มันล่มสลายแล้วจริง ๆ

1 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย อรยา สบายใจ

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

“ผู้ป่วย ICU มีเหตุการณ์ที่ต้องโทรหาญาติและบอกตรงๆ ว่าญาติคุณไม่ไหวแล้ว อาจจะต้องให้คนอื่นที่มีโอกาสมากกว่ามาแทน” 

การตายด้วยโควิด-19 เป็นการตายที่น่ากลัวมาก เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจและต้องฉีดยาให้หลับสนิทเพื่อ ไม่ให้เขาขยับได้เลยเพื่อป้องกันไม่ให้ไอ ซึ่งเสี่ยงแพร่เชื้อและถ้ามีปอดบวมรุนแรงต้องจับนอนคว่ำวันละ 16 ชั่วโมง และจับนอนหงาย 8 ชั่วโมงสลับกันแบบนี้ 48 ชั่วโมงเพื่อให้ปอดขยาย 

ซึ่งในช่วงนี้ถ้าคนป่วยเสียชีวิตเขาจะไม่มีทางรู้ตัวเลย ภาพสุดท้ายที่เขาเห็นคือการใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่มีโอกาสได้บอกลาใครเลยแม้แต่นิดเดียว 

เพื่อนของพี่สาวฉันเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลตำรวจเขตปทุมวัน ในกรุงเทพพมหานคร เล่าเรื่องปวดหัวใจใน ห้อง ICU และเหตุการณ์ที่คนไข้โควิด-19 ขอออกซิเจนอย่างเกรงใจ 

“ มีพอสำหรับผมไหม? ”  

ทำเอาเพื่อนของพี่สาวฉันจุกจนพูดไม่ออก เรื่องราวสะเทือนใจของผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในความดูแล เมื่อคนไข้ที่นอนเตียง เสริมได้ถามขอออกซิเจนอย่างเกรงใจ

 

เรื่องเล่าจาก cohort (หอผู้ป่วยรวม) วันนั้น คนไข้นอนเตียงเสริมริมทางเดิน พยาบาลสังเกตเห็นเขาหน้าแดง เหงื่อแตก คนไข้บอกว่า 'ร้อน อากาศอบอ้าวมาก ไม่ไหว' 

วัดไข้ = ไม่มีไข้ วัดความดัน = ปกติ วัดค่า ออกซิเจน = 90 

“ เหนื่อยมากไหมคะ ไหวรึเปล่า ? ” 

“ ไม่เป็นไรครับ ทนได้ ” 

“ อยากได้ออกซิเจนไหมคะ” 

“ ถ้าได้ก็ดีครับ มันมีพอจะให้ผมรึเปล่า ?” 

นิ่ง!! สตันท์ไป 5 วิฯ ตั้งสติ 

“ มีค่ะ มีพอให้ทุกคนแหละ ใจเย็นๆ นะ เดี๋ยวเรามาย้ายเตียงกัน เตียงที่คนไข้นอนตอนนี้มันเป็นเตียงเสริมเลย ไม่มีที่เสียบออกซิเจน ” คนไข้พยักหน้าแล้วเดินตามเขามาที่เตียงอีกเตียงเพื่อให้ออกซิเจน  

“ ขอใส่แป๊บเดียวครับ ดีขึ้นแล้วจะกลับไปนอนเตียงเดิม เตียงนี้เตรียมไว้รับคนไข้หนักใช่ไหม เพราะมันมี เครื่องช่วยหายใจพร้อมใช้วางอยู่และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ” 

เพื่อนของพี่สาวฉันได้แต่อึ้งพูดอะไรไม่ออก ใส่ canula (ท่อพลาสติก) ให้คนไข้แล้ววัดออกซิเจน ค่าเขาดีขึ้น แต่ ในใจเพื่อนของพี่สาวฉันแสนเจ็บปวด เตียงสำหรับคนไข้ที่ต้องใช้ออกซิเจนมีไม่พอให้นอนแล้วจริงๆ เหรอ?  

