ชีวิตผู้หญิงอาจจะชอกช้ำจาก COVID-19 แต่ก็ยังมีเรื่องน่ายินดีอีกมากมาย

10 มีนาคม 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

วันสตรีสากลปี 2021

 

วันสตรีสากลควรเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง แต่ตอนนี้เราอาจรู้สึกว่าไม่ค่อยมีอะไรให้คิดบวกได้นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก

 

แต่เพราะแบบนี้ ในปีนี้การเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง - ไม่เพียงเพราะเราทุกคนต้องการข่าวดีเท่านั้น แต่เรายังมีเหตุให้มีความหวังอีกมากมาย ต่อไปนี้เป็น 10 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วซึ่งพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอแม้ต้องอยู่ภายใต้โรคระบาด

 

1. คลื่นสีเขียวของอาร์เจนตินาคว้าชัยชนะ

 

หลังจากการรณรงค์มาหลายปีโดยนักเคลื่อนไหวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในที่สุดการทำแท้งก็ถูกต้องตามกฎหมายในอาร์เจนตินาในเดือนธันวาคมปี 2020 ปัจจุบันอาร์เจนตินาสามารถทำแท้งในอายุครรภ์มากถึงสิบสี่สัปดาห์ และในระยะหลังจากนั้นในกรณีของการข่มขืนหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพ กฎหมายนี้จะช่วยชีวิตผู้หญิงอีกมาก เพราะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของมารดาในอาร์เจนตินา

 

สิ่งที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความหวังเป็นอย่างยิ่งคือความจริงที่ว่าเมื่อสิบแปดเดือนก่อนหน้านี้ข้อเสนอที่จะทำให้การทำแท้งถูกต้องตามกฎหมายถูกปฏิเสธโดยวุฒิสมาชิกของอาร์เจนตินา มันเป็นความเสียหายต่อการเคลื่อนไหวอย่างมาก แต่นักเคลื่อนไหวยังสู้ต่อไป ในตอนนั้น มาริเอล่า เบลล์สกี ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อาร์เจนตินาอธิบายว่าการลงคะแนนของวุฒิสภาว่าเป็น "ก้าวสำคัญไม่ใช่ความปราชัย"

 

ข้อเท็จจริงที่คำกล่าวของเธอได้พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องเพียงสองปีต่อมาน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น

 

2. นักเคลื่อนไหวยังคงต่อสู้กับกฎหมายการทำแท้งที่กดขี่

 

เราต้องการตัวอย่างแบบอาร์เจนตินามากขึ้นกว่าเดิม ในปีที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการจำกัดสิทธิทางเพศและการสืบพันธุ์ โดยมักใช้การแพร่ระบาดเป็นข้ออ้างในการปราบปราม

 

ในเดือนตุลาคม คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของโปแลนด์ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงได้ตัดสินให้มีการห้ามการทำแท้งในเกือบทุกกรณี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงจำนวนมากโดยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วประเทศ ในขณะที่ในเดือนมกราคม ฝ่ายนิติบัญญัติในฮอนดูรัสได้บัญญัติกฎหมายการทำแท้งที่ร้ายแรงที่สุดฉบับหนึ่งของโลก และในขณะที่รัฐบาลบางประเทศทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการทำแท้งในระหว่างการกักตัวอยู่บ้านรวมถึงการแพทย์ทางไกล ในหลายๆประเทศการดูแลอนามัยการเจริญพันธุ์ต้องหยุดชะงัก

© Grzegorz Żukowski

 

 

แต่ผู้หญิงไม่เพียงแต่รอให้รัฐบาลของพวกเขาดีขึ้นเท่านั้น พวกเขาลงมือแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตนเอง โดยเริ่มร้องทุกข์ จัดการประท้วง ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ และให้การสนับสนุนและการดูแลสุขภาพ ตัวอย่างเช่นกลุ่มสตรีในโปแลนด์ยังคงประท้วงต่อไป และต้องกล้าเผชิญต่อการคุกคาม การควบคุมตัว การดำเนินคดีและการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ นักเคลื่อนไหวกำลังวางแผนที่จะออกไปตามท้องถนนในวันที่ 8 มีนาคมและคาดว่าจะมีการประท้วงเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนอกสถานทูตโปแลนด์หรืออาคารที่เป็นสัญลักษณ์ในยุโรปเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้หญิงในโปแลนด์และอธิปไตยเหนือเรือนร่างของทุกคน

 

การเคลื่อนไหวแบบนี้สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง ดังที่เราเห็นในเดือนมกราคมเมื่อการทำแท้งถูกลดทอนความเป็นอาชญากรรมในเกาหลีใต้ การตัดสินใจส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการเคลื่อนไหว #MeToo ในประเทศ และในประเทศไทยรัฐสภาได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในประเทศที่ก่อนหน้านี้ผู้หญิงต้องเผชิญกับโทษจำคุกเนื่องจากการทำแท้งในทุกช่วงของการตั้งครรภ์

 

 

3. เด็กหญิงที่ตั้งครรภ์ในเซียร์ราลีโอนสามารถกลับไปเรียนได้

 

ในเดือนมีนาคมปี 2020 เซียร์ราลีโอนยกเลิกการห้ามเด็กผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าเรียนและนั่งสอบ ตั้งแต่ปี 2015 มีเด็กผู้หญิงท้องหลายคนถูกตีตราและปฏิเสธสิทธิ์ในการศึกษา ทำให้เสียโอกาสในการจ้างงานในอนาคต ปัจจุบันข้อห้ามนี้ได้เหลือแต่ในหนังสือประวัติศาสตร์อย่างที่ควรเป็น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่สิทธิที่เท่าเทียมกันในการศึกษา

 

 

4. กฎหมายข่มขืนได้รับการปฏิรูป

 

ในเดือนธันวาคม 2020 หลังจากการรณรงค์โดยกลุ่มสิทธิสตรีและผู้รอดชีวิตหลายปี รัฐสภาเดนมาร์กได้ออกกฎหมายกำหนดให้เพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมถือเป็นการข่มขืน เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ ก่อนหน้านี้เดนมาร์กมีกฎหมายเก่าแก่ซึ่งยอมรับการข่มขืนเฉพาะในกรณีที่มีความรุนแรงทางกายภาพ การคุกคาม หรือการบีบบังคับ

 

เคิร์สติน นักข่าวจากเดนมาร์ก ได้อธิบายว่าการได้รับความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องท้าทายเพียงใดหลังจากที่เธอรายงานการข่มขืน:

 

“ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือการให้ความสำคัญของตำรวจ ทนายความ และผู้พิพากษาว่ามีหลักฐานการใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือไม่: ว่าฉันต่อต้านหรือไม่ แทนที่จะถามว่าฉันยินยอมหรือไม่”

© Gabriel Bouys/AFP/Getty Images

 

ประเทศอื่น ๆ ก็กำลังเกิดเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกัน: ในปี 2019 กรีซได้แก้ไขกฎหมายเพื่อยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมคือการข่มขืน เมื่อปีที่แล้วโครเอเชียก็เปลี่ยนกฎหมายเช่นกัน สเปนและเนเธอร์แลนด์ประกาศแผนการที่จะทำเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนกฎหมายไม่ได้หยุดการข่มขืน แต่เป็นขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติ การให้ความสำคัญกับการยินยอมในกฎหมายส่งข้อความว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการข่มขืนอย่างจริงจัง

 

5. หลายประเทศยอมรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันมากขึ้น

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายให้กับชาว LGBTI จำนวนมาก อุปสรรคที่มีอยู่แล้วในการดูแลสุขภาพ การจ้างงาน และที่อยู่อาศัยได้ทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่การกักโรคบังคับให้คนจำนวนมากต้องขังตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย แต่แม้บริบทนี้จะเป็นที่น่าหนักใจ เราก็ยังมีข่าวดีออกมาอยู่บ้าง

 

เมื่อปีที่แล้ว คอสตาริกาได้กลายเป็นประเทศแรกในอเมริกาตอนกลางที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันครั้งแรกเกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ ประเทศกาบองลงมติให้ยุติการดำเนินคดีกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันโดยยินยอม และกฎหมายล้มเลิกการห้ามความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันมีผลบังคับใช้ในแองโกลา มอนเตเนโกรลงมติให้กฎหมายอนุญาตการเป็นหุ้นส่วนทางแพ่งของเพศเดียวกันและโครเอเชียออกกฎหมายให้การอุปถัมภ์คู่รักเพศเดียวกัน

 

และมีการเสนอและหารือเกี่ยวกับกฎหมายสองฉบับที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้คนจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมทั้งชาว LGBTI ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

 

สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการรับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ภาพรวมกำลังเปลี่ยนไปทีละนิด ทีละประเทศ

 

6. สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงานได้รับการคุ้มครอง

 

ในเดือนมิถุนายน ศาลสูงสหรัฐตัดสินให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิพลเมือง จากการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ มันเป็นการให้การยอมรับที่รอคอยมานานเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศภายใต้กฎหมาย และเป็นการย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการติเตียนอย่างมากเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทรัมป์

 

สำหรับคนข้ามเพศจำนวนมากทั่วโลกการระบาดครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัว การปิดบริการสนับสนุนและมาตรการคุ้มครองจากการกีดกันทางสังคมได้เพิ่มความเสี่ยงของความรุนแรงและผลักดันให้คนข้ามเพศไปถึงจุดชายขอบ ในกรณีที่ไม่มีมาตรการบรรเทาทุกข์หรือความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล คนข้ามเพศจำนวนมากต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ในชุมชนคนข้ามเพศหรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในวงกว้าง

 

มันมีตัวอย่างที่น่ายินดีของนักเคลื่อนไหวและชุมชนที่มารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่มากมาย แต่นักเคลื่อนไหวไม่ควรต้องเป็นผู้เติมเต็มในช่องว่างที่มาจากความล้มเหลวของรัฐบาล

 

7. ซูดานยกเลิกการขริบอวัยวะเพศหญิง

 

ซูดานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขริบอวัยวะเพศหญิงแพร่หลายมากที่สุดในโลก แต่ในเดือนกรกฎาคมปี 2020 การปฏิบัติดังกล่าวก็ผิดกฎหมาย หากกฎหมายได้ถูกบังคับใช้อย่างถูกต้อง เด็กหญิงและสตรีหลายล้านคนจะได้รับการปกป้องจากความทุกข์ทรมานที่อาจเกิดขึ้นไปตลอดชีวิต

 

8. นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีได้รับการปล่อยตัว

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ลูว์เจน อัล ฮาตทลู หนึ่งในนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่โดดเด่นที่สุดของซาอุดีอาระเบียได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังจากผ่านไปเกือบสามปี

 © Private

 

ลูว์เจน มีส่วนสำคัญในการยกเลิกการห้ามผู้หญิงขับรถ แต่กว่าจะถึงเวลาที่กฎหมายถูกเปลี่ยนแปลง เธอก็อยู่ในคุกเนื่องจากท้าทายกฎหมายการปกครองของผู้ชาย

 

ครอบครัวของลูว์เจน ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกได้รณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้เธอถูกปล่อยตัว และตอนนี้กำลังขอความยุติธรรมให้กับลูว์เจนและคนอื่น ๆ ที่ถูกทรมานในสถานกักขัง ปัจจุบันลูว์เจนยังคงถูกคุมประพฤติและอยู่ภายใต้การห้ามเดินทาง

 

ลีนาน้องสาวของเธอกล่าวว่า:

 

“ ลูว์เจนอยู่ที่บ้าน แต่เธอไม่เป็นอิสระ การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น ฉันไม่สามารถมีความสุขอย่างเต็มที่หากไม่มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด”

 

ผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนยังคงถูกจำคุกในซาอุดีอาระเบียจากการเคลื่อนไหวของพวกเขา ความยุติธรรมที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลปฏิรูปกฎหมายปราบปรามและเริ่มจับผู้ทรมานมาขึ้นศาล แต่วันนี้เราควรเฉลิมฉลองเหตุการณ์ที่หนึ่งในผู้สนับสนุนที่กล้าหาญเพื่อสิทธิสตรีของซาอุดีอาระเบียได้ออกจากคุก

 

9. สหราชอาณาจักรยกเลิก "ภาษีผ้าอนามัย"

 

ในเดือนมกราคม 2021 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ยกเลิก "ภาษีผ้าอนามัย" หลังจากที่องค์กรสตรีรณรงค์มานานหลายปี ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยได้รับการจัดประเภทให้เป็น "สินค้าฟุ่มเฟือย" ในสหราชอาณาจักรซึ่งหมายความว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ขณะนี้สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยในทุกประเทศสมาชิก

 

10. การประท้วงต่อต้านความรุนแรงตามเพศดังขึ้นกว่าที่เคย

 

ในช่วงที่เรากักตัว อัตราความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก การแพร่ระบาดของโรคนี้ได้เปิดโปงขนาดของปัญหานี้และกระตุ้นให้นักเคลื่อนไหวทั่วโลกลุกขึ้นสู้ ในปี 2020 เราได้เห็นตัวอย่างจำนวนนับไม่ถ้วนของผู้หญิงที่ส่งเสียงเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากความรุนแรง ในนามิเบีย ผู้ประท้วงทำให้เมืองหลวงหยุดนิ่งเมื่อพวกเขาออกไปตามถนนเพื่อประท้วงความรุนแรงทางเพศและการเจาะจงฆ่าเพศหญิง

 

ในตุรกีและยูเครนได้มีการประท้วงครั้งใหญ่ที่เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนอนุสัญญาอิสตันบูล (สนธิสัญญาระดับภูมิภาคเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว) ในขณะที่ผู้หญิงหลายล้านคนทั่วอเมริกาใต้ได้ประท้วงหยุดงานในเดือนมีนาคมเพื่อประท้วงความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมกัน

© NurPhoto via Getty Images

 

ความแน่นอนที่จะต้องรับโทษเป็นสิ่งสำคัญในการยับยั้งผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ แต่คุณไม่จำเป็นต้องออกไปประท้วงเพื่อให้เสียงของคุณเป็นที่ได้ยิน

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังรณรงค์เพื่อความยุติธรรมให้กับเบอร์ตา กาเซเรส นักปกป้องสิทธิชาวฮอนดูรัสที่ถูกสังหารเมื่อ 5 ปีก่อน รวมถึงโปปีและบองเกกา นักเรียนสองคนที่ถูกสังหารในแอฟริกาใต้

 

นอกจากนี้คุณยังสามารถร่วมเสียงของคุณในแคมเปญของเราเพื่อปกป้อง จานิ ซิลวา ซึ่งได้รับภัยคุกคามจากการทำงานของเธอในการปกป้องป่าอเมซอนในประเทศโคลอมเบีย