รายงานสถานการณ์ระหว่าง 22 ตุลาคม –7 พฤศจิกายน 2563: ชุมนุมหลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และการปล่อยตัวผู้ชุมนุม

16 พฤศจิกายน 2563

Amnesty International Thailand

ข้อมูลจาก mobdatathailand.org

หลังการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งความพยายามหาทางออกของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยขอให้รัฐสภาเปิดการประชุมสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 เพื่อรับฟังข้อเสนอจากรัฐสภา แต่การกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเบาบางลง เนื่องจากข้อเรียกร้องของพวกเขายังไม่ได้รับการตามสนองจากรัฐบาลสักข้อเดียว ขณะเดียวกันแกนนำผู้ชุมนุมยังคงถูกคุมขังและการดำเนินคดีอยู่เป็นระยะ โดยการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันและกระจายไปทั่วประเทศส่วนใหญ่ดำเนินไปอย่างไร้แกนนำ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม –7 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครอย่างน้อย 22 ครั้ง และต่างจังหวัดอย่างน้อย 50 ครั้ง

 

ข้อเรียกร้องยืนยันสามข้อเรียกร้อง และให้ปล่อยตัวแกนนำ

การชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงยืนยันสามข้อเรียกร้อง คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีออกไป 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ปราศจากการแทรกแซงจากชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นนายพลหรือกษัตริย์ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้นำไปสู่กิจกรรมสำคัญสองครั้งใหญ่ คือ วันที่ 26 ตุลาคม 2563 กิจกรรมการเดินขบวนชุมนุมไปยังหน้าสถานฑูตเยอรมนีเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพระมหากษัตริย์ไทยว่ามีการใช้อำนาจอธิปไตยในแผ่นดินเยอรมนีหรือไม่ และวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2563 กิจกรรมเชิญชวนไม่เข้ารับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ขณะที่เดียวกันอีกด้านหนึ่งวันที่ 26 ตุลาคม นิติธร ล้ำเหลือ อดีตทนายความของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่ม กปปส. ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลเยอรมันรับฟังและพิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่บิดเบือนก่อให้เกิดเหตุการณ์บานปลายหรือเกิดความเสียหายต่อประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมทุกคนที่ถูกจับ เช่น กิจกรรม #นอนแคมป์ไม่นอนคุก #นักสู้ไม่ใช่นักโทษ ที่มีนักศึกษาประชาชน300-400 คน มาชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หรือการทำกิจกรรมริมถนนหน้ารั้วศาลอาญา รัชดา ของกลุ่ม “ดีจังยังทีม” เพื่อนของตัน สุรนาถ แป้นประเสริฐ ผู้ที่ถูกคุมขังฐานประทุษร้ายพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.110 ทั้งนี้ระหว่างที่การชุมนุมเกิดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมตัวก็ทยอยได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ โดยวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ราชทัณฑ์ได้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมชุดสุดท้ายจำนวน 4 คน 

ทั้งนี้ยังมีข้อเรียกอื่นๆ คือ การชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ฝั่งตรงข้ามตึกสำนักข่าวเนชั่น ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยตรวจสอบเนื้อหาข่าวของเนชั่น และวันเดียวกัน กลุ่มคณะจุฬาฯ จัดการชุมนุม #รัฐร้าวร้านเราไม่ลืม ที่สกายวอล์กปทุมวันเพื่อสะท้อนความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชนตั้งแต่อดีต เช่น เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงเหตุการณ์พฤษภา 53  และการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณสี่แยกปทุมวัน

 

การคุกคามปิดกั้น

1. ห้ามวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

แม้การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศจะเห็นด้วยในข้อเรียกร้อง 3 ข้อ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมปราศรัยหรือแสดงออกใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น วันที่ 24 ตุลาคม 2563 จังหวัดอุดรธานี กลุ่มคณะราษฎรอุดรธานีจัดกิจกรรมฌาปนกิจศพ นายประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยก่อนหน้าวันชุมนุมผู้จัดกิจกรรมได้แจ้งการชุมนุมกับตำรวจ โดยตำรวจให้จัดได้แต่ห้ามพูดถึงและมีป้ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หากทำตามข้อตกลง ตำรวจจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ และวันชุมนุมตำรวจได้ให้ผู้จัดกิจกรรมเซ็นต์เอกสารเกี่ยวกับการชุมนุมเพิ่มเติม โดยมีใจความว่า ผู้จัดและผู้ชุมนุมจะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่ก้าวล่วงหรือจาบจ้วงสถาบันฯ และต้องไม่มีป้ายหรือธงในลักษณะเดียวกัน

