“เราเป็นเทียนที่ส่องสว่างในทางที่มืดมิด” : คุยกับนักศึกษาสื่อที่ฝึกงานในองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก

1 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

บทความโดย: วีริสา ลีวัฒนกิจ นักศึกษาฝึกงาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ท่ามกลางห้วงเวลาของความมืดมิดด้านสิทธิมนุษยชน “สิทธิศักดิ์ บุญมั่น” หรือ “ตุ๊ต๊ะ” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากเอกวารสารศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองว่าการยึดมั่นในจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน เปรียบเหมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกดทับในสิทธิและศักดิ์ศรี

“เรารู้สึกว่าเรากล้าพูด กล้าแสดงออกถึงสิ่งที่เราคิดมากขึ้นเพราะเรารู้สึกว่ายังมีคนอยู่ในโลกเดียวกับเรา ยังมีคนที่เห็นด้วยกับเรา”  ตุ๊ต๊ะบอกกับเราขณะสนทนา “…ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงจะถูกห้ามไม่ให้พูด” 

ในวันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอพาทุกคนมาร่วมพูดคุยและทำความรู้จักกับ “ตุ๊ต๊ะ” ที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่า เราได้จุดประกายเทียนด้านสิทธิมนุษยชนในตัวเขาและในวันนี้เขาพร้อมและยินดีที่จะส่งต่อแสงเทียนนี้ให้กับคนอื่น ๆ ในสังคม

 

 

 

รู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้อย่างไร? ทำไมถึงเลือกมาฝึกงานที่นี่?

แอมเนสตี้ ประเทศไทยเคยมาทำกิจกรรม Write for Rights (เขียน-เปลี่ยน-โลก) ที่มหาวิทยาลัยของเรา ทำให้เรารู้จักกับองค์กรนี้ว่าเป็นองค์กรสิทธิซึ่งช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมด้านสิทธิมนุษยชนในสังคม และหลังจากนั้นเราก็ติดตามแอมเนสตี้ ประเทศไทยมาเรื่อย ๆ จึงทำให้เห็นอะไรมากขึ้นจากองค์กรนี้ และเลือกมาเป็นนักศึกษาฝึกงานในที่สุด

 

ตอนแรกเป็นคนเคลื่อนไหวในด้านสิทธิอยู่แล้วหรือเปล่า?

ตอนแรกเรามองว่าตัวเองอยู่ในบทบาทของการเป็น Supporter หรือเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าเป็น Activist หรือนักกิจกรรม แต่เราเองก็ติดตามและสนใจเรื่องสิทธิในเรื่องใกล้ตัว อย่างสิทธิในการแต่งกาย สิทธิในการแสดงออกหรือกฎระเบียบของโรงเรียนที่บางข้อมันละเมิดสิทธิเรา

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างชุดนักศึกษาซึ่งความจริงมันเป็นการกดทับสิทธิที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก บางครั้งชุดนักศึกษาก็ไม่ได้เหมาะกับทุกกิจกรรม บางครั้งชุดไปรเวทตามกาลเทศะอาจจะเหมาะสมกว่าก็ได้ เราเองก็เคยอยู่ในเหตุการณ์ที่มีอาจารย์ไล่เพื่อนที่แต่งชุดไปรเวทมาเรียนออกจากห้อง ขู่ว่าจะตัดสิทธิสอบและรายงานชื่อไปยังคณะ ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อีกทั้งชุดนักศึกษายังกดทับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะมีเพียงแค่ชุดนักศึกษาชายและหญิงเท่านั้น

 

การฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยทำให้เรารู้จักสิทธิมนุษยชนมากขึ้นหรือไม่? 

เราได้เปิดโลกมาก ๆ ตอนลงพื้นที่ชุมนุม เราได้ไปยืนอยู่ในจุดที่มองเห็นผลกระทบจริง ๆ ในการเข้าร่วมชุมนุม เราอยู่ตรงนั้น.. ตอนที่แม่ของเพนกวินที่โกนผมเรียกร้องสิทธิให้กับลูกชาย แต่รัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจกลับไม่สนใจ  เหตุการณ์นั้นทำให้เราสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมากขึ้น ฉุกคิดมากขึ้น และเรียนรู้มากขึ้น เหมือนเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการละเมิดที่เกิดขึ้น กับตาตัวเอง

มันยิ่งทำให้เรารู้ว่าเราไม่ควรนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นเยาวชนหรือประชาชน ก็สามารถถูกกดทับสิทธิจากผู้ที่มีอำนาจได้ แอมเนสตี้ทำให้เรากล้าพูด กล้าแสดงออกในสิ่งที่เราคิดมากขึ้น รู้สึกว่ายังมีคนอยู่ในโลกเดียวกับเรา ยังมีคนที่เห็นด้วยกับเรา ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงจะถูกห้ามไม่ให้พูด

 

 

ในการฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยพบความท้าทายบ้างหรือไม่?

ถ้าเป็นในส่วนของเสียงต่อต้านสิ่งที่เราพยายามเรียกร้อง เราไม่ได้กังวลในส่วนนั้นเท่าไหร่ ความท้าทายส่วนมากจะเป็นเรื่องงานมากกว่า ด้วยความที่เราทำงานด้านสื่อสารองค์กรก็จะต้องใช้ความละเอียดและความถูกต้องของข้อมูล จึงทำให้มีความกังวลว่าจะทำได้ไม่ดี แต่เราก็พยายามปรับปรุงเรื่อย ๆ พยายามทำงานออกมาให้ดีที่สุด

 

การเป็นนักศึกษาฝึกงานด้านสื่อสารองค์กร คิดว่าทำอย่างไรที่จะสื่อสารให้คนสนใจด้านสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น

เราต้องทำงานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ต้องอ่านให้มาก ติดตามข้อมูลข่าวสารให้มาก คอยตามกระแสต่าง ๆ ที่คนกำลังสนใจ เช่น ในปัจจุบันการสื่อสารในโลกออนไลน์คนสนใจ Text หรือตัวอักษรน้อยลง เราก็อาจต้องสื่อสารผ่านการทำกราฟิกหรือสรุปข้อมูลสั้น ๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น

 

ในฐานะที่เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เราจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรบ้าง?

เราทุกคนที่มีความคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเป็นเหมือนกับเหมือนแสงเทียนที่อาจจะไม่ได้สว่างมาก แต่ในทางที่มืดมิด มันจะมีใครสักคนที่มองเห็นแสงเทียนนี้ส่องสว่างอยู่ เราต้องทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวบนโลกใบนี้ ยังคงมีคนที่จะคอยเป็นแรงสนับสนุนอยู่เสมอ

เราคือหนึ่งเสียงที่เรียกร้องสิทธิให้คนอื่น ๆ ในสังคม เป็นเหมือนเสียงที่เรียกร้องสิทธิให้กับผู้ที่ถูกละเมิด เราเชื่อว่าถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ ในวันหนึ่งก็จะมีคนได้ยินเสียงของเรา

 

 

 

มีอะไรอยากบอกกับเพื่อน ๆ ที่อยากฝึกงานกับแอมเนสตี้หรือเปล่า?

แอมเนสตี้เปลี่ยนมุมมองเรื่องสิทธิของเรามาก ตั้งแต่กิจกรรม Write for Rights ที่มหาวิทยาลัย จนถึงการมาร่วมฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย เราเห็นตัวเองอยู่ในสองบทบาท คือบทบาทของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ได้ประสบการณ์การทำงานจากแอมเนสตี้จนให้เข้าใจมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น และบทบาทนักกิจกรรมที่ทำงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอ (NGO)

ในส่วนของการทำงาน แอมเนสตี้เองก็ให้โอกาสเราได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิการแต่งกาย อย่างเราที่มักจะอึดอัดกับการต้องถูกบังคับใส่ชุดนักศึกษาอยู่ตลอด ในวันแรกของการฝึกงาน มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานบอกเราว่า “น้องจะใส่ชุดอะไรก็ได้นะ” หรือในวันที่เรารู้สึกเครียดจากการทำงาน เราก็สามารถลุกขึ้นเต้นได้ ไม่มีใครว่าอะไรเราเลย 

ตรงนั้นแสดงว่าเรามีอิสระที่จะแสดงความเป็นตัวเองออกมา ไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหนหรืออยู่ในวัยไหน ที่นี่ทำงานด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ประสบการณ์ส่วนนี้อาจจะยากที่จะเจอในหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายหรือการแสดงออก