สู่โลกใบใหม่ ด้วยพลังแห่งวัยเยาว์

28 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International 

          ตัวอักษร น้ำเสียง พลังของความหลากหลายคือสิ่งที่มีความหมายสำหรับเธอ

         ลูกแก้ว โชติรส ไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นนักเขียน เพียงแต่เธออยากจะเขียนมันออกมา เพราะเธอเชื่อว่าตัวอักษรก็เป็นเสียงหนึ่งและเป็นพลังหนึ่งทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของช่องว่างบางสิ่งในสังคมได้ ที่อาจจะไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ขนาดเล็ก ครอบครัว เพื่อน คนรัก เรื่องเล็กๆที่สามารถนำไปสู่เรื่องขนาดใหญ่ได้  

            หลายครั้งที่เธอต้องพบกับแรงกระแทกจากความเป็นตัวของเธอเอง แต่เธอก็ยังยืนกรานในเสียงและความหลากหลายที่เธอเชื่อว่ามันไม่ควรจะมีเรื่องเล่าเพียงเรื่องเดียวในสังคม นอกจากนี้เธอยังเชื่อว่า แม้ว่าสังคมไทยตอนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดพูดถึงประเด็นเช่นเรื่องผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศ

            เรื่องเล่าของเธอต่อจากนี้จึงฉายภาพให้เห็นมุมหนึ่ง มุมของนักเขียนตัวเล็กๆ ที่เชื่อในเรื่องการขยับปีกของผีเสื้อ การเมืองในความสัมพันธ์ขนาดเล็ก ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่วันนี้แต่มันคือวันข้างหน้า 

 

นิยามคำว่านักเขียน 

            เราว่าในไทยมันก็ยากที่จะเรียกใครสักคนว่าเป็นนักเขียนอาชีพได้ด้วยรายได้ของมัน อีกอย่างเรารู้สึกว่าในโลกปัจจุบันคำว่านักเขียนมันได้ถูกผูกขาด คือพูดง่ายว่าเมื่อก่อนเราอาจจะรู้สึกว่าคนที่มีสิทธิที่จะเขียนได้ มันจะต้องเป็นนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ คนทำแมกกาซีนอะไรแบบนี้ แต่ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตมันมาขนาดนี้แล้ว เหมือนใครๆ ก็เขียนได้ เรายังเห็นคนในทวิตเตอร์ยังเขียนดีมีทัศนคติที่แหลมคม คือพูดง่ายๆ ว่าเราไม่ต้องฟังจากนักเขียนอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว มุมมองของเรา ใครๆก็เขียนได้ สิทธิในการเขียนแฃะการสื่อสารอยู่ในมือของทุกๆคน แต่สำหรับเราที่เราเขียน มันเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก พออ่านหนังสือมาถึงจุดหนึ่งมันก็อยากจะเขียน

หนังสือเรื่อง Black Cherry ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด จึงกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของเรา สำหรับเรามันไม่ใช่การเขียนแค่เพราะว่าเราอยากเป็นนักเขียนหรืออยากมีเรื่องแต่งออกมา แต่มันคือการเขียนเพื่อส่งเสียงเพื่อผู้หญิง ส่งเสียงเพื่อเรือนร่างของผู้หญิง เพื่อตัวของผู้หญิง ให้มันมีน้ำเสียงที่หลากหลายในหนังสือที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับเราการเขียนเป็นเหมือนตัวแทนเสียงหนึ่งของผู้หญิง มันเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับวงการหนังสือ

            ถ้าระบบยังเป็นเหมือนเดิมระบบอุปถัมภ์ที่ต้องรอให้นักเขียนอาวุโสมารับรองงานก่อนว่าคนนั้นคนนี้ถึงจะน่าอ่าน มันก็คงไม่เกิดน้องๆ หรือแม้แต่คนอายุมากกว่าเราหรือเท่าเรา จนมีเสียงที่มันหลากหลายได้ขนาดนี้ คือทางหนึ่งทุกคนมันสามารถจับเขียนได้มากขึ้นหรือสื่อสารได้มากขึ้น เขียนในที่นี้อาจจะเป็นการพิมพ์ก็ได้ แต่อีกทางหนึ่งก็แอบคิดว่าความกระแสหลักบางอย่างมันยังมีอำนาจผูกอยู่ เช่น สำนักพิมพ์หลักๆ ในประเทศ ที่พิมพ์งานวรรณกรรมก็ตามหรือขนบบางอย่างที่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ใครก็จะไปเขียนก็ได้ มันไม่เหมือนแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ถามว่าอีกทางหนึ่ง เด็กเดี๋ยวนี้แคร์ไหม เขาก็ไม่แคร์อยู่แล้ว เขาก็พิมพ์กันเอง (Self-Published) อยู่แล้ว เขาทำเองขายเองอย่างใน readAwrite บางคนได้เป็นแสนเป็นล้าน ซึ่งถามว่านักเขียนบางคนที่ยังผูกติดกับระบบหรือวิธีคิดแบบเดิมๆ ตามไม่ทันด้วยซ้ำ จริงๆ มันก็ช่องว่างอยู่นะ ระหว่างสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามากับสิ่งเดิมๆ

 

การเป็นนักเขียนผู้หญิงหรือเพศหลากหลายในวงการวรรณกรรมไทยเป็นอย่างไร

            เราคิดว่าเวลาพูดเราจะแยกตลอดว่าแบบกระแสหลัก แต่เอาจริงคำว่ากระแสหลักตอนนี้มันก็ไม่หลักแล้ว เพราะอย่างที่บอกเด็กๆ ในทวิตเตอร์ เขาขายหนังสือได้เงินเยอะมาก แต่เราแค่จะสื่อว่าความเป็นระบอบของสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ที่เราคุ้นชินกันมาเรารู้สึกว่าระบอบหนังสือที่ต้องพิมพ์ส่งผ่านสำนักพิมพ์ เสียงมันยังไม่หลากหลายพอ คือถ้าไปไล่อ่าน เอาง่ายๆ ตามเวทีประกวดก็ได้ พวกนั้นจะเห็นชัดว่ากลุ่มอำนาจ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่า เผด็จการหรือทหาร มันก็เห็นชัดว่าเขากำลังให้ความสำคัญหรือมีที่ทางเฉพาะสำหรับเสียงแบบไหนอยู่ แต่เสียงไม่ได้หลากหลายมากพอ ในขณะเดียวกันถ้าเรามองออกไปกว้างๆ ไปถึงเยาวชน เขาพยายามส่งเสียงของเขาออกมา โดยที่มันก็จะมีให้เห็นว่า เขาไม่แคร์เวทีประกวดเวทีรางวัลด้วยซ้ำ คือเผลอๆ เขาไม่รู้จักด้วยซ้ำ ว่าใครเป็นนักเขียนซีไรท์ปีล่าสุด มันไม่สำคัญกับเขาอีกต่อไปแล้ว

ทางหนึ่งเรารู้สึกว่าในแวดวงวรรณกรรมกระแสหลักมันยังขาดความหลากหลาย แต่อีกทางหนึ่งเยาวชนและคนรุ่นใหม่ก็พยายามส่งเสียงของเขา พยายามต่อรองกับอำนาจในวงการวรรณกรรมในแบบของเขาอยู่ สำหรับเราคำถามนี่เลยตอบยาก สำหรับเรามันมีสองพื้นที่ กระแสหลักและกระแสรองอยู่เสมอ เราคิดว่ากลุ่มสำนักพิมพ์เขายังรู้สึกว่าการพิมพ์กับสำนักพิมพ์มีชื่อมันจะดูมีความหมาย (matter) ถึงแม้ว่าอีกโลกหนึ่งในทวิตเตอร์ หรือ readAwrite เขาจะไม่ได้แคร์ตรงนั้นเลย

 