 “ ไม่สิ มันต้องไม่ใช่แบบนี้ ”  

เพื่อนของพี่สาวฉันเล่าต่อว่า ผู้ป่วยสีส้ม สีแดงมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หัวจ่ายออกซิเจนก็มีเท่าเดิม ทำให้หมอต้อง เลือกว่าจะให้ใครก่อน ต่อให้อาการหนักเหมือนกันแต่เราต้องเอาของทั้งหมดไปให้คนที่มีความหวังมากกว่า ส่วนคนที่มีความหวังน้อยลงมาก็อาจจะต้องปล่อยให้เขาเสียชีวิต 

เพื่อนของพี่สาวฉันบอกว่า ก็ได้แค่พูดในวงแคบ ๆ เพราะถ้าพูดในวงกว้างก็จะโดนตักเตือน ในวงการพยาบาลด้วยกันเองก็มีการเซ็นเซอร์กันเอง 

" วันแรก ๆ ดีครับ เพราะว่าผู้ป่วยมีน้อย มีคนบริจาคของมาเพียบ อาหารครบสามมื้อ ห้องน้ำสะอาดดี แต่หลังๆพอคนเริ่มหลั่งมาจากพื้นที่สีแดงเยอะขึ้น ก็มากักตัวกันที่นี่ "  

บทสนทนาจากปากผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่สีแดงกลับมากักตัวที่บ้านเกิดจังหวัด อุบลราชธานี  เล่าผ่านพ่อของฉันในยามพ่อลงพื้นที่งานราชการเมื่อไม่นานมานี้ที่บ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  

ในยามที่ผู้ป่วยทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ศูนย์กีฬา อาคารหอประชุมของหน่วยงานรัฐหลายๆ แห่ง และสถาบันการศึกษาแทบทุกสถาบัน หรือกระทั่งลานจอดรถใต้ถุนหอประชุมของมหาวิทยาลัยบางแห่ง แม้กระทั่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี บ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ก็ถูกจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยคณะกรรมการควบคุมโรคของจังหวัดจำนวน 700 เตียง ซึ่งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว 505 ราย 

ภาพของโรงพยาบาลสนามถูกเผยแพร่ผ่านเพจของสาธารณสุขจังหวัดเป็นภาพของเตียงนอนที่เป็นเตียงเหล็ก บ้าง หรือเตียงกระดาษรีไซเคิล ถูกเตรียมไว้ให้ผู้ป่วย บางแห่งเว้นระยะได้ดีบางแห่งเตียงของผู้ป่วยห่างกันครึ่งเมตร ไม่ถึง หนึ่งเมตรด้วยซ้ำ

ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่สีแดง เล่าว่า ตลอดเวลาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม มีผู้ป่วยใหม่เข้ามาทุก วัน ที่นี่แยกโซนออกเป็นโซนหญิง โซนชาย คนที่เข้ามาใหม่บางคนก็นอนกับเพื่อนบ้าง หรือไม่ก็เป็นโซนที่จัดไว้สำหรับ ผู้ป่วยใหม่  

ก่อนจะเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ทุกคนจะได้รับการเอ็กซเรย์ที่ปอด เพื่อดูว่ามีอาการเบื้องต้นที่ต้องรักษา ตัวในโรงพยาบาลหรือไม่ เตียงนอน ชุดสำหรับผู้ป่วย ที่นอน หมอน ผ้าห่ม มีเกือบทุกอย่าง ผู้ป่วยเตรียมเฉพาะชุดของตัวเองทั้งขาไปและขากลับ  

เขาเล่าว่า ผู้ป่วยที่มาชุดแรก ๆ จะมีตู้เก็บของให้ แต่ตอนนี้มีไม่พอ ส่วนเตียงที่นอนนั้น บางเตียงห่างกันครึ่งเมตร บางเตียงก็ห่างกันไม่ถึง 1 เมตร ช่วงแรกเขากังวลถึงการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยด้วยกันว่าจะทำให้มีอาการเพิ่ม 

อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าตอนนี้ไม่ได้มีอาการเพิ่มขึ้น แต่ดีขึ้นตามลำดับจากช่วงแรกที่มีอาการคันคอ อยากไอ เมื่อยตามลำตัวและท้องเสียเล็กน้อย ตอนนี้แค่อมยาแก้ไอที่เตรียมมาเอง

