แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?

8 มกราคม 2565

Amnesty International 

‘แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?'

 

'ประชาธิปไตย' ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคือการที่ประชาชนมีสิทธิ์กำหนดทิศทางอนาคตประเทศของตัวเองผ่านการเลือกผู้นำ เลือกผู้แทน หรือเลือกพรรคการเมืองและนโยบายที่จะมาเป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ  แต่หารู้ไม่ว่าคอนเซปต์ของประชาธิปไตยที่แท้จริงลึกซึ้งกว่านั้นมาก ดังที่นักการเมืองในอเมริกา Bernie Sanders เคยกล่าวไว้ว่า

 

"Democracy isn't just the opportunity to vote. What democracy really means is having control over your life."

(ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การมีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงหมายถึงการที่คุณมีสิทธิ์กำหนดทิศทางชีวิตตัวเองได้)

 

ในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐานดังเช่นประเทศไทย 'สิทธิ์ในการเลือกและกำหนดทิศทางชีวิตตัวเอง' ของคนส่วนใหญ่คงมีไม่มากนัก จากข้อจำกัดต่างๆที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ชั้นล่างสุดในห่วงโซ่แห่งการกดขี่ และ 'มีสิทธิที่จะเลือกหรือกำหนดทิศทางชีวิตตัวเอง' น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ พวกเขาถูกกดขี่และถูกจำกัดสิทธิ์ในหลายมิติ ไม่เพียงแต่ถูกกดขี่จากระบบกฎหมาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แต่รวมถึงระบบอาวุโสและสถาบันครอบครัว คนกลุ่มนั้นก็คือ 'เด็ก และเยาวชน' ที่แทบไม่มีสิทธิ์เลือกหรือกำหนดทิศทางชีวิตของตัวเองได้เลยในประเทศนี้ 

 

จากการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนผ่าน Clubhouse ในหัวข้อ "แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?" เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มีเยาวชนหลายคนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องพบเจอทางเลือกในชีวิต แต่กลับถูกจำกัดสิทธิ์ที่จะเลือกโดยระบบกฎหมายและสถาบันครอบครัว ดังเรื่องราวจากเยาวชนคนหนึ่งที่จำใจต้องเข้าเรียนในหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร เพื่อที่จะไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ทำให้ต้องพบเจอกับการกดขี่หลายรูปแบบในหลักสูตรดังกล่าว ทั้งที่ตนเองไม่ได้เลือกที่จะเข้ามาตั้งแต่แรก ซ้ำยังไม่สามารถเลือกที่จะหยุดพักการเรียนในช่วงเวลาที่ตนต้องการได้ เนื่องจากระบบการศึกษาที่ไม่ยืดหยุ่นและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของครอบครัว ชีวิตที่ไร้ทางเลือกของเยาวชนคนดังกล่าวเป็นเพราะระบบการเกณฑ์ทหารและระบบกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการเลือก และระบบการศึกษาที่ตัวผู้เรียนไม่สามารถออกแบบเองได้ ซึ่งนับเป็นการกดขี่จากระบบกฎหมายและระบบการศึกษาโดยตรง

 

อีกกรณีหนึ่ง เป็นครูที่พบเจอกรณีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความเนื่องจากเด็กยังอายุไม่ถึง 18 ปีและผู้ปกครองไม่ยอมมาแจ้งความกับเด็กด้วย เนื่องจากเด็กมีความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับผู้ปกครอง จนเวลาล่วงเลยไปเป็นปี ทำให้คดีนี้ไม่ได้รับการสะสางหรือได้รับการดำเนินการใดๆจากระบบยุติธรรม นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เด็กถูกกดขี่โดยตรงจากระบบกฎหมาย ระบบชายเป็นใหญ่และสถาบันครอบครัว

 

ทั้งสองกรณีข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายล้านกรณีที่เป็นมากกว่าการจำกัดทางเลือก แต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กขั้นรุนแรง และยังมีอีกหลายกรณีที่ระบบสังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย และวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการจำกัดทางเลือกและจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน อย่างกรณีระเบียบทรงผมและเครื่องแต่งกายที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้สิทธิ์สถานศึกษาทั่วประเทศดำเนินการละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายเด็ก จนเกิดการต่อต้านจากนักเรียนทั่วประเทศและนำมาสู่การละเมิดสิทธิเด็กขั้นร้ายแรงในอีกหลายกรณี

 

ยังมีอีกหลายกรณีที่เด็กไม่ได้ถูกจำกัดทางเลือกโดยรัฐและกฎหมายโดยตรง แต่ถูกจำกัดทางเลือกโดยระบบเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึงและเพียงพอรวมถึงสถาบันครอบครัว อย่างกรณีที่เยาวชนคนหนึ่งได้ทุนเรียนฟรี 4 ปี แต่ต้องตัดสินใจลาออกจากการเรียนในมหาวิทยาลัยหลังจากเรียนไปได้เพียง 1 เดือน เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ค่าเกี่ยวเนื่องทางการศึกษาที่แบกรับไม่ไหว รวมถึงปัจจัยอื่นๆ แต่โชคดีที่เยาวชนคนดังกล่าวมีทักษะสามารถสื่อสารกับครอบครัวจนเกิดความเข้าใจกันได้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ทางเลือกของเยาวชนคนดังกล่าวถูกจำกัดไว้ เพียงเพราะระบบรัฐสวัสดิการด้านการศึกษาที่ล้าหลัง

 

อีกกรณีที่สำคัญที่สุดและเป็นสาเหตุให้เกิดการกดขี่ในสถาบันครอบครัว นั่นคือ "คดีอุทลุม" หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 ที่ห้ามผู้เยาว์ฟ้องร้องบุพการีของตนทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เป็นบุตรและให้อำนาจแก่ผู้ปกครองในการเอาเปรียบบุตรของตน โดยอ้างประเพณีบุญคุณและวัฒนธรรมอันดีอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพ

 

จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า การจำกัดทางเลือกและการจำกัดสิทธิของเด็กในแต่ละสถาบันทางสังคม มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อสังคมมวลรวมหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็กแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเด็กกับสถาบันทางสังคมนั้นๆ เพื่อให้สถานะทางอำนาจของผู้ที่อาวุโสกว่ายังคงอยู่ จนเด็กถูกกดให้เป็นชนชั้นล่างสุดในทุกโครงสร้างสังคม

 

ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการเรียกร้อง รณรงค์ และส่งเสริมสิทธิเด็กจากกลุ่มองค์กรต่างๆหลายภาคส่วน แต่แทบจะไม่มีองค์กรไหนที่เรียกร้องให้เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจทางสังคมให้เด็กมีสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งที่ 'สิทธิในการมีส่วนร่วมกับสังคม' เป็นหนึ่งในสี่ด้านหลักของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่หลายประเทศลงนามรวมถึงประเทศไทยเองด้วย แต่กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่สาเหตุหลักที่เด็กถูกกดขี่จากสถาบันทางสังคมต่างๆ เกิดจากการที่เด็กไม่มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของเด็กในสังคมนั้นๆ

 

ยกตัวอย่างเช่นในโรงเรียนที่เด็กไม่มีสิทธิในการเลือกหรือกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะส่งผลถึงสิทธิของตัวเด็กเอง ทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆที่ถูกกำหนดโดยคนที่มีอำนาจมากกว่า เป็นไปเพื่อรักษาสถานะทางอำนาจของผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนที่ตระหนักในสิทธิเด็กและคุณค่าของประชาธิปไตย ที่จะต้องนำพาประชาธิปไตยลงไปให้ถึงเด็ก โดยการเรียกร้องและผลักดันอย่างจริงจังให้เกิดการเปิดพื้นที่ให้เด็กทุกกลุ่มทุกคนทุกชนชั้น ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ส่งผลถึงสิทธิเสรีภาพของพวกเขาโดยตรง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและได้ผลที่สุด

 

เพราะเมื่อเด็กทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่ได้ เด็กทุกคนจึงจะมีสิทธิ์กำหนดทิศทางชีวิตของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อนั้นประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น 'เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เป็นการที่ทุกคนมีสิทธิในการเลือกและกำหนดทิศทางชีวิตตนเองได้' ซึ่งเด็กเองก็ต้องได้รับสิทธิ์นั้นด้วยในฐานะสมาชิกของสังคม

 

สุดท้ายแล้ว ประชาชนไม่ได้เลือกประเทศที่จะเกิดฉันใด เด็กก็ไม่ได้เลือกครอบครัวที่จะเกิดฉันนั้น 'ทุกเหตุผลที่ใช้ในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ' จึงเป็นเพียงข้ออ้างในการกดขี่ 

 


ข้อความจากผู้เขียน

บทความนี้เป็นบทความที่อยากให้คนตระหนักถึงการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการพูด การคิด การบริหารค่ะ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีผลกระทบมายังเด็ก ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรคิดแทนไปเสียหมด ยังมีเรื่องราวอีกมากที่สื่อถึงทางเลือกอันน้อยนิดของเด็ก ที่สำคัญกว่านั้น ไม่ใช่ทุกคนจะจบลงที่การสื่อสารหรือใช้เวลาเหมือนกับผู้ที่มาพูด แต่อาจจะจบลงด้วยความรุนแรง ดังนั้นการให้เด็กมามีส่วนร่วมควรถูกทำให้เป็นปกติและพึงทำในสังคมค่ะ