The silent forest: ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

18 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย กฤษณะ สุขสวัสดิ์

ผลงานจากโครงการ Writers that Matter: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

            ชีวิตของมนุษย์เรานั้น หากไม่นับปัจจัย 4 ประการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว การมีคู่ชีวิตเป็นไปตามความปรารถนา ถือได้ว่าเป็นความสุขที่เติมเต็มในชีวิต เนื่องจากมนุษย์โดยเนื้อแท้เป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ต้นธารของรัฐจึงเกิดจากหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุด นั่นคือ คู่ชีวิต ก่อนที่จะถักทอความสัมพันธ์เปรียบดั่งต้นไม้ที่แตกกิ่ง และออกผลมากขึ้น จนค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นชุมชน และเป็นรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์ในการเลือกคู่ชีวิตนั้น บริบทแวดล้อมอาจจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงความเชื่อประเพณีท้องถิ่น อย่างเช่น “การลักพาตัว” ที่เป็นประเพณีการหาคู่สุดแปลก ทั้งยังสามารถเห็นได้ประปรายในโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้ประเทศไทยของเราเอง หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า โลกของเราในยุคโลกาภิวัฒน์หรือในศตวรรษที่ 21 ยังมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีกหรือ แม้ว่าใคร ๆ ต่างเข้าใจว่านี่เป็นยุคแห่งการตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้วก็ตาม

 

1. “การลักพาตัวเจ้าสาว” การพรากเสรีภาพโดยอ้างความชอบธรรมของประเพณี

            เกาะซูมบา เป็นเกาะหนึ่งในหมู่เกาะซุนดาน้อย ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดขอนแก่นในประเทศไทย แต่มีประชากรกว่า 700,000 คน ในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งในพื้นที่ห่างไกล ไปทางชนบทของเกาะ ได้มีคลิปวีดีโอความยาวไม่เกิน 3 นาที เผยถึงเหตุการณ์สุดสะเทือนใจ โดยมีชายฉกรรณ์ประมาณ 5 คน กำลังลากตัวหญิงสาว อายุประมาณ 18 ปี เพื่อนำไปบ้านของฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวของเธอในอนาคต โดยสภาพของหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายรายนี้กำลังกรีดร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งพยายามดิ้นรน ต่อสู้เพื่อไม่ยอมไปกับกลุ่มชายดังกล่าว พร้อมเสียงร้องของเธอที่ตะโกนอย่างสุดเสียงว่า เธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เกาะบาหลีแล้ว เธอจะไปเรียนต่อ อย่าทำร้ายชีวิตฉันเลย ท้ายที่สุดปรากฏว่าว่าหญิงดังกล่าวได้แต่งงานกับฝ่ายชายที่ลักพาตัวเธอมา ซึ่งไม่ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าเธอยินยอมอย่างเต็มใจหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่หนักหนาสาหัสกว่า นั่นคือ ไปลักพาตัวหญิงแม่ลูกอ่อนในขณะกำลังให้นมบุตร เหตุการณ์ดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตำรวจ และนักการเมืองท้องถิ่นต้องเข้าเจรจาขอให้ปล่อยตัวหญิงรายดังกล่าวเพราะเธอยังมีสามี ไม่ได้เป็นหม้าย เนื่องจากสามีไปทำงานในพื้นที่อื่นเท่านั้น จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกลับทำให้หญิงรายนี้เกิดบาดแผลในใจอย่างรุนแรง รู้สึกหวาดผวา รวมไปถึงได้รับบาดเจ็บตรงแผลผ่าตัด เพราะเกิดการฉีกขาดในระหว่างที่ลักพาตัว ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในอินโดนิเซียเปิดเผยว่า แม้ว่าจำนวนการเกิดอาชญากรรมดังกล่าวจะมีเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหญิงสาวที่ถูกกระทำเช่นนี้เป็นจำนวนหลายรายต่อปี

            เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงปรากฎอยู่ในเฉพาะเกาะซูมบาในประเทศอินโดนิเซียเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศแถบทวีปเอเชียกลางอีกด้วย ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่หลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต และปัญหาดูจะทวีความรุนแรงยิ่งกว่า ยกตัวอย่างเช่นประเพณีที่เรียกกันว่า “ฉวยแล้ววิ่ง” (kyz ala kachuu) ของประเทศคีร์กีซสถาน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่โบราณของชนเผ่าเร่ร่อน โดยผู้ชายจะขี่ม้าออกไปฉุดหญิงสาว พร้อมพาตัวกลับไปอยู่กินฉันสามีภริยา แม้ยุคสมัยจะได้เปลี่ยนไปแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เนืองๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติ และถูกเพิกเฉยโดยปราศจากความจริงใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐตลอดมา จนช่วงปี 2558 เกิดเหตุการณ์นักศึกษาชั้นปริญญาตรีรายหนึ่งตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เนื่องจากตกเป็นเหยื่อของประเพณีดังกล่าว ทำให้นักสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายสตรีออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐ หันมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของประเทศคีร์กีซสถาน การกระทำดังกล่าวได้ถูกยกให้เป็นอาชญากรรมที่รุนแรงและมีบทลงโทษที่เด็ดขาด แต่อย่างไรก็ดีในทางกลับกันปรากฏว่า จำนวนคดีที่มีการฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลในเรื่องดังกล่าวกลับมีจำนวนน้อยมาก สวนทางกับสถานการณ์ที่นับวันกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนจากงานวิจัยของ Duke university ของสหรัฐฯ พบว่า ร้อยละ 23 หรือ 1 ใน 5 ของหญิงสาวชาวคีร์กีสถานถูกฉุดไปแต่งงาน และค่าเฉลี่ยอายุของผู้หญิงที่ถูกฉุดนั้นอยู่ที่ 19 อีกทั้ง 1ใน 10 ของผู้หญิงประเทศนี้จะแต่งงานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ความผาสุขในการเลือกชีวิตคู่น้อยที่สุดในโลก

            สำหรับประเทศไทยนั้น เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่มักจะเกิดกับกลุ่มชาติพันธ์หรือคนพื้นที่ชายขอบ อาทิ เหตุการณ์ที่มีชายหนุ่มเผ่าม้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำร้ายร่างกายสาวจากเผ่าเดียวกัน ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เหตุการณืในครั้งนั้น ส่งผลให้หญิงสาวเกิดภาวะพิการครึ่งซีกอันเนื่องมาจากถูกกระสุนปืนของชายหนุ่ม ตัดเข้าที่เส้นประสาทส่วนสำคัญ เพราะหญิงสาวขัดขืนไม่ยินยอมตามความต้องการของฝ่ายชาย จนต้องทำร้ายร่างกาย ต่อมาจึงสืบพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริง แต่ ณ ปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายและมีโทษทางอาญาสูง ซึ่งคุ้มครองถึงคนพื้นที่ชายขอบด้วย

 

2. เป็นชาย ใครว่าจะไม่ถูกลักพาตัวไปแต่งงาน

            การลักพาตัวไปแต่งงาน ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะเพศหญิงอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่ผู้ชายเองก็อาจจะตกเป็น “เหยื่อ” (Victim) จากอาชญากรรมดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับชายหนุ่มอินเดียซึ่งประกอบอาชีพเป็นวิศวกรในเขตนลันทา เมืองโมคนา ใกล้เมืองพัฒนา รัฐพิหาร ภาคตะวันออกของอินเดีย เขาถูกลักพาตัวมาเข้าพิธีแต่งงานโดยครอบครัวฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมข่มขู่ โดยการเอาปืนจ่อหัวชายคนดังกล่าวเพื่อให้ยินยอมแต่งงานกับบุตรสาวของตน ซึ่งภายหลังเขาได้มีการแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีตามกฎหมายกับครอบครัวของหญิงสาวดังกล่าว

            อย่างไรก็ดี มิใช่เพียงกรณีนี้เท่านั้น ยังมีรายงานเปิดเผยว่า พิธีดังกล่าวเป็นที่รู้จักในพื้นที่รัฐพิหาร หรือที่รู้จักกัน ในชื่อว่า “อุ้มวิวาห์” ซึ่งความเป็นมาของประเพณีการแต่งงานในประเทศอินเดีย จะมีความแตกต่างจากประเทศไทย นั่นคือ ฝ่ายเจ้าสาวต้องนำสินสอดไปสู่ขอฝ่ายชาย จึงจะสามารถแต่งงานกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายหญิงที่ประเทศอินเดียมักจะถูกรีดนาทาเร้น เรียกค่าสินสอดในจำนวนที่สูงลิ่ว จนบางครั้งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ที่ฝ่ายหญิงจะหาทุนทรัพย์ได้ตามจำนวนที่ฝ่ายชายต้องการจนนำไปสู่การลักพาตัวชายหนุ่มหลาย ๆ คนมาแต่งงาน ซึ่งยังปรากฎการกระทำลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในตำบลบีกูสาไร ทางตะวันออกของรัฐบิฮาร์อีกด้วย 

 

บทสรุป

            ในปัจจุบันการตื่นตัวของสังคมสมัยใหม่ที่เรียกร้องหาความเท่าเทียมกันในสังคม อาทิ การได้รับความยอมรับและการเข้ามามีบทบาททางการเมืองและสังคมในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หรือ “ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ” ซึ่งให้บทบาทชายและหญิงมีความเท่าเทียมกัน อันเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” (Fundamental Right) ที่ทุกคนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ว่า “เจตจำนงเสรี” ยังถูกจำกัดอยู่ในอีกหลายๆ แห่งทั่วทุกมุมโลก ที่รอให้เราช่วยกันปกป้องและส่งเสริมให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ อันเป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมีพึงได้โดยเท่าเทียมกัน