“ถึงเวลารวมตัวกัน เพื่อพลังแห่งภาคประชาสังคมที่ไม่มีวันเงียบเสียง”

17 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้จัดพูดคุยในคลับเฮาส์ โดยมีวิทยากรจากหลากหลายแนวทางการเคลื่อนไหว มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “เยาวชนในบทบาทภาคประชาสังคม... ในวันที่รัฐ (พยายาม) ปิดปาก” ไม่ว่าจะเป็น เบนจา อะปัญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม  เบญจมาภรณ์ นิวาส ตัวแทนกลุ่มไพร่พล  ธารารัตน์ ไพบูลย์ธนสมบัติ ตัวแทนจากภาคี #Saveบางกลอย  นิติกร ค้ำชู ตัวแทนกลุ่มดาวดิน พรรณิการ์ วาณิช  กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และเพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ ประเทศไทย 

 

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน
จะส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งรวมไปถึงเอ็นจีโอ กลุ่มสมาคมต่าง ๆ เครือข่ายแม่บ้าน ทีมฟุตบอล กลุ่มวาดรูป  อาสาสมัคร ฯลฯ กล่าวคือ ทุกอย่างที่เป็นองค์กรไม่ได้แสวงหากำไร จะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย และทำกิจกรรมตามกำหนดกระทรวง โดยการที่มีร่างนี้ขึ้นมา จะทำให้เกิดการจำกัดความของสิทธิสมาคม และทำให้วิธีการสมาคมยากมากขึ้น รวมถึงสิทธิในเรื่องต่าง ๆ ก็จะยากขึ้นตามไปด้วย และอาจนำมาการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ 

 

“การจดทะเบียนองค์กรไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องบังคับ เพราะมันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย”

 

ส่วนการเปิดเผยแหล่งทุนและความเป็นส่วนตัว จะนำมาสู่การที่รัฐบาลสามารถดูข้อมูลในองค์กรแสวงหาผลกำไรได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล และสามารถดำเนินการเพิกถอนได้ โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการตุลาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักเลขาธิการ ได้มีการประชุมเรื่องมาตรการป้องกันปราบปรามการก่อการร้าย และการใช้อาวุธที่มีอานุภาคในการทำลายล้างสูง 

 

“เขามองว่าเอนจีโอเป็นส่วนหนึ่งในการก่อการร้าย โดยได้เรียนรู้การร่างกฎหมายนี้มาจากกัมพูชา รัสเซีย อิหร่าน อินเดีย เคนย่า ที่มีความไม่เป็นประชาธิปไตยสูง โดยที่ผ่านมามีความพยายามกดดัน กดขี่ภาคประชาสังคมเช่นเดียวกัน”

 

โดยได้ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในสังคมประชาธิปไตยนั้น คือพื้นที่ปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของประชาชน

 

นอกเหนือไปจากเรื่องของพ.ร.บ. ดังกล่าว ที่กำลังอยู่ในกระบวนการการพิจารณาของเหล่าผู้มีอำนาจในระบบการเมืองไทย ในการพูดคุยวันนั้น เราทุกคนได้ฟังเรื่องราวความสำคัญของพลังแห่งภาคประชาสังคม เมื่อเหล่าวิทยากรได้เล่าเรื่องราวของกระแสธารแห่งการเคลื่อนไหว ที่ร้อยเรียงผ่านจิตวิญญาณอันเข้มแข็งของเหล่าคนรุ่นใหม่ ผู้ได้หลอมรวมพลังในการช่วยเหลือให้เสียงของผู้ถูกกดขี่ได้รับการได้ยิน รวมถึงเรื่องราวอุปสรรคที่พวกเขาได้ฝ่าฟัน 



นิติกร ค้ำชู ตัวแทนกลุ่มดาวดิน กับการต่อสู้เพื่อผืนดินของชาวอิสาน 

หากพูดถึงกลุ่มดาวดินแล้ว หลาย ๆ คนอาจนึกภาพเด็กหนุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อกรกับรัฐบาล พร้อมการปราศรัยทรงพลัง แต่จริงๆ แล้วนั้น นิติกรได้พาเราย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มดาวดิน ที่เกิดจากการที่เหล่านักศึกษาได้รวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านที่โดนละเมิดสิทธิเป็นหลัก เช่นการสร้างเหมือง โรงงานน้ำตาล การสร้างเที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและแหล่งที่อยู่อาศัย

 