"ตอนแรก ๆ ไม่มีใครกล้าถอดแมสก์ ต่างก็พากันกลัวเพราะว่าแต่ละคนยังไม่รู้จักกัน ผมใส่แมสก์หมด ตอนนอน เขาก็ใส่กัน มีส่วนน้อยที่ไม่ใส่ แต่หลังๆ ก็เริ่มถอดแมสก์กันเยอะ เพราะเขาคงคิดว่าติดเชื้อเหมือนกัน" ผู้เข้ารับการรักษา เล่าถึงความเป็นไปในโรงพยาบาลสนาม  

ส่วนอาการป่วย เขาเล่าว่าทุกคนจะติดต่อหมอได้ทางไลน์ของโรงพยาบาลสนาม เขามักจะได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศรายชื่อของผู้ป่วยที่ต้องมารับยา รวมถึงประกาศแนวปฏิบัติตัวของคนไข้รายใหม่ ทั้งการวัดความดันและวัดไข้

"ไม่รู้ว่าเขาจัดโรงพยาบาลสนามยังไง ได้ยินข่าวว่าเป็นเตียงเรียงๆ กัน พอมารู้อีกทีว่าของต่างประเทศเป็นอย่างนี้ ดูสะอาด ความเป็นส่วนตัวสูง เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ... มันน่าจะเป็นแบบนั้นก็ดี"

นี่เป็นเสียงสะท้อนอีกเสียงหนึ่งของผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามบ้านยางน้อย 

 

สถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดอุบลราชธานีข้อมูลจากสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานีล่าสุด

วันที่ 8  สิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 426 ราย 8,419 ราย ติดเชื้อในพื้นที่ 66 ราย ติดเชื่อจากต่างจังหวัด 439 ราย กำลังรักษา 5,625 ราย รักษาหาย 2,726 ราย เสียชีวิตสะสม 38 ราย

และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยล่าสุด
วันที่ 8 สิงหาคม  2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่19,983 ราย รักษาหายแล้ว 508,089 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 727,642 ราย และเสียชีวิตสะสม 6,110 ราย

ส่วนอัตราการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 7 สิงหาคม 2564 

มีผู้รับวัคซีนทั้งหมด จำนวน 20,478,635 โดส ข้อมูลวันที่ 7 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 155,992 ราย เข็มที่ 2 จำนวน  31,445 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 11,090 ราย 

 

จากที่ฉันได้ฟังเรื่องเล่าจากพ่อและเรื่องในหอผู้ป่วยรวมเพื่อนของพี่สาว รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ โควิด-19 ในจังหวัดอุบลราชธานีและในประเทศไทย มันทำให้ทราบว่าหมอและพยาบาลหน้างานไม่สามารถสะท้อน ปัญหาสู่สังคมได้อย่างตรงไปตรงมา คนทั่วไปไม่รู้ว่าหน้างานเป็นอย่างไรและอาจจะทำให้รัฐบาลไม่รู้ว่าหน้างานจริงๆ เป็นอย่างไรได้เหมือนกัน 

ส่วนตัวเห็นว่าประชาชนก็ป้องกันตัวและทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออยากให้ทุกภาคส่วน ช่วยกันส่งเสียงไปถึงรัฐบาลให้ได้ยินว่าตอนนี้ปัญหามันหนักหนาแค่ไหน 

ตอนนี้มันถึงคราวล่มสลายจริงๆ ของระบบสาธารณสุข อย่าปฏิเสธ ให้ยอมรับและหาทางแก้ไข คิดว่าคนทั่วไปในฐานะประชาชนคิดว่าดูแลตัวเองเต็มที่แล้ว แต่ตอนนี้อยากให้ทุกคนช่วยกดดันไปถึงรัฐบาลว่ามันถึงคราวล่มสลายแล้วของระบบสาธารณสุขแล้วจริง ๆ ซึ่งมันโยงมาถึงสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขที่ประชาชนชาวไทยทั้งหมดของประเทศต้องได้รับสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลจากสามระบบหลักสิทธิของตน คือ สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  

อีกทั้งยังได้รับสิทธิในการเข้ารับการรักษาการบริการในกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินโดยไม่ต้องถูกถามสิทธิและไม่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน ยังมีประเด็นท้าทายที่สำคัญประเด็นทางด้านสาธารณสุขที่ควรมีการผลักดันให้พัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเข้ารับบริการ การพัฒนาคุณภาพของการบริการ และการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการได้รับการบริการด้านสุขภาพของผู้ที่อยู่ในหลักประกันที่แตกต่างกันด้วย