกลืนหายไปเรื่อยๆ 

ด้วยความที่เป็นคนที่ไม่ชอบเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น  ทำให้ก่อนหน้านี้พี่ตาไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะเรื่องพี่น้องมานิ แต่เคยทำเรื่องที่ดินมาก่อน ก็คือในเรื่องของการปกป้องเรื่องของชุมชนในเรื่องของที่ดิน แล้วก็เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาของพี่น้องในชุมชนที่เขาต้องการมีที่อยู่อาศัย”  

 ความคุ้นเคยและใกล้ชิดดุจญาติมิตรของชนเผ่ามานิ เป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ตาลเดินหน้าอย่างเร่งด่วนเพื่อให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองจากรัฐในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เธอเล่าว่า “พี่น้องมานิเขาอยู่ไม่ไกลจากเรามาก ถ้ากลุ่มที่ใกล้ที่สุดก็อยู่หลังบ้านเอง ห่างไปแค่ 200 เมตร เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนเราก็เข้าใจว่าเขามีบัตรประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่วันนึงที่เรากลับบ้านของเรา เราก็รู้ว่าพี่น้องมานิของเรายังไม่มีบัตรประชาชนเลย เพราะเขาบอกว่า ช่วยทำบัตรให้เขาหน่อยได้ไหม.. ทำยังไงก็ได้ให้เขามีบัตรประชาชนได้ไหม เพราะว่าช่วงนี้เขาก็ลำบาก ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาล และเรื่องของสิทธิต่างๆ เพราะการไม่มีบัตรประชาชนนั้นทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ จากรัฐได้”  

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ตาลได้เร่งผลักดันเรื่องของสิทธิการเข้าถึงบัตรประชาชน จนพี่น้องมานิได้มีบัตรประชาชน 

และหลังจากมุ่งหน้าผลักดันจนทุกคนมีบัตรประชาชน ความสัมพันธ์ที่มีมันก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่บ้านของเธออีกแล้ว เพราะความสัมพันธ์ของพี่น้องมานิ เป็นความสัมพันธ์กันแบบครอบครัว ทุกกลุ่มจะเป็นญาติกันหมด โดยในจังหวัดสตูลมีพี่น้องมานิอยู่ทั้งหมด 5 - 6 กลุ่ม พราะฉะนั้นหากรู้จักกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็จะรู้จักถึงสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องอีกกลุ่มเช่นกัน

พี่ตาลเล่าต่อว่า  “พอสัมผัสไปเรื่อยๆ จนทั้งหมดมันก็กลายเป็นการประชุมพูดคุย เป็นการปรึกษาหารือ และได้ดึงชาวมานิมาร่วมเป็นอีกส่วนหนึ่งของคณะทำงานของเครือข่ายของสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต”  

ในวิถีดั้งเดิมของชาวมานิ ชาวมานินั้นจะไม่มีแหล่งอยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่จะเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่แนวใหม่ ทำให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องมานิก็ค่อนข้างลำบากมากขึ้น  เพราะสิ่งจำเป็นของมนุษย์คือที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวมถึงการมีที่ดินทำกิน 

“ถ้าเมื่อไหร่ที่เราก้าวสู่ความเป็นสังคมบหรือชุมชนแบบมนุษย์ทั่วไปเราต้องมีที่ดินทำกิน แต่พี่น้องวันนี้ยังไม่มีที่ดินทำกินแม้แต่กลุ่มเดียวที่เป็นของตัวเองและมีการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนใหญ่ก็ไปอาศัยตรงพื้นที่อื่น จนถึงขั้นที่ว่าบางกลุ่มไปแล้วเจอสภาพปัญหาก็ต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ตรงอื่นอีก

“เพราะฉะนั้นการพัฒนาเหล่านี้มันก็เลยต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แต่มันจะต้องพัฒนาไปสู่อาชีพ ไปสู่ความมั่นคงในชีวิต จนถึงเรื่องสิทธิในสุขภาพ ซึ่งถ้ามองทั้งหมดแล้วมันจะต้องก้าวไปสู่เรื่องสิทธิของความเป็นองค์รวม แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมและไม่เลือกปฎิบัติ”