 

2. เจ้าหน้าที่ตามถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ

การชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษามักถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคุกคามด้วยการถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ ขณะที่พวกเขาทำกิจกรรมทำให้เกิดความกลัวจนผู้ชุมนุมไม่กล้าแสดงออกและจำนวนหนึ่งไม่เข้าร่วมกิจกรรม เช่น วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นักศึกษาได้จัดการชุมนุมโดยมีคนมาร่วมราว 30 คน และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอย่างน้อย 3 นาย อยู่ในพื้นที่คอยถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ทั้งหมด หรือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 “คณะราษฎรชัยนาท”[1] ได้นัดหมายจัดกิจกรรม #เราคือราษฎร บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท เพื่อให้ผู้รักประชาธิปไตยมาร่วมถ่ายรูปกับป้ายไวนิลหมุดคณะราษฎร 2563 แต่เมื่อถึงเวลาจัดกิจกรรมพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงาน ไม่ต่ำกว่า 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย ได้เข้ามาติดตามเฝ้ามองในพื้นที่ทำกิจกรรม เมื่อผู้จัดได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมมาถ่ายรูปกับป้ายก็มีกลุ่มเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้ามาล้อมทั้งถ่ายรูปและวิดีโอ ทำให้นักเรียนนักศึกษาไม่กล้าเข้ามาทำให้กิจกรรมต้องยุติโดยใช้เวลาเพียง 15 นาที 

 

3. กดดันให้ย้ายสถานที่

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย นักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอ ได้นัดหมายจัดกิจกรรม #เวียงป่าเป้าบ่เอาเผด็จการ ในบริเวณตลาดสดแม่ขะจาน โดยก่อนหน้านี้ผู้จัดได้พูดคุยกับผู้ดูแลตลาดสด และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ในการทำกิจกรรมแล้ว แต่วันจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงบันทึกการลงประจำวันจากเจ้าของตลาดไม่ให้จัดกิจกรรม นักเรียนจึงต้องย้ายสถานที่ไปจัดในลานฌาปนสถานของตำบลแม่เจดีย์ซึ่งเป็นป่าช้าของชุมชนแทน[2] ในการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้าสอบถามชื่อสกุลของนักเรียนที่มาร่วมด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้าวันชุมนุมนักเรียนจำนวนหนึ่งที่จะเข้าร่วมกิจกรรมยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้านและที่ทำงานของผู้ปกครอง จนทำให้นักเรียนถูกผู้ปกครองสั่งห้ามไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม 

 

4. ติดตามนักกิจกรรมอีสานก่อน ร.10 เสด็จฯ

การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินของรัชกาลที่ 10 ณ วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรม ที่เคยจัดกิจกรรมชุมนุมในจังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญ[3] ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด ติดตามหาตัว สอบถาม ห้ามทำกิจกรรม แม้กระทั่งคุมตัว ในช่วงเวลา 2-3 วัน ก่อนการเสด็จฯ โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าใช้วิธีบุกไปหาถึงบ้าน และสอบถามว่าในวันดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมหรือไม่ ในกรณีของฉัตรชัย แก้วคำปอด กลุ่มคณะอุบลปลดแอก ในวันที่มีการเสด็จฯ เขาได้เดินทางเพื่อจะไปรับเสด็จฯ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ 5 นาย พาไปนั่งทานกาแฟและเฝ้าเขาไม่ให้ไปไหนเป็นเวลากว่าเกือบ 6 ชั่วโมง จนรัชกาลที่ 10 เสด็จกลับ 

 