เสียง ตัวอักษร ในสำนักพิมพ์ทางเลือก 

            พูดจริงๆมันก็คือความเยาว์ของเรา เราชินกับแวดวงวรรณกรรมกระแสหลักมาแบบหนึ่ง เราโตมาแบบหนึ่ง แล้วช่วงนั้น readAwrite  ทวิตเตอร์ ยังไม่บูม ตอนนั้นมีสำนักพิมพ์ P.S. Publishing เกิดขึ้น  เรามองด้วยสายตาแบบ สำนักพิมพ์อะไร? พิมพ์หนังสือเหมือนแบบนิยายแชทเล่มเล็กๆแล้วก็แพง คิดในใจว่าจะมีคนซื้อหรอ นั่นคือ 7 ปีที่แล้ว แล้วตอนนี้ 7 ปีผ่านมา สำนักพิมพ์ P.S. Publishing พิสูจน์ให้เราเห็นแม้แต่นักเขียนอย่างเราตอนจะส่งต้นฉบับยังไม่ส่งสำนักพิมพ์ใหญ่ ยังคิดว่าต้องส่ง P.S. Publishing เพราะเขาสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ว่าเขาอาจไม่ใช่เสียงกระแสหลัก แต่เป็นเสียงที่หลากหลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าแบบไหนผิดถูกนะ แต่มันแปลว่า เขารู้สึกว่าเสียงนี้มันยังมีไม่มากพอ คือเสียงของผู้หญิงเสียงของ LGBTQIA+

แรกๆ ที่สำนักพิมพ์นี้พิมพ์ออกมา มีเสียงวิจารณ์ว่าแบบนี้เป็นหนังสือได้เหรอ ไม่เห็นจริงจังเลย ไม่พูดเรื่องการเมืองเหรอ แต่มันก็น่าสนใจว่า คือเราเคยไปนั่งแจกลายเซ็นแล้วมีเด็กรุ่นใหม่ๆทั้งนั้นเลยนะที่เป็นแฟนหนังสือสำนักพิมพ์นี้ เราเคยคิดว่างานเขียนเราต้องรุ่นเดียวๆกับเราอ่าน คนวัยทำงาน ปรากฎว่าน้องๆ มัธยมอ่าน แล้วเรารู้สึกใจฟูมากที่มีเด็กผู้หญิงมาพูดว่า “พี่ หนูเคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน แต่ไม่คิดเลยว่าจะมีคนเจอเหมือนหนู และหนูดีใจที่พี่เขียนมันออกมา มันทำให้หนูรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ” แล้วเราก็รู้สึกว่า คนรุ่นใหม่ๆ เขาสนใจน้ำเสียงแบบนี้นะ มันก็เป็นอีกความหลากหลาย คนรุ่นเดิมๆอาจจะหลงลืมหรือเปล่า นอกจากนี้เด็กผู้ชายก็มี กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็มี เราก็แปลกใจว่าเขาก็อ่าน เราก็คิดว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาสนใจการเมืองเหมือนกันนะ เราคิดว่าการเมืองไม่ได้อยู่ในแค่สภาเท่านั้น การออกไปประท้วง มันไม่ได้แค่ไปกาบัตรเลือกตั้ง สำนักพิมพ์ P.S. Publishing  สำหรับเราโคตรการเมืองเลยตรงที่เล่าการเมืองผ่านความสัมพันธ์ก็ได้ เนื้อเรื่องแบบอยูในบ้านที่ใช้ความรุนแรง มีแฟนท็อกซิก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเขียน หรือหลายๆ คนเขียนก็ตามมันคือการลุกขึ้นมาพูดถึงการเมืองระดับนึง การเมืองระดับห้องนอน การเมืองระดับบนเตียง ซึ่งเราเข้าใจแล้วทำไมเด็กๆ เขาสนใจการเมือง