พี่ตาลเป็นนักปกป้องสิทธิที่ไม่ท้อถอยดังคำที่พี่ตาลกล่าวไว้ตอนต้นกับตัวเองว่า “พี่เป็นคนไม่ชอบเห็นความอยุติธรรม ดังนั้นตลอดเส้นทางการต่อสู้ของผู้หญิงอย่างพี่ตาล ทำให้เธอคนนี้ไม่เคยมองว่าเพศสภาพตัวเองเป็นข้อจำกัดในการยืนหยัดเรื่องสิทธิมนุษยชน

สำหรับคนทำงาน พี่ไม่เคยคิดว่าผู้หญิงหรือผู้ชายใครจะเก่งกว่ากัน มันอยู่ที่ใจของใครจะสู้มากกว่ากันกับการช่วยเหลือสังคม กับการที่จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจ นี่คือความต่างเพื่อไปสู่ความเท่าเทียม เพราะฉะนั้นสำหรับพี่พี่ถือว่าเพศสภาพไม่เป็นปัญหาอะไรถ้าใจเราพร้อมจะสู้

“เราต้องยอมรับว่าในความเป็นผู้หญิง การที่จะได้ยอมรับก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพราะว่าถ้าเราไม่แกร่งพอ หรือว่าเราไม่ยืนหยัดจริงๆ  ส่วนใหญ่ความเป็นเพศสภาพของผู้หญิงมักจะถูกมองว่าเดี๋ยวก็หยุด เดี๋ยวก็จบ เดี๋ยวก็ถอย อันนี้คือส่วนใหญ่ของนักปกป้องสิทธิที่มีเพศสภาพเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นในช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่าการที่จะให้ใครมายอมรับเรา มันไม่ได้ง่าย ก็มีบ้างเหมือนกันที่ไม่ยอมรับให้เราเข้าไปในส่วนของพื้นที่ของพี่น้องมานิเพราะเรามีเพศสภาพเป็นผู้หญิง”

พี่ตาลยังเสริมประโยคสุดท้ายเพื่อส่งแรงพลังให้ผู้หญิงว่า สำหรับพี่นะ พี่มองว่าสองมือของผู้หญิง เป็นสองมือที่ขับเคลื่อนโลกตั้งแต่วันแรกที่คนจะลืมตามาดูโลก ก็ต้องใช้พลังของผู้หญิง เพราะฉะนั้นพี่ถึงมองว่าความเป็นมนุษย์มันเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ชนเผ่า หรือว่าใครก็ตาม เพราะฉะนั้นสำหรับพี่ พี่ยึดถือเสมอว่าสิทธิของความเป็นคนเท่าเทียมกันตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก พลังของทุกคนมีไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ใจเราพร้อมจะสู้แค่ไหน ยึดมั่นกับสิ่งที่เราทำแค่ไหน อุดมการณ์ที่มีอยู่ในหัวใจเราเราจะต่อสู้ได้ยาวนานแค่ไหน เพราะฉะนั้นสำหรับพี่จะต่อสู้กับความอยุติธรรมจนถึงลมหายใจสุดท้าย” และนี่คือเสียงของนักปกป้องสิทธิผู้หญิงพื้นเมืองผู้กล้าหาญที่จะไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรม และพร้อมสู้ตามอุดมการณ์ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน”

 

  

เทมเพลตกลาง.png 

 

ทนายสุมิตรชัย หัตถสาร

ผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 “ผมมีแรงบันดาลใจในการทำงานในด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือสังคมหรือคนที่ถูกเอาเปรียบ และประเด็นที่ดินเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่สุด และขยายไปสู่การทำงานต่อเกษตรกรรายย่อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีปัญหากับรัฐ” สุมิตรชัยเล่าย้อนให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในวันที่เริ่มเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิที่ดินโดยไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน  เส้นทางนี้ทำให้เขามองเห็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินของประชาชน กับทั้งกลุ่มทุนและรัฐ 

“ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเข้ามาสัมผัสประเด็นปัญหาเรื่องที่ดิน ผมเห็นว่ามันเป็นปัญหาที่กดทับโดยโครงสร้าง คือเมื่อคุณไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย คุณจะไม่มีอะไรเลยที่เป็นฐานชีวิต”

