หนึ่งชีวิต เพื่อสิบเก้าชีวิต

27 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย ธิปฤดี เดแดริชส์   

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

ในปี ค.ศ. 1973 เบอร์นาร์ด วิลเลียมส์ (Bernard Williams) นักปรัชญาชาวอังกฤษได้เขียนบทความวิจารณ์แนวความคิดด้านประโยชน์นิยม (Utilitarianism) โดยแนวความคิดดังกล่าวมองว่าคุณค่าทางศีลธรรมนั้นสามารถวัดได้จากผลประโยชน์ที่มีต่อส่วนรวม เช่น เมื่อตั้งคำถามว่า หากผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารแล้วบังคับนักบินให้เอาเครื่องไปชนตึกใหญ่กลางเมืองหลวง เราควรจะยิงเครื่องบินดังกล่าวทิ้ง โดยยอมเสียสละชีวิตผู้บริสุทธิ์บนเครื่องบินเพื่อปกป้องชีวิตคนส่วนใหญ่ในเมืองหลวงหรือไม่ สำหรับนักประโยชน์นิยม คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนชีวิตที่ต้องสูญเสียและชีวิตที่สามารถปกป้องเอาไว้ได้ สมมุติว่าบนเครื่องบินมีผู้โดยสารทั้งหมดหนึ่งร้อยคน ในขณะที่จำนวนประชากรบนภาคพื้นที่เป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายมีอยู่สองหมื่นคน นักประโยชน์นิยมจะมองว่าการเสียสละชีวิตของคนหนึ่งร้อยคนเพื่อแลกกับชีวิตของคนสองหมื่นคนเป็นสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรม

 

สำหรับนักประโยชน์นิยม ความซับซ้อนของสถานการณ์นั้นจะเพิ่มมากขึ้นหากเรานำเอาปัจจัยอื่นๆมาเข้าร่วมพิจารณาด้วย เช่น สมมุติว่า บนเครื่องบินนั้นมีบุคคลสำคัญร่วมเดินทางอยู่ด้วย (เช่น นักวิจัยด้านยาชื่อดังของโลก) หรือ สถานที่ที่ผู้ก่อการร้ายต้องการนำเครื่องบินไปชนนั้นเป็นสถานที่กักขังนักโทษหรือชุมชนสลัม การตัดสินใจโดยเพียงแค่พิจารณาจำนวนชีวิตของคนสองกลุ่มอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากนักประโยชน์นิยมเชื่อว่า การกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์กับคนส่วนรวมมากที่สุด การรักษาชีวิตของผู้เชี่ยวชาญด้านยาหนึ่งคนอาจถูกมองว่ามีค่ามากกว่าการช่วยชีวิตนักโทษในเรือนจำหรือประชากรในสลัมหลายพันคน

 

แนวความคิดที่วัดคุณค่าความเป็นมนุษย์จากผลประโยชน์ที่บุคคลมีให้ต่อส่วนรวมได้พบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักคิดที่ยึดถือในสิทธิและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ในหนังสือเรื่อง Critique of Utilitarianism ซึ่งวิลเลียมส์ได้เขียนขึ้นในปี 1973 เขาได้ยกตัวอย่างสถานการณ์สมมุติที่ตัวแสดงนำต้องเลือกระหว่างการปลิดชีพผู้บริสุทธิ์หนึ่งคนเพื่อแลกกับชีวิตผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆที่เหลือ โดยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นมีอยู่ว่า จิม นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษได้เดินทางไปยังเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้เพื่อไปทำงานวิจัย วันหนึ่ง จิมได้เข้าไปในตัวเมืองและพบชายในเครื่องแบบติดอาวุธหลายคนกำลังบังคับชายชาวอินเดียน่ายี่สิบคนให้ยืนเรียงแถวตามกำแพง เมื่อเปโดร ซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มชายในเครื่องแบบเห็นจิมซึ่งเป็นคนต่างถิ่น ก็อธิบายให้จิมฟังว่า ชาวอินเดียน่ายี่สิบคนนี้ได้ถูกสุ่มเลือกขึ้นมาเพื่อที่จะเอามาลงโทษเป็นตัวอย่างให้กับผู้ที่คิดจะก่อกบฏต่อรัฐบาล แต่เมื่อเปโดรเห็นว่าจิมเป็นแขกต่างถิ่นผู้มีเกียรติ เขาจึงตัดสินใจลดโทษให้ชาวอินเดียน่า โดยให้จิมเลือกยิงชาวอินเดียน่าทิ้งเพียงแค่หนึ่งคน แล้วเปโดรจะไว้ชีวิตอีกสิบเก้าคนที่เหลือ แต่ถ้าหากจิมไม่ยอมรับข้อเสนอและทำตามเงื่อนไขดังกล่าว เปโดรก็จำเป็นที่จะต้องจะยิงชาวอินเดียน่าทั้งยี่สิบคนทิ้งตามแผนการที่มีไว้ตั้งแต่แรก

 

ณ จุดนี้วิลเลียมส์ได้ตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่จิมควรทำ อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง จิมควรที่จะรับข้อเสนอของเปโดรแล้วเลือกฆ่าชาวอินเดียน่าหนึ่งคนเพื่อช่วยเหลือชีวิตชาวอินเดียน่าอีกสิบเก้าคนที่เหลือหรือไม่ หรือเราควรมองว่าชาวอินเดียน่าทั้งยี่สิบคนนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ การฆ่าใครสักคนหนึ่งจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าในขณะเดียวกัน การละเมิดสิทธิของบุคคลคนหนึ่งสามารถนำไปสู่การปกป้องสิทธิของคนอีกหลายๆคนเอาไว้ได้ ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนความอยุติธรรมให้กลับมาเป็นความยุติธรรมได้หรือไม่

 

ในหนังสือของวิลเลียมส์ จิมได้เลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอของเปโดร ซึ่งเป็นผลทำให้เปโดรต้องยิงชาวอินเดียน่าทั้งยี่สิบคนทิ้ง จากการตัดสินใจดังกล่าวของจิม ทำให้ญาติของผู้ที่สูญเสียชีวิตมองว่าการตายของคนรักของเขานั้นเป็นความผิดของจิม เนื่องจากจิมมีโอกาสที่จะช่วยเหลือชีวิตของชาวอินเดียน่าสิบเก้าคนเอาไว้ แต่เขากลับปล่อยโอกาสดังกล่าวไป และผลจากการตัดสินใจของเขา ทำให้แทนที่จะมีชาวอินเดียน่าเพียงแค่คนเดียวที่ต้องตาย กลับกลายเป็นว่าชาวอินเดียน่าทั้งยี่สิบคนต้องถูกยิงทิ้ง แทนที่จะมีเพียงแค่ครอบครัวเดียวที่ต้องดำเนินชีวิตต่อไปโดยปราศจากคนรัก กลับกลายเป็นว่าครอบครัวชาวอินเดียน่าทั้งยี่สิบครอบครัวต้องเผชิญกับความเศร้าโศรกเสียใจจากการสูญเสียคนในครอบครัว

 

วิลเลียมส์เรียกการความรับผิดชอบที่ถูกยกให้กับจิมว่าเป็นความรับผิดชอบแนวลบ (negative responsibility) โดยความรับผิดชอบแนวลบนี้แตกต่างจากความรับผิดชอบแนวบวก (positive responsibility) ตรงที่ สิ่งที่บุคคลต้องรับผิดชอบนั้นไม่ได้มาจากสิ่งที่เขาทำโดยตรง แต่มาจากการที่เขาละเลยที่จะกระทำบางอย่าง จิมได้ละเลยที่จะช่วยเหลือชีวิตของคนสิบเก้าคนเอาไว้ ซึ่งในขณะเดียวกัน เราอาจลืมไปว่า คนที่ลงมือฆ่าและมีเจตนาเห็นคนอินเดียน่าตาย คือเปโดร ในขณะที่จิมนั้น ไม่ต้องการที่จะให้ใครสักคนต้องตาย

 

ในหลายๆสถานการณ์นั้นดูเหมือนว่า การตัดสินใจโดยเลือกจากผลประโยชน์ที่มีต่อส่วนรวมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในบางกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของบุคคล การตัดสินใจโดยคำนวณจากผลประโยชน์ดังกล่าวอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคล สมมุติว่า จากเหตุการณ์ตัวอย่างที่เล่ามา จิมได้ตัดสินใจเลือกยิงชาวอินเดียน่าหนึ่งคน เพื่อช่วยเหลือชีวิตชาวอินเดียน่าอีกสิบเก้าคนเอาไว้ แม้ว่าจิมจะทำไปโดยเจตนาที่ดีก็ตาม แต่หนึ่งในความเป็นจริงที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ คือการที่จิมได้เลือกที่จะฆ่าชีวิตผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน เขาได้เลือกที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในความเป็นมนุษย์ สิทธิในการมีชีวิตของบุคคลคนหนึ่ง

 

ในภาควิชากฎหมายได้มีการนำตัวอย่างการตัดสินคดีความเรื่องเรืออัปปาง Mignonette เข้ามาวิเคราะห์และพูดคุยจนถึงปัจจุบัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นจริง และมีอยู่ว่า ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1884 เรือยอทช์อังกฤษ Mignonette ได้เผชิญกับพายุและล่มกลางทะเล ลูกเรือสี่คน คือ ดัดลีย์ สตีเฟนส์ บรูคส์ และปาร์กเกอร์ ได้หนีขึ้นเรือชูชีพอย่างเร่งรีบจึงสามารถคว้าสะเบียงติดตัวได้แค่ผักกาดสองกระป๋อง และไม่มีน้ำดื่ม จากสะเบียงที่มีอยู่ลูกเรือทั้งสี่สามารถประทังชีวิตของตนเองได้อยู่สามวัน ในวันที่สี่พวกเขาสามารถจับเต่าตัวเล็กๆได้หนึ่งตัวและนำมาแบ่งกันกิน ซึ่งทำให้พวกเขาประคองชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกเก้าวัน หลังจากนั้นเป็นต้นมาลูกเรือทั้งสี่ได้พบกับปัญหาขาดแคลนสะเบียงอย่างจริงจัง นอกจากพวกเขาจะไม่มีอาหารกินแล้ว พวกเขายังไม่มีน้ำดื่มอีกด้วย เมื่อผ่านมาได้สิบแปดวันนับจากวันที่เรือล่ม ดัดลีย์ซึ่งเป็นกัปตันเรือได้เสนอความคิดว่า เราควรใช้วิธีจับฉลากเพื่อเลือกว่าใครควรเสียสละชีวิตตนเองเพื่อเป็นอาหารให้กับสามคนที่เหลือ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ตระหนักได้ว่า ตนเองนั้นมีครอบครัวที่รอการกลับไปของตนเองอยู่ โดยที่เด็กหนุ่มปาร์กเกอร์นั้นอายุเพียงแค่สิบเจ็ดปีและเป็นคนไม่มีครอบครัว นอกจากนี้แล้วปาร์กเกอร์ยังนอนป่วยร่อแร่ใกล้ตายเพราะได้ดื่มน้ำทะเลเข้าไป ดัดลีย์จึงตัดสินใจว่า พวกเขาควรฆ่าและกินเด็กหนุ่มปาร์กเกอร์เพื่อประทังชีวิต

 

สองสามวันถัดไป หลังจากที่ดัดลีย์ได้ฆ่าปาร์กเกอร์และลูกเรือทั้งสามคนได้กินเนื้อปาร์กเกอร์เพื่อประทังชีวิต พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากเรือที่บังเอิญแล่นผ่านมา เนื่องจากการฆาตรกรรมและการกินเนื้อมนุษย์นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ลูกเรือทั้งสามคนจึงถูกนำตัวมาขึ้นศาลและดำเนินคดี 

 

ในด้านจริยธรรมได้มีการตั้งคำถามขึ้นว่า การเสียสละชีวิตของคนหนึ่งคน เพื่อแลกกับการอยู่รอดของคนสามคนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ หากการตายของคนหนึ่งคนจะนำไปสู่การมีชีวิตรอดของคนหลายคน เราควรละเมิดหลักจริยธรรมแล้วฆ่าผู้บริสุทธิ์คนนั้นอย่างนั้นหรือ คนส่วนใหญ่อาจมองว่า การเสียสละชีวิตของคนส่วนน้อยเพื่อแลกกับการอยู่รอดของคนส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่จำเป็นและถูกต้อง แต่เราไม่ควรลืมว่า เรื่องของสิทธินั้นไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ โดยกลไกหลักของสิทธิคือการปกป้อง 

 

ถ้าหากบนโลกนี้ไม่มีคำว่าสิทธิ ชีวิตของคนอย่างเด็กหนุ่มปาร์กเกอร์ก็ไม่มีความหมายและไม่ได้รับการปกป้อง หน้าที่ของสิทธิมนุษยชนคือการตระหนักให้รู้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และสิทธินี้จะติดตัวและปกป้องมนุษย์ทุกคนตราบจนวินาทีสุดท้ายของลมหายใจ และในทุกๆสถานการณ์




 

อ้างอิง

 

Williams, Bernard (1973), Critique of Utilitarianism, in J. J. Smart and Bernard Williams, Utilitarianism, For and Against, Toronto: Macmillan of Canada.


Simpson, A. W. B. (1984), Cannibalism and the Common Law: The Story of the Tragic Last Voyage of the Mignonette and the Strange Legal Proceedings to Which It Gave Rise, Chicago: University of Chicago Press.