4 นักกิจกรรมหญิงบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

9 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ผู้หญิงถือว่ามีบทบาทสำคัญไม่ต่างจากผู้ชายในการเรียกร้องและปกป้องสิ่งที่มีค่านี้ ทว่าหลายครั้ง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงกลับถูกมองข้าม และถูกเลือกปฏิบัติจากอคติทางเพศ รวมทั้งยังต้องใช้เวลาและพลังมากมายในการพิสูจน์ว่าพวกเธอนั้นควรค่าแก่การยกย่องในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง 

ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง? นี่คือคำถามตั้งต้นที่จะพาเราไปทำความรู้จักผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4 คน ที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม และยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

 

14 ตุลา 16 – 6 ตุลา 19

เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญของไทย คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่าง “14 ตุลาคม 2516” ซึ่งเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน หลังจากที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการมานานหลายปี คุณอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน เล่าถึงบรรยากาศของสังคมไทยก่อนการลุกฮือว่า  ประชาชนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว เนื่องจากรัฐบาลทหารในขณะนั้นปกครองด้วยกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างมาตรา 17 สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ นักศึกษาและปัญญาชนถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับกระแสคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาในแถบอาเซียน ซึ่งรัฐมองว่าเป็นปีศาจ และมุ่งกำจัดให้สิ้นซาก ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐมักถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกลงโทษอย่างรุนแรง แรงกดดันเหล่านี้บีบให้ประชาชนลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำไปสู่การสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลทหาร และประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานในที่สุด

คุณอรุณี ศรีโต หรือ “ป้ากุ้ง” นักสหภาพแรงงานหญิง ก็ได้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา เช่นกัน โดยในขณะนั้นเธอยังเป็นวัยรุ่น ทำงานในโรงงานทอผ้าไทยเกรียง และเข้าร่วมเดินขบวนด้วยความหวังว่า หากประเทศไทยหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการ ค่าตอบแทนของแรงงานจะเพิ่มขึ้น

 

“ตอนนั้นเข้างานได้วันละ10 บาท เวลาจะขึ้นเงินเดือนต้องแล้วแต่เถ้าแก่ พอหลังจากเรียกร้องประชาธิปไตย แรงงานก็นัดหยุดงานกันเยอะแยะเลย พอโรงงานนั้นนัดหยุดงาน (สไตรก์) โรงงานนี้ก็นัดหยุดงาน (สไตรก์)  ขอเงินเดือนขึ้น ขอสวัสดิการเพิ่ม ก็เลยมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ขึ้นมา ในปี 2518 กฎหมายนี้บัญญัติว่า จะขอเงินเดือนขึ้นต้องมีขั้นตอน ต้องมีองค์กร ต้องให้กรมแรงงานมาไกล่เกลี่ย จะไปหยุดงานเลยไม่ได้ พอมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ก็จะมีนักกฎหมายมานั่งเจรจา ตอนนั้นวัยรุ่น พอเราต้องต่อรองกับนักกฎหมาย เราไม่มีความรู้เลย เขาพูดตั้งเยอะ เราพูดสองสามคำ เถียงเขาไม่ทัน” ป้ากุ้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศแห่งเสรีภาพในสังคมไทยกลับมีอายุเพียง 3 ปี เท่านั้น เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองกลับตึงเครียดอีกครั้ง และบานปลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คุณอังคณา ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักศึกษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้เห็นชะตากรรมอันน่าสลดใจของนักศึกษาและประชาชนในเหตุรุนแรงครั้งนั้น

 

“มันเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดและติดตามาตลอด ภาพนักศึกษาถูกทำร้ายที่ส่งใส่เรือข้ามฟากมาบ้าง เสียงรถไซเรนอะไรต่อมิอะไร ศพในสภาพที่ไม่น่าดูเหมือนถูกทรมานก่อนเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้หญิง โรงพยาบาลก็จะแปะชื่อผู้บาดเจ็บผู้เสียชีวิต เราเห็นชาวบ้านที่สงสัยว่าลูกจะถูกทำร้ายมาเกาะประตูโรงพยาบาลร้องไห้” คุณอังคณาเล่า และหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเวชภัณฑ์ให้แก่กลุ่มนักศึกษาที่หนีเข้าป่า

 

การต่อสู้ของสาวโรงงาน

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป้ากุ้งยังคงทำงานในโรงงานไทยเกรียง และจัดตั้งองค์กรแรงงาน ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก่อนที่จะพัฒนาเป็นสหภาพแรงงานไทยเกรียง เมื่อปี 2523 ทว่าด้วยสภาพสังคมในยุคนั้น ผู้ชายมีบทบาทในการเป็นผู้นำมากกว่า ส่วนผู้หญิงก็จะถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอและไม่มีความสามารถ

