ฝากรักถึงเพื่อนเรา

27 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

 

 

นี่คืออีกหนึ่งห้วงเวลา ที่เหล่านักกิจกรรมต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้วยข้อกฎหมาย นำมาสู่การตั้งคำถามของมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายกันอีกครั้ง รวมถึงการทวงถามหา “สิทธิในการประกันตัว” ของเหล่านักกิจกรรมในเรือนจำ

 

 

 

สิ่งสำคัญที่คนข้างนอกจะทำได้ ควบคู่ไปกับการรณรงค์เพื่อทวงสิทธิให้พวกเขาในแบบของตนเอง คือการ “จดจำ - บอกเล่า – สานต่อ” 

 

จดจำเรื่องราว 

บอกเล่าข้อเรียกร้อง

และสานต่ออุดมการณ์ของพวกเขา

 

 

วันนี้ เราจึงชวนคุณมาร่วมฟังเรื่องราวของเพื่อนเรา 10 คน ที่ได้รับสิทธิประกันตัว และยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ผ่านคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิด และบทสัมภาษณ์ในอดีตของเขา ก่อนที่กรงขังจะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปในเดือนสิงหาคม 2564 



จาก “แม่สุ” ถึง “เพนกวิน”

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

เราคุยกับแม่สุในคืนวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ยังจดจำภาพที่เธอโกนศีรษะเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกชายได้ดี เช่นเดียวกับที่จดจำเสียงของเธอยามตะโกนบอกให้ตำรวจหยุดทำร้ายร่างกายเพนกวิน หรือ “พี่พีท” ในครอบครัวชิวารักษ์ 

 

ทว่าเมื่อเราสองคนถือโทรศัพท์คุยกัน เราได้สัมผัสถึงน้ำเสียงที่ฟังดูใจดีและอ่อนโยน รวมถึงรับรู้ได้ว่ารอยยิ้มของเธอกำลังวาดชัดบนใบหน้าเมื่อเธอได้พูดถึงลูกชายคนโต เช่นเดียวกันกับที่ได้รับรู้ถึงหัวใจที่แข็งแกร่ง ของแม่สุ และครอบครัวชิวารักษ์ 

 

“เพนกวินเป็นคนมีน้ำใจ มีอะไรก็เผื่อคนอื่นตลอด วันนี้แม่ไปเยี่ยมซื้อของไปให้เผื่อคนรอบข้างหมด บอกว่าอาหารที่แม่ซื้อ เขาเอาไปกินเองแล้วก็แบ่งให้เพื่อนๆ ด้วยเมื่อวานเพื่อนผู้ต้องขังของเขาต้องการติดต่อญาติ หรืออยากได้อะไร เขาก็บอกให้แม่หาให้หน่อย เพราะเขาคิดว่าถ้าเขามีกิน เพื่อนต้องมีกินด้วยกัน เขาเป็นคนแบบนั้น

 

ตั้งแต่เด็กจนโต เพนกวินเป็นเด็กน่ารัก อารมณ์ดี ขี้เล่น สนุก เขาเป็นคนตรง ๆ กล้าแสดงความเป็นตัวเองโดยไม่อาย  เขากล้าแสดงออก กล้าทำกิจกรรมเต้นบนเวที แม่เคยถามเขาว่าไม่อายหรอ เขาก็จะบอกว่าไม่เห็นต้องอายเลย ไม่ได้ทำอะไรผิด ครูให้ทำอะไรก็ทำ ให้ไปเต้นระบำเต้นแร้งเต้นกาก็ไป ทำทุกอย่าง เป็นคนใฝ่รู้ กล้าที่จะเรียนรู้ 

 

ตอนเด็ก ๆ เขาเคยนั่งศึกษาอาชีพหมอมาหลายปี ไปดูเรื่องกายวิภาคเยอะมาก บางช่วงเวลาที่เขาอยากเป็นผู้พิพากษา และอยากรู้ว่าผู้พิพากษาเป็นยังไง เขาก็ไปนั่งฟังการไต่สวน เดี๋ยวนี้เขาก็ไปหาในเน็ต

 

อย่างเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ตอนที่ได้ทุนที่โรงเรียนตอนประถมต้น เขาก็ไปหาคำตอบว่าทำไมทุนถึงชื่อแบบนี้ที่โรงเรียน ค้นไปถึงว่าใครก่อตั้งโรงเรียน แล้วถ้าช่วงหนึ่งเขาอยากเป็นเชฟ อยากทำขนม ก็ไปอ่านหนังสือในห้องสมุด หาวิธีทำสตรอว์เบอร์รี่ชีสเค้ก..

 

“เพนกวินเขาเรียนภาษาเขมรด้วยนะ เพราะเขาบอกแม่ว่า ‘มี๊ เวลาอ่านประวัติศาสตร์ ก็อยากรู้ว่าเขาแปลถูกหรือแปลผิด ก็เลยอยากหาทางอ่านเองเลย 

 

หลายๆ คนอาจคิดว่าเพนกวินเป็นเด็กเนิร์ด เขาอ่านทุกอย่างเลย แต่ไม่ใช่หนังสือเรียนอย่างเดียวนะ มีหนังสือธรรมะ การ์ตูน ขายหัวเราะก็อ่าน บางทีก็นอนอ่านแล้วหัวเราะเอิ้กอ๊าก อ่านหนังสือศาสนาทั้งหมดทุกศาสนา 

 

เรื่องน่ารักคือตอนเด็ก ๆ นาน ๆ ทีเขาจะเจอญาติที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน พากันไปสระว่ายน้ำของคุณป้าที่เป็นเพื่อนแม่ เล่น ๆ อยู่เขาก็ถามว่า ‘มี๊ครับ เด็กผู้หญิงคนนั้นไปไหน’ 

 

แม่ก็ถามว่า คนไหนลูก ตอนนั้นเพนกวินยังเป็นเด็กเล็กอยู่ แต่ก็ตอบว่า ‘คนที่งดงามครับมี๊’ เราก็แปลกใจเหมือนกันที่เด็กเล็ก ๆ พูดคำว่า ‘งดงาม’ แทนที่จะคำว่า ‘น่ารัก’

 

“เพนกวินเป็นคนมีสองพาร์ท คือพาร์ทวิชาการ ที่คุณยายเรียกว่าวิชาเกิน แล้วก็พาร์ทเด็ก ที่จะจะเด๊กเด็ก ใส่เสื้อผ้า กลับหน้ากลับหลังก็มี” 

 

 

วันนี้แม่สุเอาอะไรไปเยี่ยมเพนกวินกับเพื่อน ๆ บ้าง? 

“วันก่อนเขาอยากกินน้ำเงี้ยว แม่ก็เลยไปหาซื้อน้ำเงี้ยวให้เค้า เขาบอกว่าเช้า ๆ เขาไม่ค่อยได้กินอาหาร ข้าวเช้าก็จะกินแค่นม อาหารโรงพยาบาลก็มีแค่ข้าวต้มเค็ม ๆ 

 

เมื่อวานแม่ไหว้เจ้า เอาเป็ดเอาไก่ไปให้เขา มีอะไรเขาก็กิน แม่เอาไปให้สี่คนเลย ทั้งของน้องนิว น้องฟ้า น้องแซม 

เขาก็จะถามว่าน้องนิวเป็นยังไงบ้าง เพราะเขาไม่ได้เจอเพื่อน

 

อย่างน้องแซมอยากกินส้มตำ แม่ก็จะไปซื้อส้มตำให้เขา ต้องหาวิธีว่าทำยังไงส้มตำถึงจะไม่เสีย ส่วนน้องฟ้าไม่กินสัตว์บก กินได้แต่ปลากับผัก แม่ก็ไปช่วยหาให้เขา เวลาจะซื้ออะไรไปให้แม่ก็ซื้อไปสี่ชุด ดูแลแค่กวิ้นคนเดียวเราก็ทำใจไม่ได้ไง เพราะว่าเด็กคนอื่นก็เป็นเพื่อนกวิ้นเหมือนกัน 

 

“ถามว่าเหนื่อยมั้ย โคตรเหนื่อยเลย แต่เราก็รู้สึกผิดถ้าไม่ได้ดูแลคนอื่นด้วย เพราะแม่คิดว่ากวิ้นเองก็คงทำแบบแม่เหมือนกัน เพราะเขาบอกเสมอว่า ต้องดูแลเพื่อนด้วย รอบที่แล้วที่เขาติดอยู่ข้างใน เขาก็ให้ดูแลเพื่อนข้างนอกด้วย 

“เราต้องดูสถานการณ์ว่าที่ขอย้ายเพนกวินไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จะได้ไหม ก็พยายามตามว่าเขาจะทำให้ไหม เพราะมีคนบอกว่าคนเซ็นติดประชุมอยู่ ถ้าเซ็นยอมย้ายแม่ก็จะสบายใจที่เขาจะไปอยู่ มธ. แม่ก็คิดว่าความปลอดภัยมันก็คงจะมีแล้ว ถ้าเกิดว่าไม่ให้ไป เราก็ต้องสู้กันอีกรอบ”

“แต่ก่อนแม่ไม่ค่อยได้ติดตามการเมืองเลย ดูเขาขึ้นเวทีครั้งแรกรู้สึกว่าเขาทุ่มเทมาก เขาดูเหนื่อยมาก ตอน #ม็อบ20กันยา เห็นเขาอยู่บนรถแอร์ แม่ก็น้ำตาไหลเลย เพิ่งเคยเห็นว่าที่ลูกทำมาทั้งหมดมันเหนื่อยขนาดนี้ เขาทำเพื่อคนมาเยอะขนาดนี้ ก่อนหน้านั้นแม่ก็เคยบ่นว่านัดอะไรก็ไม่เคยได้เจอเพนกวินเลย ลูกไม่มีเวลาให้เลย

 

เราเห็นว่าเขาเสี่ยงทั้งชีวิต ทั้งอนาคต เทหมดหน้าตัก เขาทุ่มจนรู้สึกว่าทิ้งเราไว้ข้างหลัง ทุ่มจนไม่ได้ตระหนักว่าแม่จะทำยังไง แม่จะโอเคมั้ย แต่เราคิดว่าในเมื่อเขาทุ่มแบบนั้น ยอมแลกด้วยชีวิต เราก็จะให้กำลังใจ ทำยังไงก็ได้ให้เพนกวินมีกำลังใจมากที่สุด ตราบเท่าที่แม่มีชีวิตอยู่ การติดคุกครั้งนี้ มันยากกว่าครั้งที่แล้วที่จะออก เป็นการติดที่ขึ้นอยู่กับมวลชนข้างนอกเท่านั้นที่จะช่วยเขาได้ เราก็สงสารลูกที่เขายังเรียนไม่จบเลย ไม่รู้ว่าต้องติดคุกนานขนาดไหน แต่ยังไงแม่ก็จะยังดูแลเขาตลอด เราจะไม่มีวันทิ้งเขา เราจะทำยังไงก็ได้ให้เขาชื่นชูจิต เพราะว่าถ้าเขาชื่นชูจิต เขาก็จะมีกำลังสมอง และอย่างน้อย ๆ เขาอยู่ในนั้น แม้เขาจะช่วยคนข้างนอกไม่ได้ แต่เขาจะช่วยคนข้างในได้

 

แม่เชื่อว่าไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน เขาจะทำประโยชน์ให้ทุกคนในทุกที่ที่เขาอยู่เสมอ”

 

 

 

จาก “ยาใจ” ถึง “ต๋ง ทะลุฟ้า”

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ได้ประกันตัว

 

 

ยาใจกับต๋งเจอกันครั้งแรกในการประชุมเพื่อทำการเคลื่อนไหว ก่อนที่ความสัมพันธ์จะค่อย ๆ พัฒนาให้พวกเขาก้าวไปมากกว่าคำว่าเพื่อน ในความทรงจำของยาใจ เขานิยามต๋งว่าคือคนที่กล้าหาญ 

 

“ต๋งเป็นคนที่กล้า กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ควรจะเป็น กล้าพูดในสิ่งที่ถูกต้อง ในขณะที่คนหลายคนเกรงใจ ต๋งจะเป็นคนจริงใจอยู่เสมอ แล้วก็กล้าที่จะแก้ปัญหา  แต่เขาก็มีมุมที่น่ารักนะครับ เขาชอบอ้อน แล้วก็ชอบร้องเพลงด้วย ร้องได้หมดทุกแนวเลย 

 

เราเจอกันเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่โดนจับเมื่อ 13 ตุลา แล้วก็ออกมา แล้วพอออกมาจากเรือนจำ เราก็ไปอยู่กับพี่ๆ ที่พอรู้จัก ก็ไปอยู่กับทีมงานที่เคลื่อนอยู่ข้างนอก ต๋งก็จะเป็นหนึ่งในอีกหลายคนที่จัดม็อบ 

 

พอมาคุยกันจริงๆ ก็ช่วงธันวาคมปีที่แล้ว เราค่อยกล้าคุย ได้เริ่มทำกิจกรรมด้วยกันเยอะขึ้น

 

จริง ๆ แล้วต๋งไม่ได้เตรียมใจที่จะเข้าไปอยู่ในคุก เราก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าจะถูกฝากขังและไม่ให้ประกัน แค่เราออกมาไล่รัฐบาล ไม่ได้เล่นเรื่องเจ้าหรือทำให้สถาบันเสื่อมเสียอะไรเลย ตอนนั้นเลยไม่ได้มีการคุยว่า ถ้าเกิดเหตุเข้าไปอยู่ในคุกว่าจะฝากอะไร ทุกอย่างมันฉุกเฉินไปหมดเลย 

 

“วันนั้นผมเองก็โดนคดีด้วย และต้องไปอีกที่หนึ่ง ก็เลยไม่ได้ไปส่งเขาที่เรือนจำ ได้โทรคุยก่อนจะโดนยึดโทรศัพท์ ต๋งก็ดูซึมอยู่ ตอนนั้นเขายังทำใจไม่ได้ นอกจากฝากคนข้างนอกให้สู้ต่อไป” 

 

 

มีเรื่องประทับใจเกี่ยวกับต๋งที่เราอยากเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังไหม?

“ตอนที่เราอยู่ในเรือนจำ แต่เขาอยู่ข้างนอก เราชอบนึกภาพตามที่คนเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เราถูกจับอยู่ ต๋งไปพูดที่ห้าแยกลาดพร้าว มีหลายคนมาร่วมด้วย แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่หลาย ๆ คนออกมาพูด 

วันนั้นต๋งบอกว่ามวลชนเยอะมาก ๆ มีคนกระจายอยู่หลายจุด ทั้งห้าแยกลาดพร้าวและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราได้แต่นึกภาพแล้วก็ประทับใจว่าคนเยอะขนาดไหน

ต๋งชอบพูดว่าการเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานในม็อบ ทำให้เขาเป็นคนที่ได้กล้าพูดอย่างจริงจังจริงจัง ก่อนหน้านั้นต๋งก็ได้เคลื่อนในมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี” 

 

สำหรับเราตอนนี้เป็นยังไงบ้าง แล้วต๋งเขาฝากอะไรบ้างไหม?

“สำหรับผมก็เครียดบ้าง แต่พอมันมีกิจกรรมให้ทำทุกวัน แป๊บเดียวมันก็ผ่านไปสองสัปดาห์แล้วตั้งแต่วันที่เขาถูกฝากขัง แต่ผมรู้ว่าสำหรับคนข้างใน มันก็คงนานอยู่ 

ตอนนี้ด้วยมาตรการควบคุมโรค ทางเรือนจำยกระดับให้เป็น 21 วัน ถึงจะเข้าเยี่ยมได้ ตอนนี้เลยมีแค่ทนายที่เข้าเยี่ยมได้ในวิดิโอคอล ที่พอจะได้อัพเดตเรื่องราว และสอบถามเกี่ยวกับรูปคดีในการประกันครับ 

ตอนนี้ต๋งเขาเป็นห่วงเรื่องเรียน เพราะอยู่ในช่วงสอบกลางภาค แล้วก็เป็นห่วงคุณแม่ เพราะว่ากังวล เพราะไม่มีใครรู้เรื่องราวข้างในเลย”




 

จาก “นุ่น” ถึง “บอยพันร่าง”

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

เราคุยกับพี่นุ่นในช่วงเช้าของวันที่ 25 สิงหาคม ในตอนนั้นเธอบอกว่ากำลังรอผลตรวจโควิดของพี่บอย ก่อนที่อีกไม่กี่นาทีต่อมา ผลจะออกมาว่า “บอย ชาติชาย แกดำ” ติดโควิดในเรือนจำ 

 

“วันนี้ทนายไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว เขาจะฝากขังไปเรื่อย ๆ แบบนี้ 

 

ก่อนหน้านี้เราทำงานกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองตั้งแต่ที่พี่บิลลี่หายตัวไป พี่บอยก็จะอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์เสมอ และเขามีกำลังใจขึ้นเยอะจากพี่น้องชาติพันธุ์ แม่ของเขาก็เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีเชื้อมูเซอ ส่วนพ่อเขาเป็นคนอิสาน เขามาเติบโตในเมือง จริงๆ ก็คือเติบโตในสลัมด้วยซ้ำ เขาเลยเห็นความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ที่มันกดทับเขาอยู่  ช่วงที่เขามาเรียนหนังสือ ครอบครัวเขาไม่มีเงินเลย เขาก็เลยต้องต่อสู่เพื่อให้หลุดออกจากสลัมที่มีแต่ยาเสพติด เพื่อให้เขาได้เรียนให้ได้ และได้เข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ 

 

“เขาจะพูดเสมอว่าไม่มีคนกลุ่มไหน หรือชนชั้นไหนที่จะเข้าใจความทุกข์ยากของเรา เขาเป็นคนที่อยู่กับทุก ๆ กลุ่ม ไม่เคยมองว่าเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องของเขา เพราะเขาเชื่อว่า เขาคือทุกคน ทุกคนคือเขา หลาย ๆ คนเลยรู้จักเขาในฐานะบอยพันร่าง ที่เคลื่อนไหวกับหลาย ๆ กลุ่มขบวน

“เขาเป็นคนแบบนั้นเลย อยู่บ้านก็เป็นคนแบบนั้น เขาไม่ใช่คนที่เพิ่งออกมาทำงาน มันเลยเป็นสิ่งที่ครอบครัวให้การยอมรับกับสิ่งที่เขาทำมาตลอด สิ่งที่เขาทำมาจนถึงวันนี้ เรารู้ว่ามันจะเกิดขึ้น เราทุกคนรู้ว่าจะมีวันนี้แน่นอน.. วันที่เขาต้องเข้าไปในเรือนจำ แต่หลักกฎหมายไม่ได้เอื้อให้เขาได้รับความชอบธรรม เราเลยกังวลใจ

 

แต่ครอบครัวเราก็เต็มที่เสมอ กับความที่ตัวเขาเป็นคนแบบนี้ และครอบครัวเราจะพูดกับเขาตลอดว่า อย่าเป็นคนแก่ อายุ 37 ที่ไม่เข้าใจเด็กนะ”

 

เมื่อก่อนเราบอกว่าเราต้องเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาของเรา แต่วันนี้มันไปมากไปกว่านั้นแล้ว” 

 

“หมายจับที่โดนวันนี้เป็นของ ตชด. แค่จุดเดียว แต่ก็มีการตั้งข้อหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากหลาย ๆ เวที น่าจะยี่สิบกว่าเวทีแล้ว จริงๆ มันสู้ได้แต่เขาไม่เว้นช่องว่างให้สู้ พวกเรายื่นประกันไปเป็นครั้งที่สามแล้ว

 

 

บอยฝากอะไรถึงคนข้างนอกบ้าง

“เขาพูดเสมอว่ากระบวนยุติธรรมนั้นไม่เป็นธรรม เพราะคนมีอำนาจไร้มนุษยธรรม การปฏิวัติประชาชนจึงเป็นทางเดียวที่ประชาชนจะได้อำนาจคืนกลับมา 

 

เขาบอกว่า เขาจะไม่ทำให้พี่น้องเป็นห่วง บอกว่าทุกคนต้องสู้ต่อนะ ถึงเขาจะโดนขังแล้วไม่ได้แปลว่าทุกคนถูกขัง

 

“เราไม่เสียใจเลยนะที่เขาต้องติดคุกตอนนั้น เพราะตอนนี้ที่เราเห็นคือ ถึงคนที่รัฐมองว่าเป็นแกนนำหลาย ๆ คนจะถูกจับ  แต่คนก็ยังออกมาสู้อยู่ ซึ่งเป็นการตบหน้ารัฐแบบสุด ๆ ว่ามวลชนทุกข์จริงๆ ถึงออกมาสู้อยู่ นี่คือการตอกหน้ารัฐแบบเจ็บแสบที่สุดคือเขาไม่ได้ออกมาเพราะมีใครบอกว่าให้ออกเขาเลยออก ถ้าคุณไม่ฟังมันก็ต้องขั้นสูงสุดไป 

“วันนั้นที่นุ่นไป และพบว่าพี่บอยติดคุกเป็นครั้งแรก แม่ไมค์คือคนที่เป็นคนที่ดึงให้นุ่นไปนั่งคุย แล้วก็บอกว่านุ่น เราต้องตั้งรับนะ ต้องเข้มแข็งกับคนข้างในนะ.. เขาสู้มาก ๆ เลย” 