เมื่อเป็นการต่อสู้กับรัฐ ในช่วงแรกเป็นเรื่องยากที่เหล่าประชาชนนั้นจะกล้าที่จะลุกขึ้นมา นิติกรให้ความเห็นว่า นั่นเป็นเพราะในตอนนั้น คนในพื้นที่มองว่าเป็นโครงการของกลุ่มนายทุน ดังนั้นดาวดินจึงลุกขึ้นมาให้กำลังใจชาวบ้าน ว่าพวกเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการต่อสู้ แม้ในตอนนั้นการรวมกลุ่มจะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก แต่ปัจจุบันนี้ การรวมกลุ่มของประชาชนนั้นมีพลังมากยิ่งขึ้น และมีการยกระดับด้วยกระแสของพลังแห่งการเคลื่อนไหว  จากการเชื่อมประสานกันระหว่างชาวบ้านและคนรุ่นใหม่  เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ



ธารารัตน์ ไพบูลย์ธนสมบัติ เสียงกระซิบจากคนชายขอบ ที่ตะโกนร่วมกับภาคี #Saveบางกลอย

ธารารัตน์มองว่า หาก พ.ร.บ. นี้ ผ่านกระบวนการทั้งหมดจนสามารถออกมาเป็นกฎหมาย มันจะส่งผลกระทบต่อตัวคนชายขอบรวมถึงภาคประชาสังคมทั้งหมด ธารารัตน์กล่าวว่า การสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐโดยกลุ่มชายขอบนั้น แข็งแกร่งได้เพราะการรวมกลุ่มของประชาชนและคนชายขอบ ที่ไม่ได้มีอำนาจในกฎหมาย และไม่ได้มีอาวุธ 

 

“ถ้า พ.ร.บ. ตัวนี้สำเร็จ อำนาจของการรวมกลุ่มจะหายไปทันที ทำให้การต่อรองเป็นไปได้อย่างยากขึ้น ให้รัฐมีสิทธิในการดูข้อมูลหรือตรวจสอบอะไรหลาย ๆ อย่างเป็นไปได้อย่างยากขึ้น” 

 

หากมี พ.ร.บ. ตัวนี้ การเข้าถึงเอกสารต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การให้ข้อมูลกับการเคลื่อนไหว ก็จะเป็นไปได้อย่างยากขึ้นไปอีก เพราะกลุ่มชายขอบเองก็ต้องพึ่งองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อเข้าถึงข้อมูลเช่นเดียวกัน รวมถึงผลกระทบจากพ.ร.บ. นี้ อาจรวมถึงการคุกคามสิทธิในความเป็นส่วนตัว

 

“ถ้า พ.ร.บ. ตัวนี้ผ่าน และองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือเกิดปัญหา เท่ากับความประชาชนจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย มันเหมือนกับว่าอำนาจของคนชายขอบเองก็จะหายไป คนที่เป็นชายขอบ ก็อาจจะตกขอบไปเลย

“ภาคประชาสังคมดีตรงที่ว่าเป็นองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐและ ทำงานในส่วนที่รัฐไม่อาจแก้ไขได้ ในส่วนของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนมันกว้างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องชาติพันธุ์ เด็ก ผู้สูงอายุ เพศ แต่ต้องมีการเปิดกว้างและทำความเข้าใจในอีกประเด็นอื่น ๆ  ด้วย หากภาคประชาสังคมทำงานยากขึ้น มันกระทบกับประชาชนแน่นอน ปัญหาในบางประเด็น ประชาชนก็ต้องพึ่งภาคประชาสังคมในการต่อรองอำนาจรัฐเช่นกัน”

 

เบนจา อะปัญ นักกิจกรรม กับการถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ 

เบนจากล่าวว่า พ.ร.บ. ตัวนี้ได้สะท้อนความพยายามของรัฐ ในการจำกัดและควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน พร้อมกล่าวว่า การรวมตัวกันของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้น เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม หากกฎหมายดังกล่าวเกิดการบังคับใช้ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่รัฐจะได้สร้างความชอบธรรมขึ้นมา ทำให้ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น 

 

“การรวมตัวกันอยู่ร่วมกันเพื่อเรียกร้องบางอย่างในทิศทางหรืออุดมการเดียวกัน ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่พึงกระทำ ตราบใดที่เราไม่ไปละเมิดใคร อะไรที่เป็นมาตรฐานของคำว่าการก่อการร้าย? รัฐจะมองว่าการปฏิรูปสถาบันเป็นการก่อการร้ายมั้ย? เพราะที่ผ่านมารัฐก็กีดกันการเคลื่อนไหวของเราตลอด” 

 

