สำรวจการขับเคลื่อนของรัฐบาลไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

29 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

กระบวนการ UPR ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วม ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ประเด็นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นหนึ่งในข้อที่รัฐบาลไทยตอบรับว่าจะปฏิบัติตามมากที่สุด ในโพสต์นี้แอมเนสตี้ ประเทศไทย จะพาทุกท่านร่วมสำรวจตัวอย่างข้อเสนอที่น่าสนใจที่รัฐบาลไทยได้รับรวมไปถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

จำนวนข้อที่ตอบรับ และรับทราบโดยไม่ปฏิบัติตาม

กระบวนการ UPR ที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยทั้งหมด 31 ข้อ โดยรัฐบาลตอบรับว่าจะปฏิบัติถึง 30 ข้อ มีเพียง 1 ข้อที่รับไว้แต่ไม่ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ในเอเชียมีเพียงประเทศเกาหลีใต้ที่ให้ข้อเสนอแนะเรื่องนี้

ตัวอย่างข้อเสนอที่รัฐบาลต่างประเทศเสนอต่อรัฐบาลไทย

ข้อสำคัญที่รัฐบาลไทยตอบรับ ได้แก่

- ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

- ออกกฎหมายภายในประเทศที่มีโทษอาญาแก่การทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย

- กำหนดคำนิยามของการทรมานให้สอดคล้องกับข้อ 1 ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ

- เร่งรัดสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ส่วนข้อเสนอที่น่าสนใจซึ่งแนะนำโดยสาธารณรัฐเช็ก คือ ให้มีการสอบสวนการทรมานที่เกิดขึ้นในสถานที่ควบคุมตัวระหว่างกระบวนการปรับทัศนคติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ เจ้าหน้าที่รัฐหลังการรัฐประหารปีพ.ศ. 2557 ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ตอบรับข้อนี้เพียงข้อเดียว ในเรื่องการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 การซ้อมทรมาณและการบังคับบุคคลให้สูญหายรวมไปถึงการควบคุมตัวโดยพลการเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายหรือกลไกป้องกันและการเยียวยาใด ๆ อย่างเป็นทางการ ตัวอย่างเช่น

-สิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร: การปรับทัศนคติ และระบบธำรงวินัยของทหารเกณฑ์

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ตลอด 5 ปีมานี้มีผู้ที่ถูกคสช.เรียกไปรายงานตัวถึง 929 คน โดยมีบางส่วนถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร บางรายถูกควบคุมตัวนานถึง 7 วัน บางรายเกือบ 1 เดือน โดยนักกิจกรรมทางการเมืองชื่อว่า กริชสุดา คุณะเสน ถูกควบคุมตัวในกระบวนการปรับทัศนคติตัวตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ถึง 23 มิถุนายน 2557 โดยเจ้าตัวให้ข้อมูลว่าถูกทำร้ายร่างกายและใช้ถุงดำคลุมหัวเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองอื่น

ยังมีรายงานอีกว่าเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2563 ในสัปดาห์เดียวกันมีทหารเกณฑ์ถึง 3 ราย เสียชีวิตจากการถูกลงโทษและธำรงวินัย ได้แก่ รชฏ เสนาสนิท พิชวัฒน์ เวียงนนท์ และสถาพร เผียดผัดนอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ.... ที่เสนอให้เปลี่ยนจากระบบเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจยังถูกตีตกเนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง

-การบังคับบุคคลให้สูญหายในระยะสั้นและการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2563 พบว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวไว้ในสถานที่ปิดลับหรือถูกนำตัวไปโดยพลการ ขาดการติดต่อจากญาติหรือทนายความในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 กรณี โดยในทางกฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่า การบังคับสูญหายในระยะสั้น (short term of enforced disappearance)

นอกจากนี้จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่าก่อนและหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงช่วงระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 ตุลาคม 2563 มีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 111 คนถูกควบคุมที่ตัวกองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งถือเป็นสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่สำหรับควบคุมตัวตามกฎหมายหรือไม่มีหมายควบคุมฉุกเฉิน

-บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่รองรับ

จนถึงปัจจุบันจำนวนผู้เสียหายจากการทรมานและบังคับสูญหายในประเทศไทยยังไม่แน่นอน แต่ในช่วงปี 1990 ถึง ปัจจุบัน มีอย่างน้อย 91 กรณีจากข้อมูลของ the UN Working Group of Involuntary Enforced Disappearances ทั้งนี้มี 8 กรณีที่ปิดการสอบสวนไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นมีหลายกรณีของการบังคับสูญหายทั้ง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยแต่ญาติไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น การหายไปของบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานร่วมกับชาวบ้านบางกลอย หายไประหว่างเดินทางกลับบ้านเมื่อเดือนเมษายน 2557  เมื่อเดือนเมษายน 2562 มีการพบเจอชิ้นส่วนกระดูก แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นกระดูกของบิลลี่จริง อีกทั้งกระบวนการพิสูจน์หลักฐานไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ทางอำเภอไม่สามารถออกใบมรณบัตรให้กับครอบครัวได้

นอกจากการบังคับสูญหายภายในประเทศแล้ว นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีรายงานว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างน้อย 9 รายถูกบังคับให้สูญหายจากที่พักในประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในจำนวนเหล่านี้คือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักกิจกรรมชาวไทยที่อยู่ระหว่างการลี้ภัยในประเทศกัมพูชาและเคยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยมีรายงานว่าเขาถูกชายกลุ่มหนึ่งเอาตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ ในปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของศาลกรุงพนมเปญ โดยยังไม่มีคำสั่งให้อัยการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากครอบครัวผู้เสียหาย ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมพยานหลักฐานและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของคดีจึงเป็นหน้าที่พี่สาวของวันเฉลิม

มีหลายกรณีที่ญาติหรือคนรักไม่อาจรับรู้ถึงชะตะกรรมของผู้เสียหายได้ ความสำคัญของความผิดเกี่ยวกับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายจึงไม่ใช่เพียงแค่นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ยังรวมไปถึง Right to truth หรือ การทราบชะตะกรรมของผู้ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหายอีกด้วย

-กฎหมายและกลไกอื่น ๆ ที่ใช้ในการป้องกัน

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะตอบรับข้อแนะนำที่ว่าให้ออกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังค้างพิจารณาและไม่ได้ถูกส่งเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายดังกล่าวทั้งจากภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีเพียงกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายหรือครอบครัวของผู้เสียหายจากการทรมานและบังคับให้สูญหาย แต่ความคืบหน้าในการดำเนินคดียังไม่เกิดขึ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง:

http://www.amnesty.org/download/Documents/ASA3919952020THAI.pdf

http://news.thaipbs.or.th/content/267963

วันเฉลิม : ย้อนรอยผู้ลี้ภัย ใครถูก “อุ้มหาย” บ้างหลังรัฐประหาร 2557 - BBC News ไทย