จิบเรื่องราวสิทธิมนุษยชนในถ้วยกาแฟ

7 มีนาคม 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

รู้หรือไม่ว่า.. เครื่องดื่มรสขมที่คนทั่วโลกดื่มเพื่อเริ่มต้นวันใหม่อย่าง ‘กาแฟ’ เกี่ยวข้องกับ ‘สิทธิมนุษยชน’ อย่างไร ?

รู้หรือไม่ว่า.. ใต้กลิ่นหอมและรสขมเข้มข้นของกาแฟ มีเรื่องราวของแรงงานทาส การเหยียด และการต่อสู้ของพลเมืองที่เข้มข้นไม่แพ้กันซ่อนอยู่

วันนี้แอมเนสตี้จะมาเล่าให้คุณฟัง

เพราะเราเชื่อว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ อยู่ในชีวิตของเราทุกคนในทุกวัน

#EveryDayRights

 

02.jpg

 

‘บราซิล’ คือแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก นักดื่มกาแฟแทบทุกคนเป็นต้องเคยจิบกาแฟจากบราซิล แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่า ต้นกำเนิดของเมล็ดกาแฟในแก้วของเราคือ ‘ชีวิตคน’ ที่รสขมไม่แพ้กาแฟ

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไร่กาแฟทางตอนใต้บราซิลคือแหล่งรวมของ ‘แรงงานทาส’ ที่ถูกซื้อตัวมาจากแอฟริกาในราคาถูก หลายคนเป็นแรงงานขัดหนี้ (ทำงานแทนการชำระหนี้) ชีวิตประจำวันของพวกเขาคือการแบกกระสอบ เก็บเมล็ดกาแฟกลางแดดร้อนๆ ยาวนาน 14 ชั่วโมงต่อวันเพื่อแลกกับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด หลายครั้งแรงงานเหล่านี้ถูกกดขี่ย่ำยีศักดิ์ศรีและถูกลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายหรือไม่จ่ายค่าแรง ในไร่บางแห่งใช้ห้องพักขนาดสองเตียงเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ใหญ่ 6 คนและเด็กอีก 2 คนโดยใช้กระสอบเก็บเมล็ดกาแฟเป็นผนังกั้นห้อง แรงงานไร่กาแฟบางคนเล่าว่าเขาดื่มน้ำจากคูน้ำใกล้บ่อบำบัดน้ำเสีย และต้องกินมะละกอเพื่อประทังชีวิตในยามที่ไม่ได้ค่าแรง

จากข้อมูลของแรงงาน เมล็ดกาแฟเหล่านี้ถูกส่งให้กับธุรกิจอาหารและร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมากมายที่พูดชื่อไปใครๆ ก็ต้องรู้จักและเคยใช้บริการ

จนในปี 2003 บราซิลเป็นประเทศที่ริเริ่มการปราบปรามแรงงานทาส มีการกระจายกำลังเพื่อตรวจสอบไร่เกษตรกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม มีการออกบทลงโทษกับธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างทารุณ ทำให้แรงงานทาสมากกว่า 800 คนได้รับอิสรภาพในปี 2016 และขึ้นแบล็คลิสต์กับธุรกิจที่ใช้แรงงานทาสและละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ไม่สามารถส่งออกเมล็ดกาแฟแสนอร่อยที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตคนที่โดนกดขี่ได้อีก

–––––––––––––––––––––––––––––––––

อ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ข้อที่ 4 ไม่ตกเป็นทาส และข้อ 23 สิทธิในการทำงาน ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/ 

 

03.jpg

 

ในปัจจุบัน ร้านกาแฟเป็นทั้งที่ทำงาน ห้องประชุม มุมถ่ายรูปชิคๆ และที่นั่งพักผ่อน แม้ร้านกาแฟในตอนนี้่จะดูเป็นสถานที่สำหรับ ‘ทุกคน’ แต่หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างนั้น

ช่วงศตวรรษที่ 18 สภากาแฟ หรือ ‘Coffeehouse’ อย่าง William Lloyd’s Coffee House ในอังกฤษ คือสถานที่ที่พ่อค้าและนักเดินเรือมาพบปะ นั่งดื่มกาแฟเพื่ออัพเดทข่าวสาร และทำธุรกิจซื้อ - ขายทาสกันที่นั่น ร้านกาแฟในเวลานั้นจึงไม่ใช่สถานที่ของทุกคน แต่เป็นสถานที่เฉพาะของคนผิวขาว โดยมีคนผิวสีเป็นเพียงบริกร และนั่นคือสถานที่หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเหยียดสีผิว

ในปี 2561 ชายผิวสีสองคนในอเมริกาถูกตำรวจจับกุมและใส่กุญแจมือขณะเข้าไปใช้บริการร้านกาแฟชื่อดัง เพียงเพราะพนักงานแจ้งว่าพวกเขาบุกรุก โดยการขอใช้สถานที่และห้องน้ำโดยไม่สั่งกาแฟ ในขณะที่คนอื่นในร้านที่ทำแบบเดียวกันกลับไม่มีใครว่าอะไร

เหตุการณ์นี้ทำให้ตั้งคำถามว่า การแบ่งแยกและความไม่เท่าเทียมในร้านกาแฟในวันนั้น ยังคงไม่หมดไปในปัจจุบัน ?

เมื่อไม่นานมานี้บริษัท Lloyd’s of London สถาบันประกันภัยระดับโลกที่มีจุดเริ่มต้นจากร้านกาแฟ William Lloyd ในอังกฤษได้ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษที่เคยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าทาสและเหยียดสีผิวในช่วงเวลานั้น

–––––––––––––––––––––––––––––––––

อ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ข้อ 2 ไม่แบ่งแยก ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/

 

04.jpg

 

ช่วงปีค.ศ. 1960 ในสหรัฐอเมริกายังมีการแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสี ร้านอาหารหรือร้านกาแฟมีการจัดโซนแบ่งแยกคนสองกลุ่มออกจากกัน และบางร้านก็ประกาศชัดเจนว่าไม่ให้บริการคนผิวสี

วันหนึ่งนักศึกษาผิวสีสี่คนได้เข้าไปนั่งและสั่งกาแฟในร้าน Woolworth ใน North Carolina ที่ออกตัวว่าไม่ให้บริการคนผิวสี แน่นอนว่าทั้งสี่ไม่ได้รับการบริการและตั้งใจนั่งอยู่จนกระทั่งร้านปิด

จากเหตุการณ์ในวันนั้นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Sit-in Movement’ รูปแบบการประท้วงที่คนผิวสีพากันเข้าไปนั่งเฉยๆ ในร้านค้าหรือสถานบริการต่างๆ เพื่อตั้งคำถามและแสดงออกเพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวและการเลือกปฏิบัติของสังคม

การสั่งกาแฟแค่แก้วเดียวในวันนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองที่ทำให้คนผิวสีอีกมากมายเริ่มลุกขึ้นตั้งคำถามต่อการกดขี่ทางสีผิว และกลายเป็นเทรนด์การประท้วงอย่างสงบที่ทำให้เกิดการแสดงออกด้วยการ ‘นั่ง’ อย่างสงบในอีกหลายที่ทั่วอเมริกา

–––––––––––––––––––––––––––––––––

อ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ข้อ 20 เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/