สิทธิในที่ดิน จะนำมาสู่การมีศักยภาพที่จะจัดการชีวิตตัวเอง จัดการตามแนวคิดวิถีประเพณีของตัวเอง ในพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไปตามรูปแบบของสังคมพหุวัฒนธรรม

 “เพราะที่ดินเป็นพื้นฐานของหลายสิ่งหลายอย่างของวัฒนธรรมประเพณี เพราะมันเกิดจากรากฐานของที่ดิน จากการที่รวมตัวของประชาชนในการใช้ที่ดิน และมันก็งอกงามมาเป็นวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์”  

หากย้อนประวัติศาสตร์ของโลกกลับไป การมีอยู่ของ “ที่ดิน” นำมาซึ่งพื้นฐานของอารายธรรมที่งอกงามขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการสร้างอารยธรรมต่าง ๆ ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ หรือการสร้างวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่ส่งต่อลมหายใจมายังรุ่นลูกรุ่นหลานจวบจนทุกวันนี้ รวมถึงยังกลายมาเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในประวัติศาสตร์โลก สะท้อนผ่านปฏิญญาต่าง ๆ ที่เป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายและจารีตระหว่างประเทศ

“ถ้าประชาชนไม่มีที่ดินที่ทำกิน เขาจะต้องถูกผลักดันออกไปเป็นแรงในระบบทุนนิยมที่ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้เลย เพราะฉะนั้นที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญของสิทธิมนุษยชนรอบด้าน

การเดินทางบนเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความมุ่งมันเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและช่วยเหลือเพื่อนมนุษยชาติด้วยกัน มักมีเรื่องราวที่ทำให้เขาต้องเร่งยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้การทำงานของเขาที่เร่งด่วนที่สุดคือการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ต่อมาจึงเพิ่มทักษะและเสริมศักยภาพให้กับประชาชนด้วยการทำให้เขาได้รับรู้สิทธิของตัวเอง “จากนั้นเราจะดึงเขาเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบโครสร้างของเขาไปด้วยกัน” 

 แน่นอนว่าการทำงานมีความยากง่ายความเสี่ยงและความท้าทายต่างกันไปตามสถานการณ์ทางการเมืองด้วยเช่นกัน

“ในช่วงรัฐบาลปกติที่มาจากพลเรือนระดับความเสี่ยงจะน้อยลง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เปิดเผยได้มากขึ้นในการที่จะพูดและสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนต่างๆ แต่ปัญหาและความท้าทายคือเรื่องโครงสร้างของรัฐที่ยังยึดติดกับเรื่องความมั่นคงของรัฐ และมักจะมองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยคุกคามความมั่นคง”

 “การเปลี่ยนทัศนคติหรือ มายาคติของคนในสังคมไทยที่รัฐสร้างมาว่า ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ชาวเขาลักลอบค้ายาเสพติด ผลพวงจากมายาคติเหล่านี้ยังคงเป็นความท้าทายที่จะแก้ปัญหา”  

นอกจากความท้าทายของนักปกป้องสิทธิทั่วไปแล้วทนายยังชวนเล่าถึงมุมมองของนักต่อสู้ที่เป็นผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดตัวเองว่า “ผมมองว่าผู้หญิงนั้นมีพลัง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์คือเรื่องการแสดงออกและต่อสู้เรื่องสิทธิ

“ผมมองว่าผู้หญิงตรงไปตรงมามาก เขาไม่มีมิติของความกลัวเลย เมื่อต้องลุกขึ้นสู้ เขาจะมีพลังที่เต็มเปี่ยม”  ซึ่งต้องบอกเลยว่าการเคลื่อนไหวของผู้หญิงมีความชัดเจนว่าตนต้องการอะไร ถ้าชุมชนไหนที่มีผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหวเขาจะออกมาแถวหน้าก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความลังเลไม่กล้าเข้ามาสลายการชุมนุม”  ทนายเล่าเสริมต่อผ่านมุมมองที่เขาได้เคยเห็น

