“เด็กคืออนาคตของชาติ” แล้วชาติคืนอนาคตให้กับเด็กได้หรือยัง

18 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย ทิพากร เส้นเกษ

ผลงานจากโครงการ Writers that Matter: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

            ผู้ใหญ่หลายคนกล่าวให้ความหวัง ความฝัน กับเด็กไทยว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ใหญ่อีกจำนวนไม่น้อยกลับทำลายความหวัง ความฝัน อนาคตของชาติลงไปได้เช่นกัน แล้วคงไม่แปลกอะไร ที่ข้าพเจ้าจะขอเข้าร่วมกระบวนการ วิเคราะห์ วิจารณ์ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังคม

             “เด็ก” คือ บุคคลที่มีอายุวุฒิภาวะ ต่ำกว่า 18 ปี เขาคือบุคคลที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ เป็นพิเศษ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในปี 2532 รัฐบาลทั่วโลก ได้มีการยื่นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกกว่า 196 ประเทศ ขณะเดียวกันเด็กจากทั่วทุกมุมโลกจำนวนหลายล้านคนตกหล่น ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

            รัฐบาลในประเทศไทย ได้มีการเข้าร่วม อนุสัญญาดังกล่าว ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 นั้นหมายความว่า รัฐบาลที่เป็นผู้นำประเทศของข้าพเจ้า มีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กทุกคน ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งต้องดำเนินการรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ

            อนุสัญญาฯ มีทั้งหมด 54 ข้อ ประกอบไปด้วยสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง สิทธิที่จะมีชีวิตรอด ประการที่สอง สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ประการที่สาม สิทธิในการพัฒนา และประการที่สี่ สิทธิในการมีส่วนร่วม [1]

            แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังคงปลูกฝังให้เด็กเชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อ หากเป็นเรื่องจริงทั้งหมดไหม ข้าพเจ้าก็ไม่อาจตัดสินได้ ข้าพเจ้าขอย้อนรอยกลับไป ในวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้นครั้งแรก 3 ตุลาคม2498 ถ้าเทียบกับอายุคนเห็นจะได้ 66 ปี ถ้าหากรับราชการก็คงเกษียณอายุมาแล้ว 6 ปี

            คำขวัญวันเด็กไทย ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้ง ในปี 2499 ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

            ปี 2504 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย” 

            ปี 2511 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ว่า “ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง” 

            ปี 2525 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ว่า “ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย” 

            ปี 2535 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ว่า “สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม” 

            ปี 2541 สมัยนายชวน หลีกภัย ว่า “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย” ปี 

            2548 สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า “เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด” 

            ปี 2544 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” 

            และปี 2564 สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภัคดีมีคุณธรรม” [2]

            หรือผู้นำในยุคสมัยต่างๆ ต่างก็มีความหวัง ความฝัน ที่จะเห็นเด็กไทยเติบโตไปข้างหน้าตามที่ตนเชื่อและคาดหวังเอาไว้ ทว่า ผู้ใหญ่เองคงหลงลืมไปว่า เด็กก็เติบโตขึ้นมาใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จะแปลกตรงไหนที่เขาจะแสดงทัศนะต่อโลกที่พวกเขาเองก็มีความเชื่อเป็นของตัวเอง

             เด็กสมัยนี้คงมีความเชื่อเรื่องการมีเหตุและมีผลมากกว่า จึงกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด เขาคงไม่ได้เติบโตมาเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้คงไว้ และกลับต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นให้มันดีกว่าที่เคยเกิดขึ้นมา

            ผู้ใหญ่หลายคนมักมีคำพูดสำเร็จรูปว่า “เป็นเด็กมีหน้าที่เรียน ก็เรียนไป อย่ายุ่งเรื่องการเมือง” ถ้าเป็นสมัยก่อนเด็กคง ไม่กล้าแม้แต่จะคิด เพราะมักมีคำพูดว่า “ผู้ใหญ่ถูกเสมอ” แต่ถ้ากล่าวในยุคนี้ เด็กเองก็คงสงสัย และตั้งคำถามว่า“ทำไม” พอพวกเขาตั้งคำถามกลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่า “ก้าวร้าว” หลายครั้งที่ข้าเจ้าเห็นเด็กแสดงออกทางการเมือง เพื่อสื่อสารไปยังผู้ใหญ่ว่า เด็ก หรือ พวกเขา ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

            สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างเห็นได้ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้คือ หลายกลุ่มหลายองค์กรต่างมีการเรียกร้องถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆมากกมาย หนึ่งในนั้นมีกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ประกาศยื่น 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. เปิดช่องทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของเด็กไม่ได้ เพราะมันคือกฎหมายสูงสุด ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไม่ว่าเด็ก/ผู้ใหญ่ เพราะรัฐบาลชุดนี้เองก็ไร้ศักยภาพในการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤติปัจจุบัน ขณะที่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คือข้อเรียกร้องต่อสถาบัน/องค์กร ที่พวกเขาอยากเห็นในอนาคต ดังนั้นข้อเรียกร้องดังกล่าวมันเป็นข้อเรียกร้องเพื่ออนาคต 

            แล้วแบบนี้ ผู้ใหญ่ยังต้องพูดอีกไหมว่า “เป็นเด็กมีหน้าที่เรียน ก็เรียนไป อย่ายุ่งเรื่องการเมือง”ซึ่งปัญหาดังกล่าว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ไม่ใช่ผู้ใหญ่เองหรอกหรือ ที่เป็นต้นเหตุในการก่อปัญหา กล่าวคือ คงไม่ผิดอะไร ถ้าหากวันหนึ่งเด็กต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้ และคงไม่ผิดไปมาก ถ้าหากพวกเขาต้องการแสดงออกทางการเมือง หรือในอีกหลายๆเรื่อง ที่เขาเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะประชากรคนหนึ่งของสังคมไทย



[1] อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กคืออะไร. เว็บไวต์ Unicef For Every Child Thailand. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.unicef.org/thailand/th/what-is-crc

[2] เด็ก:อนาคตของชาติ. (2561). สำนักพิมพ์ MATICHON ONLINE. สืบค้น 24 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_787086