 

“ปี 2523 ผู้หญิงเขาก็สไตรก์กันเรื่องแต๊ะเอีย หรือโบนัส ที่ผู้หญิงกับผู้ชายได้ไม่เท่ากัน ผู้หญิงได้ปีละ 100 บาท ผู้ชายได้ 500 บาท มันก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ปรากฏว่าพอผู้หญิงไม่ทำงาน สายการผลิตหยุดชะงักเลย เจ้าของก็มาคุยว่าจะเอาอะไรกัน ตอนนั้นก็เหมือนแสดงให้นายจ้างเห็นว่า แรงงานหญิงมีความสำคัญในสายการผลิตนะ ท่านไม่สนใจไม่ได้ เขาก็ให้เพิ่มเป็น 200 บาท พอปีหน้าเราบอกขอเท่าผู้ชายได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ได้ ผู้หญิงไม่เก่งเท่าผู้ชาย เถ้าแก่พูดอย่างนี้ จำได้เลย” ป้ากุ้งเล่าอย่างออกรส

 

จากคำพูดของเถ้าแก่ในวันนั้น ป้ากุ้งหันมาพัฒนาตนเองโดยการศึกษาหาความรู้มากขึ้น และได้มีส่วนร่วมในองค์กรด้านสิทธิแรงงาน จนกระทั่งได้มาเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายประกันสังคมในปี 2531 ตามด้วยการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการลาคลอด 90 วัน ของแรงงานหญิง เมื่อปี 2536 

 

“ก่อนที่มันจะได้ กระแสโต้กลับก็มี สมัยนั้นสื่อไปสัมภาษณ์พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รมว. มหาดไทย แล้วก็ดูแลกรมแรงงาน ถามว่าคนงานเขาออกมาเรียกร้องลาคลอด 90 วัน ท่านจะว่ายังไง พลเอกชวลิตบอกว่า พวกที่มาเดินๆ เนี่ย ไม่ใช่คนท้องหรอก คนท้องไม่ได้มาเดินหรอก เราก็เลยพาคนท้อง ประมาณแค่ 48 คน จากพระประแดง อ้อมน้อย ไปเดินจากลานพระบรมรูปทรงม้า ดมยาดมไป เดินไป ให้พลเอกชวลิตเห็นว่าคนท้องมาเรียกร้อง ปรากฏว่าได้ผลมากๆ สื่อมวลชนทุกฉบับมาหมด มันสะเทือนใจคนในสังคมมากเลยนะ” ป้ากุ้งกล่าว

 

ในที่สุด วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ซึ่งตรงกับวันแรงงาน รัฐบาลยอมแก้กฎหมาย และประกาศให้แรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับเงินเดือน

 

เมื่อคู่ชีวิต “ถูกทำให้สูญหาย”

สำหรับคุณอังคณา หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เธอไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองใดๆ เป็นพิเศษ ยังคงทำงานและใช้ชีวิตครอบครัวกับคุณสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิม ที่ “ถูกอุ้มหาย” ไปในปี 2547

คุณอังคณาอธิบายว่า ประเทศไทยมีกรณีการบังคับสูญหายเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการ “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” ที่ จ.พัทลุง ในยุคคอมมิวนิสต์ ทว่าไม่เคยมีการบันทึกใดๆ เกี่ยวกับชาวบ้านหลายพันคนที่ถูกอุ้มหายและถูกฆ่า ขณะเดียวกัน ครอบครัวและคนรอบข้างของผู้สูญหายก็ไม่กล้าไปแจ้งความ ทำให้การหายตัวไปของบุคคลเหล่านั้นยังคงเป็นปริศนา และต่อมา คุณอังคณาก็ได้เข้าใจคำว่า “บังคับสูญหาย” อย่างลึกซึ้ง ในวันที่สามีของเธอหายตัวไป และในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของคุณสมชาย คุณอังคณาต้องเผชิญกับความไม่รู้ การถูกคุกคาม รวมทั้งความพยายามป้ายสีให้สามีของเธอกลายเป็นผู้ร้ายที่สมควรถูกกำจัด

 

“การอุ้มหาย คือการทำให้หายไปเลย คือคนคนนั้นไม่อยู่ ไม่รู้อยู่ที่ไหน ไม่มีตัวตน รัฐก็จะใช้เวลา นานๆ ไป แต่ละครอบครัวก็จะเหนื่อย อ่อนล้า สู้ไม่ไหว ถึงแม้ว่าจะเยียวยาด้วยตัวเงิน มันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา และมันไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจกลับมาได้ เราเห็นเด็กหลายคนที่พ่อถูกบังคับสูญหาย แล้วคิดว่าเกิดจากการกระทำของรัฐ เขาเติบโตมาพร้อมกับความเกลียดชังรัฐ หลายคนไม่ไปโรงเรียน อาจจะไม่มีอนาคต ตรงนี้ถือว่ารัฐเองก็ใจดำ แล้วก็น่าละอายมากที่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น โดยไม่มีการตามหาบุคคลที่สูญหาย”

 

อย่างไรก็ตาม ในการก้าวข้ามจากสถานะเหยื่อมาเป็นผู้อยู่รอด คุณอังคณาเล่าว่า การสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เมื่อเธออยู่รอดได้ เธอก็สามารถลุกขึ้นยืนและออกมาเคลื่อนไหวต่อ

 

“เราออกมาทำงานเพื่อที่จะบอกว่าไม่ใช่เฉพาะเราคนเดียว แต่เวลาที่มอง เวลาพูดถึงคนที่ถูกบังคับสูญหาย เราหมายถึงทุกคน” คุณอังคณากล่าว

 

การต่อสู้เพื่อบ้านเกิด

ในขณะที่นักกิจกรรมหญิงรุ่นใหญ่อย่างคุณอังคณาและป้ากุ้งต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่และสิทธิแรงงาน ที่ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง มีการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้าน ภายใต้ชื่อ “กลุ่มรักษ์บ้านแหง” เพื่อต่อต้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ 

คุณแววรินทร์  บัวเงิน หรือ “โจ้” แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านแหง เล่าว่า กลุ่มรักษ์บ้านแหงเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในชุมชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 – 2553 เพื่อต่อต้านโครงการเหมืองแร่ดังกล่าว เนื่องจากมองว่า การทำสัมปทานเหมืองแร่นั้นไม่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้จริง และยังทำลายทรัพยากรของชุมชนอีกด้วย

 

“พ่อแม่เรามีอาชีพทำเกษตรอยู่แล้ว เขาก็จะเก็บที่ดินไว้ให้กับลูกทุกคน เผื่อว่าลูกเกษียณแล้วจะได้กลับมา กลับมาอยู่บ้าน เราใช้แรงงานแล้วก็จะสร้างทุกอย่างไว้ที่บ้านเรา เพื่อวันหนึ่งเราจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของเรา ถ้ามันมีเหมืองแร่ สิ่งที่เราคิดไว้ มันก็ไม่ปกติสุขเหมือนที่เราอยากกลับมาแล้ว เพราะการทำเหมืองคือการขุดใต้ดิน คือการทำลาย เราคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์” คุณโจ้อธิบาย

 

หลังจากที่จัดตั้งกลุ่มแล้ว คุณโจ้ในวัยเพียง 20 ปี และสมาชิกในกลุ่มคนอื่นๆ เริ่มเคลื่อนไหวกันภายในหมู่บ้านก่อน โดยเข้าฟังตัวแทนจากเหมืองแร่ในเวทีต่างๆ และคอยตั้งคำถาม เมื่อตัวแทนจากเหมืองแร่ไม่สามารถตอบคำถามได้ พวกเขาจึงเดินหน้าคัดค้านเต็มรูปแบบ ตามมาด้วยการถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพล รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีอาญาเป็นจำนวนมาก

 

“ครั้งแรกเลยก็เอามือปืนมาลง เสร็จแล้วก็ฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทเยอะมาก คดีอาญาเป็นพรืดเลย เราต้องเสียเวลา เสียพลังงานไปขึ้นศาล ปี 2555 เราไปขึ้นศาล 1 อาทิตย์ ไม่มีวันหยุดเลย วันจันทร์คดีนี้ วันอังคารคดีอีกคนหนึ่ง เพราะว่าเขาแยกฟ้อง ใหม่ๆ ก็ท้อแหละ แต่ส่วนมากเขาจะไปฟ้องชาวบ้าน เพราะเขารู้ว่าเราไม่กลัว จะไปทำกับคนที่กลัวแทน ไปเจาะเอากลุ่มผู้เปราะบาง ฟ้องให้เขากลัวหรือให้เขาแพ้คดี เพื่อที่จะได้เป็นกรณีศึกษา แล้วจะไม่มีคนลุกขึ้นมา” คุณโจ้เล่า

 

สำหรับสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คุณโจ้เล่าว่าได้มีการเคลียร์คดีอาญาจบทุกคดีแล้ว ส่วนการทำเหมืองแร่ ทางโครงการยังไม่สามารถเข้ามาทำเหมืองแร่ในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม คุณโจ้มองว่า การต่อสู้นี้อาจจะกินระยะเวลายาวนาน หากเธอและชาวบ้านต้องพ่ายแพ้ต่อผู้มีอำนาจ พวกเธอก็พร้อมจะสู้ในแบบประชาชนคนธรรมดา

 

การพังเพดานของคนรุ่นใหม่

แม้ว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพจะเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนประเทศไทยจะยังไม่ไปถึงการเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบเสียที การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างยังมี “เพดาน” ที่จำกัดจากอำนาจที่ปิดปากประชาชนมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน ระบบอุปถัมภ์และระบบอาวุโสก็พร้อมจะกดทับผู้ที่ด้อยกว่าลงไป ทว่ายุคสมัยนี้ คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย กลับไม่สยบยอมต่ออำนาจเหล่านี้ และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียง เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่เสรีภาพ 

คุณปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้ครั้งนี้ เธอปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะผู้ปราศรัยในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 พร้อมกับ 10 ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย จนทำให้เธอตกเป็นเป้าโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลากว่า 50 วัน ทว่าการถูกจำกัดเสรีภาพหลังกรงขังของรุ้ง กลับกลายเป็นการปลดปล่อยประชาชนหลายคนจากความหวาดกลัว และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

 

“กลัวติดคุกก็ยังกลัวอยู่ แต่เราก็ไม่ได้อยากบอกให้ทั้งโลกรู้หรอกว่าเรากลัวขนาดไหน มันก็เป็นความกลัวที่เราต้องจัดการเอง เพราะว่าเราเลือกแล้ว แต่พอนึกถึงว่า สิ่งไหนที่มันพัฒนาแล้วมีคนอออกมาพูด ออกมาสู้เยอะขนาดนี้ มันก็โอเคนะ การต่อสู้มันอาจจะไม่สิ้นสุดตอนนี้ แต่ว่าในอนาคต อุดมการณ์ที่มันถูกเผยแพร่ไปแล้ว  แล้วก็วิธีการต่อสู้ที่ทำทำไปแล้ว มันจะยังคงไปต่อ เราก็รู้สึกว่ามันก็โอเค” รุ้งกล่าว

 

เพราะเป็นผู้หญิงจึงไม่ควรต่อสู้?

แม้ว่านักกิจกรรมหญิงแต่ละคนจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาต่อกรกับความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคหนึ่งในการเคลื่อนไหวของพวกเธอคือ “อคติทางเพศ” ซึ่งป้ากุ้งเล่าว่า สมัยที่เริ่มเป็นผู้นำแรงงาน คุณแม่ของป้ากุ้งไม่เห็นด้วยกับบทบาทผู้นำนี้ ขณะเดียวกัน ป้ากุ้งต้องกลับบ้านมืดค่ำ เพื่อแสวงหาความรู้จากการสัมมนาในเวทีต่างๆ ทำให้ถูกนินทา และนอกจากจะสู้กับความเห็นของครอบครัวแล้ว เธอยังต้องต่อสู้กับทัศนคติของคนในที่ทำงานอีกด้วย

 

“เราต้องต่อสู้ในบ้าน ต้องต่อสู้ในโรงงานให้ได้การยอมรับ ถ้าผู้ชายเขาพัฒนาตนเอง สร้างการยอมรับ เขาใช้เวลา 2 – 3 ปี เราต้องใช้ 5 – 6 ปี ต้องให้เขาเห็นว่าเราทำได้” ป้ากุ้งเล่าเรื่องราวสมัยเปิดศึกทั้งในบ้านและที่ทำงาน ในการเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน

 

เช่นเดียวกับคุณโจ้ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในวัยเพียง 20 ปี ก็ถูกเย้ยหยันจากเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการเล่นมุกขำขันเชยๆ ว่า “จะหาผัวไม่ได้”

 

“สำหรับเรา เป็นผู้หญิงแล้วทำไมเหรอ ยิ่งมาพูดเหยียดเราแบบนี้ เรายิ่งอยากจะเคลื่อนไหว ในความรู้สึกเรา ถ้าบอกว่าเป็นผู้หญิงเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วจะหาสามีไม่ได้ ก็ไม่ได้รู้สึกด้อยค่านะ หาไม่ได้ก็ไม่หาไง ก็ไม่จำเป็น เพราะผู้ชายห่วยๆ ก็ไม่คู่ควรกับเรา” คุณโจ้เล่า

 

