สำรวจสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในประเทศไทย

29 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ในกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 ประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิตเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลไทยให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามน้อยที่สุดหลังจากได้รับข้อเสนอแนะ ในโพสต์นี้แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ทำการสำรวจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศไทย

จำนวนข้อที่ตอบรับและรับทราบโดยไม่ปฏิบัติตาม

ในกระบวนการ UPR ครั้งที่ผ่านมามีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยที่ขอให้ยกเลิกหรือทบทวนการใช้โทษประหารชีวิตทั้งหมด 30 ข้อ แต่มีเพียง 4 ข้อเท่านั้นที่รัฐบาลตอบรับ ในขณะที่อีก 26 ข้อเพียงแค่รับทราบโดยไม่ปฏิบัติตาม

ตัวอย่างข้อเสนอที่รัฐบาลไทยได้รับมา

-เสนอให้ยกเลิกโทษประหารทันที

-ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มีเป้าหมายในการยกเลิกโทษประหารชีวิต (The Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights, aiming at the abolition of the death penalty: OP2-ICCPR)   

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามข้อเสนอทั้งสองแต่อย่างใด

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

การถกเถียงว่าให้คงไว้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตในสังคมมักเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเมื่อเกิดอาชญากรรมร้ายแรง เช่น มักมีข้อเรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิตอยู่เสมอเมื่อเกิดการฆ่าข่มขืน

จากรายงานของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันมีนักโทษประหาร (โดยคดียังไม่ถึงที่สุด) มากกว่า 235 คน ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด

มีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้อีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดยวิธีการฉีดสารพิษกับนักโทษเด็ดขาดคดีฆ่าชิงทรัพย์ ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมต่างแสดงความกังวล และ เสียใจต่อเหตุการณ์นี้

ปัจจุบันโทษประหารชีวิตยังมีอยู่ในกฎหมายอย่างน้อย 62 ฐานความผิด เช่น ฆ่าผู้อื่น ข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย และคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยตอบรับว่าจะทบทวนและยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดียาเสพติดในบางฐานความผิดและตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

ข้อมูลอ้างอิง:

http://www.youtube.com/watch?v=EyFsFVJX6hM

http://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdwkKSzlS2hYPU71py5qbCzEJbqiFn6R5Lt28HhMgUpBbMGeA/formResponse?pli=1

โทษประหารชีวิตในไทย ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ - BBC News ไทย