หนึ่งปีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์: คืนความยุติธรรมให้เขาเพื่อชีวิตคนผิวดำและการต่อต้านความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐฯ

25 พฤษภาคม 2564

Amnesty International Thailand

คริสตินา โรธ์ และ อัลลี แมคแครกเกน จาร์รา

วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล เจ้าหน้าที่ดิเรก โชววิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกสามนายที่เมืองมินนีแอโพลิส ได้ทรมานและสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อจอร์จ ฟลอยด์ ดาร์เนลลา เฟรเซียร์ ผู้หญิงผิวดำวัย 17 ปีเป็นผู้ถ่ายวีดิโอขณะที่เกิดการฆาตกรรม เป็นผู้นำมาเผยแพร่ และสร้างความโกรธเคืองให้กับคนทั้งโลกว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วที่ตำรวจสังหารชายผิวดำในสหรัฐฯ จอร์จ ฟลอยด์เคยเป็นพ่อ พี่ชาย ลูกชาย สามี และเพื่อนคนหนึ่ง เขาต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร หลังมีการโทรศัพท์แจ้งตำรวจว่า อาจมีการใช้ธนบัตรปลอม 

วีดิโอของเหตุการณ์ขณะที่จอร์จ ฟลอยด์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เมืองมินนีแอโพลิสสังหาร สร้างความสั่นสะเทือนให้กับมโนธรรมสำนึกของคนทั้งโลก แต่การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างมิชอบและใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อคนผิวดำมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่พอ ๆ กับอาชีพตำรวจในสหรัฐฯ เอง ในภาคใต้ วิชาชีพ ตำรวจ เกิดขึ้นมาพร้อมกับการทำหน้าที่ตรวจตราและจับกุมทาส ตำรวจสมัยนั้นเป็นเครื่องมือของนายทาส ในการตามล่าอย่างโหดร้าย เพื่อนำตัวทาสผิวดำกลับมา ทรมาน ลงโทษ และมักสังหารในที่ดินของนายทาส 

การเหยียดผิวต่อคนผิวดำอย่างเป็นระบบ เป็นคุณลักษณะหลักของระบบยุติธรรมทางอาญาของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เห็นได้จากการสังหารคนผิวดำและคนพื้นเมือง โดยถือเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนเชื้อชาติอื่นเป็นอย่างมาก ระบบยุติธรรมในสหรัฐฯ อาจแบ่งได้เป็นสองระบบจนถึงทุกวันนี้ ในระบบแรกบางคนจะได้รับอภิสิทธิ์ แต่ในอีกระบบหนึ่ง บางคนจะถูกสังหารเพียงเพราะความผิดเล็กน้อย คนที่มีผิวสีมักถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามเพียงเพราะตัวของพวกเขาเอง 

จอร์จ ฟลอยด์เป็นหนึ่งในกว่า 1,000 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปทุกปี จากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นเพียงอีกคนหนึ่งที่ถูกพรากไปจากครอบครัวด้วยความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนคนผิวดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสีน้ำตาลทุกวัน 

 

จอร์จ ฟลอยด์ควรมีชีวิตอยู่ในวันนี้ 

ความรุนแรงของตำรวจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนหนุ่มสาวในสหรัฐอเมริกา ในสหรัฐฯ  ชายผิวดำ 1 ใน 1,000 คนมีโอกาสถูกตำรวจสังหารในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ระหว่างปี 2558-2563 30% ของคนที่ถูกตำรวจยิงตาย มักแสดง อาการทางจิต แม้จะมีอัตราการใช้ความรุนแรงที่เลวร้ายเช่นนี้ แต่ที่ผ่านมามักไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ทำการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พวกเขาสามารถกระทำการได้โดยไม่ต้องรับผิด จากการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุและบางครั้งถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำ ระหว่างปี 2548-2562 เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าในระดับรัฐหรือท้องถิ่นเพียงสามนาย เคยต้องเข้ารับการไต่สวนและถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตาย ในคดีที่มีการใช้กำลังจนถึงขั้นเสียชีวิต 