สิ่งเหล่านี้นำมาสู่คำถามที่ว่า รัฐจะให้แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจดทะเบียนหรือไม่ หากจะทำใบปลิวสิบข้อเรียกร้อง ทางรัฐบาลจะอนุญาตหรือเปล่า? รวมถึงเรื่องของสิทธิในความเป็นส่วนตัวเอง ก็จะถูกคุกคามเช่นเดียวกัน 

 

“ถ้าหนูมองในสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ รัฐสามารถมาเคาะประตูหน้าบ้านเรา ให้เราชี้แจงทุกอย่างได้เลย ณ ปัจจุบันนี้ แม้จะไม่มีการใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่กลุ่มการเคลื่อนไหวอย่างเรามักจะเจอการคุกคามจากรัฐทุกรูปแบบอยู่แล้ว โดยเฉพาะในขบวนการประชาธิปไตย ที่เรามักโดนรัฐคุกคามไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว 

“ที่ที่พวกเราอยู่ แต่ก่อนไม่มีกล้องวงจรปิดในซอยบ้าน แต่จู่ ๆ ก็มีกล้องมาติด เราถูกบุกมาถึงที่บ้าน ในช่วงเดือนกันยาของปีที่ผ่านมา มีการยึดหนังสือด้วยนะ ขนาดที่เรายังไม่ได้มีการจดทะเบียนอะไรกันเลย”

 

เบญจมาภรณ์ นิวาส เยาวชนที่รวมตัวกัน เพื่อปกป้องอนาคตของตนเอง

พลอย เบญจมาภรณ์กล่าวว่า ตั้งแต่ที่เรียนรู้ถึงสิทธิเสรีภาพ ทำให้ตนเองสามารถมองเห็นสังคม และปัญหาเชิงโครงสร้างได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเห็นว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ  ซึ่งก่อให้เกิดเป็นความรุนแรงที่รัฐทำกับเด็กและเยาวชน และยิ่งได้เรียนรู้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกไม่อยากยอมแพ้ พร้อมยืนยันว่าอยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสิทธิต่อไป 

 

“พอมันมีร่าง พ.ร.บ.แบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่า ตอนนี้พอเรารู้สิทธิของเราอยู่แล้วแล้วเราพบว่ามันแทบไม่ต่างอะไรจากรัฐเผด็จการเลย ถ้าเกิดว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน มันจะกลายเป็นรัฐเผด็จการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

 

พลอยยังมองว่า การออกกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา ยังเป็นการจำกัดความหลากหลายให้กับการเรียกร้องของกลุ่มภาคประชาสังคมอีกด้วย ที่มีทั้งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพคนชายขอบ สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น มันจึงแปลว่าความหลากหลายในสังคม กำลังจะถูกทำให้หายไปโดยรัฐ ด้วยนิยามที่กว้างมากของกฎหมาย แค่เราออกมาเรื่องทรงผมก็ดูเป็นการก่อการร้ายไปแล้ว คำจำกัดความมันกว้างมากจนรวมองค์กรหมดเลย ถ้าเราจะตั้งกลุ่มวาดรูปเราต้องจดทะเบียนเหรอ ปกติเราก็ถูกคุกคามโดยรัฐบาลอยู่แล้ว บางทีแค่เรารวมกลุ่มกันบนทวิต ก็กลายเป็นว่าเราจะถูกจับ ถูกควบคุม  ด้วยความเป็นเผด็จการ และอำนาจนิยมมันจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าพรบฉบับนี้ผ่าน เราไม่รู้จะพทำยังไงนอกจากจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นมาก่อน ส่งเสียงของตัวเองให้ดังขึ้น ไม่งั้นมันจะกลายเป็นว่าสังคมของเราจะไม่มีความหลากหลายอีกแล้ว รัฐจะควบคุมประชาชนได้อย่างสำเร็จ สมบูรณ์ จะไม่มีองค์กรมาพูดเรื่องนักเรียนอีกแล้ว 

 

“เด็กก็คือประชาชน การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ตั้งแต่เราเกิด ลืมตาขึ้นมาหายใจ มันก็เป็นเรื่องของเราแล้ว เด็กไม่ใช่ประชาชนและไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเพื่อสิทธิที่ดีเหรอ ทำไมเด็กถึงจะพูดเรื่องการเมืองไม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐกำลังควบคุมบงการชีวิตของเราอยู่”



