UPR: สำรวจการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพชุมนุม

16 มีนาคม 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้กลไกการตรวจสอบและทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งจัดทำทุกสี่ปีครึ่งโดยประมาน ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 (ครั้งแรกปี 2554 ครั้งที่สองปี 2559) โดยเป็นการตรวจสอบระหว่างรัฐบาลด้วยกันเอง ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถเลือกได้ว่าจะตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจ หรือ เพียงแค่รับทราบโดยไม่ปฏิบัติตาม ในโพสต์นี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะพาผู้อ่านสำรวจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย

 

สำรวจการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพชุมนุม

จำนวนข้อที่ตอบรับ และรับทราบโดยไม่ปฏิบัติตาม

 

 

กระบวนการ UPR เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 19 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลไทยได้รับข้อเสนอทั้งสิ้น 36 ข้อ ตอบรับข้อเสนอเพียง 17 ข้อ ในขณะที่อีก 19 ข้อรับทราบแต่ไม่ปฏิบัติตาม

 

 

ประเด็นเสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 20 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลไทยได้รับข้อเสนอมาทั้งหมด 13 ข้อ ตอบรับเพียง 7 ข้อ ส่วนที่เหลืออีก 6 ข้อรับทราบโดยไม่ปฏิบัติตาม

มีอย่างน้อย 26 ประเทศที่ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมให้รัฐบาลไทยประกันว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการชุมนุมต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในจำนวนนี้มีประเทศในเอเชียเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซียและญี่ปุ่นเท่านั้น

 

ตัวอย่างข้อเสนอของรัฐบาลต่างประเทศที่เสนอต่อรัฐบาลไทย

ตัวอย่างข้อเสนอแนะที่น่าสนใจที่เน้นย้ำให้รัฐบาลไทยแก้ไขและยกเลิกกฎหมายเพื่อรับรองการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากหลายประเทศ

 

 

  • สเปน เสนอให้พิจารณาทบทวนกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาททั้งหมด   

 

 

  • เบลเยี่ยม เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

 

  • นอร์เวย์ เสนอให้ ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

 

  • สหรัฐอเมริกา เสนอให้ยกเลิกการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในฐานความผิดนั้น (ปัจจุบันมีโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี)

 

แน่นอนว่าข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทยแต่อย่างใด



สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

 

 

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเลิกคำสั่งคสช.หลายฉบับรวมไปถึงข้อ 12 ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ว่าห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในขณะที่ ประกาศคสช. 7/2557 และ คำสั่งคสช. ที่ 13/2559 ซึ่งทั้งสองมีเนื้อหาคล้ายกันยังไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะระบุถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก (anti-SLAPP law) เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 และ 165/2 แต่มาตราดังกล่าวไม่ถูกบังคับใช้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกแต่อย่างใด กว่า 25.47 % ของการใช้กฎหมายเพื่อปิดปาก (SLAPP cases) เกี่ยวข้องกับการแสดงออกบนโลกออนไลน์ อีกทั้งเกินกว่า 1 ใน 4 ของผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง

ในปี 2563-2564 จำนวนการชุมนุมทางการเมืองและผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Mob Data Thailand ได้รวบรวมสถิติตลอดทั้งปี 2563 ซึ่งมีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 779 ครั้ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่ามีจำนวน 301 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่รัฐบาลอ้างว่าประกาศใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  รวมไปถึงการตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประะมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับผู้ชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธอย่างน้อย 99 คน

 

อีกทั้งมีการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ไม่ถูกนำมาใช้กว่า 2 ปี กลับมาใช้อีกครั้ง โดยระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 70 คน จาก 60 คดี โดยมี 4 คนเป็นเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปี ยิ่งไปกว่านั้น อัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ได้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 87 ปี และลดโทษเหลือ 43 ปี 6 เดือน ซึ่งถือเป็นการตัดสินให้จำคุกยาวนานที่สุดสำหรับมาตรา 112 ทั้งนี้ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้อัญชันจำต้องสูญเสียอิสรภาพและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ กรณีล่าสุดอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี 112 ต่อผู้ต้องหาจากการชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 จำนวน 7 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อานนท์ นำภา ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) สมยศ พฤกษาเกษมสุขม ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) และ ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีทั้ง 7 คนจึงต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน