บ้าน อุดมการณ์ ความหวัง: ด้วยรัก.. จากลูกสาวแห่งท้องทะเล

2 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

“หนูทำในสิ่งที่ถูกต้อง รักษาอากาศให้ที่คนที่เขาจะมาคุกคามหนู ให้เขาได้อยู่ต่อได้ คือไม่มีอะไรที่หนูทำแล้วมันผิดอะ หนูรู้สึกว่าสิ่งที่หนูทำมันไม่ได้ผิดนะ มันเป็นความต้องการของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากจะให้มีออกซิเจนในการหายใจให้มีอากาศบริสุทธิ์ในการหายใจกับทุกคน”

ไครียะห์เกิดและเติบโตที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เดินไปไม่เท่าไหร่ก็จะมองเห็นท้องทะเลกว้างไกล ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เธอบอกว่า วันดีคืนดีเธอจะเห็นโลมากระโดดอยู่ไม่ไกลนัก “แต่ต้องอย่าตั้งใจดู ถ้าตั้งใจมันจะไม่ออกมา” 

 

ไครียะห์คือเด็กผู้หญิงวัย 19 ปี สำหรับใครบางคน วัย 19 ปีคงเป็นวัยที่ได้โลดแล่นและใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน สำหรับไครียะห์เองก็เช่นกัน ในมุมหนึ่งเธอคือเด็กวัยรุ่นธรรมดาที่ชื่นชอบการเล่นเกม​ ROV แต่ในอีกมุมหนึ่ง ไครียะห์ ระหมันยะ คือนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้อง “บ้าน” ของเธอ ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่อายุ 13 ปี และเป็นผู้เขียน “จดหมายน้อย ถึงปู่ประยุทธ์” ที่บอกเล่าเรื่องราวในฐานะลูกหลานชาวประมง ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยรับฟังเสียงของลูกหลานแห่งท้องทะเล ที่ต้องการปกป้องทะเลจะนะ

 

ในจดหมายน้อยของเธอได้บอกเล่าว่าป๊ะ(พ่อ) เป็นผู้สอนให้เธออนุรักษ์ทะเล สอนให้เธอทำบ้านปลาหรือปะการังเทียมแบบธรรมชาติ เป็นคนพาเธอไปนั่งเล่นริมชายหาด ฟังเสียงคลื่นซัดสาด เสียงธรรมชาติ ตั้งแต่เล็กจนโต จดหมายน้อยนั้นได้เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และศอ. บต. ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ โดยคนนอกพื้นที่ 3 ตำบล ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ 

 

เวทีรับฟังดังกล่าวยังจัดขึ้นในช่วงรอมฎอนหรือช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม ข้อความของเธอได้กล่าวว่า “ขอให้คุณปู่ประยุทธ์ คิดทบทวนโครงการดังกล่าวว่าควรหยุดทำหรือไม่ ในเมื่อกระบวนการไม่เป็นธรรม ขอให้ยกเลิกเวทีในลักษณะเช่นนี้ที่ไม่มีความชอบธรรม​ ริดรอนสิทธิ​ของคนในชุมชน​ จะมีค่าอันใดเล่าหากพัฒนาเพื่อเอาผลประโยชน์จนทำลายอนาคตของลูกหลาน จะทนได้หรือคุณปู่ประยุทธ์” 

 

ก่อนที่เธอนั่งและนอนบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาเพื่อเป็นการยืนยันความปรารถนาและอุดมการณ์ที่จะปกป้องบ้านของเธอ จนกระทั่งศอ.บต. ได้เลื่อนการรับฟังความคิดเห็นไปจากการแพร่ระบาดของโควิด

 

นี่เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่บทของการเคลื่อนไหวของเธอเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น เธอได้เดินหน้าต่อสู้เพื่อบ้านของเธอและยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรมให้ชาวโลกได้รับรู้เช่นเดียวกัน 

 

 

“บ้าน”

หลังจากฟังเรื่องราวการเคลื่อนไหวจากยะห์แล้ว เราได้ขอให้เธอช่วยเล่าเรื่องราวของบ้านให้ได้ฟัง 

 

“อำเภอจะนะ บ้านของหนู จะมีคลองสองคลองซึ่งเป็นคลองน้ำกร่อย มีความยาวชายหาด 29 กิโลเมตร น้ำไม่ลึก เด็กสามารถเล่นน้ำได้ น้ำใสสะอาด แล้วก็มีเต่า โลมา ฉลามวาฬ มีปะการังที่อุดมสมบูรณ์มาก เช่นที่เกาะขาม มีปะการังหลากสี ข้อมูลปี 2560 บ่งบอกว่าสัตว์ในทะเลจะนะมีทั้งหมด 57 ชนิด แต่ตอนนี้เราพบว่ามันมีปลาที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือด้วยค่ะ

