“จดหมาย.. ถึงเจ้าผีเสื้อ”

29 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

ท่ามกลางสายลมแห่งความรุนแรงทางด้านสิทธิมนุษยชน ที่พัดโหมกระหน่ำตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อนักกิจกรรมทางการเมืองต้องถูกจำคุก โดนพรากสิทธิการประกันตัวเป็นเวลานานนับเดือน แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการ “จดหมายถึงเพื่อน ที่อยู่ในเรือนจำ” เพื่อส่งต่อความหวังจากข้างนอก ให้คนข้างในเรือนจำที่ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว 

 

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งใช้ข้อกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในการปราบปรามผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบอย่างหนักหน่วง ภายหลังจากพบว่าการชุมนุมนั้นว่าด้วยความล้มเหลวของรัฐบาล หลังจากการยึดอำนาจโดย คสช. ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ รัฐบาลได้จับกุมแกนนำหลายคน ในข้อหาต่างๆ รวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

อย่างไรก็ดี การจับกุมแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์และจับตามองในระดับสากลด้วยเช่นกัน ทั้งยังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความโปร่งใสในการจับกุม ตลอดจนการใช้อำนาจของรัฐโดยมิชอบและบทลงโทษทางกฎหมายอันรุนแรงจากการรวมตัวกันชุมนุมตามเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้ถูกจับกุมนั้น ยังโดนพรากสิทธิการประกันตัวไปในช่วงเวลาหนึ่งอีกด้วย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงตั้งกิจกรรมเชิญชวนให้ผู้คนร่วมเขียนจดหมายและข้อความเพื่อส่งไปให้คนข้างในเรือนจำ ซึ่งถูกตั้งข้อหาทางการเมืองผ่านแคมเปญ #ปล่อยเพื่อนเรา #FREERATSADON ทั้งเก้าราย เราได้ตั้งตู้จดหมายในสถานที่ต่าง ๆ ในโลกออฟไลน์ และได้จัดตั้งทำฟอร์มเพื่อให้คนข้างนอก ได้ส่งกำลังใจให้คนข้างใน บนโลกออนไลน์ คลื่นความหวังได้แผ่สะพัดผ่านจดหมายหลายฉบับ และถูกส่งไปถึงมือนักกิจกรรมในเรือนจำ แม้จดหมายบางฉบับจะถูกเซนเซอร์ไม่ให้อ่าน โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้คุมก็ตาม

ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยความแออัด กับความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และแพร่สะพัดด้วยโรคระบาด ประกอบกับชีวิตประจำวันที่ดำเนินอย่างซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่ได้รับฟังข่าวสารใด ๆ  ไม่แปลกเลยที่ผู้ถูกคุมขังจะรู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว่าง แต่แล้วแสงเทียนแห่งความหวังได้ถูกจุดประกายขึ้นมาผ่านตัวอักษรของเหล่าคนข้างนอกที่ไม่เคยหยุดหวัง และไม่เคยหยุดศรัทธาในสิ่งที่เหล่านักกิจกรรมได้จุดขึ้นมา นับตั้งแต่วันแรกที่พวกเราได้รู้จักกันผ่านอุดมการณ์ 

 

“จดหมายจากทุกคนข้างนอก มันทำให้วันธรรมดาวันหนึ่งในคุก กลายเป็นวันที่แสนพิเศษขึ้นมาเลย" จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่-ดาวดิน บอกเราเช่นนั้นหลังออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ต่างกันจากที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “จดหมายคือแรงบันดาลใจให้เราได้อดทนต่อสู้กับความเลวร้ายในนั้น”

 

ไผ่เล่าว่า กว่าจะได้จดหมายนั้นล่าช้ามาก เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการการตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์หลายขั้นตอน  "เวลาจดหมายมาทีหนึ่งก็มาเป็นปึกใหญ่ๆ เลย ผู้คุมเขาจะแซวว่านี่น่ะ จดหมายจากแฟนคลับมาส่งแล้ว พอได้จดหมายมาทุกคนก็เอาเข้าไปนั่งอ่านที่เตียง แล้วก็รู้สึกมีกำลังใจ ได้มีอะไรทำ แล้วการได้จดหมายมันทำให้วันธรรมดาวันหนึ่งในสถานที่เลวร้ายแบบนั้นมันสวยงามขึ้นมากเลย เพราะว่าสภาพในเรือนจำนั้นมันไม่ควรมีใครเข้าไปอยู่ทั้งสิ้น เราควรได้ต่อสู้คดีกันข้างนอก”  

ขณะที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งต้องขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 74 วัน เล่าว่าการได้จดหมายจากข้างนอกนั้นช่วยให้เขาอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นในเรือนจำได้ 

 

“ผมเข้าใจว่าจดหมายที่เราได้รับนั้นอาจไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจมีบางฉบับที่โดนเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ จนมีข้อความขาดหายไปหรือมาไม่ถึงมือ" สมยศกล่าว “แต่ผมก็ดีใจมากที่ได้รับเพราะจดหมายจากข้างนอกนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถอดทนกับความเลวร้ายทั้งมวล ไม่ว่าจะแรงกดดันเรื่องข้อจำกัดด้านอิสรภาพในคุก และความโดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากไม่ได้รับรู้ข่าวสารใด ๆ เพราะข้างในนั้นเขาไม่เปิดข่าวให้ สิ่งนี้จึงเกิดเป็นความรู้สึกที่อ้างว้าง ดังนั้น จดหมายนับเป็นกำลังใจให้เราพอจะทราบว่า เราไม่ถูกทอดทิ้ง เรายังมีคนร่วมสนับสนุน เป็นเพื่อน เป็นมิตรในการต่อสู้ร่วมกันกับเรา" 

 

จากการจับกุมในช่วงต้นปี นักกิจกรรมที่ถูกจับกุมจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือการชุมนุมโดยสงบ แทบทุกคนได้ถูกพรากสิทธิในการประกันตัวก่อนการพิจารณาคดี  โดยการปล่อยตัวผู้ต้องหาออกมาบนพื้นฐานคิดที่ว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นหลักสากลในกระบวนการคดีอาญา และเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย เพื่อคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานและ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

"คุกนั้นเป็นที่กุมขังผู้กระทำผิด แต่พวกเขายังไม่ผิดจะไปกุมขังเขาได้อย่างไร พวกเขาเป็นราษฎรที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีจึงออกมาแสดงความเห็นต่อบ้านเมืองเท่านั้น" สมยศปิดท้าย

 

พวกเขาย้ำกับเราว่า จดหมายจากภาคนอก คือหนึ่งในในเรื่องราวที่พาพวกเขาให้ก้าวผ่านความยากลำบากในเรือนจำ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีการรวบรวมจดหมายส่งไปให้คนในเรือนจำ เพราะย้อนกลับไปในปี 1961 ซึ่งเป็นปฐมบทแรกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราจะได้พบเรื่องราวของ ปีเตอร์ เบเนสัน ทนายความชาวอังกฤษซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานและความเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน ในปีนั้น เขาอ่านข่าวเจอเรื่องราวของนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองรายจากเมืองกูอิงบรา ถูกตัดสินให้จำคุกนานเจ็ดปีอันเนื่องมาจากชูแก้วฉลองเสรีภาพในบาร์ ขณะที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองของ อันโตนิโอ เดอ โอลิเวียรา ซาลาซาร์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นเจ้าของระบอบการปกครองแบบเผด็จการในชื่อ เอสตาโด โนโว

และเมื่อได้อ่านข่าวนี้ เบเนสันก็ได้เขียนบทความส่งไปยัง เดวิด แอสเตอร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Observer ในชื่อ “นักโทษที่ถูกลืม” (The Forgotten Prisoners) โดยในบทความนั้นมีส่วนหนึ่งที่เชิญชวนให้ผู้อ่านเขียนจดหมายให้กำลังใจนักโทษคดีทางการเมืองหรือศาสนาและความเชื่อ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับท่วมท้นจากผู้อ่านที่ส่งจดหมายร่วมสนับสนุนกว่าหนึ่งพันฉบับในเดือนเดียว 

นั่นก็ถือเป็นต้นธารของแคมเปญการเขียนจดหมายถึงนักโทษทางการเมืองอีกหลายต่อหลายครั้ง เช่นเดียวกับในประเทศไทย เราคงเห็นแล้วว่าที่ผ่านมานั้น เรามีนักโทษที่ต้องคดีทางการเมืองหลายต่อหลายสิบคน ทั้งที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วหรือยังต้องคดีอยู่ก็ตาม โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในเมืองไทย จากการรณรงค์ปลดปล่อย “นักโทษทางความคิด” มีจดหมายนับแสนฉบับจากคนทั่วโลกส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว

ประวัติศาสตร์ของการเขียนจดหมายเพื่อเสรีภาพมาอย่างยาวนาน บ่งบอกและทำให้พวกเราเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าแม้ตารางคุกจะจองจำพวกเขา แต่ความหวังจะไม่มีวันหายไป ตราบใดที่พวกเรายังศรัทธาในพลังของเสรีภาพ ส่งต่อความหวังไปยังผู้คนรอบตัว ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน หรือจะอยู่หลังกรงขังใด ณ ที่แห่งใดก็ตาม 

 

แด่พลังผ่านตัวอักษร ที่คุณทุกคนได้ร่วมส่งไปให้ “เพื่อนเรา” และได้กลายเป็นเทียนที่ส่องสว่าง ทำให้บรรยากาศในเรือนจำที่เคยอ้างว้าง ได้อบอุ่นในชั่วข้ามคืน