ชวนอ่านบทสรุปรายงาน “วัคซีนที่ยุติธรรม” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

26 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์สุขภาพที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ ได้นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลกภายในเดือนธันวาคมปี 2563 เหตุการณ์นี้ได้ตอกย้ำและขยายความรุนแรงของปัญหาความไม่เท่าเทียม และยังส่งผลกระทบต่อประชากรชายขอบอย่างไม่ได้สัดส่วน นอกจากนี้ยังนำมาสู่มาตรการของรัฐบาลในการคุกคามสิทธิมนุษยชนในหลายรูปแบบ ในขณะที่โรคระบาดยังคงแพร่กระจายอย่างควบคุมไม่ได้ แรงงานครึ่งหนึ่งของโลกต้องสูญเสียหน้าที่การงาน และวิกฤตการณ์นี้ยังผลักให้คนอีก 150 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนอย่างสุดขีด จากเหตุการณ์นี้ จะเห็นได้ว่าการพัฒนา การผลิต การจัดจำหน่าย วัคซีน และการรักษาโรคระบาดมีความจำเป็นอย่างยิ่งในระดับโลกที่จะต้องดำเนินการและเป็นในรูปแบบที่เคารพสิทธิมนุษยชน

บทสรุปรายงาน “วัคซีนที่ยุติธรรม” (A FAIR SHOT) ฉบับนี้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ระบุถึงภาระหน้าที่ของรัฐบาล ตลอดจนความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์สถานการณ์ อำนวยการรักษา และบริการวัคซีนให้ประชาชนเพื่อป้องกันโรคระบาด

บทสรุปนี้ยังชี้ให้เห็นถึงหนึ่งในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของรัฐ คือหน้าที่ในการดูแลสิทธิทางด้านสาธารณสุขทั้งกายและใจ และสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพของประชาชนในประเทศและรวมถึงประชาชนของประเทศอื่น นอกจากนี้ รัฐยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีจำนวนเพียงพอ มีคุณภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในการเข้ารับวัคซีน

ในส่วนของภาคธุรกิจ ก็มีความรับผิดชอบต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักการของสหประชาชาติที่ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติได้ระบุแนวปฏิบัติสำหรับบริษัทยาไว้ว่า "ความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนในการขยายการเข้าถึงยาสำหรับทุกคน"

  • จากบทสรุปนโยบายทำให้ทราบถึงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นการพัฒนาและการกระจายของวัคซีนโควิด-19 โดยข้อกังวลเหล่านี้ ได้แก่ความเพียงพอของวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีนในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีความกังวลเกี่ยวกับ“ลัทธิชาตินิยมกับวัคซีน” ซึ่งอาจทำให้เกิดการกระจายวัคซีนไปทั่วโลกอย่างไม่เป็นธรรมและอาจมีประเด็นในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอุปสรรค
  • ความเพียงพอของวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในระดับชาติ รวมถึงความท้าทายของระบบสาธารณสุขที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ
  • ความสามารถของรัฐบาลในการจัดหา จัดซื้อ ราคา และผลกระทบด้านลบถ้าการเข้าถึงวัคซีนนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายสูง
  • คุณภาพของวัคซีนและการยอมรับการฉีดวัคซีนของประชาชน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการทดลองวัคซีน โปรแกรมการฉีดวัคซีนที่จำเป็น และประชาชนไม่เต็มใจหรือไม่ยินยอมเข้ารับวัคซีน

 

บทสรุปนี้จะพูดถึงจุดยืนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต่อการวินิจฉัย การรักษา และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในเชิงป้องกันต่อโรคโควิด-19 (ซึ่งมักเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19”) และจะรวมถึงคำแนะนำต่อภาครัฐและภาคธุรกิจ แม้ว่าข้อโต้แย้งและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบางประการจะเกี่ยวข้องกับประเด็นทั้งหมด แต่จะให้ความสำคัญโดยรวมที่วัคซีน เนื่องจากเป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน ซึ่งบทสรุปจะรวบรวมรายละเอียดทั้งสิ้น 34 ข้อ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ภาครัฐและภาคธุรกิจควรพัฒนาและดำเนินนโยบายเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนมีจำนวนเพียงพอ เป็นที่ยอมรับและมีคุณภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งประชาชนมีกำลังซื้อ นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคธุรกิจควรดำเนินการตามหลักความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความเสมอภาค ตลอดจนการไม่เลือกปฏิบัติ
  • รัฐทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อขจัดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และสร้างความมั่นใจว่าวัคซีนจะได้รับการพัฒนาและผลิตในจำนวนที่เพียงพอและสามารถกระจายให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกภายในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ภาระผูกพันนี้ยังรวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางด้านการเงินแก่รัฐอื่น ๆ ตลอดจนการละเว้นการกระทำหรือข้อตกลงทวิภาคีที่อาจลดทอนความสามารถของรัฐอื่นในการทำเช่นนั้น โดยเฉพาะ "การกักตุน" วัคซีนเกินกว่าที่จำเป็น สำหรับประชากรที่มีความเสี่ยง
  • รัฐต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้กีดกันให้ประเทศใด ๆ ยึดกุมสิทธิด้านสุขภาพไว้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งรวมถึงการตกลงที่จะทำ 'การสละสิทธิ์' ตามข้อตกลง TRIPS บางประการ เช่น การตกลงที่จะสละสิทธิ์ในการผลิตวัคซีน COVID-19 การตกลงที่จะสละสิทธิ์ในการสนับสนุน COVID-19 Technology Access Pool (C-TAP) ของ WHO และการตกลงที่จะสละสิทธิ์ในการวางเงื่อนไขในการระดมทุนสาธารณะเพื่อให้บริษัทยามีส่วนร่วมในนวัตกรรมเทคโนโลยีและข้อมูลของพวกเขากับผู้ผลิตรายอื่น
  • ภาคธุรกิจควรพัฒนาและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีน รวมถึงการกำหนดราคาด้วยความโปร่งใส ตลอดจนการกำหนดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต้องเคารพสิทธิด้านสุขภาพและต้องวางเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีจำนวนเพียงพอและทุกคนสามารถเข้าถึงได้
  • ภาคธุรกิจควรละเว้นจากการกระทำใด ๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างไม่เหมาะสมต่อความสามารถของรัฐในการรับรองความเพียงพอของวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งควรรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ที่อาจกีดกันรัฐให้ใช้ข้อตกลงที่ยืดหยุ่นของ TRIPS หรือสนับสนุนการสละสิทธิ์ตามข้อตกลงTRIPS
  • ภาคธุรกิจควรออกใบอนุญาตที่ไม่ผูกขาดสำหรับวัคซีน รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีและเข้าร่วมองค์กรระดับโลกเพื่อแบ่งปันนวัตกรรม เช่น C-TAP ในการขยายปริมาณการจัดหาวัคซีนผ่านผู้ผลิตรายอื่น
  • รัฐต้องจัดทำแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ครอบคลุมและไม่เลือกปฏิบัติ รัฐควรพิจารณาปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของแต่ละบุคคลหรือชุมชนต่อโรคโควิด-19 และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มที่มีความขัดแย้งระหว่างอัตลักษณ์และสถานะทางกฎหมาย นอกจากนี้ กระบวนการต่าง ๆ ควรมีความโปร่งใส รวมถึงภาคประชาสังคมและกลุ่มคนชายขอบต้องมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐต้องลงทุนเพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพ รวมถึงการขนส่ง การจัดเก็บ การบริหารและตรวจสอบวัคซีน
  • รัฐต้องสร้างความมั่นใจว่าต้นทุนของวัคซีนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน  นอกจากนี้ จากผลกระทบด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจจากวิกฤตินี้ รัฐควรดำเนินการจัดหาวัคซีนฟรีให้กับประชาชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สูงสุด และถ้าจำเป็นควรขอความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
  • ภาคธุรกิจต้องพิจารณาการเตรียมการด้านวัคซีนที่รอบด้าน ทั้งในการจำหน่าย รวมถึงนโยบายในการกำหนดราคาและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้แน่ใจว่าการกำหนดราคาวัคซีนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของประชาชน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐในการจัดหาวัคซีน
  • รัฐต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัคซีนที่แจกจ่ายให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล รวมถึงผ่านการทดลองอย่างเข้มงวดและมีหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งานและโปร่งใส ตลอดจนประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้
  • รัฐต้องไม่กำหนดนโยบายบังคับฉีดวัคซีนให้กับทุกคนโดยไม่สมัครใจ แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจประชาชนมีความสมัครใจรับวัคซีนและทำได้ทุกที่และทุกเวลาที่เป็นไปได้ หากรัฐพยายามออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับสถานการณ์เฉพาะ ข้อกำหนดนี้จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านการใช้กฎหมายอาญาอย่างรุนแรงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำคุกบุคคลที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีน
  • รัฐต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับวัคซีน รวมถึงข้อมูลเหล่านี้ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีวัตถุประสงค์และหลักฐานรับรองที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้รัฐต่าง ๆ จะต้องยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่เหมาะสมทั้งหมดเกี่ยวกับสิทธิในการแสวงหา การรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน โดยรัฐควรใช้กรอบที่เหมาะสมตามพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขผลกระทบที่เป็นอันตรายจากข้อมูลที่เป็นเท็จหรือข้อมูลที่ก่อให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านสุขภาพ และรัฐต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ารัฐได้เผยแพร่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีวัตถุประสงค์ชัดเจน และมีหลักฐานยืนยัน
  • รัฐต้องสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะไม่ถูกละเมิดสิทธิด้านสุขภาพและข้อมูลส่วนตัวจากการเข้ารับวัคซีนหรือใช้สิทธการเยียวยา ผ่านกลไกการพิจารณาคดี ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สมาคมผู้บริโภค หรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลไกเหล่านี้ต้องเข้าถึงไ้ด้ง่าย มีความโปร่งใส และมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