“อำเภอจะนะมีสามตำบล แปดหมู่บ้านที่ติดชายหาดทะเล เราประกอบอาชีพประมงกันแปดหมู่บ้าน พอช่วงบ่ายพวกเขาจะไปเลี้ยงนกเขาบ้าง บางคนอาจไปทำสวน ปลูกปาล์ม ปลูกมะพร้าว มีผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยค่ะ ท้ายที่สุดเราก็จะนำไปขายที่ตลาด

“พอเรามีการติดตามข้อมูล เราก็จะเห็นว่า อาหารทะเลหรือสินค้าในจะนะ จะถูกส่งไปให้คนในเมืองสงขลา นอกจากเราจะส่งไปยังร้านอาหารที่ชาวต่างชาติชอบไปแล้ว เรายังส่งไปที่แพใหญ่อีกด้วย จากนั้นแพใหญ่ก็จะส่งออกไปที่ต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย 

“หนูมองว่าเราควรจะปล่อยบริเวณนี้ให้เป็นแหล่งอาหารของอาเซียนค่ะ แล้วอีกอย่างหนึ่ง เรามีฝั่งที่ติดภูเขา ที่จะมีระบบนิเวศป่าสีเขียว มีน้ำตก และที่เป็นจุดเด่นของจะนะ ก็คือนกเขา ที่มีมูลค่าตั้งแต่หลักสิบไปยังหลักล้าน เพราะนกเขาบ้านเรามีเสียงที่ใส เนื่องจากสภาพที่อยู่ของมันมีอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีมลพิษ โดยเรามีการทำนาอินทรีย์ด้วยค่ะ ไม่ใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นเลย

“หากเราปล่อยให้เขาสร้างนิคมอุตสาหกรรม แน่นอนว่ารายได้จากนกเขาของชาวบ้าน ความเชื่อ และวัฒนธรรมก็จะหายไปด้วย เพราะพื้นที่บ้านเราเป็นพื้นที่หลากหลายวัฒนธรรม ทั้งมุสลิม ไทยพุทธ และจีนดั้งเดิม” 

 

ไครียะห์เล่าว่า หากเราทุกคนไปอยู่ที่บ้านของเธอ เมื่อเดินออกไปไม่ถึงยี่สิบก้าว เราจะเจอกับทะเลเลย เธอมักจะชอบจ้องว่าปลาโลมาจะมาหรือเปล่า ถ้าเราจ้องมันก็จะไม่มา แต่ถ้าเกิดเผลอ ๆ เมื่อไหร่ พวกเราจะได้เห็นโลมาออกมาโบกมือทักทายผ่านครีบและเสียงคลื่นทะเล 

 

 

การเคลื่อนไหวของเด็กอายุสิบสาม

เมื่อเราฟังเรื่องราวของบ้านเธอแล้ว เราไม่ได้เห็นเพียงแค่ภาพความงดงามและอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลเท่านั้น แต่เรายังเห็นความผูกพันระหว่างจิตวิญญาณระหว่างชาวจะนะกับท้องทะเล ไครียะห์ที่เติบโตมาในพื้นที่เองก็ได้มองเห็นภาพการต่อสู้ระหว่างคนในพื้นที่กับโครงการรัฐอยู่บ่อยครั้ง เช่นเรื่องต่อส่งแก๊ส และเรื่องนิคมอุตสาหกรรม นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว 

“จริงๆ ชาวบ้านเองก็ออกมาพูดในเสียงเดียวกันเลยว่าไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าปฏิเสธลูกเดียวนะคะ แต่เขามีการเสนอทางออกเองเช่นการพัฒนาในแบบที่เขาต้องการเช่นกัน มีการแปรรูปอาหารทะเลสร้างมูลค่าให้กับชาวบ้าน สร้างพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชิงภูมินิเวศ  โดยการดูแลจัดการของชาวบ้านเอง ชาวบ้านพูดเสนอไปตั้งหลายอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าเสียงไปถึงรัฐบาลบ้างหรือเปล่า เพราะไม่มีเสียงตอบรับกลับมาไม่มีเลย ตอนนี้ขั้นตอนนิคมอุตสาหกรรมมันอยู่ในการทำ FTA”

ไครียะห์เล่าว่า สิ่งที่ผลักดันให้เธอออกมาเคลื่อนไหว คือการติดอยู่ในจิ๊กซอว์หลากหลายชิ้น ที่ทำให้เธอไม่อาจรู้ได้ว่านิคมอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แม้ว่ามันจะอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ตั้งแต่สมัยที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี 

“คนในพื้นที่เองก็ทำกิจกรรมเรื่อย ๆ ที่บ้านอยู่แล้ว ตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา พอเริ่มมีข้อมูลความรู้และมีการเริ่มทำกิจกรรม หนูก็ชอบไปเดิน ๆ เล่น ๆ แถวนั้น ไปแอบฟังผู้ใหญ่ นอนกลิ้งไปฟังไป แล้วก็กลับมาถามพ่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันแปลว่าอะไร คำพวกนี้ที่เขาใช้มันคืออะไร ทำไมเขาถึงไม่ต้องการ”

การค่อย ๆ เรียนรู้ของไครียะห์ ทำให้เธอได้ทราบเรื่องว่าตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชาวจะนะเองเคยโดนทำร้ายมาอย่างแสนสาหัส ไปจนถึงการโดนอุ้มฆ่า เพียงเพื่อต้องการปกป้องพื้นที่บ้านของพวกเขา.. และบ้านของเธอ 

“ตอนนั้นยังไม่มีการออกข่าว เพราะไม่มีสื่อโซเชียลมีเดีย มันเลยทำให้หนูฝังใจจนมาเรียนสื่อสาร พอมันเห็นเรื่องพวกนี้ มันก็เจ็บใจว่าบรรพบุรุษของเราอุตส่าห์ปกป้องพื้นที่ที่เราเหยียบย่ำอยู่ตอนนี้ จนเราโตมาได้ขนาดนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง สิ่งที่บรรพบุรุษทำมาก็จะสูญเปล่า” ไครียะห์กล่าว

“หนูเคลื่อนไหวครั้งแรกตอนอายุสิบสาม ตอนนั้นทำกับเพื่อนสี่ห้าคน พวกเราเริ่มจากการเก็บข้อมูลกันก่อน เพื่อเก็บภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับชายหาดทะเลหน้าบ้าน เพราะว่าเรารู้กันอยู่แล้วว่าแต่ละบ้าน คุณลุงคุณป้าถนัดการใช้ภูมิปัญญาอะไร เช่น การจับปลากระบอก หาหอยเสียบ ทำปลาเส้น โดยพวกเราจะมีการทำแผนที่ลงไปแต่ละจุดก่อนที่เราจะลงพื้นที่ วางแผนตั้งคำถามต่าง ๆ  โดยได้วิธีการมาจากกลุ่ม Beach for Life” 

ในตอนนั้นอุปสรรคที่พุ่งตรงเข้ามาหาพวกเธอ คือความเป็นเด็กการที่ผู้ใหญ่มักจะพูดว่า “ไปเรียนหนังสือไหม” ให้กับการเคลื่อนไหวของเธอ 

“ช่วงแรก ๆ ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านไม่ยอมรับ เพราะว่ามันมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะว่าหนูเพิ่งเรียนจบป.6 ในตอนนั้น.. มันยากมากกับที่ผู้ใหญ่บางคนไม่ยอมรับในสิ่งที่หนูทำอยู่ 

มีผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นแหละที่มาพูดตัดกำลังใจกันบ้าง ว่าอย่าไปทำเลย อะไรอย่างนี้ให้ผู้ใหญ่เขาทำกัน จะสู้เขาได้หรอ แล้วตอนนั้นก็เป็นเด็กด้วย สิ่งที่ยากคือก็ยังไม่ค่อยเข้าใจการทำงาน”

 

แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ เพราะหลังจากเก็บข้อมูลมา เธอได้เดินหน้านำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนเป็นคำบรรยาย ซึ่งไม่ใช่มีแค่ข้อมูลภูมิปัญญาเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้อมูลของสภาพชายหาดว่าแต่ละเดือนชายหาดมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ทั้งข้อมูลความกว้าง ความยาวของชายหาดในแต่ละเดือน ช่วงมรสุมชายหาดมีความยาวหรือความตั้งเป็นแบบไหน 