5. เข้มตรวจบัตรประชาชนวันรับปริญญาธรรมศาสตร์

งานรับปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2563 โดยรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางความร้อนแรงทางการเมืองซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องระบุถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีกระแสการรณรงค์ไม่เข้ารับปริญญา รวมทั้งการประกาศท้าทายฝ่ายความมั่นคงว่าจะมี ‘บิ๊ก เซอร์ไพรส์’ ภายในงาน ทำให้การรักษาความปลอดภัยเข้มงวดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มีเจ้าหน้าทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยเฉพาะนอกเครื่องแบบนั้นมาจากหลายหน่วยงานกระจายตัวอยู่จำนวนมากภายในมหาวิทยาลัยและบริเวณโดยรอบ รวมถึงมีเรือตรวจการณ์ในแม่น้ำเจ้าพระยาหลายลำ 

การเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยจะต้องผ่านจุดตรวจซึ่งอยู่ที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละด้าน มีการตรวจบัตรประชาชน ณ จุดตรวจอย่างเข้มงวด โดยต้องนำบัตรสอดเข้าเครื่องสแกนของเจ้าหน้าที่ หากข้อมูลปรากฏบนหน้าจอมือถือของเจ้าหน้าที่เป็น ‘สีแดง’ คนนั้นจะถูกแยกไปอีกจุด มีการถ่ายภาพหน้าตรงของบุคคลดังกล่าวก่อนจะได้รับสติ๊กเกอร์แล้วผ่านไปได้ ทั้งนี้บุคคลที่มีปัญหาสีแดง เช่น อั๋ว จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ รวมถึงอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ.คนหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคาดว่ามาจากการเป็นบุคคลที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือเสรีภาพการแสดงออกต่างๆ

 

6. ผู้ชุมนุมยังคงถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินดคีกับผู้ชุมนุมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินดคีอย่างน้อย 15 คน คือ การชุมนุมที่จังหวัดอุบลราชธานี 1 คน[4] การชุมนุมที่เชียงใหม่ 7 คน[5] และกรุงเทพมหานคร (สถานฑูตเยอรมนี) 7 คน[6] โดยผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกดำเนินคดีคล้ายกันคือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  แต่ในกรณีของวิศรุต สวัสดิ์วร นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เนื่องจากมีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำปราศรัยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง 

ขณะที่กรณีผู้ชุมนุมทั้ง 7 คน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2) และมาตรา 18, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง จากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน[7] ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 

 

การชุมนุมของกลุ่มคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ 

การชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย กลุ่มนี้แสดงพลังด้วยการใส่ “เสื้อเหลือง” แม้โดยส่วนใหญ่การชุมนุมจะเป็นการแสดงออกโดยสงบ แต่มีบางกลุ่มแสดงออกชัดเจนถึงการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง[8] กลุ่มอาชีวะช่วยชาติและกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวนหนึ่งได้นัดชุมนุมใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จนเหตุการณ์ปะทะเมื่อผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองประมาณ 80 คน พยายามใช้กำลังผลักดันรั้วเหล็กผ่าด่านตำรวจเข้าไปหากลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายจนมีผู้ได้รับผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าแกนกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองบางคนมีความใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาล[9] นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมอีกหลายครั้งที่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองได้จัดกิจกรรมในพื้นที่เดียวกับผู้ชุมนุมที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การชุมนุมหน้าสถานฑูตเยอรมนี



[1] https://tlhr2014.com/?p=22923&fbclid=IwAR3MZhVz_YLrrzWc3CT7KJCceP7ZTKqFF0M2P6FrL9fRS_7xx7ZvtIyrvnc

[2]

[3] https://tlhr2014.com/?p=22456&fbclid=IwAR3J81fR4v5cToK_jOw2qygCso18-xXCXBSUVItw5BcN-gEU3iCW3P9SyVE

[4] https://tlhr2014.com/?p=22963&fbclid=IwAR3WRwleAmGpiFf0atNEPn3sA9b5_lKfeRJWhILyrd-iX3XCVsXqPxnGjzQ

[5] https://tlhr2014.com/?p=22405

[6] https://tlhr2014.com/?p=22881&fbclid=IwAR1Bf2gkmMDeQf_IJ4RXrgrFQFfk6-yYhUEUjKb7Q-s9oaFjXKtZKu9YqF4

 

[8] https://web.facebook.com/iLawClub/posts/10164547177380551