“ในมุมมองผมจากประสบการณ์การทำงานกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เรื่องที่ดิน จากชุมชนที่ทำงานร่วมกันอยู่ ผมมองเห็นมิติเรื่องอำนาจนิยมและชายเป็นใหญ่ที่ยังคงเกิดขึ้น เช่น ยังคงมีการยึดโยงว่าผู้ชายต้องมาก่อนนะ ผู้หญิงต้องตาม แต่เมื่อไหร่ที่ผู้หญิงเขาเสียงดังขึ้นมาผู้ชายก็ต้องฟัง อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่เขาเช่นกัน ผู้หญิงเปรียบเสมือนจุดศูนย์รวมพลังก็ว่าได้

ทนายเสริมว่า ในหลายชุมชน เวลาผู้หญิงลุกขึ้นต่อสู้ ชุมชนจะมีความแข็งแรง เนื่องจากผู้หญิงคุมฐานการผลิตทั้งหมดของชุมชน คุมความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสถาบันครอบครัว และคุมฐานทรัพยากรค่อนข้างเยอะ เมื่อไหร่ที่เขาคุมทิศทางการต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนก็จะมีพลังมากขึ้น

ปีที่ผ่านมา ได้มีเยาวชนนักปกป้องสิทธิผู้หญิงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในแนวหน้าอย่างรวดเร็ว เขาพบว่าเยาวชนกล้าคิดกล้าทำและกล้าที่จะแตกหักกับโครงสร้างหรือชุดความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ

“ผมว่านี่เป็นคุณลักษณะของคนรุ่นนี้ เขามีโอกาสที่จะรับรู้ได้ศึกษาได้เห็นอะไรที่หลากหลายมิติมากกว่า ผ่านเครื่องมือสื่อสารบนโลกโซเชียล และนี่เป็นโอกาสของเขา และเขาสามารถตั้งคำถามกับบางสิ่งบางอย่างและค้นหาคำตอบได้เร็ว

“อย่างรุ่นเรา ถ้าสงสัยในหนึ่งประเด็นเราไม่สามารถใช้ระยะเวลาอันสั้นหาคำตอบได้ อาจต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะรู้ แต่คนรุ่นใหม่มีความเร็วในการรับรู้ข่าวสารและตกผลึกเรื่องนี้ได้เร็วขึ้นหรือเปิดพื้นที่เพื่อโต้แย้งกันในระหว่างคนรุ่นเดียวกันได้อย่างสาธารณะ  

“สิ่งเหล่านี้คือความกล้าที่ทำให้เขาแตกหักกับโครงสร้าง ความคิดอุดมการณ์เดิมๆ ความเชื่อเก่า ๆ ที่มีลักษณะที่เป็นการกดทับทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ โครงสร้างสังคมที่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทำให้เยาวชนกล้าตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ และพยายามหาทฤษฎีเข้ามาเพื่อค้นหาคำตอบใหม่ๆ ตามทิศทางสังคมที่เขาอยากให้เป็น ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่มันคือชุดความคิดที่ก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ 

ดังนั้นประเด็นเรื่องเพศกลายเป็นประเด็นเก่าที่คนรุ่นผมสู้กันมา แต่ยังไม่สำเร็จ แต่คนรุ่นนี้ทะลุเป้าหมายแล้ว เพียงแต่ว่าโครงสร้างสังคมยังไม่ยอมรับให้มันเป็นไปตามความต้องการของเยาวชน แต่เยาวชนเขาทำได้แล้ว เขาไม่มีชั้นระดับวัดค่าของคนแล้ว ไม่มีการวัดระดับเรื่องเพศ ทุกอย่างมันเท่าเทียมกัน มันเสมอภาค เพียงแต่ว่าเขาต้องมาออกแบบให้มันอยู่กับสังคมคนรุ่นใหม่อย่างไรในอนาคต ซึ่งแน่นอนคนรุ่นผมไม่มีส่วนแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็น มันเป็นโอกาสของคนรุ่นนี้ที่จะสร้าง” ทนายกล่าว

สุดท้ายนี้ทนายได้ฝากข้อความสั้นๆว่า “ผมขอเป็นกำลังใจให้นักปกป้องสิทธิผู้หญิงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินในทรัพยากรของชุมชนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางครอบครัว ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ครับ”