ส่วนคุณอังคณาก็กล่าวว่า เธอเป็นนักสิทธิมนุษยชนหญิงที่ถูกคุกคามทางวาจาบ่อยมาก ไม่ว่าจะออกมาให้ความเห็นในประเด็นใดก็ตาม

 

“เวลาพูดเรื่องโทษประหารชีวิตก็จะโดนบอกว่า ‘มึงก็เอาไปเลี้ยงที่บ้านสิ’ ‘มึงเอาไปทำผัวสิ’ เวลาเราพูดถึงเรื่องการอุ้มหาย ก็จะเจอ ‘หาผัวมึงให้เจอก่อน’ กลายเป็นว่าชีวิตของผู้หญิงที่ออกมาพูดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน สุดท้ายมันจะต้องไปอยู่ที่ผัวอะไรแบบนี้ คุณอังคณาเล่า พร้อมอธิบายถึงวิธีการจัดการกับคำพูดเหล่านี้อย่างสันติวิธี ตั้งแต่การไม่ตอบโต้ การรีพอร์ตในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งใช้กระบวนการทางศาลจัดการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณอังคณามองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า คือการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง 

 

“ในธรรมชาติของความขัดแย้ง เพศมักจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการลดทอนความน่าเชื่อถือของคู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำประจำในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งกันด้วยอาวุธอย่างเต็มรูปแบบ เช่นในบอสเนีย หรือแอฟริกาใต้ ผู้หญิงถูกข่มขืนเยอะมาก แล้วก็มีลูกของศัตรูอยู่ในท้อง หรือในช่วง 6 ตุลา 2519 เราได้เห็นการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคนที่เห็นต่าง เช่น การให้นักศึกษาหญิงถอดเสื้อชั้นนอกเหลือเพียงเสื้อชั้นใน  หรือมีการใช้ของแข็งแทงเต้านม หรือช่องคลอดของศพนักศึกษาหญิง” คุณอังคณาอธิบาย

 

เหตุผลที่ยังสู้ต่อ

การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ทั้งยังกลืนกินเวลาและพลังใจของผู้ที่เคลื่อนไหวไม่น้อย แต่เหตุใดนักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คนนี้ยังคงเดินหน้าต่อ คุณอังคณา หนึ่งในนักเคลื่อนไหวระบุว่า การต่อสู้เรื่องการบังคับสูญหายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเธอ และขณะนี้ เธอและลูกๆ ยังอยู่ในสถานะครอบครัวคนหาย ที่ใช้ชีวิตอยู่กับความไม่รู้ จึงต้องเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าจะทราบชะตากรรมของคุณสมชายในที่สุด พร้อมทั้งยืนยันว่า คนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่และไม่ถูกทำให้หายไป และรัฐมีหน้าที่จะต้องค้นหา และนำคนผิดมาลงโทษ ซึ่งรัฐไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้

ด้านป้ากุ้ง ที่แม้จะมีอายุมากแล้วและเสียงของแรงงานก็แผ่วลงเนื่องจากวิถีชีวิตของแรงงานที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน รวมทั้งขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ป้ากุ้งก็ยังคงเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยหันมาทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานนอกระบบตั้งแต่ปี 2543 

 

“ที่ยังขับเคลื่อนอยู่เพราะค่อนชีวิตเราทำงานกับคนที่ถูกเอาเปรียบมาตลอด เห็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้หญิง ดังนั้นป้ากุ้งก็เลยอยู่กับชุมชน มาเจอแรงงานนอกระบบ ในโรงงานก็เจอเขาเอาเปรียบ เราเลยรู้สึกว่า เราทำอะไรได้ก็ต้องทำ” ป้ากุ้งกล่าวเสียงสดใส

 

ส่วนคุณโจ้นั้นก็ยืนยันที่จะรักษาผืนแผ่นดินบ้านแหงต่อไป โดยยืนยันว่า ไม่ว่าคนในชุมชนจะทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่ใด เมื่อกลับมาที่บ้านแหง ทุกคนจะเท่าเทียมกัน และบ้านแหงจะเป็นบ้านที่อยู่ข้างหลังให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ 

ด้านรุ้ง ผู้ซึ่งถือว่าเป็นนักเคลื่อนไหวที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่ม ก็บอกว่า “เราคิดว่ามันยังมีความหวัง เราคิดจริงๆ ว่าขบวนนี้มันจะสร้างอะไรสักอย่าง จะสร้างความสำเร็จเลยก็ได้ เราค่อนข้างเห็นศักยภาพในตัวบางคนหรือบางกลุ่ม ที่มีศักยภาพสูงมากที่พอจะทำได้ เราก็เลยยังอยากยืนยันที่จะสู้ไปด้วยกันกับทุกคน”