แม้ในบริบทของการระบาดใหญ่ ภายหลังการสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ประชาชนพากันออกมาประท้วงความรุนแรงของตำรวจ การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และภัยคุกคามของคนผิวขาวสุดโต่ง รวมทั้งในหลายปนะเทศที่เคยมีประวัติของลัทธิอาณานิคมมาก่อน ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่มีการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนทั้งในอินโดนีเซียจนถึงนิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ถึงอาร์เจนตินาและในพื้นที่อื่น ๆ ต่างรวมตัวปฏิบัติการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ และแสดงความสนับสนุนต่อสิทธิที่จะมีชีวิตรอดของคนผิวดำ ท่ามกลางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย และขบวนการแบล็คไลฟ์แม็ทเทอร์ในสหรัฐอเมริกา

พวกเขายังปฏิบัติการเพื่อเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติ และเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงของตำรวจในประเทศตนเอง ตั้งแต่ขบวนการ #EndSARS ในไนจีเรียไปจนถึงการประท้วงต่อต้านความรุนแรงของตำรวจในเปอร์โตริโก การกดขี่ของรัฐกลายเป็นปัญหาที่น่าสะพรึงกลัวร่วมกันไปทั่วโลก

 

เพื่อรำลึกโอกาสครอบหนึ่งปีหลังการสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการประท้วงทั่วโลก เรื่องราวต่าง ๆ ที่มาจาก 13 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นความเจ็บปวดและความโกรธเคืองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับประชาชนทั่วโลก ภายหลังการสังหารจอร์จ ฟลอยด์ และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่สร้างหายนะให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก 

ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเป็นการดำเนินงานระดับโลกอย่างแท้จริง ในขณะที่การเหยียดผิวของคนผิวขาวและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตำรวจในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ก็เป็นประเด็นร่วมกันในระดับโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ และต้องมีการดำเนินงานระดับโลกเพื่อยุติปัญหานี้ ประชาชนได้แสดงออกแล้ว และขบวนการของพวกเขาจะไม่หยุดแค่นี้

 

เปรู 

ในเปรู ประโยคที่ว่า "ได้โปรดเถอะ ฉันหายใจไม่ออก" เป็นความรู้สึกร่วมกันของคนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ เขียนจดหมาย ของเอไอเปรู เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ รวมทั้งผู้ลงนามเพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงของตำรวจในประเทศของตนเอง 

เปรูเป็นประเทศที่มีการประท้วงทางสังคมอย่างกว้างขวาง ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในเปรู ส่งผลให้มีการเปลี่ยนประธานาธิบดีสามคนภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ในปัจจุบันเอไอเปรูอยู่ระหว่างจัดทำ โครงการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับสิทธิในการประท้วง นับแต่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่อันเป็นผลมาจากวิกฤตทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว และการใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงของตำรวจ

ข้อมูลจากแอมเนสตี้เปรู

 

ไนจีเรีย

ไนจีเรียมีกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจที่เป็นมรดกมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมในปี 2491 12 ปีก่อนไนจีเรียจะประกาศเอกราช กฎหมายฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2563 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติตำรวจฉบับใหม่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ ไนจีเรียได้บันทึกข้อมูลการใช้ความรุนแรงของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การใช้ความโหดร้ายอย่างกว้างขวางของกองกำลังความมั่นคงและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ลึกซึ้ง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบอบความมั่นคงของประเทศ ที่ผ่านมามีเหยื่อการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองกำลังความมั่นคงเพียงไม่กี่คน ซึ่งได้รับความยุติธรรมหรือได้รับการเยียวยา

เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 100 วันนับแต่เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนเพื่อสังหารประชาชนที่ด่านเก็บเงินเลกกี แอมเนสตี้ ไนจีเรียได้ออกแถลงการณ์ และเผยแพร่ บทความ อธิบายความเป็นมาและมีข้อเรียกร้องเพื่อความยุติธรรม 

แอมเนสตี้ ไนจีเรียยังจัดทำ การรณรงค์เขียนจดหมาย เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรงของตำรวจ ช่วงปลายปี 2560 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมชาวไนจีเรีย ได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ขนาดใหญ่ในชื่อ #EndSARS เพื่อสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานตำรวจที่ชื่อว่าหน่วยพิเศษเพื่อปราบการลักทรัพย์ (Special AntiRobbery Squad - SARS) ซึ่งมีหน้าที่แก้ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรง รวมทั้งการลักทรัพย์และการลักพาตัว ในปี 2563 แอมเนสตี้ ไนจีเรียได้เผยแพร่รายงานในประเด็นนี้ชื่อถึงเวลายุติการลอยนวลพ้นผิด - การทรมานและการละเมิดอย่างอื่นที่เกิดขึ้นจากหน่วยพิเศษเพื่อปราบการลักทรัพย์  

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ ไนจีเรีย

 

อินโดนีเซีย

ในปี 2563 แอมเนสตี้  อินโดนีเซียจัดคอนเสิร์ตทางออนไลน์ในชื่อว่า Sounds Rights เพื่อรณรงค์ให้ชาวอินโดนีเซียตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย ผู้บรรยายได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการต่อสู้ของประชาชนกับความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐอเมริกา และการละเมิดของกองกำลังความมั่นคงที่กระทำต่อประชาชนในขบวนการเรียกร้องเอกราชของปาปัวตะวันตกจากอินโดนีเซีย 

เอไอ อินโดนีเซียยังได้จัดงาน Akademi HAM ซึ่งเป็นการอภิปรายทางออนไลน์เพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นการให้ข้อมูลกับประชาชนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเร่งด่วน

ข้อมูลจากแอมเนสตี้  อินโดนีเซีย

 

สวิตเซอร์แลนด์ 

เสียงเรียกร้อง #BlackLivesMatter ดังกึกก้องไปทั่วสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สนับสนุนการเขียนจดหมายระดับโลกเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ โดยมีผู้ลงชื่อเกือบ 10,000 คน แอมเนสตี้  สวิตเซอร์แลนด์ยังหาทางแก้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหัวข้อการรายงานของ นิตยสารที่ผลิตโดยสำนักงานประเทศในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนมีนาคม 2564

เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของนักกิจกรรมระดับรากหญ้า แอมเนสตี้  สวิตเซอร์แลนด์ได้ขอเข้าร่วมให้การในฐานะบุคคลที่สามในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เป็นคดีเกี่ยวกับการกำหนดตัวผู้ต้องสงสัยด้วยเหตุทางเชื้อชาติ (racial profiling) ในคำให้การต่อศาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นความล้มเหลวอย่างร้ายแรงของสวิตเซอร์แลนด์ ในแง่การป้องกันและการสอบสวน เมื่อเกิดเหตุการกำหนดตัวผู้ต้องสงสัยด้วยเหตุทางชาติพันธุ์โดยทางการสวิตเซอร์แลนด์

ข้อมูลจากแอมเนสตี้  สวิตเซอร์แลนด์

 

แอฟริกาตอนใต้

ในแอฟริกาตอนใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ ประณาม การใช้กำลังของตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในแองโกลาระหว่างการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19  

แอมเนสตี้ยังได้จัดทำ แถลงการณ์ ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในภูมิภาค รวมทั้งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทของระบบอาณานิคมที่ดำเนินสืบมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมักกระทำความรุนแรงต่อร่างกายของคนผิวดำ เพื่อใช้เป็นแนวทางการควบคุมพวกเขา  

ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการภูมิภาคในแอฟริกาตอนใต้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ฝรั่งเศส

เรื่องราวของจอร์จ ฟลอยด์มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศส เพราะไม่กี่เดือนก่อนการสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจเรียกให้คนส่งของหยุดริมถนนเพื่อตรวจ จากนั้นมีการบีบคอและทำร้ายเขา เป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น คำพูดสุดท้ายของเขาคือ “ผมหายใจไม่ออก” และเขาพูดเช่นนี้ซ้ำกันเจ็ดครั้ง ชายคนนี้มีชื่อว่าเชดดริก โชวเวียต์ และที่ผ่านมายังไม่มีการตัดสินคดี 

ยังมีครอบครัวของเหยื่ออีกมากที่รอความยุติธรรม พวกเขาเป็นแกนนำการต่อสู้ในฝรั่งเศส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฝรั่งเศส สนับสนุนให้พวกเขาเข้าร่วมการเดินขบวนและการรวมตัว และยังคงเรียกร้องความยุติธรรมต่อไปจากทางการ

แอมเนสตี้ ฝรั่งเศสยังทำงานเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของตำรวจ ทั้งในเรื่องของการใช้กำลังหรือการเรียกตรวจอย่างเลือกปฏิบัติ

ข้อมูลจากแอมเนสตี้  ฝรั่งเศส

 

เปอร์โตริโก

แอมเนสตี้ เปอร์โตริโกเชื่อมโยงกับประเด็นการต่อต้านการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุของตำรวจในเปอร์โตริโก โดยเฉพาะในระหว่างการประท้วงอย่างสงบ พวกเขาได้นำเสนอเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตาระหว่างการชุมนุมประท้วง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น ทั้งยังได้จัดอบรมทางออนไลน์เพื่อให้ประชาชนทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในระหว่างการประท้วง และสามารถบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิพลเรือนได้  

พวกเขายังเปิดตัวโครงการ “เจ้าหน้าที่ ฉันก็มีสิทธินะ” ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อให้ความรู้ชุมชนต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิของตนเองเมื่อถูกแทรกแซงโดยตำรวจ

ข้อมูลจากแอมเนสตี้  เปอร์โตริโก

 

สวีเดน

เอไอสวีเดนเรียกความสนใจได้อย่างมากจากการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย และการรวบรวมรายชื่อกว่า 45,000 คนในโครงการทวงคืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์  

พวกเขาจัดการชุมนุมของเยาวชนระดับชาติในหัวข้อ “ความโหดร้ายของตำรวจในโลกและในสวีเดน” กลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้จัดการประท้วง ที่มีการทำข่าวโดยสื่อระดับชาติ เอไอสวีเดนยังจัดอบรมให้นักกิจกรรม เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นพันธมิตรที่ดีเพื่อสนับสนุนการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ 

พวกเขายังทำโครงการศึกษานำร่อง เพื่อตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ และการกำหนดตัวผู้ต้องสงสัยด้วยเหตุทางเชื้อชาติ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของบริษัทด้านความมั่นคงในสวีเดน

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ สวีเดน

 

อาร์เจนตินา

สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่และการล็อกดาวน์ที่เป็นผลตามมา แอมเนสตี้ อาร์เจนตินาสามารถใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปิดโปงความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดผิว และเพื่อแสดงความสนับสนุนต่อการประท้วงในสหรัฐฯ พวกเขาได้แชร์ภาพในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการประท้วงทั่วโลก และได้เข้าร่วมในการรณรงค์ระดับโลกในหัวข้อ #BlackOutTuesday ซึ่งประชาชนจากทั่วโลกได้โพสต์รูปกล่องดำ เพื่อเน้นให้เห็นปัญหาการกำลังจนเกินขอบเขตของตำรวจ

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ อาร์เจนตินา

 

นอร์เวย์

แอมเนสตี้ นอร์เวย์ได้เผยแพร่จดหมาย คืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งมีผู้ลงนาม 201,684 คนมากเป็นประวัติการณ์ในนอร์เวย์ แสดงให้เห็นว่าประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนนอร์เวย์ ตอนที่มีผู้ลงนามในจดหมายเกิน 200,000 คน พวกเขาได้นำป้าย ไปติด ที่อาคารของศูนย์รางวัลโนเบลที่เมืองหลวงของนอร์เวย์ มีการจัดคอนเสิร์ตทางดิจิทัล โดยมีผู้ร่วมแสดงประกอบด้วยนักดนตรีและคนดังมากมายในนอร์เวย์ 

สืบเนื่องจากโรคโควิด-19 เอไอนอร์เวย์จึงขอให้นักกิจกรรมและผู้สนับสนุนเข้าร่วม การประท้วงทางดิจิทัล ผ่าน อินสตาแกรม ปัจจุบันพวกเขาจัดโครงการให้ความรู้ โดยมีการอภิปรายเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการปฏิบัติสำหรับนักกิจกรรมและในสถาบันศึกษา

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ นอร์เวย์

 

กินี

การปราบปรามของรัฐเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุของฝ่ายความมั่นคงในกินี ในช่วงหลายสัปดาห์ภายหลังการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน รวมทั้งชายในวัย 62 ปี ซึ่งคาดว่าจะถูกทรมาน มีการจับกุมประชาชนหลายร้อยคนระหว่างการประท้วง หรือตำรวจได้เข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน

 

ออสเตรีย

ในออสเตรีย ประชาชนพากันออกมาประท้วง ซึ่งเราสามารถดูได้ผ่าน วีดิโอ ที่จัดทำเป็นอย่างดีของแอมเนสตี้ ออสเตรีย พวกเขายังได้โพสต์ข้อมูล “7 อย่างที่เราทำได้เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว” แอมเนสตี้ ออสเตรียได้รณรงค์เรื่องความรุนแรงของตำรวจในระดับประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว พวกเขาได้ตีพิมพ์รายงานขององค์กรช่วงปลายปี 2562 และยังคงทำวิจัยเรื่องนี้ต่อไป 

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ ออสเตรีย

 

นิวซีแลนด์

ในนิวซีแลนด์ ประชาชนได้ออกมาประท้วงในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อประกาศอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า #BlackLivesMatter! ตั้งแต่ริมฟุตบาทไปจนถึงกลุ่มต่าง ๆ ในโรงเรียน ประชาชนทั่วประเทศได้พากัน “คุกเข่า” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรงของตำรวจ

ข้อมูลจากแอมเนสตี้  นิวซีแลนด์

 

ในช่วงฤดูร้อนนี้ ผลจากการสังหารจอร์จ ฟลอยด์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงได้ลง มติฉุกเฉินเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนแอฟริกัน และคนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย 

มิตเชล แบชเชเล ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับมติครั้งนี้ว่า “เราต้องแก้ปัญหามรดกของการเอาคนลงเป็นทาส การค้าทาสชาวแอฟริกันข้ามมหาสมุทร และในบริบทของอาณานิคม เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา นโยบายที่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติดำรงอยู่มาหลายศตวรรษ และระบบเช่นนี้ยังดำรงอยู่แม้ภายหลังการยกเลิกระบบทาสอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม”  

เราต้องไม่มองข้ามประวัติศาสตร์ที่ยังดำรงอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และต้องไม่เพิกเฉยต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับครอบครัวมาหลายชั่วคน 

แม้จะมีการประนอมคดีในคดีแพ่งของจอร์จ ฟลอยด์ และศาลตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ดิเรก โชววินมีความผิด แต่ไม่มีทางที่เราจะทวงคืนความยุติธรรมอย่างแท้จริงให้กับอาชญากรรมที่ทารุณเช่นนี้ สำหรับหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย พวกเขายังไม่เคยได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง รัฐต้องจัดทำมาตรการให้เกิดความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราต้องจับตามองขอบเขตและผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายในชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ที่ติดอาวุธซึ่งเข้ามาระงับเหตุ และส่งผลให้เกิดการปะทะกันจนเสียชีวิต  

จีแอนนา ลูกสาววัยหกขวบของจอร์จ ฟลอยด์บอกว่า เธอรู้ว่าพ่อของเธอต้องเปลี่ยนโลกได้ และเธอพูดได้ถูกต้องแล้ว พวกเราต้องเดินหน้าต่อไป โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาในอดีต และมุ่งทำงานเพื่อให้เกิดระบบที่รักษาความปลอดภัยของสาธารณะ ซึ่งเคารพต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีชีวิตรอดของคนทุกคน สิทธิที่จะปลอดจากการเลือกปฏิบัติ และได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย  

 

คริสตินา โรธ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์อาวุโสแผนงานความยุติธรรมทางอาญาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ

อัลลี แมคแครกเกน จาร์รา เจ้าหน้าที่รณรงค์ภูมิภาคอเมริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล