“นักสู้ ผมสีดอกเลา”

10 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย พิกุล เพ็งกล้า

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

 

“เขาออกมายืนกันทุกวัน ไม่เหนื่อยกันหรือไงนะ” เป็นประโยคที่ฉันนึกในใจอยู่บ่อยครั้ง ตลอดช่วงเวลาที่ได้มาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร การฝึกงานในกองบรรณาธิการทำให้ฉันต้องไปทำข่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

แดดช่วงบ่ายแก่ ๆ บริเวณถนนราชดำเนิน หน้าศาลฎีกายิ่งสะท้อนให้ฉันเข้าใจแดดเดือนเมษาของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น “วันนี้มีการจัดกิจกรรมยืนหยุดขังนะ พี่ฝากเราดูสถานการณ์และลองเขียนข่าวออกมาให้พี่ด้วย” ประโยคบอกเล่าที่สุดแสนจะเรียบง่ายจากพี่เลี้ยงที่ดูแลระหว่างการฝึกงาน บอกถึงหน้าที่ที่ฉันจะต้องทำหลังจากนี้ สายตาฉันทอดมองไปยังกลุ่มคนที่มาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังที่จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับบริเวณหน้าศาลฎีกา 

ผู้ร่วมกิจกรรมต่างยืนชูป้ายที่มีข้อความเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ บางรายก็นำภาพกลุ่มผู้ต้องขังมาคล้องคอ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา ฉันออกมาทำข่าวด้วยการพ่วงความรู้สึกของนักศึกษาฝึกงานในตำแหน่งนักข่าวภาคสนามหน้าใหม่ ที่มีเพียงความตื่นเต้นและความลนลานเพียงเท่านั้น

“ยืนห่าง ๆ กันหน่อยนะครับทุกคน” ผู้ร่วมกิจกรรมชายคนหนึ่งกล่าวกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่น ๆ เพื่อให้มีการเว้นระยะห่างตามมาตราการการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผ่านไปกว่า 30 นาทีแล้ว ฉันเองก็ทำหน้าที่สังเกตการณ์พร้อมกับเขียนรายงานส่งพี่เลี้ยงอย่างตั้งใจ ณ ตอนนั้น ฉันสังเกตเห็นจำนวนคนที่มาร่วมกิจกรรม ข้อความเชิงสัญลักษณ์ รูปแบบการจัดกิจกรรมที่มีการยืนเรียงแถวหน้ากระดาน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาสังเกตการณ์ผู้ร่วมกิจกรรมอยู่บริเวณโดยรอบอย่างไกล้ชิด ซึ่งจำนวนมากเกือบเท่าผู้ร่วมกิจกรรม ขณะที่แดดร้อนในช่วงบ่ายได้เปลี่ยนมาเป็นแดดร้อนอบอ้าวในช่วงเย็น

เวลาผ่านไปกว่า 50 นาทีแล้ว นักข่าวมือใหม่อย่างฉันที่นั่งติดตามสถานการณ์อยู่ใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงาอันน้อยนิดเริ่มปาดเหงื่อ ฉันหันไปมองผู้ร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังอีกครั้งด้วยความสงสัยว่าพวกเขาร้อนกันหรือเปล่า หญิงชายวัยหนุ่มสาวหรือแม้กระทั่งผู้สูงวัย ถ้าเป็นแถวบ้านเกิดฉันจะเรียกกันว่า “พ่อใหญ่,แม่ใหญ่” พวกเขายังคงยืนหยัดที่จะยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นแม่ใหญ่ที่บ้านฉันคงจะยืนไม่ไหวตั้งแต่ 10 นาทีแรกเป็นแน่ ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ บ้างก็นั่งใต้ต้นไม้บริเวณโดยรอบ บ้างก็นั่งสังเกตการณ์มองลอดออกมาจากด้านในรั้วศาลฎีกาที่ประตูปิดอยู่ แต่พวกเขาอยู่ภายใต้ร่มเงาอาคารศาลฎีกา

“ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา” 

เมื่อครบกำหนดเวลาของกิจกรรมยืนหยุดขังคือ 1 ชั่วโมง 12 นาที ผู้ร่วมกิจกรรมก็ได้ตะโกนพร้อมกันสามครั้ง ทุกคนต่างเช็ดเหงื่อที่ท่วมร่างกาย บางรายก็นั่งลงเหยียดขาเพื่อผ่อนคลาย ผู้ร่วมกิจกรรมชายร่างผอมกับสีผมดอกเลาคนหนึ่ง ทำให้ฉันเดินเข้าไปพูดคุยกับเขาถึงเหตุผลที่ออกมาทำกิจกรรมในครั้งนี้

“ผมออกมาทำกิจกรรมนี้ก็เพื่อสื่อสารถึงบางสิ่งบางอย่าง นอกเหนือจากการยืน ยังมีการแขวนหรือถือป้ายข้อความต่างๆ เช่น ปล่อยเพื่อนเรา ซึ่งจริงๆแล้วผมควรถือป้ายปล่อยลูกเราด้วยซ้ำ กำลังใจของผมในตอนนี้ยังเต็มร้อย และเป็นเช่นนี้มานานแล้ว” 