 

จากคำบอกเล่าของนุ่น ในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 บอยมีอาการเชื้อโควิดลงปอด ไข้ขึ้นสูง หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ความดันสูง เนื่องจากไตทำงานหนัก โดยเธอเพิ่งทราบว่า ตั้งแต่วันที่ฝากขัง บอยได้กินแค่ฟ้าทลายโจร และกำลังเป็นกังวลเรื่องอาจมีภาวะไตวายแทรก” 



จาก “แม่ยุพิน” ถึง “ไมค์ ระยอง” 

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

ในมุมของคนเป็นแม่ แม่ยุพิณบอกว่าไมค์เป็นเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย น่ารักตามแบบฉบับของเขา พร้อมเล่าให้เราฟังถึงเรื่องของไมค์อย่างใจเย็น

 

 

“เราเลี้ยงเหมือนพ่อแม่ทั่วไป สอนให้ลูกเป็นคนดี เผื่อแผ่ ช่วยเหลือสังคมไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้ทั้งครอบครัวไม่เคยมีใครสนใจเรื่องการเมืองเลย ก็หากินไปปกติ จนกระทั่งเขาออกมาเรียกร้องเรื่องการเมือง 

“ไมค์เป็นจิตอาสามานาน ตั้งแต่เขาอยู่โรงเรียน ตั้งแต่ยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กชาย ในบทบาทที่ทำได้ตามวัย ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเขาได้มาทำงานเกี่ยวกับพัฒนาสังคม เป็นลูกจ้างชั่วคราว ได้ไปสัมผัส ได้ไปเห็นชีวิตของผู้คน พอมาอยู่ตรงนี้ เขาก็เห็นเยอะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จากที่ว่าเขาช่วยเหลือได้ประมาณนึง ไป ๆ มา ๆ ก็เกินกำลัง

“ถามว่ามันเป็นหน้าที่ของไมค์มั้ย ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเขา แต่เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน จากที่เขาคิดว่าชีวิตตัวเองเคยลำบาก เขาก็เลยอยากจะช่วย”

“ตอนเห็นไมค์บนเวทีครั้งแรก แม่ตกใจมากเลย จากที่เห็นปกติที่ไมค์ทำ คือไมค์ไม่ต้องมาเสี่ยงกับกฎหมายขนาดนี้  ตอนนั้นมันอาจจะมีเรื่องศาลเตี้ย กับความปลอดภัยบ้าง เพราะเขาทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนที่ได้-เสีย ผลประโยชน์ มันก็ต้องเป็นสัจธรรมแหละลูก ว่าต้องมีคนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบ แต่เขาไม่ได้บอกแม่โดยตรงนะ  

“จนเจอหนัก ๆ นี่แหละ ด้วยความเป็นแม่ เราต้องเป็นคนแรกที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราเลี้ยงลูกเรามา อันไหนที่มันแปลกไป เราก็ต้องรู้ แม่ก็บอกไมค์ว่า ถ้าไมค์มีอะไร ไมค์ต้องบอกแม่ด้วยนะ ไม่ใช่จะพูดอะไรแต่ให้แม่สบายใจ ตอนนี้ก็มีบ้างที่บอกแม่มากขึ้น แต่ก็คงบอกแม่ไม่หมดหรอก” 

“ถ้าถามว่าไมค์โดนจับไปกี่รอบแล้ว คือแม่จำไม่ได้เลยลูก แต่ว่าแต่ละครั้งที่ทุกคนได้เห็นกันก็คือต้องตั้งคำถาม ว่ามันเป็นไปตามตามกระบวนการมั้ย? แต่อย่างว่าเราเป็นคนรากหญ้า เป็นประชาชนธรรมดา ถ้าเขาอยากจับ อยากขัง ก็ขัง ถามว่าแม่ทุกข์มั้ย แม่ก็ทุกข์ แต่กระบวนการเป็นแบบนี้ก็ให้เขาประจานตัวเองกันไป พี่น้องประชาชนที่ติดตามข่าวอยู่เขาก็รู้ว่าตอนนี้อะไรเป็นอะไร 

“แม่ยังไม่ได้รับข่าวร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แต่ได้รับแจ้งมาว่าไมค์อาจจะติดโควิด เดี๋ยวเย็นนี้แม่จะลองถามทนายว่าร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย ตอนนี้เราก็เข้าไปดูแลเขาไม่ได้ ก็ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะมืด แม่จะได้โทรไปถามทนาย เราดูแค่ลูกเราคนเดียว แต่ทนายเขาต้องดูคนอีกเยอะ “ 

“สำหรับแม่ จนถึงทุกวันนี้ไมค์อายุยี่สิบกว่าปี ด่ารัฐบาลปาว ๆ ยังนอนตัก นอนกับแม่อยู่เลย ถึงเขาจะอายุยี่สิบสี่แล้ว แต่ไมค์ก็ยังเป็นลูกเล็กของแม่อยู่ดี 

“เขาฝากถึงมวลชนให้สู้ต่อไป แต่กับแม่ก็คือฝากให้แม่ดูแลตัวเองให้ดี ระวังโควิด ถ้าแม่ไม่จำเป็นอย่าไปไหน บอกให้แม่ปลูกผักรอเขานะ.. เดี๋ยวเขาก็ออกมา”



 

 

จาก “บี๋” ถึง “นัท”

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

น้ำเสียงเล็ก ๆ ของบี๋ในยามที่เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวของ ณัฐชนน ไพโรจน์ เต็มไปด้วยความเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังคงสดใส และเล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้มที่สัมผัสผ่านเสียง 

 

“หนูรู้จักพี่นัทจากการที่เราทำสภานักศึกษาด้วยกัน ตอนนั้นพี่เขาเป็นหัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งขึ้นชื่อด้านรัฐสวัสดิการ เชิดชูความเท่าเทียมในสิทธิต่าง ๆ จะมีการต่อต้านทุนในมหาลัย ซีพี การเคลื่อนไหว ตอนนั้นหนูเป็นแค่น้องในสภาคนหนึ่ง  

“ตอนที่ยังไม่รู้จักเขา เขาจะดูเป็นคนที่ดุ จริงจัง พอได้โอกาสได้รู้จักกันเพราะเขามาทำความรู้จักกับหนู เขาก็ชวนหนูคุยเรื่องการเมือง เพราะรู้ว่าหนูสนใจการเมือง 

“เขาเรียนรัฐศาสตร์ ภาคปกครอง มีความรู้เรื่องการเมืองมากประมาณนึง เราก็จะชอบถามเขา เขาก็จะเป็นเหมือนที่ปรึกษาให้เรา คอยให้คำปรึกษานั่นนี่ ทำให้เราอ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง ทั้งเรื่องเจ้า และเรื่องทุนนิยม  

“จนกระทั่งหนูได้มาทำงานเคลื่อนไหวเต็มตัว อยู่กับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พี่นัทก็อยู่ด้วยเหมือนกัน เขาเป็นที่ปรึกษา เพราะเขาเป็นคนที่ค่อนข้างมีอุดมการณ์แน่วแน่มาก ว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงระบบของประเทศไทย ที่ระบบยังคงกดขี่คนอยู่ เขาก็เล่าว่าโดนสภาพสังคมกดทับตั้งแต่เด็กจนโต  

“ที่บ้านเขามีฐานะที่ค่อนข้างมีปัญหาด้านการเงินพอสมควรค่ะ ทำให้พลาดโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิต ก็เลยต้องทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่อยู่ตรงนี้ เคยคุยกับเขาเรื่องอยากไปต่างประเทศไหม เขาก็บอกว่าไม่อยากไป อยากอยู่ที่นี่ อยากเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เท่าเทียม ไม่มีคนยากจน ทุกคนต้องเท่ากัน”

 

 

วินาทีที่ ‘พี่นัท’ โดนจับ

“เขาโดนข้อกล่าวหาประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ พ.ร.ก.เครื่องเสียง พ.ร.ก.ควบคุมโรค พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ร้าย ๆ ก็คือประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ กับคดีหน้า ตชด.

“เราสองคนอยู่ด้วยกันตลอดเลย ตอนที่ทราบข่าวจากทนายว่าเขามีชื่อในหมาย หนูร้องไห้ เพราะไม่อยากให้เขาถูกจับ ปกติจะตัวติดกับเขาตลอดตั้งแต่คบกันมา เขาก็ปลอบว่าเป็นเหมือนเส้นทางของนักปฏิวัติอยู่แล้ว ว่าวันหนึ่งก็ต้องโดน อย่าร้องไห้ ทำใจ เข้มแข็งนะ สู้ต่อไป วิธีเดียวที่เราจะช่วยทุกคนได้ คือการต้องชนะระบบนี้ให้ได้ เปลี่ยนแปลงมันและช่วยเหลือทุกคนไม่ใช่แค่พี่นัทคนเดียว เขาบอกให้ตั้งมั่นใจอุดมการณ์แล้วสู้ต่อไป

“พี่นัทเขาเป็นคนที่ทำงานหนักมาก แล้วก็ไม่พักด้วย”

 

 

เขาฝากอะไรถึงคนข้างนอกบ้างไหม? 

“ถ้าเขาฝากถึงคนข้างนอก เขาฝากเป็นข้อความผ่านทนาย เราได้สื่อสารผ่านทนายเท่านั้น เขาฝากมาว่า ข้างนอกน่าจะประสบกับภาวะที่สาหัสอยู่ช่วงนี้ ก็ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป ไม่ต้องห่วงเขา ส่วนใหญ่เราจะฝากเข้าไปว่าคิดถึง เป็นห่วง ดูแลตัวเองดี ๆ 

“เท่าที่เห็นตอนนี้ ล่าสุดคือเขาถูกขังเดี่ยว เพราะคนที่เข้าไปกับเขาติดโควิดกันหมดแล้ว เขาคนเดียวที่ผลออกมาว่าไม่ติด ตอนนี้เลยอยู่คนเดียว ข้างในตอนนี้ดีหน่อยที่ไม่มีความแออัด เขาจะแยกล็อตหน้า ตชด. ไปขังในห้องเดี่ยวเลย แล้วรวมกันหลาย ๆ คนตอนแรก แต่ก็ถูกแยกออกเพราะทยอยติดโควิด  

“หนูอยากฝากบอกทุกคนว่า ยังมีเพื่อนของเราที่ยังคงติดอยู่ข้างในนั้น อยากให้ทุกคนติดตามข่าวสาร ในฐานะที่เราก็ยังต้องสู้ต่อ วิธีการที่จะช่วยพวกเขาได้จริงๆ มันไม่ใช่เซฟเขาอย่างเดียว แต่เราต้องร่วมกันออกมาเพื่อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย  

“ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ อยากให้ทุกคนออกมาร่วมกับพวกเรา อยากให้เป็นกระบอกเสียงต่อ ๆ ไปของพวกเขาด้วย วิธีการที่จะไม่ทิ้งพวกเขาไป ก็คือการออกมายืนเคียงข้างพวกเขา”




จาก ‘แก่น’ ถึง ‘ฮิวโก้’

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ได้ประกันตัว

 

 

“เราเรียนคณะเดียวกัน ปีเดียวกัน แต่ตอนแรกมันจำหนูไม่ได้อะพี่ เขาคิดว่าหนูเป็นนอกเครื่องแบบ!” แก่นเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวสนุก ๆ ของฮิวโก้ หรือ นิว สิริชัย นาถึง พร้อมกำชับว่า “มันเคืองนะที่ใครเรียกว่านิว สิ่งแรกที่มันออกมาจากเรือนจำรอบที่แล้ว คือการโพสต์เฟซบุ๊กว่า ผมชื่อฮิวโก้ครับ มันบอกว่าชื่อนิวน่ะโหล ชื่อฮิวโก้มันเท่”    

“ตอนแรกหนูไม่ค่อยชอบเพราะรู้สึกว่า มันขี้โม้จังเลยอะ เขาเป็นคนเหมือนกับกล้าแสดงออก แล้วก็พูดเสียงดัง เป็นคนมั่นใจ เราก็รู้สึกว่าทำไมขี้เก๊กจัง ชอบแสดงความเห็น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปว่าเขาได้ยังไงเพราะว่าเราก็เป็นคนเหมือนกันเลย 

 

 

ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้คุยกัน เขาจะมีกลุ่มเพื่อนของเขา เราก็จะมีกลุ่มเพื่อนของเรา จนช่วงที่ชุมนุมปีที่แล้ว ที่พีค ๆ “ประมาณปลายปีที่แล้ว ก็รู้ว่าเขาอยู่ในแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ นะ เขาก็ไปทำม็อบ เราก็เป็นห่วงนิดนึง ว่าเป็นเพื่อนคณะเดียวกัน อยู่แนวหน้าด้วย ก็เลยกดติดตามในไอจี แอดไลน์เขาไป พอชุมนุมเสร็จถ้ามันรุนแรงก็จะทักไปถามเขาว่าเป็นไงบ้าง 

 

“คุยกันไปวันนึงเขาก็ถามว่าขอโทษนะนี่ใครอะหรือครับ? เราก็บอกว่าแก่นไง เพื่อนคณะเดียวกัน เขานึกว่าเป็นนอกเครื่องแบบมาส่องเขา ก็เลยเริ่มคุยกันตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมือง  

“ตอนเขาโดนจับมันมีสองรอบ รอบแรกคือตอนที่โดนจับไป สภ. คลองหลวงคืนเดียว ก่อนหน้านั้นเขาเคยชวนเราไปกินลาบที่ห้อง แล้วเขาก็เหมือนพูด ๆ กับเรา ว่ามีเรื่องจะขอให้ช่วย เขาก็บอกว่า ถ้าเขาโดนจับ อยากให้ช่วยทำธุระส่วนตัวให้ หนูก็โอเค ตกลงกัน  

“พอวันที่เขาโดนจับครั้งแรก หนูเป็นคนแรกที่ไปถึงเขาแล้วเจอตัวเขา เจอพี่คณะ แกนนำคนอื่น ที่ปรึกษาในคณะ หนูก็พูดกับที่ปรึกษาในคณะว่า เออพี่ นิวมันบอกหนูให้เก็บของให้ ถ้าโดนจับ ก็เลยให้พี่คนนึงขี่มอเตอร์ไซค์ไปหอของนิว พอขึ้นไปปุ๊บก็เปิดไม่ได้เพราะห้องล็อค สักพักหนึ่งตำรวจขึ้นมาเลย เอามือถือไป พาหนูไปข้างล่างตึก ซึ่งนิวอยู่ในรถตำรวจที่อยู่ที่ตึก  สักพักคนอื่นก็ตามมาสมทบ 

 

ตอนแรกก็ตกใจมากว่า เอาแล้ว.. หนูโดนรวบไปกับมันแน่นอน แฮชแท็ก #เซฟแก่นมธ ต้องมาแล้วนะ” 

 

“แต่ครั้งที่สองเขาเตรียมตัวไว้ระดับนึง ก่อนไปมอบตัวนิวก็บอกว่า ถ้าเขาไปมอบตัวแล้วโดนจับ ให้ทำนู่นทำนี่นะ หลังจากนั้นก็ไปมอบตัว พอโดนจับไม่ได้คุยกันอีกเลย  และก่อนหน้านี้ หนูก็ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตต้องมาพัวพันกับอะไรแบบนี้

“จริง ๆ หนูก็อยู่ในกลุ่มกิจกรรมการเมืองมาสักพัก ก็พอรู้นะว่าปกตินักกิจกรรมหรือเพื่อนนักกิจกรรมต้องเจออะไรบ้าง แต่ไม่เคยสนิทกับนักกิจกรรมคนไหนเลยจนได้มาอยู่จุดนี้จริง ๆ  

“หนูเครียดเรื่องนิวมากเลยนะ คือเขาฝากเราทำเรื่องธุระต่าง ๆ และเราก็ได้รับรู้เรื่องข้อมูลที่บ้านเขา ซึ่งเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดเรื่องที่บ้านให้พวกเราฟัง บางอย่างก็ทำให้เรารู้สึกเป็นห่วงมากเลย  

“ช่วงติดโควิด อยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แล้วนิวอดข้าวประท้วง หนูก็นอนฝันถึงเขาสองสามรอบ  หนูก็ตื่นมาร้องไห้ แต่ตอนนี้พอมันบอกว่าเลิกอดข้าวก็สบายใจขึ้น แต่ก็ยังเครียดอยู่  

“ในมุมของเพื่อนกัน ที่เรารู้จักเขามา เขาคือเด็กผู้ชายวัยรุ่น ชอบรองเท้า ชอบเล่นบีบีกัน เป็นคนที่เป็นห่วงคนอื่นมากเลยนะ ห่วงทุกคนยกเว้นตัวเอง ค่อนข้างเป็นคนที่เสียสละ เคยคุยกับเขาว่ากูไม่อยากให้มึงโดนจับเลยเพราะเป็นห่วง

“เขาบอกว่านี่คือการต่อสู้ ต้องมีการสูญเสีย ถ้าเขาไม่ได้อยู่ด้วยตอนที่ชนะ ก็อยากให้ทุกคนสู้ต่อไป จิตใจเขาแน่วแน่มาก ๆ เราก็รู้ เข้าใจ และเคารพการตัดสินใจ แต่ในมุมของเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน มันก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะระบบยุติธรรมไทยก็พึ่งไม่ค่อยได้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะเจออะไรบ้าง  อย่างรอบล่าสุดที่โดนจับ ไม่มีใครได้เยี่ยมเลยแม้แต่ทนาย เขาก็พูดว่าโควิดเสี่ยงกับการติดนะ แต่มันทำให้รู้สึกว่า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอยู่ในนั้นเขาจะโดนอะไรบ้าง 

“เขามีฝากข้อความให้หนู ว่าให้ดูเรื่องการเรียนให้ด้วย.. เขาสนใจเรียนนะพี่ ช่วงใกล้ๆ สอบบางทีก็มาให้ติวให้หน่อย เขาไม่ได้เข้าเลยมัวแต่ไปม็อบ ตอนนี้เราสองคนอยู่ปีสอง นักกิจกรรมคืออายุน้อย ๆ กันเยอะมากเลย” 

“นิวมันเป็นคนคาร์แร็คเตอร์เหมือนพระเอก เป็นคนปากร้าย แต่ลึก ๆ เขาก็เป็นคนที่เป็นห่วงคนอื่นมาก ๆ มีรอบนึงที่ชุมนุมที่แยกเกียกกาย แล้วเจ้าหน้าที่เพิ่งยิงแก๊สน้ำตาเสร็จ พวกเราก็ลุยแก๊สน้ำตาเข้าไป นิวมันก็ตะโกนเรียกพวกเรา แล้ววิ่งหลับตามาบอกว่าขอน้ำหน่อย ๆ  พอเราราดน้ำใส่หน้ามันเสร็จ มันก็บอกว่า ‘โอเค เสร็จละ’ แล้วก็วิ่งกลับเข้าไปอีก แล้วเราก็เจอมันอีก แต่พอเจอรอบนี้มันพาหนูกับเพื่อนไปที่เต็นท์ เดินตามหาตัวหนู พอเจอก็บอกให้เราทุกคนอยู่แต่ที่เต็นท์นะ เพราะมันจะไปแนวหน้า ‘พวกมึงไม่ต้องไปนะ มันอันตราย’ เขาบอกพวกหนูซ้ำ ๆ ว่า ‘มึงห้ามไปนะ มึงห้ามนะ เราไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน.. 

‘แต่เดี๋ยวกูไปเอง’

“เวลามีใครโดนจับ อย่างช่วงที่เพนกวินอดอาหารเขาก็จะพูดในไลน์กลุ่มที่เป็นทั้งคณะ ว่าทุกคนต้องช่วยกันนะ เราจะปล่อยให้เพื่อนตายไปไม่ได้ในขณะที่เพื่อนกำลังสู้เพื่อเรา มันชอบเอาคนอื่นเป็นอันดับแรก (priority) แต่เรื่องตัวเองก็คือ.. เป็นแบบว่าโดนจับก็โดนจับแหละ ถ้าได้ออกก็ได้ออก”

 

 

 

จาก “แม่พริ้ม” ถึง “ไผ่ ดาวดิน”

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

“ไผ่เขาเป็นคนเลี้ยงยากหน่อย นอนลำบาก ต้องขี่จักรยานหรือสามล้อรอบอำเภอ หลับแล้วค่อยเอามานอน เขาเป็นคนแบบนี้ จะเดินทางไปต่างจังหวัด พอขึ้นรถก็จะร้องไห้ พอลงรถจะหยุด แทนที่เราจะได้นั่งรถเก๋ง ก็ต้องเดิน แล้วเขาก็ขี่รถตาม 

แล้วก็นิสัยเขาก็คือชอบไปที่สูง แล้วก็ขี่รถถอยหลังแบบไม่กลัวเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ถ้าเล่นเกมก็จะคุยกัน กำหนดเวลาว่าแม่ไม่ค้านนะว่าจะเล่นเกม แต่ให้เล่นหนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมงโอเคมั้ย ถ้าเล่นทั้งวันเนี่ยไม่ให้ เขาก็ทำตาม เราก็เลี้ยงดูเขาตั้งแต่เล็กจนถึงมัธยมปลาย

