แฟนด้อมกับการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง

8 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

การชุมนุมทางการเมืองในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หรือบรรดากลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบเองต่างก็ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนของตนผ่านการเข้าร่วมชุมนุม เพราะพวกเขาเหล่านี้มีความเชื่อว่าสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ควรให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน และการออกมาแสดงจุดยืนของพวกเขาย่อมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ 

แฟนด้อม คือหนึ่งในกลุ่มคนชายขอบที่ถูกมองข้ามมาเป็นเวลานาน สังคมมักตีตราพวกเขาว่าไร้สาระ และไม่รักในความเป็นบ้านเกิดของตน แต่หากพูดถึงเรื่องของการเมือง แฟนด้อมกลับเป็นคนอีกกลุ่มที่มีความสำคัญในฐานะผู้สนับสนุนการชุมนุมหลายๆ ครั้ง เพราะนับแต่ช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ได้รับจากลุ่มของชาวแฟนด้อม ที่ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยจนกระทั่งยอดการบริจาคมาถึงหลักแสนบาท

วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงถือโอกาสพาทุกคนไปทำความรู้จักกับกลุ่มแฟนด้อม ในฐานะแฟนคลับศิลปินผู้สนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย

 

แฟนด้อมคือใคร?

แฟนด้อม เป็นคำเรียกกลุ่มของแฟนคลับศิลปินต่างชาติ อย่างเกาหลีใต้หรือจีน แฟนด้อมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น เพราะสามารถแตกแขนงและมีชื่อเรียกเฉพาะออกไปตามศิลปินแต่ละคนแต่ละวง โดยเหล่าบรรดาศิลปินเหล่านนั้นจะมีชื่อเรียกแฟนคลับของตนเองอยู่เสมอ อย่างวง Super Junior มีชื่อเรียกแฟนคลับของตนว่า “เอลฟ์” วง Girls’ Generation มีชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับว่า “โซวอน” หรือในศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเราอย่าง Blackpink และ BTS ก็มีชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับของตนว่า “บลิงค์” และ “อาร์มี่” ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปแล้ว แฟนด้อม คือคำที่ใช้เรียนกลุ่มแฟนคลับโดยรวมอย่างไม่เจาะจงว่าเป็นแฟนคลับของศิลปินคนไหน

 

กลุ่มคนชายขอบที่ถูกมองข้าม

เพราะการเข้ามามีบทบาทของ K-Pop หรือวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับสื่อบันเทิงจากประเทศเกาหลีใต้ ทำให้ความสนใจของเด็กรุ่นใหม่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ด้วยท่าเต้นอันพร้อมเพรียงใน MV เพลงของนักร้องแต่ละวง ซีรีส์และละครที่มีความสนุกสนาน ซึ่งและค่านิยมที่เปลี่ยนไปนี้กลับทำให้กลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีกลับถูกมองว่าทำตัวไร้สาระ ไม่สนใจวัฒนธรรมไทย และมักถูกตำหนิจากสังคม ซึ่งคำพูดที่เหล่าแฟนด้อมต้องเจออยู่บ่อยๆ คือ “เอาเวลาที่ต้องมาตามศิลปินไปเรียนจะมีประโยชน์มากกว่า”

และในบางครั้งที่มีเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นบนโลกออนไลน์ กลุ่มแฟนคลับจะถูกโยงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้วจะไม่ใช่เช่นนั้น เพราะภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ที่สังคมมองมายังกลุ่มแฟนคลับจะเป็นด้านลบ จึงทำให้คนเหล่านี้ต้องถูกกีดกันออกไปให้กลายเป็นคนชายขอบที่ไม่มีความสำคัญ และถูกลดทอนบทบาทให้เป็นคนที่ไร้เสียงไปโดยปริยาย

 

แฟนด้อมกับกิจกรรมทางการเมือง

ตลอดการชุมนุมตั้งแต่ปลายปี 2020 ที่ผ่านมา กลุ่มแฟนด้อมได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลังจากที่ถูกสังคมผลักออกให้กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ไร้ซึ่งความสำคัญ โดยวิธีการที่กลุ่มคนเหล่านี้ใช้ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นค่อนข้างมีความแปลกใหม่ เช่น การโบกมือลานายทุนรายใหญ่เจ้าของป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อมาอุดหนุนธุรกิจรายย่อย อย่างรถเข็นขายส้มตำหรือรถสามล้อ และรถสองแถว เพราะปกติกลุ่มแฟนคลับจะรวบรวมเงินกันเพื่อทำโปรเจกต์เนื่องในวันเกิดของศิลปินที่ตนติดตาม ผ่านการขึ้นป้ายโฆษณาในสถานที่ต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ หรือตามรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน

ไม่เพียงแต่การโบกมือลานายทุนรายใหญ่เท่านั้น กลุ่มแฟนคลับยังมีส่วนร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านการบริจาคเงินสนับสนุนการชุมนุม และจำนวนเงินเหล่านั้นนับเป็นตัวเลขที่มีมูลค่ามาก เพราะแฟนคลับบางคนนั้นมีงานทำ และมีรายได้เป็นของตนเองแล้ว จึงสามารถสนับสนุนการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตัวอย่างของกลุ่มแฟนคลับที่บริจาคเงินเป็นจำนวนมาก ได้แก่

  • “โซวอน” แฟนคลับวง Girls’ Generation บริจาคเป็นเงินจำนวน 770,000 บาท

  • “เอล์ฟ” แฟนคลับวง Super Junior บริจาคเป็นเงินจำนวน 700,000 บาท

  • “อาร์มี่” แฟนคลับวง BTS บริจาคเป็นเงินจำนวน 480,000 บาท

ในเวทีการชุมนุมเหล่ากลุ่มแฟนด้อมเองก็เข้ามามีบทบาท อย่างคณะราษแดนซ์ที่ใช้เสียงเพลงในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และสร้างสีสันให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งไม่เพียงแค่แฟนคลับศิลปินเกาหลีเท่านั้น ยังมีแฟนคลับจากด้อมในหลายๆ ประเทศเข้ามาร่วมด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในเวทีการชุมนุม

 

เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่เราสามารถพูดถึงได้

ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 19 เสรีภาพในการแสดงออก ได้กล่าวไว้ จะเห็นได้ว่าเราทุกคนมีอิสระในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ชื่นชอบอย่างการติดตามศิลปินนักร้องต่างประเทศของแฟนด้อม หรือการออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆ เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การเมืองควรกลายเป็นที่ทุกคนสามารถพูดถึงได้อย่างปกติ และอิสระ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : https://waymagazine.org/i-dont-love-my-idol/