“พอถึงช่วงฤดูปกติชายหาดจะมีความยาวและความเรียบที่สวยงามค่ะ” เธอบอก 

ไครียะห์ยังมีการนำข้อมูลจากบ้านเธอมาเผยแพร่บนช่องทางออนไลน์ พร้อมกับโฆษณาให้คนมาเยี่ยมชมท้องทะเลที่บ้าน รวมถึงมีการเปิดห้องเรียนกลุ่ม เพื่อบอกเล่าภูมิปัญญามาเล่าให้คนนอกพื้นที่ได้รับฟัง เช่น การทำปลาเส้น การทำดูหลำ หรือการฟังเสียงปลา การสร้างบ้านปลา เป็นต้น 

“เวลาพวกเราหยิบของจากท้องทะเลขึ้นมา เช่นการจับสัตว์ทะเล เราไม่ได้เพียงแค่ใช้ประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น  แต่เราทดแทนให้กับท้องทะเลด้วยด้วยการ “อนุรักษ์” เช่นการสร้างบ้านปลา ทั้งหมดมันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ตอนนั้นเราได้จัดกิจกรรมห้องเรียนกลุ่ม และพาคนเข้าร่วมออกไปนอกทะเลด้วยเหมือนกัน ให้พวกเขาได้ทำบ้านปลาเองกับมือ”

สิ่งที่ผลักดันให้ไครียะห์เคลื่อนไหวต่อไป นอกจากการที่เธอไม่อยากให้บ้านที่เธออาศัยอยู่ตั้งแต่เล็กจนโตถูกลบออกไป ยังรวมไปถึงการที่เธอต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม

“ภูมินิเวศที่นี่มันดีมาก ๆ เลยค่ะ เราเคยไปอยู่กันกลางทะเล แล้วจิตใจสงบมาก ๆ ชาวประมงต้องการแค่นี้แหละ ในใจตอนนั้นหนูก็สงสัยว่าเขาจะทำ (นิคมอุตสาหกรรม) ทำไม หนูไม่รู้หรอกว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของรัฐบาลตอนนั้นเป็นยังไง ทำได้แค่สงสัย แต่ตอนที่ขึ้นไปทำเนียบก็ได้รู้คำตอบ ว่ารัฐบาลเองก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านมากเท่าไหร่”

ไครียะห์กล่าวว่า ทุกสรรพชีวิตล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่มีใครที่ไม่หายใจ และไม่มีใครที่จะไม่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานทรัพยากร ถ้าวันหนึ่งปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทวีความรุนแรงไปมากกว่านี้ มันจะไม่มีใครอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้ เธอจึงมุ่งหน้ารณรงค์เรื่อง “โลกร้อน” ด้วยเช่นกัน “ซึ่งมันไปตรงกับอีกประเด็นก็คือนายกรัฐมนตรีของเราตอนนี้ ได้ไปเซ็นสัญญาที่ปารีสว่าจะลดภาวะโลกร้อนแต่มีการเซ็นอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จ.สงขลา อำเภอเทพา ซึ่งมันไม่สอดคล้องกัน”

“ตัวหนูเองที่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นฐานทรัพยากรที่คุณจะมาทำลาย โดยคนที่มีอำนาจเขาจะบอกว่า เขามาเพื่อพัฒนา แต่จริงๆ แล้วคนที่จะพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ดี ควรที่จะเป็นคนในพื้นที่นั้น ถ้าอยากให้การพัฒนาดีจริง ต้องให้คนในพื้นที่นั่นแหละเป็นผู้พัฒนา เพราะเขาก็มีสิทธิเพราะอาศัยอยู่ในถิ่นฐานนั้น เขาจะรู้ว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหนมากที่สุด 

“ตัวหนูเองมองว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ ที่คนในพื้นที่ทุกๆพื้นที่เลย จะออกมาส่งเสียงจะออกมา บอกว่าบ้านของฉัน.. ฉันต้องการอะไร ฉันรู้ดีว่าบ้านของฉัน เอาอะไรมาแต่งเติมแล้วมันจะสวยงาม มันจะดีกับทุกๆ คนมากที่สุด ไม่ใช่คนข้างนอกเข้ามากำกับ”

 

 

กลัวไหม?