“ด้วยความที่เป็นเด็กผู้ชาย ไผ่เขาไม่ได้เก่งภาษา เพราะพวกเราก็อยู่อำเภอเนอะ มันก็จะต่างกัน ถ้าอยู่อำเภอ ครูสอนป.หนึ่งก็เป็นคนเดียวกัน สอนทุกวิชา ทีนี้ไผ่ก็จะไม่ได้ภาษา เพราะครูสอนภาษาจะมาสอนตอน ป.4 ป.5 

“คนในชุมชนชอบเอาลูกไปเรียนในเมือง ในอำเภอก็จะไม่ค่อยมีเด็ก ก็จะขาดโอกาสเพราะจะยุบโรงเรียน พอขึ้นมัธยมก็ต้องไปเรียนในเมือง แต่ไม่ค่อยตีกรอบเขามาก เราก็จะระวังหลัง ไม่ห้าม เมื่อก่อนยังไม่ได้เป็นทนาย แม่ก็จะขายของไปรับไปส่งลูก เพื่อนเขาก็จะชอบมาที่บ้านเราก็ดูแล ให้การต้อนรับ 

“บุคลิกของไผ่จะเป็นคนตัวดำ แล้วเวลาเขาเดินค่อนข้างเหมือนกับนักเลง แต่จิตใจเขาไม่อะไรหรอก ก็มีเดินไปชนคน แล้วคนเขาไม่พอใจบ้างมันก็มี เขาจะโทรมาบอกแม่ตลอดถ้ามีปัญหา 

“มีช่วงตอนมัธยมที่มีเด็กชั้นโตไปตีหัวน้องของเพื่อน พวกไผ่ก็เลยไปบอกว่าอย่าทำน้องกู ไปเป็นกลุ่ม เขาก็ไม่พอใจ ไปบอกนักเรียนเทคโนให้ดักตีพวกไผ่หน้าโรงเรียน ไผ่ก็จะโทรมาบอกแม่ว่า “แม๊ (เสียงสูง) ไผ่โดนไล่ตี!” ไม่ถึงห้านาที แม่ก็ออกไปเลย 

“แต่มันไม่ใช่ว่าแม่ปกป้องลูกทุกอย่าง ช่วงพอมา ม.ปลาย ไผ่มีเพื่อนเยอะ เพื่อนเกิดเกือบทุกวัน ก็ไปเที่ยวทุกวัน แม่ก็บอกว่า ไม่ได้นะลูก ถ้าไผ่จะมีวันเกิดเพื่อนทุกวันเนี่ย แม่ไปลาออกให้มั้ยล่ะ  เขาก็จะกลับมาตีหนึ่งตีสอง ดับรถตั้งแต่ปากซอยแล้วเข็นเข้ามา เราก็ดักรอ เขาเห็นเขาก็รู้ว่าผิด ก็ยืนให้เราตีสองสามครั้ง แล้วก็เคลียร์กัน”

“พอจบมัธยม ไผ่เขาก็ออกไปเรียนรู้ ใช้ชีวิตมหาลัยในคณะนิติศาสตร์ ไปอยู่หอพัก ไปหาอาหารการกินเอง ชีวิตปีแรกก็คบกับเพื่อนที่มีฐานะ มีแต่คนรวย ๆ ในห้องรูมเมทก็จะมีคนที่ภาคใต้ ที่ทำสวนยาง เป็นลูกข้าราชการต่าง ๆ  แต่เราก็ไม่ได้มีฐานะ ก็คุยกันว่าถ้าไผ่สอบมหาลัยเราจะซื้อคอมให้เป็นรางวัล แต่ตอนนั้นเราไม่มีฐานะ ก็ไม่ได้ให้รางวัลเขาได้ทันที ถึงจะได้คอมมือสองให้เขา.. แต่เราก็ทำตามสัญญานะ แต่ก็ช้าหน่อย 

“พอขึ้นปีสองเขาก็เจอรุ่นพี่ที่ดาวดิน พาไปลงพื้นที่ เห็นปัญหาชาวบ้าน ครอบครัวเรานี่เป็นคนที่ไปไหนก็นอนได้ทุกที่ ได้หมดสมบุกสมบัน  

“ตอนปีแรกก็มีแต่ไปห้าง กลัวลูกเราจะเพลินกับแสงสี แต่พอมาดาวดินปุ๊บ ก็คือไปวัด ไปหมู่บ้าน โบกรถสิบล้อไปไหนมาไหน พอแม่ไปขอนแก่น ก็ไปห้างไม่ถูกนะ เขาก็จะลูกทุ่งประมาณหนึ่ง เพราะเห็นความลำบากของชาวบ้านเองกับตา เห็นความเอารัดเอาเปรียบของระบบราชการ ที่จะมาใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากท้องถิ่น  

“ตอนที่เขาเล็ก ๆ พ่อเคยไปอบรมกฎหมายให้ชาวบ้าน เขาก็ไปด้วย เวลาอบรมกฎหมายช่วงกลางวัน เขาก็สอนกฎหมายชาวบ้าน พื้นฐานสิทธิต่าง ๆ ว่าถ้ารถชนคุณมีสิทธิอะไร ถูกตำรวจจับจะทำยังไง โตมาหน่อยไผ่เขาชอบดนตรี ก็จะจับแคนก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เป่ายากที่สุด มันไม่เหมือนพิน ไม่เหมือนกีต้าร์ แต่เขาก็เลือกจะเรียนแคนก่อนเพื่อน จากนั้นเขาก็ชอบเล่นดนตรี ตีขิม สีไวโอลิน เล่นอิเล็กโทน ได้หมด โปงลางก็ได้หมด ก็เลยไปเป็นครูสอนในโครงการของชุมชน ครูก็จะหาครูไปสอนดนตรี ไผ่ก็ไปสอนดนตรีเด็ก เป็นวง เขาก็เป็นครูตั้งแต่ช่วง ม.ปลายเลย”

 

 

ไผ่มาเคลื่อนไหวการเมืองใหญ่ ๆ ตอนไหน 

“น่าจะเป็นช่วงตั้งแต่ ขึ้นปีสองปีสามนั่นแหละ ตอนที่เคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่เขาไปเรียนรู้ก็คือเรื่องเหมืองแร่ ไผ่ก็จะพาพี่น้องในพื้นที่ไปม็อบ ไปที่กรุงเทพฯ ไปที่หุ้นเลยมั้ง จนหุ้นเขาตก 

“ไผ่คุยกับคนง่าย แม่คิดว่าเขาน่าจะเรียนรู้ มาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร แม่จะรู้ว่าเขาทำอะไรตอนเขาโทรมาบอกว่า “แม๊! (เสียงสูง) โดนจับ”  แม่ก็ต้องไปหาเขา ตอนนั้นรุ่นพี่ดาวดินโดนจับไว้ที่ห้องขัง แต่พ่อไผ่เป็นทนาย ตำรวจก็จะให้ขึ้นมาอยู่กับพ่อ แต่ไผ่ก็ไม่เอา เขาจะอยู่กับเพื่อน  

“บางทีแม่ก็จะบอกเขาว่าให้ระวังหน่อย จนเขามาเคลื่อนไหวหนัก ๆ ในเรื่องการเมืองระดับประเทศ ตั้งแต่ประยุทธ์รัฐประหารในปี 57  แล้วบอกว่า เขาสามารถไปได้ทุกที่ ทุกภาค คำนี้มันท้าทายเด็ก ไผ่ก็เลยไปชูสามนิ้วหน้าโพเดียมเขาเลย

“เราไม่สามารถอยู่กับลูกไปได้ตลอดชีวิตหรอก เขาต้องอยู่ด้วยตัวเขาเอง กับเรื่องเรียน เราขอแค่ให้เขาสอบผ่านก็พอ ถ้าได้เกรดเอเขาก็จะโทรมาขอรางวัล ถ้าได้เกรดเอฟเขาจะเงียบ แม่ก็จะบอกว่าไม่เอานะลูกเอาใหม่ พยายามหน่อยนะลูก เขาก็ประคองไม่ให้โดนรีไทร์ 

“แม่จะย้ำเขาเสมอว่าเราไม่ได้ร่ำรวย ไม่มีโอกาสเรียนซ้ำได้บ่อย ๆ ก็จะบอกไผ่ว่ารับผิดชอบให้มันจบหน่อยนะลูก”

“ไผ่เข้าออกเรือนจำตั้งแต่ปี 58, 59 ตั้งแต่คดี 3/58 กับเรื่องประชามติ รัฐธรรมนูญ ตอนนั้นเขาเข้าไปในเรือนจำเจ็ดวัน แล้วก็มีเรื่องแชร์ประวัติที่จำคุกไปสองปีกว่า แล้วก็ที่โดน 112 ที่กรุงเทพอยู่สองสามครั้ง 

“ตั้งแต่ไหนแต่ไร แม่เป็นคนที่ปกติจะไม่เอาความทุกข์ไปให้เขา เขาขออะไรเราจะให้ทั้งหมด ไม่ให้เขาไม่สบายใจเรื่องพวกนี้เลย ส่วนใหญ่ตัวเขาเองเป็นคนให้กำลังใจคนข้างนอกมากกว่า เวลาเพื่อนมีปัญหา เขาจะรู้หมด แล้วก็จะบอกให้เพื่อนอดทน แก้ปัญหา ส่วนมากจะเป็นคนแบบนั้น 

“ครั้งล่าสุดที่คุยกัน แม่ก็บอกว่าที่บ้านสบายดี ญาติฝากความคิดถึงมาให้ แล้วเขาก็บอกว่า ‘แม่ ถ้าออกมาเขาจะมาเลี้ยงข้าววันเกิดพ่อนะ’ ปกติน้องสาว พ่อ แล้วก็ไผ่จะเกิดใกล้ ๆ กัน เราจะนัดกินข้าวรวมกัน ไปกินกุ้งกัน แล้วก็ไปกินอาหารข้างนอก 

“การสื่อสารของแม่ของเขาอยู่ในระดับความห่วงใย แต่เขาชอบสื่อสารกับคนอื่นออกมา เพราะคนอื่นสื่อสารให้เขาได้หมด เขาจะคิดถึงกลุ่มเขา กลุ่มทะลุฟ้า น้องๆ เขาเป็นยังไง เป็นห่วงแฟนเขา แล้วก็เป็นห่วงน้องต๋งด้วย 

“มีก่อนที่เขาจะเข้าไปที่เขาไม่ได้ประกันตัว เขาก็โทรมาบอกแม่ว่า “แม่ ไผ่ไม่ได้ประกันตัวนะ” แม่ก็ทำใจแล้ว แต่พอรู้ว่าลูกต้องไปติดคุก แม่ก็ร้องไห้  ไผ่ก็ถามว่าร้องไห้ทำไม หัวอกคนเป็นแม่อะเนอะ การไร้อิสรภาพมันทรมานจิตใจอยู่แล้ว  แม่ก็บอกว่าแม่ไม่ร้องแล้ว ให้ไผ่เข้มแข็งนะ 

“เราก็ห่วง แม่ไม่ห่วงไผ่เรื่องอย่างอื่นเลย แต่แม่ห่วงเรื่องโควิด มาตรการข้างนอกยังไม่มีเตียง แล้วในเรือนจำมันล้น ไม่ใช่ความสุขสบาย ต้องใช้ของร่วมกัน ทีนี้เพิ่งรู้จากทนายว่าห้องเขาว่าอยู่ด้วยกัน 12 คน ติดโควิดเก้าคน เหลือสามคนที่ไม่ติด ไผ่ไม่ติด แต่มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว แต่แม่ก็ไม่แน่ใจ เพราะอุปกรณ์มันก็ไม่ได้มาตรฐาน เพราะไผ่เหนื่อย หอบ ไม่มีแรง 

“วันนี้เราหัวใจสลาย เพราะเห็นตำรวจฆาตรกรรมคนในโรงพัก แล้วตำรวจบอกขอตรวจสอบก่อน แต่ในทางกลับกัน ลูกเรามอบตัว ยืนยันความบริสุทธิ์​แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว  ทั้ง ๆ ที่คดีเขาไม่ได้ร้ายแรง แต่ความยุติธรรมมันไม่ได้มาตรฐาน แล้วก็ใช้วาทกรรมเด็กชังชาติ เอามาเป็นเงื่อนไขในการประกันตัวหรือไม่ประกันตัว มันเลยหาความยุติธรรมไม่ได้ไง เราเรียนกฎหมายมาก็รู้สึกเจ็บช้ำ 

“ นักกิจกรรมอยู่ไหนภาครัฐก็รู้ เขาก็สามารถค้นบ้านตอนดึกได้โดยไม่มีหมายด้วยซ้ำ ความยุติธรรมที่เรามองเห็นมันไม่ยุติธรรม แล้วสังคมเราจะอยู่ด้วยกันได้ยังไง ถามว่าคุณเอาอะไรเป็นมาตรฐาน เหมือนคำว่าคนดี คุณเอาอะไรมาเป็นมาตรฐาน 

“ถ้ามาคุยกันมันจะดีกว่ามั้ย รัฐบาลล้มเหลวด้วยนะ คนล้มตายแล้วคุณมาบอกว่าทำดี ๆ  แล้วเด็กที่ออกมาคือเด็กไม่ดีหรอ? มันใช่รึเปล่า? พอเด็กออกมาตรงข้ามกับคุณกลับเป็นคนเลว สังคมแบบนี้มันอยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก” 

 

 

 

จาก ‘เฌอเอม’ ถึง ‘ฟ้า’

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

มิตรภาพของเฌอเอมกับฟ้า แรกเริ่มเกิดขึ้นจากความเป็น “นางงาม” และ “แฟนคลับ” ก่อนที่โชคชะตาและอุดมการณ์จะพาเธอและฟ้าให้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน ในรูปแบบที่พิเศษกว่าทุกมิตรภาพที่เฌอเอมเคยเจอมา

 

“พี่ฟ้าเป็นแฟนคลับสมัยเอมประกวดนางงาม เจอกันในวันสุดท้ายที่แข่ง เขามาดูในวันที่เราเดินชุดว่ายน้ำ แล้วเราโดนทิ้งไว้ที่หน้าแบ็คดรอปอยู่เป็นชั่วโมง พี่ฟ้ากับกลุ่มแฟนคลับของเอมยืนให้กำลังใจเราเป็นชั่วโมงเหมือนกัน ตอนนั้นพี่ฟ้าพยายามจะส่งเราที่ห้องพัก ได้ถ่ายรูปกันแค่แป๊บเดียว แล้วเราก็ก็คุ้นว่านี่อะคือพี่ฟ้า เป็นความรู้สึกว่าเหมือนเรามีคนคนนึงอยู่ข้าง ๆ ตลอด แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเขาคือใคร  

“หลังจากนั้นเราก็เห็นว่าเขาขึ้นรถกระบะปราศรัยที่แยกลาดพร้าว เอมจำไม่ได้ว่าเป็นตอนไหน แต่เขาอยู่ตั้งแต่แรกมาก ๆ อาจจะปลายปี 2563ด้วยซ้ำ เราก็รู้แล้วว่า เชี่ย คนนี้หรอวะที่เราเจอ ตอนนั้นเราก็ไม่เคยคิดว่าเรามีผู้ปราศรัยเป็นแฟนคลับเรามาก่อนเลย

“ตอนเราจัดแฟนมีต เป็นครั้งเดียวที่เราเจอแฟนๆ และจะบอกลา พี่ฟ้าก็เป็นพิธีกร เหมือนเรารู้สึกผูกพันกับเขาเป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้รู้จักเขา เขาก็ไม่ได้รู้จักเราขนาดนั้น 

“แต่เรามารู้จักกันจริง ๆ เพราะการเคลื่อนไหว เพราะต้นปีก็มีการชุมนุมบ่อย เห็นเขาอยู่บนรถบ่อยมาก จนเขาบอกว่าถ้าเรามาให้บอกเขาเขาเป็นห่วง ก็ไปเจอกับเขาในม็อบนี่แหละ ก็เลยเพิ่งรู้ว่าเขาทำงานกับแกนนำ เราก็เลยเคลื่อนไหวใกล้กับภาคประชาชนมากขึ้นไปอีก

“เมื่อก่อนเราเป็นจุดเล็ก ๆ ในม็อบ ไปเติมพื้นที่ เน้นแบบเคลื่อนไหวบนโซเชียล แต่พออยู่กับพี่ฟ้าก็เข้าใจมิติหลายอย่างในม็อบ เข้าใจอุดมการณ์ได้หลากหลาย ได้ทำงานบางจุด ทำให้เกิดการพัฒนามิตรภาพจากการรู้จักอย่างผิวเผินมาเป็นเพื่อนกัน 

“ตอนแรกเราอาจจะเข้าถึงยาก ด้วยความเป็นนางงามในดวงใจเขา ที่ทำให้เราเว้นระยะห่างกัน แต่หลังๆ ก็เป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว

“วันแถลงข่าววันแรกเขาก็เอาดอกไม้ไปให้ถึงตึกแกรมมี่เลยนะ ตอนนั้นเราโดนอะไรเขาก็อยู่ด้วยทุกที่ เขาก็เป็นกำลังใจในการที่เราออกมาคอลเอาท์ โดนจับได้กลางม็อบ ปกติเราจะแต่งตัวมิดชิด แต่มันก็มีคนรู้ว่าเป็นเรา ไม่แน่ใจว่ากลุ่มไหน แต่เอาไมค์มาจ่อปากเรา แต่ตอนนั้นเราไม่มั่นใจกับสถานะในสังคมเลย ได้แต่รับไมค์มาอย่างงง ๆ แล้วก็กลับบ้าน 

“แต่คลิปนั้นมันดังมากในอินเตอร์เน็ต แล้วที่บ้านเราก็โกรธมาก เราก็เหมือนหลงทางไปนิดนึง แต่พี่ฟ้าก็จะเป็นคนที่ชี้ทางเราในการเคลื่อนไหว เขาจะคอยให้กำลังใจ ว่ามันอาจจะเจออะไรบ้าง แต่ไม่ต้องห่วง กลุ่มนี้ไม่ได้หวังร้ายกับเรา ตอนนี้เธอไม่มีอะไรต้องกังวลนะ เพราะสิ่งนี้ที่เธอทำมันไม่ได้อยู่ในสิ่งที่รัฐจับตามอง.. พี่ฟ้าเขาจะคอยบอกในสิ่งที่เราไม่ได้รู้ตลอดเลย 

“เขาไม่ได้ถึงกับเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเอม แต่เขาเป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ เป็นเซฟโซนทางการเมืองของเรา ถ้าเรากังวลหรือต้องการอะไร ก็ปรึกษาเขาได้ตลอด เขาก็พูดว่าเขาอยู่กับเราในฐานะแฟนคลับเราและจะเป็นตลอดไป และจะเป็นเพื่อนด้วย มันจะต่างจากคนอื่น ๆ ที่เป็นแฟนคลับ หรือเพื่อนสนิท เพื่อนเที่ยว แต่พี่ฟ้าเป็นไดนามิคสองอย่างรวมอยู่ด้วยกัน เราเลยวาง (Treasure) เขาในแบบที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ 

“เขาเป็นคนที่มีพลัง (Active) และส่องประกาย (Shine) เราเลยได้รับพลังบวกจากเขาและแรงบันดาลใจ เขาต่อสู้ ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ และเขาทำให้เรามีพลังในการทำงานไปด้วย

“วันที่เราโดนแก๊สน้ำตาวันแรก คือเป็นการกดดันที่บ้าชิบหาย วิ่งไปกับพี่ฟ้านี่แหละเอาตรง ๆ ก็โดนกับนางด้วย”  

“จริง ๆ เอมแอนตี้มุมมองที่คนไทยมีให้กับดารามาก แต่พี่ฟ้าก็เป็นคนที่อยู่กับเราอยู่ เขาอธิบายเลยว่าเขาอยู่กับเอมนะ เขาจะเตรียมทนายให้ถ้าเอมต้องเจอเรื่องต่าง ๆ  แม้ว่าเขาอยู่กับเราหลายอย่าง แต่เอมแทบไม่รู้อะไรกับเขาเป็นชิ้นเป็นอันเลย ทั้ง ๆ ที่เราสนิทกัน เพราะว่าเขาค่อนข้างเก็บกุมความลับ เรารู้ว่าเขาเป็นแกนนำราษฎรมูเตลู และรู้ว่าพี่ฟ้ามีความรู้หลายด้าน เขามีความหลงใหลเรื่องประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนามาก เช่นการก่อตั้งวัด การมีสมเด็จต่าง ๆ พิธีบูชาผี พระองค์ไหนมาจากไหน บทสวดมาจากอะไร เขารู้แม้กระทั่งระดับสังคม มันเลยทำให้เขาดูค่อนข้างน่ากลัวในสายตาผู้มีอำนาจ เพราะเขาคือคนที่หาตัวจับยากในแง่ของประวัติศาสตร์ 

“อย่างพี่ฟ้า เขาก็ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก เขาเป็นแกนนำก็ไม่เชิง แต่เป็นคนที่ทำงานเคลื่อนไหวขับเคลื่อนจริงจังในแบบของเขา ตอนเขาโดนจับก็เลยรู้สึกว่าผิดวิสัย เลยรู้สึกว่ามันน่าจะเกี่ยวกับพิธีมั้ง เพราะเขาไม่ได้แค่เชื่อเฉยๆ แต่อธิบายหลักการของมันได้ ดังนั้นตอนเขาโดนจับเราก็ช็อคมาก แค่เราไปวัดที่ฝังอัฐิคณะราษฎรก็ต้องถูกจับเลยหรอ หรือแค่เราปราศรัยการเมืองบนกระบะนี่คือต้องถูกจับเลย

“เรามารู้จัก มาอ่านเรื่องพี่น้องชาติพันธุ์เยอะ ๆ ก็เพราะพี่ฟ้า หลังจากนั้นเขาจะตามประกบเราทุกที่ในม็อบเพราะเขาเป็นห่วงเรา ทั้งๆ ที่แกเป็นคนที่รับสายยากมาก ๆ ถ้าไม่ใช่เรื่องงาน แต่เหมือนแกก็จะหาเวลาว่างเพื่อจะติดต่อเราอยู่ตลอด  

“เอาเข้าจริงเขาเหมือนโล่กำบังของเราเลย เวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์อันตราย สำหรับเอม พี่ฟ้าคือคนปกติ เขาไม่ได้เป็นคนเข้มแข็งเกินมนุษย์ ไม่ได้เป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่ล้มไม่ตาย เขาบอกเอมว่าฉันเป็นแค่กะเทยคนนึงที่ชอบดูนางงาม จะชอบพูดจาตลก ๆ เป็นประจำ มองโลกในแง่ดี ชอบพูดเรื่องหนักหรือไม่หนัก จนเรารู้สึกว่าไม่รู้จะไปต่อยังไงในเรื่องที่มันหนักหนามาก 

“ไม่นานเราเพิ่งคุยกันเอง ว่าเขาก็สนใจเรื่องข้าวกะเหรี่ยง เรื่องผ้า ก็คุยกันอยู่เลยว่าเราจะต้องไปถ่ายแฟชั่นเก๋ๆ ที่บางกลอยกันนะ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เขาก็ไปรายงานตัวแล้วก็โดนจับไปฝากขังเลยที่รอบแรก เราก็ช็อคเพราะตอนนั้นเขาเพิ่งรถล้มมา แต่พี่ฟ้าเขาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก โดนไม่กี่วันหรอก เขาก็ไม่ได้เตรียมใจหรอกว่าจะเป็นการขังที่ยาวนาน พอโดนถอนประกันสองรอบ เขาก็คิดว่าคงโดนติดไปสักพัก

“จริงๆ บ้านเขาไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาตลอด แต่เขาทำด้วยเจตจำนงของเขาเอง ตอนนั้นเราก็กลัวว่าเขาจะโดดเดี่ยวจากหลายๆ ฝ่าย เราก็พยายามเขียนจดหมายหาเขา ถ้าทนายไปวันไหนเราก็ไม่รู้เพราะเราไม่เล่นโซเชียล แต่เราจะส่งจดหมายไป เพราะเรากลัวว่าเขาจะเป็นเหมือนคนที่เราไม่รู้จัก ในระหว่างที่อยู่ในนั้น มันไม่ใช่ในทางที่เราเหงา แต่เรากลัวว่าเขาจะกลายเป็นคนที่เขาไม่ได้อยากเป็น กลัวเขาจะมีชีวิตที่เป็นแผลใจ 

“ตอนนั้นเขาประกาศอดอาหาร เขาจะมีความเด็ดเดี่ยวในการกระทำของเขาสูงมาก เขาเป็นคนไม่ยอมแพ้ แข็งได้ก็คือแข็ง เขาเป็นคนอ่อนโยนมากแต่เขาไม่เคยอ่อนแอ เราเลยเคารพการตัดสินใจของเขา ถ้าการอดอาหารคือการต่อสู้ เราก็จะเคารพในการตัดสินใจของเขา

“ตอนออกมารอบแรก เขาผอมลงไปเป็นสิบโล เขาก็บอกว่าฉันเหมือนเธอตอนประกวดนางงามเลย วินาทีนั้นมันเหมือนพรั่งพรูออกมาระหว่างความสัมพันธ์ของเรา  บนเวทีนางงามเขาเห็นเราผอมแห้ง แต่มาวันนึงเราต้องเห็นเขาผอมเป็นกระดูกแล้วเราก็ห่วงเป็นเขา ยอมติดกำไล EM เขาพยายามโปกฮา แต่เราก็สัมผัสว่าเขา เจ็บปวด จนวันที่เขาเล่าว่าข้างในมันเป็นยังไง 

“มันไม่ใช่แค่มีการกดขี่ความเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่มันมีการกดขี่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย มันมีวรรณะของนักโทษแต่ละแดน แต่ละคดี แต่ละเพศ เพราะมันเป็นเรือนจำชายล้วน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทุกคนจะเรียกคุณว่ากะเทย ซึ่งมันไม่เหมือนที่กะเทยเรียกตัวเองว่ากะเทย เพราะมันไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน การบีบบังคับจิตใจ มันมีหลายปัญหาในเรือนจำ แต่เรารู้มาว่าไม่เกิดความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับพี่ฟ้า  

“ตอนอยู่ข้างใน พี่ฟ้าก็ได้ไปบรรยายหลายสิ่งที่เขารู้มา เช่น เขาต้องอธิบายโครงการโคกหนองนา ซึ่งเราคิดว่าเขาทำได้ดีนะ เพราะเขาสนใจและรู้จักจริง ๆ 

“รอบล่าสุดระหว่างที่เขาออกมา เราก็ได้ไปด้วยกันหลาย ๆ อย่าง ไปโรงงานกิ่งแก้วตอนที่เกิดระเบิดด้วยกัน คือเขาไม่ยอมหยุดทำงานเลย เราก็รู้สึกว่าถ้าพี่ต้องเข้าอีกรอบจากการเคลื่อนไหวจะทำยังไงกันนะ

“พี่ฟ้าเขาบอกว่าไม่เป็นไร มันทำอะไรไม่ได้ เขาต้องแลก ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเร็ว ๆ นี้ จนกระทั่งวันที่เขาโดนหมายจับคนเดียวจากทั้งหมดห้าคน เราก็รู้สึกว่ามันร้ายแรงแล้ว แล้วเขาตัดสินใจมอบตัว.. เราก็ไปหาเขาวันสุดท้าย คุยกันปกติ 

 

 

เราไม่แน่ใจว่าจะพูดยังไงรู้สึกยังไง กับการต้องให้กำลังใจเขาในเวลาที่มีผลลัพธ์แบบเดียว เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร  ดูอนาคตดีกว่า ว่าทำยังไงต่อ เขาก็คิดว่าคงจะเคลื่อนไหวกับองค์กรต่างประเทศ เป็นวิทยากร วันที่โดนควบคุมตัวเขาก็บอกว่า "ดูสิ ฉันอัพรูปนี้บนเฟซบุ๊ก สวยมั้ย เป็นรูปสนูปปี้ ระหว่างที่อยู่ข้างนอกชั้นซื้อสนูปปี้มาเยอะเลย"  เขาก็บอกว่ากายยังดี ใจยังดี เขาก็บอกว่า ไม่เศร้านะ  เขารู้สึกว่าในการต่อสู้ของเขามันจะเป็นอย่างนี้ เขาจะเข้าไปด้วยกำลังใจที่ดี และฝากไว้แค่สนูปปี้ตัวนี้

 

 

สักพักก็ต้องขึ้นรถคุมขังผู้ต้องหา จากการมองด้วยตา ที่นั่งมันดูน่าจะเจ็บมาก แล้วก็ไม่มีอากาศ อากาศไม่ถ่ายเท ก็รู้สึกว่านี่แค่วินาทีแรก สิทธิในการหายใจอย่างปลอดโปร่งก็หายไปแล้ว 

 

“สุดท้ายก็นั่งรถตู้ไป ตำรวจก็ถามว่านี่เราจะไปด้วยมั้ย แต่เราติดงานเลยไม่ได้ไป เราก็มองหน้าเขา แล้วก็คิดว่าที่เขาโดน มันคือเรื่องของ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ซึ่งอัตรามันควรน้อยมาก ตอนแรกเขาก็บอกว่าคงไม่โดนอะไรหรอก เขาคิดจริงๆ ว่าไม่โดน เรามองหน้าเขาเข้ารถตู้ แล้วบอกว่าไว้เจอกันวันหลังนะ แล้วประตูรถก็ปิดลง 

“เราคิดว่าครั้งนั้นคงไม่โดนจริงๆ แต่ก็เห็นแล้วว่าเขาไม่ได้ออกมา.. แล้วก็ติดโควิด

“พี่ฟ้าเป็นคนที่มีอาการลมชักแบบอ่อน ๆ มีร่างกายที่ค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งจากการอดอาหารแล้วก็อ่อนแอโดยกำเนิด เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ณ จุดนี้  แล้วก็เขาเป็นคนสนิทเรามาก ๆ เขามีอิทธิพลกับเราจริงๆ นะ โดยเฉพาะเรื่องทางเดินในวงการบันเทิง เพราะมันยุ่งเหยิงจริง ๆ 

“พี่ฟ้าพูดตลอดเลยเลยว่าเขาจะสนับสนุนเราทุกอย่าง จะช่วยหางาน จะให้เป็นผู้จัดการก็จะทำให้ ถ้าไม่อยากเป็นนางงามอีกก็ไม่ต้องเป็น ถึงเขาจะอยากเห็นเราเป็นนางงาม แต่เขาจะไม่บังคับเรา 

“จริงๆ เราคิดตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อนว่าประกวดเสร็จจะหายไปจเลย ตอนนั้นเราคิดว่าเรามีกระแสนะ แต่เราไม่อยากอยู่ เราก็แน่วแน่แล้วว่าปีนี้เราจะออกแน่ เราหวังเลยว่าจะไม่มีคนจำเราได้แล้ว แต่พอเขาโดนฝากขัง เรากลับต้องกระเสือกกระสนในการใช้สปอตไลท์เพื่อประคองชื่อเสียงตอนนี้ต่อไป.. เพื่อที่เราจะได้พูดถึงเขา 

“คนที่เรารักกำลังจะถูกหายไปจากประวัติศาสตร์ด้วยการลบความเป็นมนุษย์ของเขาไป แปะป้ายว่าเขาเป็นนักโทษ 112 เราเลยรู้สึกว่า เราต้องมีที่ยืน เพื่อพูดถึงคนคนนี้และอีกหลายคนที่ไม่ได้รับการพูดถึง 

“มันเหมือนเป็นทางแยกของชีวิต เราทรมานทุกวัน แต่เราจะนึกถึงหน้าเขา เพราะเขาเข้าไปรอบนึงมันก็เป็นความรู้สึกอีกว่ามันมีความสิ้นหวังในกระบวนการ เราก็ท้อใจในเรื่องของเขา พี่ฟ้าเขาไม่ได้กักขังอะไรเอมเลยนะ เขาบอกว่าจะลืมเขาเลยก็ได้ แต่อยากให้เอมใช้ชีวิตอย่างมีความสุข 

“จริง ๆ เราจะลืมไปหมดเลยก็ได้นั่นแหละ จะไม่พูดเลยก็ได้ เราก็มีส่วนกับหลาย ๆ อย่างที่ขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว เราไม่ต้องออกหน้าเลยก็ได้ แต่เราขอเลือกเพื่อนของเรา โดยไม่ต้องถูกบังคับเลย 

“เขาลงเรียนรัฐศาสตร์ที่รามคำแหง แต่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนเลย เอมคิดว่าเอมจะเรียนเป็นเพื่อนเขา แต่เราสองคนยังไม่ทันได้อ่านหนังสือด้วยกันเลย เขาก็โดนไปฝากขัง 

 

นิยามของฟ้าที่เฌอเอมอยากเล่าให้คนอื่นได้ฟัง

“พี่ฟ้าเขาเป็นคนที่กว้างมาก ทั้งกว้างทั้งลึก เขาเป็นคนที่เหมือนชื่อของเขา คือฟ้า เขาอิสระมาก แล้วเขาก็ก้าวไปเหนือสิ่งที่เราคิดในหลาย ๆ เรื่อง (beyond) ทั้งด้านขอบเขตของความเข้มแข็ง ความกระตือรือร้น และการอุทิศตัว 

“ในความรู้สึกของเอม เขาให้ความสบายใจกับทุกคน ประนีประนอม แต่ไม่เคยถอย เขาคือคนที่ใส่ใจคนอื่น แต่มุ่งมั่นกับเป้าหมายของตัวเอง มันทำให้เรารู้สึกว่าคุณยืนอยู่กลางท้องฟ้าที่อบอุ่นที่สุดเลย

“สำหรับเอม เขาเหมือนแสงในหลาย ๆ เหตุการณ์ของเรา อยู่กับเราตลอด เหมือนเป็นตอนกลางคืนที่ฟ้ามันมืดแต่มันยังมีแสงดาว ที่สำคัญคือเขาตลก ขี้เล่น แล้วก็เป็นคนที่เหมือนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับหลาย ๆ อย่างจนพูดได้สนุกได้ 

“เขารสนิยมดีด้วยนะ เขาอาจจะขี้เกียจแต่งตัวให้ตัวเอง แต่เขามีความรู้ด้านแฟชั่นที่กว้างขวางมาก” 



 

 

จาก “อานนท์” ถึง “ครอบครัว และมวลชน” 

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ยังไม่ได้ประกันตัว

 

 

อานนท์ นำภา คือทนายความชาวไทย ผู้เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและคือหนึ่งในผู้ที่เคยว่าความให้จำเลยที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อย่าง “อำพล ตั้งนพกุล” หรืออากง SMS และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ก่อนที่เขาจะก้าวเข้ามาเป็น “พ่อมดน้อย” ผู้มาพร้อมกับซอยจุ๊ ในการยกเพดานการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ราวกับร่ายคาถา “ลูมอส” หรือคาถาจุดไฟให้เกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยความมืดมิดจากความอยุติธรรม 

 

อานนท์เติบโตที่จังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นเด็กชายที่ลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมมาโดยตลอด ครอบครัวของเขาทุกคนเป็นชาวนา ตัวอานนท์เองก็ทำนาเป็นในทุกขั้นตอน ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือการใช้ควายไถนา 

 

ครั้งหนึ่งเขาเคยสัมภาษณ์กับ BBC ไทย (https://www.bbc.com/thai/thailand-54492602) ว่าเขาคิดว่าตัวเองคือตัวละครหนึ่งในนิยาย เรื่องปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ในบทบาทของสาย สีมา “"ใช่ เราคือตัวละครหนึ่งในนิยาย ผมคิดอย่างงั้นมาตลอดนะ คิดละก็เหมือนกับคนเพี้ยน ๆ แต่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไอ้การที่เราเอารูปจิตรขึ้น [เป็นรูปโปรไฟล์] เฟซบุ๊กก็เหมือนย้ำเตือนว่าเราเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ อะไรเงี้ย" 

 

จากบทบาทของลูกชาวนาคนหนึ่ง อานนท์มองเห็นความไม่เป็นธรรมที่แอบแฝงอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม นั่นทำให้เขาได้ก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และคือผู้ร่ายมนต์ปลุกมวลชนให้ตื่นจากความกลัว ก่อนที่เขาจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับตามองโดยผู้มีอำนาจ และถูกส่งเข้าเรือนจำมาหลายต่อหลายครั้ง

 

รวมถึงการถูกแจ้งข้อกล่าวหา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกลับเข้าไปในเรือนจำอีกครั้ง ในต้นเดือนสิงหาคม 2564

 

 

 

แต่กรงขังนั้นกักขังอานนท์ได้เพียงแค่อิสรภาพ แต่ไม่เคยกักขังอุดมการณ์ของเขาได้  เขาได้ฝากข้อความมาจากแดน 1 ห้อง 19 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้โพรไฟล์เป็นรูปจิตร ภูมิศักดิ์ของเขาว่า: 

 

‘สถานการณ์ covid ในเรือนจำยังอันตราย เพื่อนผู้ต้องขังห้องตรงข้ามก็ทยอยกันติดไปหลายรายแล้ว มันเป็นข้อจำกัดที่เอาคนมาขังรวมกัน ซึ่งเหมาะกับการแพร่เชื้อโควิด สำหรับคนที่จับพวกเรามาขัง ผมขออโหสิกรรมให้จะได้ไม่ต้องเป็นเวรเป็นกรรมกันต่อไป

 

สำหรับเพื่อนที่กำลังต่อสู้ข้างนอกผมส่งกำลังใจให้จากในเรือนจำ ทุกการต่อสู้มีความหมายและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อพายุฝนผ่านไปเราจะได้เห็นท้องฟ้าที่สดใสด้วยกัน

 

ฝากความคิดถึงถึงเจ้าตัวเล็กกับแม่ของเธอ ฝากบอกว่าพ่ออยู่ทางนี้สบายดี ของฝากที่ส่งมาได้รับแล้วและแบ่งปันเพื่อนผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติซึ่งร่วมชะตากรรมในห้องขังเดียวกัน ดูแลสุขภาพตอนที่พ่อไม่อยู่ ดูการ์ตูนให้น้อยลงอย่ากวนแม่ตอนที่แม่ทำงาน

 

รักและคิดถึง’

 

 

 

จาก ‘ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ถึง ‘แซม’ 

สถานะวันที่ 26 สิงหาคม 2564: ได้ประกันตัว

 

 

แซม สาแมท ไม่รู้จักนักกิจกรรมคนไหนมาก่อน จนกระทั่งวันที่เขาโดนจับเข้าเรือนจำครั้งแรก เขารู้ว่าพ่อกับแม่ของเขาชื่อว่าอะไร รู้ว่าตัวเองเป็นลูกครึ่งไทย - กัมพูชา แต่ไม่สามารถติดต่อครอบครัวได้ เขาจึงต้องถูกสันนิษฐานว่าไม่มีญาติ  

 

แซมถูกจับกุมครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม 2564 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นชายคนเดียวกับที่ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาวางขวางหน้ากรมทหารราบที่ 1 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

 

 

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แซม หรือ “อาร์ท” ต้องตกอยู่ในฐานะของบุคคลไร้สัญชาติ แม้ว่าจะเกิดและเติบโตที่ประเทศไทย และมีพ่อเป็นคนไทยก็ตาม เขาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล จนกระทั่งวันหนึ่งเขาติดสินใจจบชีวิตตัวเอง ก่อนจะรอดมาได้เพราะเพื่อนบ้านช่วยเหลือได้ทัน.. นั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่เขามีโอกาสได้เข้าโรงพยาบาล 

 

“ผมร้องไห้ทุกวัน ทำไมเกิดมาไม่ได้เรียนเหมือนเขา ทั้งที่เกิดเมืองไทย โตที่เมืองไทย แต่เรียนไม่ได้ หนังสือก็เขียนไม่ได้ เวลาป่วยก็เข้ารักษาตัวไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร อยู่แบบไม่มีตัวตน อยู่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ทำงานไม่ได้ ไม่มีบัตรประชาชน” แซมกล่าวกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ความอยุติธรรมที่กดทับ ทำให้แซมตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม เขาออกมาเพราะเห็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น และมีความหวังว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ เพื่อที่วันหนึ่งบุคคลทุกคนจะได้มีสิทธิในชีวิตของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน 

 

แซมคือหนึ่งใน 11 ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขัง ก่อนจะได้รับประกันตัวในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ณ เรือนจำ เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ติดโควิด  และต้องเผชิญกับความยากลำบากและการได้รับบริการสาธารสุขที่มีมาตรฐานต่ำกว่าบุคคลทั่วไป นั่นหมายถึงว่า เหล่าผู้ถูกจองจำต้องเผชิญกับการลิดรอนสิทธิในการได้รับบริการทางสาธารณสุขอีกครั้ง 

 

แม้วันนี้แซมจะได้ออกมาจากเรือนจำแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการก้าวเข้าไปในโลกหลังกรงขังและต้องเผชิญกับการปฏิบัติเช่นนี้อีก แซมยังคงไม่ได้รับสัญชาติไทย ยังคงเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นโดยระบบต่าง ๆ ของสังคม 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: https://tlhr2014.com/archives/28556

 



และยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับการบังคับใช้กฎหมายจากรัฐในการจองจำอิสรภาพของเขาอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกันกับนักกิจกรรมคนอื่นจนกว่าจะถึงวันนั้น วันที่ประเทศไทยจะได้เผชิญกับความเท่าเทียม และฟ้าที่สดใสของสิทธิมนุษยชน 

 

และนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักกิจกรรมทุกคนรวมถึงมวลชนบนท้องถนนยังคงเคลื่อนไหวต่อ 

 

ด้านภาคีเซฟบางกลอย เพื่อนของบอยเอง ก็ได้ทำการเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #ศาลสถิตมนุษยธรรม ต่อไป เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ชุมนุมและแกนนำในเรือนจำ เช่นเดียวกัน