เส้นทางการต่อสู้ของ “สยาม ธีรวุฒิ” และการเดินทางของแม่เพื่อทวงถามความยุติธรรม 

7 พฤษภาคม 2564

Amnesty International Thailand

ภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตั้งแต่ปี 2557 ที่เกิดการรัฐประหารซึ่งนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น ได้มีการนำกฎหมายมาตรา 112 หรือที่รู้จักกันดีในนามของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาใช้อย่างเต็มรูปแบบทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองลี้ภัยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งในช่วงเจ็ดแปดปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนที่หายตัวปริศนาและพบว่าเสียชีวิตแล้ว 2 คน ดังนั้นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายสาบสูญมีจำนวนตอนนี้ 7 คน และหนึ่งในนั้นคือ “สยาม ธีรวุฒิ” ชายหนุ่มวัย 29 ปี ณ เวลานั้น

สยาม หรือไอซ์  เขาเป็นเด็กที่มีความสนใจทางการเมืองมาตั่งแต่เยาว์วัย แม่ของเขาเคยเล่าให้ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า “ ไอซ์ เป็นเด็กที่ชอบในเรื่องการเมืองและรัฐศาสตร์เขาเลือกแนวทางชัดเจนตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนมัธยม อาจจะเพราะด้วยความที่เป็นหนอนหนังสือตั้งแต่เมื่ออายุเพียง 3 ขวบ” กัญญาหรือแม่ของสยามชี้ให้เห็นหนังสือกองพะเนินซึ่งถูกจัดเรียงในตู้ที่เธอเก็บรักษาไว้แม้ในวันที่ลูกชายไม่อยู่ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง สังคม รวมไปถึงทฤษฎีของนักคิดคนสำคัญจากหลากหลายสกุลทางความคิด และที่เตะตาที่สุด คือหนังสือดิกชันนารีสารพัดภาษาเล่มเขื่องหลายเล่มที่กัญญาเล่าว่าเป็นของรักของหวงของสยาม ด้วยความที่ชอบอะไรที่ไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน สยามจึงไม่มีเพื่อนที่พร้อมจะแชร์เรื่องราวที่สนใจร่วมกัน กระทั่งเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยเขาจึงได้พบพื้นที่ของตัวเอง

เมื่อสยามได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคณะรัฐศาสตร์เขาได้เริ่มทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากมายโดยเริ่มต้นการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2552 จากการวนเวียนตามงานเสวนาทางการเมือง ก่อนที่จะถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่มประกายไฟ สยามได้เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มประกายไฟในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิและสามารถต่อรองกับทางนายจ้าง รวมไปถึงเรื่องการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการ

ชีวิตของสยามถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่เมื่อคราวที่เขาได้ร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2556 ผลจากกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้เพื่อนของสยามสองคนที่ร่วมเล่นละครด้วยกันถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 และถูกจำคุกเป็นเวลากว่า 2 ปี ในขณะที่สยามเองต้องหลบหนีออกจากประเทศไทยเหตุเพราะถูกรัฐออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เป็นเวลา 2 ปีเต็มที่สยาม (สหายข้าวเหนียวมะม่วง) หายตัวไปโดยก่อนหน้านี้น้องสาวของสยาม ยืนยันว่า 1 ปีที่ผ่านมาหลังทราบเรื่องก็เดินสายร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ จนถึงวันนี้เป็นเวลา2 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย นอกจากนี้กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยามวัย 64 ปี กล่าวยืนยันเช่นเดียวกันว่า ไม่มีคำตอบอะไรเลย ทั้งจากทางกองปราบปรามหรือสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม

 

ภาพเลือกลงตามใจพี่น้อง .jpg

 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เรียบเรียง Timeline: เส้นทางการต่อสู้ของ “สยาม ธีรวุฒิ” และการเดินทางของแม่เพื่อทวงถามความยุติธรรม

  • พ.ศ. 2552 – 2556 – สยามเข้าร่วมกับกลุ่มประกายไฟในปี 2552 ก่อนจะเข้าร่วมเพื่อสังเกตการณ์เหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปีต่อมา นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง สยามและเพื่อนยังมีส่วนในการผลักดันเรื่องสิทธิของแรงงานและชาวบ้าน รวมไปถึงการเรียกร้องเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ
  • 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – สยามและเพื่อนๆ ในกลุ่มประกายไฟการละครขึ้นเล่นละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 – เกิดการรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลเผด็จการได้ทำการเร่งรัดการดำเนินคดี 112 และได้ออกหมายจับนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคน หนึ่งในนั้นคือ สยามและเพื่อน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุมาจากการขึ้นแสดงละครเวทีเมื่อปี 2556 เมื่อไม่มั่นใจว่าตนจะได้รับความยุติธรรมจากกฎหมาย สยามจึงได้เดินทางออกจากประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติในเวลาต่อมา
  • พ.ศ. 2561 – ชื่อของสยามหรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” ร่วมกับชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ปรากฏอยู่ในรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในฐานะที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งและเผยแพร่อุดมการณ์ทางความคิด “สหพันธรัฐไท”  ร่วมกัน ผ่านทางสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 ข่าวการหายตัวไปของนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 3 ราย ได้แก่ สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่าผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนที่ในปลายเดือนเดียวกันนั้น ได้มีการพบศพของนักกิจกรรม 2 รายหลัง ซึ่งในช่วงนี้เองที่สยามเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลง ก่อนจะเงียบหายไปในที่สุด
  • 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – “เพียงดิน รักไทย” หรือเสน่ห์ ถิ่นแสน ประธานภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แจ้งข่าวผ่านยูทูบช่องมหาวิทยาลัยประชาชน ว่าตำรวจเวียดนามได้ส่งตัวสยาม และพวก ให้ทางการไทยแล้ว
  • 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวของสยามได้เข้าขอข้อมูลเรื่องการจับกุมสยามกับทางผู้บังคับการกองปราบปรามในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับ เพื่อยืนยันและตรวจสอบว่าได้มีการจับกุมตัวสยามกลับมาประเทศไทยหรือไม่
  • 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวของสยามได้เข้ายื่นเรื่องต่อสถานทูตเวียดนามเพื่อเรียกร้องให้ทำการตรวจสอบกรณีการจับกุมตัวสยามและพวก โดยระบุคำถาม 1. การที่สยามและพวกถูกจับเป็นเพราะการเข้าเมืองโดยใช้พาร์สปอตปลอมหรือไม่? 2. ขณะนี้ สยามยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เวียดนามหรือไม่? และทางครอบครัวจะขอติดต่อได้ไหม? 3. หากสยามไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทางเจ้าหน้าที่เวียดนามแล้ว ขณะนี้ เขาได้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศไทยแล้วใช่หรือไม่? หากใช่ เขาถูกส่งตัวกลับเมื่อไหร่และอย่างไร? พร้อมกันนั้น ยังได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสหภาพยุโรปเพื่อให้ช่วยติดตามประเด็นข้างต้น
  • 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ทางครอบครัวได้เดินทางเข้าให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของสยามต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อให้ช่วยติดตามกรณีนี้ต่อไป
  • 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – กองบังคับการปราบปรามฯ ได้แจ้งผลการตรวจสอบจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของสยามและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 2 คน กับทางครอบครัว ระบุว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยงานใดระบุว่าได้ทำการจับกุมตัวสยามมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน
  • 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวสยามได้เข้ายื่นคำร้องต่อกรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศเพื่อให้ทำการตรวจสอบไปยังทางประเทศเวียดนามเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศของสยามและพวกอีก 2 คน ในวันเดียวกันนี้เอง ทางครอบครัวและศูนย์ทนายฯ ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวสยาม

ทางครอบครัวได้รับแจ้งจากทางผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมว่า กรณีของสยามจะถูกพิจารณาอยู่ในขั้นตอนของการคัดกรองเรื่อง ว่าเข้าข่ายการอุ้มหายตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearances, ICPPED) หรือไม่ หากไม่ใช่ก็จำเป็นต้องปิดกรณีนี้ และไม่ส่งเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการสอบสวนเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ ที่จะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการ

  • 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 – กรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้กับทางครอบครัว ระบุว่า หลังจากที่สอบถามไปยังทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามซึ่งได้สอบถามต่อเป็นการภายในไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่าทางการเวียดนามยังไม่พบข้อมูลกรณีการเข้าออกประเทศของสยามและพวกแต่อย่างใด
  • 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวสยามเข้ายื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยแนบหลักฐานได้แก่ บันทึกการติดต่อระหว่างสยามกับแม่และเพื่อนครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงสิ้นปี 2561 หนังสือตอบกลับจากทางกองปราบปราม และหนังสือตอบกลับจากทางกรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
  • 19 กันยายน พ.ศ. 2562 – เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงว่า คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ (คณะกรรมการฯ) และอนุกรรมการฯ อีก 4 คณะ ที่คณะกรรมการฯ แต่งตั้งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ในปัจจุบันได้หมดวาระไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ทำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการฯ อีกครั้ง

 

ภาพตัวเลือกให้พี่ลง.jpeg

 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ลงข่าวสารว่าคุณสิตานัน(พี่สาววันเฉลิม) คุณกัญญา ธีรวุฒิ (มารดาของสยาม) และภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐตามหาผู้ลี้ภัยที่สูญหายโดยเข้าไปยังกรมคุมครองสิทธิและเสรีภาพซึ่งทางด้านกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีตัวแทนจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ ชี้แจงภารกิจของกรมพร้อมแนะนำคณะอนุกรรมการคัดกรอง คณะอนุกรรมการติดตามและคณะอนุกรรมการเยียวยาญาติผู้เสียหายซึ่งเป็นกลไกของคณะกรรมการฯ ในขณะเดียวกัน นางสุจิตราและนางนัยนาได้กล่าวถึงความคืบหน้าในกรณีการติดตามการหายตัวไปของนายสยาม ธีรวุฒิ ว่า ทางสหประชาชาติได้มีหนังสือแจ้งมาถึงรัฐบาลไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ว่าสหประชาชาติได้ขึ้นบัญชีให้นายสยาม ธีรวุฒิ เป็นบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ ตามกลไกของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) ที่ประเทศเวียดนามแล้ว ซึ่งสยามถือเป็นเคสที่ยังต้องติดตามความคืบหน้าเพือสืบหาความจริงกันต่อไป

ต่อมาในวันเดียวกัน เวลา 13.40 น. กัญญา ธีรวุฒิ (มารดาของสยาม) พร้อมกับสิตานัน(พี่สาววันเฉลิม)และภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมี ชนินทร์ เกตุปราชญ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง ส่วนทางด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ชี้แจงว่าการดำเนินการเรื่องของนายสยาม ธีรวุฒิและนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งญาติเคยยื่นร้องเรียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ ได้ชี้แจงว่าทาง กสม. ได้ยุติเรื่องของทั้งสองคนในชั้นการตรวจสอบของ กสม. แล้ว ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษชน ที่ 107-108/2563 ลงวันที่ 1 เม.ย. 63 และได้ส่งข้อเสนอแนะอื่นไปยังคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชน ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายภายในใช้บังคับเรื่องการบังคับให้หายสาบสูญตามกฎหมายระหว่างประเทศ

รวมทั้งยังส่งข้อเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศึกษาและตรวจสอบเกี่ยวกับกรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย และคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อ ในเรื่องเร่งรัดให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมองว่ากระบวนการคุ้มครองตามกฎหมายเรื่องการบังคับให้หายสาบสูญที่มันล่าช้าจะส่งผลเสียต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ที่สูญหาย อย่างกรณีของ สยาม ธีรวุฒิ ที่ตอนนี้สองปีแล้วการทำงานของภาครัฐก็ยังมีความล่าช้า ทำให้ประชาชนต้องออกมาพูดว่า “คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี”