"Silent Voices Matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง" กับนิทรรศการศิลปะที่บอกเล่าความเจ็บปวดของเด็ก

2 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ภาพถ่ายโดย : เฝาซี ล่าเต๊ะ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กลุ่มหิ่งห้อยน้อย Child in protest และ ลิโด้ คอนเน็คท์ เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ “Silent voices matter - เมื่อความเงียบกู่ก้อง” นิทรรศการศิลปะจาก 10 ศิลปินรุ่นใหม่ที่จัดแสดงผลงานและร้อยเรียงเรื่องเล่าไร้เสียง เพื่อสะท้อนภาพปัญหาจริงของเด็กไทยที่ต้องการบอกให้ใครสักคนได้รับรู้ ซึ่งภายในนิทรรศการไม่เพียงแค่จัดแสดงผลงานศิลปะเท่านั้น ยังมีกิจกรรมให้ผู้ชมได้ร่วมสะท้อนปัญหาที่ตนเคยเจอมาในวัยเด็กด้วย 

 

ทำไมต้องกู่ก้องที่ ‘ลิโด้ คอนเน็คท์’ สยามสแควร์

 

พื้นที่การจัดแสดงผลงานศิลปะในประเทศไทยยังคงมีไม่มากนัก ยิ่งเป็นผลงานศิลปะที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้คนยิ่งมองข้ามไป จึงทำให้ตัวของศิลปินเองหาพื้นในการนำเสนอผลงานของตนได้ค่อนข้างลำบาก ซึ่ง สิรินทรา มงคลนาวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิโด้ คอนเน็คท์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้น ลิโด้ไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงภาพยนตร์ หรือพื้นที่จัดแสดงดนตรีเท่านั้น แต่ลิโด้ยังเป็นพื้นที่หรือชุมชนสำหรับวัยรุ่นหรือผู้ที่ชื่นชอบศิลปะได้มารวมตัวและมาทำกิจกรรมร่วมกัน

“สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านงานศิลปะ ที่นำเรื่องราวของเด็กๆ มาถ่ายทอดเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรา ได้รู้ว่าเด็กๆ ของเราตอนนี้กำลังพบเจอกับปัญหาอะไรบ้าง หวังว่างานศิลปินชุดนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

 

แรงบันดาลใจในผลงานศิลปะของแต่ละคน

 

แวววิศาข์ ณ สงขลา ศิลปินอิสระ เล่าถึงผลงาน “กระเป๋านักเรียนและเด็กดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะสะท้อนปัญหาของกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักเกินไป จนทำให้เด็กได้รับผลกระทบต่างๆ นานา และประสบกับปัญหาที่ผู้ใหญ่อาจจะมองข้ามไป โดยแวววิศาข์เล่าว่ากระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการเจริญเติบโต เนื่องจากการแบกรับน้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้การเจริญเติบโตของเด็กไม่เป็นไปตามเกณฑ์ แต่เด็กก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ เนื่องจากพวกเขามีเสียงที่ดังไม่เพียงพอให้ทุกคนได้ยิน

“ในตอนที่เป็นเด็กเราไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร เราเกิดมาพร้อมกับเพศของเรา แล้วเขาก็บอกว่าให้เด็กผู้หญิงใช้ของสีชมพู เด็กผู้ชายใช้ของสีฟ้า จากนั้นมันก็จะมีค่านิยมอะไรต่างๆ นานามากมายที่ถูกจัดวางมาให้เรา เช่น ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ผู้ชายต้องอดทนไม่ร้องไห้เลย” 

 

ด้านพัชรา พันธุ์ธนากุล นักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กเจ้าของผลงานที่มีชื่อว่า “ใจแตกเพราะแบบเรียน” ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อสะท้อนให้สังคมหันมาสนใจและตระหนักถึงสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะหนังสือแบบเรียนในบ้านเรายังคงยึดติดอยู่ในกรอบเดิมๆ เนื่องจากมีหนึ่งตัวละครในหนังสือเรียนที่ยังคงถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี เธอจึงมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรนำออกมาทำเป็นงานศิลปะ

“หนังสือแบบเรียนของบ้านเรายังมีปัญหาอยู่ เพราะจะมีตัวละครหนึ่งซึ่งในหนังสือมันค่อนข้างถูกตีตราว่าเป็นเด็กใจแตก เป็นเด็กเลว เราเลยรู้สึกว่าควรนำมาเป็นงานศิลปะ ผ่านการเอาตัวละครนั้นมาพูดโยงและแต่งเรื่องเพิ่ม เพื่อให้คนเห็นว่าตัวละครนี้ไม่ได้มีแค่ด้านดำด้านเดียว” 

 

โดยผลงานของพัชราประกอบไปด้วย 3 ชิ้น และเป็นงานศิลปะที่พูดถึงตัวละครในสายตาของบุคคลหรือกลุ่มคนต่างๆ เช่น สายตาของสังคม สายตาของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่สายตาของตัวละครเอง ซึ่งพัชราเธอต้องการให้ผู้ที่มาชมผลงานของเธอได้มองเห็น และตั้งคำถามเวลาดูงานด้วยว่า สุดท้ายแล้วเราคิดเห็นอย่างไรกับเด็กในทุกวันนี้ และต้องการให้สังคมตระหนักถึงการทำสื่อสำหรับเด็กให้มากขึ้น   

“เด็กในทุกวันนี้นี้ไม่ได้แค่อ่านหนังสือนิทานหรือว่าดูการ์ตูน แต่พวกเขาสามารถทำอย่างอื่นและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่ใครจะเป็นผู้ดูแลเด็กๆ บนพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งหิ่งห้อยน้อยมีเรื่องจากทางบ้านของเด็กส่งเข้ามาประมาณ 100 กว่าเรื่อง ทำให้เราได้เห็นปัญหาในหลายมิติที่ผู้ใหญ่เองก็เข้าไม่ถึง  เราจึงนำปัญหาเหล่านั้นมาตีความเป็นผลงานศิลปะเชิงสันติวิธี ซึ่งเป็นการทำให้เด็กเองก็กล้าสื่อสารมากและได้รับความปลอดภัย”

 

ด้านรวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์  ผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตน ซึ่งตัวของเธอเองเป็นคนที่ทำงานศิลปะมาโดยตลอด ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยซัพพอร์ตให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโดยการนำศิลปะเข้ามาช่วย และรวงทิพย์เองก็เป็นนักพัฒนาสื่อสำหรับเด็กด้วย เธอจึงเลือกมำงานด้านนี้ เพื่อต้องการตีแผ่ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของเด็กมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และรวงทิพย์เองได้นิยามตนเองว่าเป็น “Artivists” หรือผู้ที่ใช้ศิลปะขับเคลื่อนสังคม

“ศิลปะทำให้การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สามารถทำได้และขยายพื้นที่ได้เรื่อยๆ ศิลปะสามารถอ่อนน้อมเข้าหาผู้คน สามารถเข้าถึงคนทุกคนโดยไม่จำกัดว่าศิลปะต้องเป็นของสูง และยังสามารถสร้างสรรค์ให้กลายเป็นแฮชแทกลงไปในโลกอินเทอร์เน็ตได้เรื่อยๆ”

 

รวงทัพพ์ย้ำว่าการเปิดพื้นที่ให้เด็กมีความสำคัญเพราะเรื่องความตาย เพศ ครอบครัว ความรัก การเมือง เป็นสิ่งที่เด็กสามารถตั้งคำถามได้และรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ปลอดภัย และทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง นั่นคือผลจากการเปิดพื้นที่ให้กับเด็ก เพราะเมื่อเด็กมีพื้นที่ปลอยภัยที่ใหญ่ขึ้น พวกเขาก็จะสามารถเติบโตและเริ่มเรียนรู้ว่าการตั้งคำถามนั้นเป็นสิ่งที่ปลอดภัย และเด็กทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งผู้ใหญ่เองก็มีหน้าที่คอยสนับสนุนพวกเขา เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“เด็กคนหนึ่งที่เกิดมา เขายังไม่เหมือนพวกเรา เสียงเขาก็ไม่ดัง ตัวเขาก็ไม่ใหญ่ การเปิดพื้นที่จึงทำให้เขาได้มีเสียงมากขึ้น เราเป็นแค่คนตรงนั้นไม่ได้บังคับอะไรเขาเลย แค่เปิดพื้นที่ให้มันกว้างขึ้น” รวงทัพพ์ทิ้งท้าย


สำหรับนิทรรศการชุด “Silent Voices Matterเมื่อความเงียบกู่ก้อง” จัดแสดง ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ สยามสแควร์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ไปจนถึง 25 เมษายน 2564 นี้ และเข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