            ในหนังสือของเราในบทหนึ่งที่ครูห้องปกครองเรียกนักเรียนหญิงเข้าไปถามว่า มีเซ็กซ์ทำไม แล้วตัวละครผู้หญิงก็สงสัยว่าทำไมการที่มีเซ็กส์เนี่ย ทำไมที่มีแต่ผู้หญิงที่โดนว่า ทำไมอาจารย์ไม่ไปถามผู้ชายบ้างว่า ผู้ชายใส่ถุงยางหรือเปล่า แล้วเรารู้สึกว่าอะไรหลายๆอย่างที่เด็กผู้หญิงในสังคมนี้เจอแล้วไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงในวรรณกรรมก็ตาม ในหนังก็ตาม ทั้งที่จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา พอสิ่งเหล่านี้ถูกเขียนออกมาในวรรณกรรม มันก็เป็นไปได้ว่าผู้ใหญ่ที่ผ่านมาแล้ว ผู้ชายหรือคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์จะมองว่าเรื่องแบบนี้จะเป็นวรรณกรรมได้หรอ แล้วใครจะอ่าน แต่จริงๆ แล้วมันสัมพันธ์กัน มันมีคนอีกเยอะที่เจอสิ่งเหล่านี้กดทับอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ และเขารู้สึกโดดเดี่ยว การที่เราเขียนออกมามันเลยเหมือนเป็นการบอกเขาว่า ไม่ๆ มันมีคนเคยเจอนะเราต้องลุกขึ้นสู้ หรือถ้าไม่สู้เราต้องรู้ได้ว่าสิ่งนี้มันไม่โอเค

 

มุมมองเรื่องเพศในปัจจุบันคิดว่าเปลี่ยนจากอดีตไปมากน้อยแค่ไหน?

            เราคิดว่าในแง่ความตระหนักรู้ มันดีขึ้นเรื่อยๆ เราว่ามันเหมือนเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิ สังคมมันร่วมตระหนักรู้ไปด้วยกัน เหมือนคนก็รู้แล้วว่าแรงงานโดนขูดรีดยังไง แต่เรื่องเพศคนรุ่นใหม่เค้าตระหนักรู้กันเอง consent คืออะไร การที่แบบแต่งตัวโป๊ ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะ แต่ถามว่ามันเปลี่ยนไปขนาดนั้นจริงๆไหม เราคิดว่า มันไม่ได้ไปไหนไกลเลย มันยังวนอยู่ที่เดิมเอาง่ายๆ เวลามีข่าวดาราหญิงไอดอลหญิงถูกทำร้ายร่างกายจากครอบครัวทั้งๆ ที่ มองยังไงคนทำร้ายร่างกายก็ผิด ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน แต่ลองไปอ่านคอมเมนต์ได้เลย จะพบว่ามีประมาณ 90% ที่จะถามว่า ทำไมคุณถึงไม่ออกมาจากความสัมพันธ์นั้น “ทำไมไม่แจ้งความคะ” หรือ “เขาเป็นพ่อยอมๆเขาไปหน่อยสิ” ในความรู้สึกเรามันโคตรชัดเจนเลย ว่ามนุษย์คนหนึ่งที่ถูกทำร้าย มันจะมีอะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้อีก นั่นคือมันยังมีการโทษเหยื่ออยู่เราคิดว่าในแง่การตระหนักรู้ ข้อมูลเรื่องเพศ เรื่องสิทธิ มันกำลังดี ขึ้นเรื่อยๆ แต่ในแง่ปฎิบัติ สังคมจริงที่เราต้องเจอ เรารู้สึกว่า มันยังมีงานที่ต้องทำอีกเยอะ ยังต้องพูดไปเรื่อยๆ เวลาเราเล่นทวิตเตอร์มันจะมีหลายประเด็นที่เรารู้สึกว่า อย่างเรื่องความรุนแรงในครอบครัวคือวนมาเมื่อไหร่เราก็พูดทุกรอบ แล้วบางเนื้อหามันก็ซ้ำ เพราะประสบการณ์เราก็จำกัด หรือบางทีเราเจอประสบการณ์อะไรก็จะเล่าซ้ำทุกรอบ จนบางทีมีคนถามว่าไม่เบื่อเหรอ ที่ต้องพูดเรื่องนี้ซ้ำ มาไม่รู้กี่ปีแล้ว เรารู้สึกว่าเออมันต้องพูดซ้ำจริงๆ ว่ะเพราะเรื่องบางเรื่องมันวนอยู่ในอ่าง เพราะทุกครั้งที่มี เคสอะไรกลับมา เคสละเมิดทางเพศ หรือเคสอื่นใดก็ตาม มันก็ยังมีคนไม่เข้าใจจนเราก็งงว่า เวลาใครบอกว่ามันก็ดีขึ้นเราก็คิดว่ามันก็เชื่อนะ แต่ เราก็เชื่อว่าก็ยังต้องทำอะไรกันต่อไปตามหน้าที่ของตัวเองเรื่อยๆ เพราะหนทางอีกยาวไกลแน่นอน

            อย่างเคสการล่วงละเมิดทางเพศ เขายังเลือกเหยื่อเลย หมายถึงว่าถ้าเหยื่อที่ดูแต่งตัวโป๊หรือผู้ขายบริการ คอมเมนต์เปลี่ยนเลย ทั้งๆ ที่จริงก็คือไม่ว่าใครๆ ก็ไม่ควรที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทันที่ที่ผู้ถูกกระทำกลายเป็นภาพของเหยื่อที่ไม่ได้อยู่ในหัวเขา มันจะกลายเป็นอีกเรื่อง หรือแม้แต่ผู้ถูกกระทำที่กล้าออกมาพูดในสิ่งที่เคยผ่านเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศมาพูด กลายเป็นว่าโดนว่าหน้าไม่อาย ออกมาพูดได้ยังไงเราเลยรู้สึกว่า เนี่ย มันเป็นสังคมแบบไหนวะ สังคมชอบผลักให้เป็นขาวดำ ถ้าผู้ถูกกระทำไม่ขาวบริสุทธิ์สังคมก็จะคิดว่า อ๋อ มันสมควรโดนแล้ว ซึ่งน่ากลัวมาก

 

มีนักเขียนที่ชอบไหม?

            เยอะมากพอมาถึงจุดหนึ่งก็อ่านมาเรื่อยๆ สำหรับนักเขียนช่วงนี้เราชอบงานของพี่ตินกานต์ เรารู้จักเขาครั้งแรกจากเล่มดอกรัก พิมพ์กับ a book  แล้วก็อ่านเล่มต่อไปคือ สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง คือเรารู้สึกว่าพี่ตินมีความเป็นความเป็นผู้หญิง (Feminine) บางเฉดที่เราไม่มีเลย แล้วพอเราอ่าน เราก็รู้สึกว่าชอบจังที่เขาสามารถทำให้เราเห็นว่าผู้หญิงหรือมนุษย์เพศไหนก็ตามมันมีความหลากหลายถึงเพียงนี้ไง ทำไมมันถึงควรมีหนังสือที่หลากหลายเพื่อให้เราเห็นตัวละคร และเห็นตัวเองว่า ถ้าฉันเจอเหตุการณ์นี้แบบตัวละคร ฉันจะไม่ทำอย่างนี้ฉันจะทำแบบนี้ แต่ตัวละครก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากเรา เป็นตัวละครที่หวานหวานอบอุ่นนุ่มนวล แต่ก็เศร้านะแต่ก็งดงาม เพราะมันมีความหลากหลายมันก็ทำให้เราเห็นว่า เวลาคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ มันมีที่มาที่ไปแบบนี้ ที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ทำอะไรที่ไม่เหมือนเรา อาจจะเพราะว่าเขามีแบ็คกราวด์บางอย่างที่ต่างจากเราก็ได้ 

 

พลังของการเขียน จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้?

            เราเชื่อในการขยับปีกของผีเสื้อนะ เราไม่ได้เชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มพลิกโลกพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินอะไรแบบนั้น ต่อให้หนังสือเล่มนั้นจะพลิกหนึ่งคนได้ก็อาจจะพลิกหนึ่งคนไม่ได้ก็ได้ แต่เราเชื่อว่า เวลาเราสื่อสารอะไรออกไป ยืนหยัดเพื่ออะไรบางอย่างออกไป สิ่งนั้นมันจะไปทำหน้าที่ ส่วนเล็กๆส่วนใดส่วนหนึ่งในจักรวาล สำหรับเราแค่นั้นก็พอแล้ว เราชอบให้งานของเราทำงานระดับเล็กๆ แบบนี้ เราไม่ได้อยากเขียนถึงการโค่นล้มโครงสร้าง ซึ่งมันก็ต้องมีคนที่เขียนเรื่องนั้นก็ทำต่อไป เราถึงบอกว่า น้ำเสียงที่หลากหลายมันถึงมีมีความหมาย เด็กผู้หญิงบางคนที่ไม่ได้รู้สึกกับการโค่นล้างโครงสร้างระบบ  แต่รู้สึกกับการที่ไปด่าครูที่ล่วงละเมิดทางเพศ ก็ควรที่จะมีหนังสือที่สนับสนุนเขา  เราจะกีดกันเสียงอื่นๆ ให้เหลือเสียงแค่ไม่กี่แบบทำไม หรือการพูดเรื่องการเมือง ประเด็นไหนก็เป็นการเมืองทั้งนั้น ไม่ต้องมาคอยนั่งเบียดกันเองว่า อันนี้ไม่ภาพใหญ่ พี่ไม่จริงจังนักเขียนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง 

 

ฝากถึงผู้หญิงที่ถูกลิดรอนสิทธิและก็ถูกคุกคาม

            เราไม่ได้อยากฝากถึงผู้หญิงที่ถูกลิดรอนสิทธิ แต่เราอยากฝากถึงสังคมมากกว่า คนชอบพูดว่า ประเด็นผู้หญิงมันเก่าแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ผู้หญิงเท่ากันกับผู้ชายแล้ว มันไม่ได้เหมือนยุคที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรืออะไร แต่เราคิดว่ามันก็เหมือนทุกๆ ประเด็น เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เมื่อโลกมันหมุนเวียนเปลี่ยนไป คุณไม่ได้โดนจับไปกดหัวเหมือนตอน 100 ปีที่แล้ว แต่ทุกวันนี้มันก็มีประเด็นใหม่ๆ ที่ก็ยังต้องสู้อยู่ สู้กับนายทุน สู้กับการขูดรีด เราก็เลยรู้สึกว่าประเด็นผู้หญิงก็เหมือนกันมันเลยไม่ได้มีประเด็นไหนที่เก่าไปแล้วหรือประเด็นไหนมันไม่สำคัญคัญหรอกเพราะว่าในทุกๆ วัน มันมีคนถูกละเมิดสิทธิ มีคนมีคนมีคนถูกกดทับกดขี่ ถ้าคุณเป็นผู้หญิงแล้วคุณไม่โดนกดขี่ เราก็ดีใจด้วย หรือแม่คุณน้องคุณมีความสุขดีเราโคตรดีใจเลย แต่คุณต้องไม่ลืมว่า มันก็มีคนที่ถูกกระทำอยู่จริง เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่ามันก็ถูกต้องแล้วที่คุณอาจจะทำงานในประเด็นของคุณ ที่คุณเชื่อต่อไป ต่อสู้ในเรื่องที่คุณเชื่อต่อไป อย่าพูดว่าประเด็นนั้นประเด็นนี้ว่ามันเก่า ก็เขาเจอประเด็นนี้แล้วเขาลุกขึ้นมาสู้ อยากให้ฟังเสียงของกันและกันเยอะๆ ฟังเสียงของผู้หญิงที่ถูกกดทับถูกล่วงละเมิดเยอะๆ 

            ในขณะเดียวกันสำหรับผู้หญิงที่ถูกกดทับและถูกล่วงละเมิด ก็ไม่อยากให้รู้สึกว่าอยู่ในยุคนี้แล้วถูกบังคับให้ต้องลุกขึ้นมาพูดนะ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความพร้อมของแต่ละคน ถ้าถูกล่วงละเมิดถูกกดทับถูกทำร้าย แล้วยังไม่พร้อม อาจจะเริ่มหาการสนับสนุนจากคนที่ใกล้ตัวที่สุดก่อน เพื่อน คนที่ไวใจได้ ไม่จำเป็นต้องแบบออกมาพูดเสมอไป มันอาจจะทำให้รู้สึกว่าสังคม ใครก็ออกมาพูด เราว่าความพร้อมของผู้ถูกกระทำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่ากดดันตัวเอง เราพร้อมเมื่อไหร่ก็เราค่อยพูด ในวิธีของเราก็ได้ 

             

            

คุณเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนเพื่อเปลี่ยนโลกได้ ด้วยการยืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกละเมิดสิทธิ ที่ http://aith.or.th