เส้นทางของการเคลื่อนไหว เมื่อเป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาชนและผู้มีอำนาจ สิ่งหนึ่งที่จะถูกนำมาข่มขู่ คือการใช้อำนาจทั้งนอกระบบและในระบบ ไครียะห์เองเคยเจอเหตุการณ์ที่พ่อของเธอถูกตำรวจรุมจับ  ขณะที่ชาวบ้านทุกคนกำลังจะขอนั่งพักกินข้าวระหว่างการเคลื่อนไหว เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขณะนั้นเธอมีอายุไม่ถึง 15 ปี แต่นั่นคือครั้งที่สองของการเผชิญหน้ากับตำรวจ “หนูเห็นอะไรที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดอยู่แล้วค่ะ”

“ตอนนั้นทุกคนก็โดนทุบโดยตีด้วยโล่บ้าง กระบองบ้าง ชาวบ้านทั้งนั้น บางคนเป็นเยาวชนอยู่ ตอนนั้นเหมือนเค้ามีเจตนาที่จะเอาพ่อหนูขึ้นรถไปคนเดียว แล้วก็มีอกคนที่กำลังอัดวิดิโอหรือไลฟ์อยู่ พ่อหนูอาจจะเป็นความกังวลในแง่ของความปลอดภัย ตอนนั้นหนูก็โดนเหวี่ยงไปสองครั้งแล้วก็กระโดดขึ้นรถตามพ่อไปเลย โชคดีที่เค้าจอด”

แม้จะต่อสู้เพื่อบ้านและโลกใบนี้ แต่เธอกลับพบว่าอุปสรรคสำคัญคือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มักเข้ามาขัดขวางการทำงาน “เดี๋ยวก็หมายศาลมาบ้าง เดี๋ยวก็จะกลั่นแกล้งตลอดเวลา ใช้พรก.ฉุกเฉินบ้างล่ะ ตัวหนูเองก็จุกในใจที่ว่าพี่น้องของเราโดนทำร้ายมาตั้งแต่ก่อนที่สื่อโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ”

 

แต่เธอก็ไม่เคยกลัว 

 

“หนูทำในสิ่งที่ถูกต้อง รักษาอากาศให้ที่คนที่เขาจะมาคุกคามหนู ให้เขาได้อยู่ต่อได้ คือไม่มีอะไรที่หนูทำแล้วมันผิดอะ หนูรู้สึกว่าสิ่งที่หนูทำมันไม่ได้ผิดนะ มันเป็นความต้องการของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากจะให้มีออกซิเจนในการหายใจให้มีอากาศบริสุทธิ์ในการหายใจกับทุกคน”

ความเป็นเด็กไม่ใช่สิ่งที่จะฉุดรั้งเธอให้หยุดต่อสู้ แต่เธอเองอยากเห็นโลกที่ผู้ใหญ่จะได้ฟังเด็กให้มากขึ้น “หนูอยากให้ผู้ใหญ่หรือใครก็ตามรับฟังเสียงของเรา รับฟังกันด้วยเหตุผล แล้วก็ยอมรับความเป็นจริง”

“จริงๆ เด็กกับผู้ใหญ่สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ อย่างเช่นเด็กอยากที่จะแชร์ความคิดใหม่ๆ ให้กับผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่ก็ สามารถที่จะแลร์ประสบการณ์ให้กับเด็กๆ ในเรื่องการป้องกันว่าถ้าทำแบบนี้ไปในอนาคต มันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง”

เธอฝากข้อความถึงเพื่อนเยาวชนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศว่า “เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นเราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ที่ทำมามันถูกต้องแล้ว ไม่ต้องกังวลอะไรเลย.. ถ้าคิดที่จะทำก็ทำไปเลย

“มันเป็นสิทธิของเด็กทุกๆคน ที่จะมาพูดอะไรก็ตามในสิ่งที่เราต้องการ และในสถานการณ์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เด็กๆ เองก็ควรจะออกมาพูดเรื่องนี้มากที่สุด เพราะว่าอนาคตข้างหน้ามันเป็นเราแล้วที่จะเติบโตบนโลกใบนี้  อยากให้เด็กทุกคนออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะมันเป็นสิ่งเดียวแล้วที่จะทำให้เราทุกคนที่เป็นเยาวชนสามารถที่จะอยู่รอดได้ เพราะว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน หรือผู้ใหญ่ก็ตาม.. พวกเราต่างอาศัยอยู่บนพื้นฐานทรัพยากร ซึ่งถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทุกคนก็ไม่สามารถที่จะอยู่บนโลกใบนี้ได้” 

 

สามารถติดตามเรื่องราวของไครียะห์ ร่วมกับเพื่อนเยาวชนได้ในหนังสือ “Know Your Rights and Claim Them” โดยแองเจลินา โจลี และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล