สิทธิมนุษยชนผ่านซีรี่ส์: Youth of May 

21 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย นภสร สถิรปัญญา

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

Spoilers Alert

Youth of May บอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวเกาหลีในบรรยากาศยุคเผด็จการทหารปี 1980 เส้นทางความรักของพวกเขาไม่ราบรื่นนัก เมื่อพ่อของพระเอก - ฮีแท เป็นนายทหารยศสูงในหน่วยความมั่นคง และต้องการบังคับให้เขาแต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีซึ่งเป็นเพื่อนของนางเอก - มยองฮี แม้เส้นเรื่องหลักจะสะท้อนความโรแมนติกและความมุ่งมั่นของทั้งสองในการฝ่าฟันอุปสรรคจากสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้น แต่ฉากหลังของเรื่องที่ค่อย ๆ เปิดเผยเรื่องราวของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการล้อมปราบที่นำไปสู่เหตุการณ์ การสังหารหมู่ควังจูในขณะนั้น ก็ดึงความสนใจของผู้ชมได้ไม่แพ้กัน 

 

คนหนุ่มสาวในรัฐเผด็จการ

ซีรี่ส์เริ่มเล่าเรื่องราวของคนหนุ่มสาวในห้วงเวลานั้น ที่บ้างใช้ชีวิตปกติทั่วไป บ้างก็ดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอด และหลายคนออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของตนและประเทศ นักเคลื่อนไหวเหล่านี้เรียกร้องสิทธิจากประธานาธิบดีที่เพิ่งรัฐประหารเข้ามาดำรงตำแหน่ง การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงต้องเป็นไปอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทั้งการพิมพ์ใบปลิวและแถลงการณ์ การประชุมวางแผนจัดการชุมนุม หรือกระทั่งการรักษาแกนนำชุมนุมที่โดนทำร้ายอาการสาหัส ก็ยังต้องแอบทำกันนอกโรงพยาบาล 

ทั้งนี้เพราะในสังคมเผด็จการเกาหลียุค’80 รัฐมองว่าการเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทสงครามเย็นที่ความหวาดกลัวต่อกระแสคอมมิวนิสต์จากเกาหลีเหนือถูกโหมกระพือ การออกมาเรียกร้องสิทธิ หรือแสดงความเห็นต่างทางการเมืองจึงไม่ใช่ “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” แต่กลับถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์และเป็นความพยายามล้มล้างระบอบของรัฐบาลทหารเสียมากกว่า 

ดังนั้น แม้การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาจะเป็นไปอย่างสันติ แต่ในมุมมองของผู้นำเผด็จการทหารแล้ว พวกเขาคือสิ่งรวบกวน “ความสงบ” และ “ระเบียบ” ของสังคมที่ควรจะดำเนินไปภายใต้การควบคุมของผู้นำโดยสมบูรณ์ ซึ่งซี่รี่ส์เรื่องนี้ได้สะท้อนความพยายามในการกดปราบ จับกุม หรือจำกัดสิทธิเหล่านั้นไว้ตั้งแต่ตอนต้นที่ซูยรอน – เพื่อนสนิทของมยองฮี และกลุ่มนักศึกษาถูกจับจากการแอบพิมพ์แถลงการณ์เพื่อการชุมนุม

 

สังคมแห่งความอยุติธรรม – เกาหลี’80

เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงกลางเรื่องที่ความรักของตัวละครหลักผลิบาน ขณะเดียวกันนั้นอุดมการณ์และความมุ่งมั่นของคนหนุ่มสาวที่จะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมก็เติบโตไปด้วย แต่ความรักและอุดมการณ์ที่ผลิบานนี้เกิดขึ้นบนฉากหลังของสังคมอำนาจนิยมที่เต็มไปด้วยการกดขี่และความรุนแรง ตั้งแต่ระดับรัฐที่ใช้ต่อผู้เห็นต่าง ระดับองค์กร ที่ทหารยศใหญ่กดขี่ทหารเกณฑ์ ไปจนถึงในระดับครอบครัวของฮีแท ที่พ่อกดขี่ลูกและภรรยา หรือการบังคับแต่งงาน

ในตอนกลางของเรื่องซี่รี่ส์เหล่าถึงความพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตทั้งของซูยรอน มยองฮี พ่อของเธอ และของหนุ่มสาวยุค’80 อย่างไรก็ตามเรื่องราวการเรียกร้องของตัวละครในห้วงที่ต่างกันนี้ กลับมีจุดจบคล้ายกัน นั่นคือการไม่ได้รับความยุติธรรม เรื่องในอดีตของพ่อมยองฮีและแกนนำหนุ่มสาว สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐเกาหลียังคงใช้การซ้อมทรมานเป็นเครื่องมือต่อต้านผู้เห็นต่างหรือบังคับให้ผู้ต้องหาสารภาพผิดในข้อหาคอมมิวนิสต์หรือการสมรู้ร่วมคิดกับเกาหลีเหนือ ราวกับว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติและไม่เคยเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันก็มีการตัดสิทธิและตัดอนาคตของครอบครัวนักโทษคดีการเมือง เหมือนที่มยองฮีเดินทางออกนอกประเทศไปเรียนต่อไม่ได้เพราะพ่อของถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ซึ่งเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกปิดกั้น เมื่อกระบวนการทางกฎหมายถูกบิดเบือนไปใช้กดขี่คนเพื่อเป้าหมายของผู้นำ มากกว่าจะใช้เพื่อค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ประชาชนเกาหลีในยุคนั้นจะหมดศรัทธาต่อระบบของรัฐและออกมาเรียกร้องบนท้องถนนแทน

 

ควังจู – พฤษภาคม 1980

ความรัก การดิ้นรนเรียกร้องสิทธิ และการกดปราบจากรัฐดำเนินมาควบคู่กันจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเรื่องราวทั้งหมด เมื่อกลุ่มนักศึกษาจัดการชุมนุมเพื่อให้ประธานาธิบดีช็อนดูฮวันประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกและเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามเรื่องเล่าในซีรี่ส์ ช่วงเวลานี้เปรียบเสมือนการเข้าตาจนของกลุ่มผู้นำเผด็จการ พวกเขามองว่าการกดปราบเท่านั้นและความหวาดกลัวเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาปกครองประเทศต่อไปได้ และกลุ่มทหารก็เลือกใช้ควังจูเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐเอาจริง…

ในขณะนั้น มยองฮีและฮีแทตกลงกันว่าจะย้ายออกจากควังจูเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากฝ่าฟันอุปสรรคความรักด้วยกันมามากมาย แต่แล้วพวกเขาก็ต้องชะลอแผนการเดินทางเมื่อทราบว่าทหารปิดล้อมไม่ให้มีการเข้าออกควังจู ตามล่าแกนนำผู้ชุมนุมไปทรมานเค้นเอาคำสารภาพว่าจัดการชุมนุมของนักศึกษามีเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลัง และทหารจับตัวทุกคนทีเป็นนักศึกษาไปขัง ไปสอบปากคำ ซี่รี่ส์ถ่ายทอดเหตุการณ์นี้ได้อย่างน่าตกใจ ในสภาพที่คนทั่วไปใช้ชีวิตในร้านอาหาร บนรถโดยสาร หรือตามท้องถนน จู่ ๆ ทหารก็เข้ามาฉุดตัวพวกเขาออกไป และใช้กระบองฟาดไปตามเนื้อตัวหากขัดขืน ประชาชนทั่วไปในเหตุการณ์ที่พยายามเข้ามาห้ามหรือพูดปรามไม่ให้ทหารใช้ความรุนแรง ก็โดนทำร้ายร่างกายหรือโดนจับตามไปด้วย ควังจูในเวลานั้นจึงเต็มไปด้วยความโกลาหลและความรุนแรง

สถานการณ์วันต่อ ๆ มาของการปิดล้อมยิ่งทวีรุนแรงขึ้น จากที่ทหารใช้กระบองตี ยกระดับไปสู่การใช้มีดแทง และในที่สุดทหารก็ใช้ปืนกราดยิงใส่ผู้ชุมนุมและคนทั่วไป โดยไม่สนใจว่าพวกเขาจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ คนพิการ หมอ หรือพยาบาล การระดมฆ่าประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม ทำให้ควังจูกลายสภาพเป็นเมืองที่เกลื่อนไปด้วยศพภายในไม่กี่วันของการปิดล้อม กลุ่มนักศึกษาที่หนีรอดมาได้ก็ต้องช่วยเหลือคนที่ถูกทำร้ายแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้เพียงพอ 

มยองฮีกับฮีแทตัดสินใจแต่งงานและรีบเดินทางออกจากควังจูเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่แล้วสถานการณ์วุ่นวายก็บีบให้ทั้งสองต้องออกตามหาน้องชายของมยองฮีที่หายไปในป่าที่ทหารตั้งด่านตรวจอยู่ เรื่องราวความในยุคปี 80 ของทั้งสองจบลงในป่าแห่งนี้ เมื่อมยองฮีและฮีแทต้องแยกกันตามหาน้องชาย และลงท้ายด้วยการที่มยองฮีถูกทหารยิงเพื่อช่วยให้น้องชายหนี ในขณะที่ฮีแทยังรอดไปได้เพราะทหารบางส่วนที่จับเขาได้ไม่เห็นด้วยกับการเข่นฆ่าประชาชนอย่างไม่เลือกหน้าและได้ช่วยเหลือเขาไว้

 

จากเกาหลี’80 ถึงปัจจุบัน

จุดจบความรักแสนเศร้าของตัวละครใน Youth of  May เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องราวความสูญเสียของครอบครัวผู้วายชนม์อีกจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่ามีหลายร้อยชีวิตถูกพรากไปในเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจูปี 1980 ผู้ที่รอดชีวิตมาได้และครอบครัวผู้สูญเสียก็อาจต้องเผชิญกับความเศร้าและภาวะทางจิตใจหลังเหตุความรุนแรงนี้ ฉากจบของเรื่องที่ฮีแทได้รับข่าวหลังผ่านไป 41 ปีว่าพบศพมยองฮีแล้ว เป็นสิ่งบอกเล่าความเจ็บปวดของผู้สูญเสียตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

แม้จะมีความเห็นต่างในสังคมเกาหลีจนถึงปัจจุบันต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งบ้างก็มองว่านักศึกษาถูกปลุกปั่นจากคอมมิวนิสต์ บ้างก็ออกมาเรียกร้องให้ค้นหาความจริงเพื่อให้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านขับเคลื่อนสังคมเกาหลีต่อไปได้ บ้างก็มองว่าการลงโทษประธานาธิบดีซ็อนดูฮวันยังไม่สาสมกับความรุนแรงที่ก่อไว้ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การชุมนุมอย่างสันติ และการแสดงความเห็นต่างเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐไม่สามารถละเมิดไปได้ และการเข่นฆ่าประชาชนนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดมารองรับได้เช่นกัน

จากปี 1980 จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้งในภาพระดับโลกและระดับประเทศ แต่การใช้ความรุนแรงของรัฐกดปราบผู้เห็นต่างก็ยังไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว กลับกัน รัฐที่ไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชนก็สรรหาวิธีการต่าง ๆ มาพรากสิทธิหรือชีวิตของพวกเขาไปในนามของ “ความมั่นคงของรัฐ” ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นพื้นที่สื่อ การติดตามข้อมูลส่วนบุคคล การตั้งข้อหาคดีการเมืองร้ายแรง การปราบการชุมนุมที่รุนแรงเกินเหตุ หรือกระทั่งการบังคับบุคคลให้สูญหาย จากภาพสะท้อนเหตุการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบฝังลึกต่อเกาหลี ผู้ชมอาจสัมผัสได้ถึงความรุนแรงจากรัฐต่อผู้เห็นต่างในรูปแบบอื่น ๆ ในสังคมปัจจุบันของตน สำหรับผู้เขียนแล้ว ภาพการชุมนุมของนักศึกษาเกาหลีในปี’80 และใช้ความรุนแรงของรัฐปราบปรามการชุมนุม ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ปีปัจจุบันในไทยอยู่ไม่น้อย

 

บทสรุป

ในตอนจบของ Youth of May ฮีแททราบข่าว 41 ปีให้หลังว่าพบศพของมยองฮีแล้ว เขาใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวดตลอดมาหลังจากเหตุการณ์ปี 80 ฮีแทได้แต่คิดย้อนไปว่าถ้าหากเขาไม่ได้พบเธอในควังจู ถ้าหากเขาไม่ได้รักเธอมากขนาดนี้ หรือถ้าวันนั้นพวกเขาไม่ตัดสินใจแยกทางกันในป่า เรื่องราวก็อาจจะไม่จบเศร้าขนาดนี้ ถึงเขาจะยอมรับในเรื่องที่เกิดขึ้นว่านั่นเป็นเหตุการณ์ที่เขาเลือกจะทำเพื่อความรักและชีวิตของทั้งสอง แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้ตอนจบของเรื่องราวระหว่างมยองฮีกับฮีแท และเรื่องราวของเหยื่อคนอื่น ๆ ให้พ้นจากโศกอนาถกรรมนี้ด้วย คือการที่รัฐยอมรับในสิทธิพื้นฐานของประชาชนและไม่ใช้ความรุนแรงในการเข่นฆ่าใคร

…เราหวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นอีกไม่ว่าที่ใด และหวังว่านอกจากเกาหลีแล้ว การเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันสิทธิพื้นฐาน แม้จะโดนขัดขวาง แต่ก็คงจะมีฤดูที่ผลิบานและนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เปิดกว้างขึ้นได้เช่นเดียวกัน