ผู้เป็นพ่อ ที่ออกมาต่อสู้เพื่อลูกชายที่กลายเป็นผู้ต้องขัง กล่าวกับฉันด้วยรอยยิ้มขณะที่มือก็บีบแข้งบีบขาไปเพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยจากการยืนเป็นเวลานาน 

“ไม่เหนื่อยเหรอคะ ที่ออกมายืนแบบนี้ทุกวัน แดดก็ร้อนมากด้วย” ฉันสงสัยอยู่ในใจมาตลอด 1 ชั่วโมง 12 นาที ที่ได้สังเกตการณ์ระหว่างการทำกิจกรรมยืนหยุดขัง

“ผมหน้าตาเหมือนคนแต่งงานใหม่ไหมล่ะ? ผมสู้เพื่อลูกมานานแล้ว ผมสู้เพื่อสิทธิที่เขาควรจะได้รับก็คือ สิทธิการประกันตัว เขายังไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิด เขาไม่สมควรถูกขังอยู่แบบนั้น” เขาตอบผ่านแววตาที่เข้มแข็งและมีความหวังอย่างชัดเจน เหตุผลของคนที่ออกมาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่เพียงเรื่องสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ 

“สิทธิในการประกันตัว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ทว่า สิทธิดังกล่าวกลับกลายเป็น "สิทธิที่ถูกยกเว้น" โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (คดี 112) ซึ่งเหตุผลที่ศาลใช้ในการไม่ให้สิทธิประกันตัว คือ "น้ำหนักของข้อหา" เพื่อทำให้เหตุผลเรื่องกลัวจำเลยหลบหนีหรือการกระทำความผิดซ้ำมีน้ำหนัก แต่ทว่า การให้เหตุผลของศาลทั้งกลัวการหลบหนีหรือกลัวการกระทำความผิดซ้ำ เป็นเหตุผลที่ขาดข้อเท็จจริงรองรับและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์”[1]

สำหรับบางประเทศต่อให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธินั้นก็จะถูกยกเว้นถ้าคุณถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คุยกันได้พักใหญ่ฉันกล่าวลาพร้อมกับกล่าวขอบคุณ คุณพ่อนักสู้ เราต่างยิ้มให้กัน ฉันยิ้มพร้อมกับน้ำตาที่เริ่มเอ่อล้นออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ  

ระหว่างทางที่ฉันกำลังเดินทางกลับห้องพัก ท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่ต่อแถวยาวเหยียดไม่ได้สร้างความกระวนกระวายหรือความอึดอัดให้ฉันอีกต่อไป คำถามภายในสมองของฉันที่เคยสงสัยว่าพวกเขาเหล่านั้นออกมาทำกิจกรรมเหล่านี้ทำไม กลับเปลี่ยนไปเป็นคำถามใหม่ ที่ทำให้ฉันรีบพิมพ์เนื้อข่าวส่งให้พี่เลี้ยง ณ ตอนนั้นฉันรู้แค่ว่า ถ้าฉันปล่อยให้เสียงของคุณพ่อของผู้ต้องขังเป็นเพียงการพูดคุยกันและปล่อยผ่านไป ฉันคงจะเสียใจไปตลอดชีวิต เพราะถ้าไม่ใช่ฉันแล้วคงจะเป็นใครไปไม่ได้อีก ฉันในตอนนี้ ณ เวลานี้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่สามารถรายงานเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามเสรีภาพในด้านข่าว เสรีภาพในการพิมพ์ เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์

“ข่าวที่พวกเราไปทำกันเมื่อวาน ผู้คนให้ความสนใจกันเยอะเลยนะ” ประโยคทักทายยามเช้าวันต่อมาจากพี่เลี้ยงได้บอกกับฉันและเพื่อนร่วมทีม ได้ยินดังนั้นฉันรีบเปิดเพจของสำนักข่าวที่ฉันสังกัดอยู่ด้วยความรวดเร็ว “สู้ สู้ นะทุกคน เป็นกำลังใจให้” , “แน่จริงก็ยืนทั้งวันเลยสิ” , “ปล่อยเพื่อนเรา” , “จับไปให้หมดพวกสามกีบ” นอกเหนือจากยอดไลค์ที่แสดงถึงเรตติ้งของข่าวที่ฉันเขียน ก็คือการแสดงความคิดเห็นของผู้คน ฉันอ่านได้เพียงไม่กี่ข้อความก็ถึงกับใจชื้นขึ้นมา เพราะถึงแม้แต่ละความคิดเห็นจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่การเขียนของฉันได้สร้างการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงในสังคมโซเชียลมีเดีย ผู้คนแสดงความคิดเห็นและไม่สร้างความเคยชินด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเองต่อการแสดงความคิดเห็นประเด็นทางสังคมบนพื้นที่สาธารณะ 

ทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ เสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐานของความเจริญของสังคมและความงอกงามของผู้คน กล่าวได้ว่าสังคมที่เจริญแล้วมักจะมีพื้นฐานมาจากการที่ผู้คนมีเสรีภาพทางการแสดงออกและการไม่เพิกเฉยหรือจำยอมต่อเหตุการณ์ผิดปกติ ที่เกิดขึ้นในสังคม 

 

“Remember no one can make you feel inferior without your consent 

โปรดจำไว้ว่า ไม่มีใครสามารถทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย โดยปราศจากความยินยอมของคุณ” Eleanor Roosevelt 

 

 

[1] https:/ilaw.or.th/node/5819