นอกจากนี้ พรรณิการ์ วาณิช  กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า  มองว่าปัญหาของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีคือการเขียนขอบเขตที่คลุมเครือ ว่าต้องเป็นรวมกลุ่มแบบใดกันแน่ที่ต้องขึ้นทะเบียน และบอกว่าการรวมกลุ่มดังกล่าวนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มนักเรียนเลว นักเรียนดี ดาวดิน หรือคณะก้าวหน้า ก็ต่างต้องขอขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่า วันหนึ่งอาจต้องถูกเพิกถอนทะเบียน รวมถึงจะต้องถูกปรับ จำคุก ซึ่งเป็นโทษที่เกินกว่าเหตุ หากไม่จดทะเบียน 

 

ปัญหาข้อต่อมาคือ การระบุรายละเอียดของที่มาของเงิน ว่าหากองค์กรรับเงินจากบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียน และรับเงินได้แค่คนที่กระทรวงมหาดไทย ก็จะนำมาสู่คำถามว่า องค์กรจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง? หากองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนรวมไปถึงองค์กรสหประชาชาติ และกาชาดสากลด้วย กล่าวคือ องค์กรเหล่านี้จะต้องทำตามกรอบกติกา ของกฎหมายในไทย รวมถึงกระทรวงมหาดไทยเข้าไปตรวจสอบผู้ที่จดทะเบียนได้อีกด้วย 

 

“พ.ร.บ.นี้ ขัดทั้งรัฐธรรมนูญ และเสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมาตราว่าด้วยเสรีภาพในเคหะสถาน มาตรา 33  และมันกำลังจะทำให้ภาคประชาสังคมสามารถถูกตรวจค้นไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ได้  

“ ตั้งแต่เป็นอนาคตใหม่จนถึงตอนนี้ เรามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของรัฐไทย โดยเฉพาะในยุคคสช. ที่มักใช้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแซนด์บ็อกซ์ หรือพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ถ้าข้อบังคับใช้ต่าง ๆ ประสบความสำเร็จเขาจะเอามาใช้กับทั่วประเทศ  เช่นหน่วยปฏิบัติการณ์ไอโอ

“มีองค์กรเอนจีโอที่ปฏิบัติในสงครามมาทั่วโลกที่เคยทำงานในพื้นที่สามจังหวัด ที่ทนการกดดันจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไม่ไหว หลังถูกบังคับ ถูกกดดัน รวมถึงมีการตรวจสอบพื้นที่ บุกออฟฟิศ และเห็นว่าการบีบบังคับเอนจีโอไม่ให้เปิดปากวิจารณ์ทหาร หรือทำงานร่วมกับทหารเพื่อเอื้อความสะดวกในการทำงาน ทำให้หลายเอนจีโอบางแห่งกลายเป็นเป็นแขนขาของรัฐ รวมถึงบางแห่งก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน”

 

พรรณิการ์ได้เสนอแนวทางรับมือกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว นั่นคือการร่วมมือกันทำแคมเปญจากภาคประชาสังคม และทุกพรรคการเมืองจะต้องทำให้เห็นว่า การโหวตให้กฎหมายนี้ผ่าน คือการกำลังพยายามปิดปากประชาชน เพราะประชาชนต้องอาศัยการรวมตัวกัน และอาศัยภาคประชาสังคมเป็นปากเป็นเสียง รวมถึงการรวมตัวกับฟ้องศาล จากภาคประชาสังคมเอง ก็อาจเป็นหนึ่งในแนวทางการรับมือเช่นกัน 

 

“ถ้าจะจับจับเลย  มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะก้มหัว ถ้าพวกเราทำทุกอย่าง แล้วรัฐยังจะเดินหน้าออกกฎหมายฉบับนี้ คณะก้าวหน้าเองก็จะไม่สนใจ ไม่จดทะเบียน เราจะร่วมมือกับเอ็นจีโอทุกอย่าง จับก็มาจับ การต่อต้านกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนและภาคประชาสังคมอีกนับร้อยองค์กร “

 

การสนทนาในวันนั้นได้ตอกย้ำว่า รัฐนั้นควรจะปกป้องทั้งความมั่นคงและความเป็นส่วนตัวของประชาชน และเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะร่วมมือกันปกป้องสิทธิในเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนชาวไทยไปด้วยกัน 




ติดตามอ่านข้อมูลผลกระทบของพ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ที่: 

https://www.amnesty.or.th/latest/news/901/
https://www.amnesty.or.th/latest/blog/870/

 

ข้อมูลพ.ร.บ. ฉบับคล้ายกันในต่างประเทศ:

https://www.amnesty.or.th/latest/news/938/ 

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/890/