“อัญชัญ ปรีเลิศ” ในความทรงจำของ มลตา น้องผู้รอคอยอิสรภาพของพี่สาว

18 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

“สุขภาพจิตของพี่อัญชัญตอนนี้ไม่ค่อยดีเลย พี่อัญชัญเขากลัวติดโควิด-19 ในทัณฑสถานหญิงอีกรอบ แต่เขาเขียนจดหมายมาบอกพี่นะ ว่าเขาเห็นจดหมายจากน้อง ๆ เยอะมาก ดีใจมากที่ทุกคนไม่ลืมเขาและจดหมายพวกนี้ถือเป็นสิ่งเดียวที่สร้างขวัญกำลังใจให้เขาต่อสู้กับชะตากรรมชีวิตที่ต้องอยู่หลังลูกกรงนั้น” 

 

มลตา ลูกพี่ลูกน้องที่เติบโตมาพร้อมกับ “อัญชัน ปรีเลิศ หรือ เล็ก”   ผู้สูญเสียอิสรภาพจากการถูกตัดสินจำคุกในคดีมาตรา 112 นานถึง  43 ปี 6  เดือน เธอได้เล่าย้อนวัยเด็กของอัญชัญ ให้เราได้ระลึกถึงผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ไม่มีพิษภัย 

 

ท่ามกลางพี่น้องหกคน อัญชัญในวัยเด็กเป็นคนเรียบร้อยรักสะอาด ตอนอยู่ที่บ้านก็จะดูแลบ้านอย่างสะอาดและไม่เคยนอกลู่นอกทางเป็นคนรู้จักหน้าที่ของตัวเองกลับจากโรงเรียนก็อยู่บ้าน ทำความสะอาดบ้าน เธอเป็นคนดี และอัญชัญเปรียบเสมือนกับลูกบุญธรรมในครอบครัวของเธอ 

 

มลตา ผู้เป็นเหมือนน้องสาวแท้ๆ เล่าต่อว่า “ตอนเด็กๆ พี่อัญชัญ เขาเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดปราสาท (ปราสาทพิทยา) ในระดับชั้นปถมศึกษา พอจบระดับมัธยมศึกษาก็ไปเรียนที่ วิทยาลัยพณิชยการบางนา โดยภายหลังเรียนจบเธอได้สอบติดเป็นข้าราชการ และรับหน้าที่ราชการมาตลอด ซึ่งช่วงแรกเธอรับราชการอยู่ภาคใต้ และย้ายขึ้นมารับราชการต่อที่กรุงเทพฯ และหลังจากนั้นก็มีหมายเรียกถูกดำเนินคดี”  

 

เช่นเดียวกันกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คนอื่น ๆ ครอบครัวของอัญชัญเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อหมายเรียกมาถึง ด้วยโทษที่สูงยิ่งกว่าการฆาตรกรรมใครสักคน และมาตรฐานการใช้กฎหมายที่ต้องชวนกันมองหาความยุติธรรม ทุกอย่างที่อัญชัญทำเพียงเพราะแค่เธออยากช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ในตอนนั้นเธอสามารถช่วยหาเงินให้เครือข่ายบรรพตได้จำนวนมาก เธอถือว่าการเมืองต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความเท่าเทียมต้องเกิดขึ้นกับทุกคน เธอจึงช่วยเผยแพร่และนำเสนอตามสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเธอ  

 

เมื่อเธอได้รับการประกันตัวชั่วคราวเพื่อออกมาต่อสู้คดี จากที่เคยรับราชการ กลับต้องหันมาขายขนมเพื่อเลี้ยงชีพแทน โดยขายขายขนมในช่วงเช้าของทุกวัน หลังจากนั้นก็รับของออนไลน์มาแพคขายเพื่อเป็นช่องทางหารายได้เสริม ในบั้นปลายชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆ  เธอเคยฝันว่าอยากใช้ชีวิตไม่ต้องเรียบหรูมากขอแค่อยู่อย่างไม่ลำบากและมีอิสระก็เพียงพอ แต่ไม่นานนักอิสรภาพของเธอก็ได้ถูกพรากไป ราวกับมีกองไฟโหมกระหน่ำแผดเผาครอบครัวของเธออีกครั้ง เพราะเธอถูกตัดสินโทษให้จำคุกนานถึง 43 ปี 6 เดือน และถูกจองจำอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ เมื่อครอบครัวและพี่น้องทราบข่าวการได้รับโทษที่หนักหนาสาหัสขนาดนั้น สุขภาพจิตของทุกคนก็พลอยทรุดตามกันไปหมด เศร้าจนเป็นทุกข์ และส่งผลต่อสุขภาพร่างกายตามมา

 

“พี่อัญชัญเล่าว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำยากลำบากมาก  ทุกอย่างต้องใช้เวลาจำกัด ต้องทำธุระส่วนตัวให้ทันภายในเวลาที่กำหนด ต้องกินข้าวหลวงที่บอกได้เลยว่าเป็นการกินเพื่อประทังให้มีชีวิตรอดไปในแต่ละวัน  เมื่อก่อนพี่อัญชัญและครอบครัวไม่เคยคิดว่าเราจะต้องเครียดกับอะไรพวกนี้เลย พอเข้าไปอยู่ในนั้น ก็มีโรครุมเร้าเข้ามา” 

 

มลตาเสริมว่า จากคนที่ไม่เคยเป็นโรคความดัน ปัจจุบันอัญชัญต้องเผชิญกับโรคนี้ และกลายเป็นโรคประจำตัวใหม่ 

 

"ปกติเขาเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วพอไปเจอสถานที่แบบนั้น สภาพยิ่งแย่เข้าไปอีกการรักษาก็แทบจะเข้าไม่ถึง สุขภาพจิตก็แย่ลง ทุกวันนี้ชีวิตข้างนอกกับข้างในไม่ต้องพูดถึง.. มันแตกต่างกันมาก   

“กว่าเขาจะทำใจได้นานมาก แต่ในท่ามกลางความโหดร้ายก็ยังคงมีความโชคดีอยู่บ้างที่มีคนในทัณฑสถานหญิงด้วยกันคอยให้กำลังใจ ทำให้จิตใจดูชุ่มชื่นขึ้น ยิ่งเวลามีคนไปเยี่ยมยิ่งดีใจ มีคนติดต่อหาก็ดีใจ  แม้สุขภาพจิตในช่วงแรกเสียไปเยอะก็ตาม” 

 

มลตากล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยคุยกับคุณอัญชัญเรื่องบั้นปลายชีวิต เธอพูดว่า เธอไม่ได้อยากใช้ชีวิตสวยหรู แต่เธอเพียงแค่อยากใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเหมือนคนทั่วไป เธออยากใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเห็นแค่กำแพงสูงและลูกกรงเธออยากมีอิสรภาพที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่ใช่อาชญกรต้องการจะได้รับ ทุกวันนี้สิ่งที่อัญชัญได้รับเหมือนการถูกพรากอนาคตและทุกสิ่งไปอย่างไม่เป็นธรรม  

 

 

กำลังใจที่ทำให้เธอลุกสู้ขึ้นต่อ

“ล่าสุดพี่อัญชัญส่งจดหมายมาให้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว บอกว่ากินอยู่ไม่สบายและกลัวจะติดโควิด-19 รอบสองมาก แกเป็นไปแล้วรอบหนึ่ง รักษาหายแล้ว แต่รอบหลังก็ยังคงมีการระบาดหนักในเรือนจำ พวกอุปกรณ์ป้องกันก็ไม่มี แกวิตกในเรื่องนี้มากเพราะแกก็เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอยู่แล้ว  การกินอยู่ก็ไม่สบาย อยากกินเปรี้ยวก็ไม่ได้กิน อยากกินหวานก็ไม่ได้กิน  แมสก็ต้องใช้ซ้ำ พอใช้เสร็จก็ต้องเอามาซักและใช้ต่อ แกเองก็กลัวจะติดโควิด-19 อีก

Text, letter

Description automatically generated

Text, letter

Description automatically generated

 

“แกบอกว่ามีคนเขียนจดหมายมาเยอะมาก มีน้อง ๆ ส่งจดหมายเข้ามาเยอะ แกดีใจมาก และอยากขอบคุณทุกคนที่ส่งกำลังใจมาให้ แกบอกว่า ‘ขอบคุณมากสำหรับทุกคนคนที่ห่วงใย เด็กๆ ในโซเชียลเขียนจดหมายมาให้กำลังใจหลายคน  

“แกมีกำลังใจที่ดีจากจดหมายเพราะทำให้รู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว  แกอยากให้ทุกคนช่วยกันพาแกออกมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมอย่างมีเสรีภาพ” 

 

มลตาเล่าต่อว่า “พี่ว่าคนตัวเล็กๆ น่ะ น่าสงสาร คดีแค่เรื่องนี้ แต่การตัดสินโทษจำคุกกลับยิ่งกว่าคดีฆ่าคนตายอีก ฆ่าคนตายยังติดคุกไม่นานขนาดนี้เลย  ซึ่งก็ได้ข่าวมาว่าสมาคมทนายความตามมหาวิทยาลัยพวกคณะนิติก็ช่วยกัน คนแถวบ้านพี่เล็ก (อัญชัญ) เขาก็เล่าให้ฟังว่าลูกเขาเรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  บอกว่าสมาคมทนายกำลังหาหนทางช่วยพี่เล็กอยู่ พี่ก็ได้แต่หวังว่าสักวันพี่เล็กจะได้รับอิสรภาพ และออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปสักที ”  

 

อนาคตจะเป็นอย่างไร อัญชัญจะสามารถกลับเข้าสู่โลกแห่งอิสรภาพได้หรือไม่เราไม่อาจรู้ได้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดและความหวังอันริบหรี่ การได้รับจดหมายจากใครสักคน ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญที่ทำให้คนที่อยู่หลังกรงขังพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป 

 

 

ร่วมเขียนจดหมายส่งกำลังใจให้ อัญชัญ ปรีเลิศ ได้อีกครั้งทั้งแบบออนไลน์ หรือจะดาวน์โหลดและพิมพ์แบบฟอร์มส่งทางไปรษณีย์ได้ตามความสะดวกของท่าน  

 

ลิงก์เขียนจดหมายออนไลน์    https://forms.office.com/r/kejdkzRzF4  

 

ดาวน์โหลดโปสการ์ด เพื่อส่งจดหมายถึงอัญชัญ ปรีเลิศ ที่นี่: คลิกที่นี่

สามารถส่งไปได้ที่ : คุณอัญชัญ ปรีเลิศ รหัส 64 701 00100

ทัณฑสถานหญิงกลาง ห้อง 12 เรือนบัวกรุณา 33/3 ถ.งามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครฯ 10900