#PortraitOfWHRDs : บุษยาภา ศรีสมพงษ์

27 ตุลาคม 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: บุษยาภา ศรีสมพงษ์
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati

"ตั้งแต่เราลงไปทำงานในพื้นที่ หรือพูดเรื่องกระบวนการเข้าถึงความยุติธรรมในเวทีต่างๆ มันจะมีทั้งเรื่องเพศ และเรื่องความอาวุโส ถ้าเรายังอายุไม่มากพอ หรือยังไม่ได้จบปริญญาเอก ผู้ใหญ่ก็จะไม่ค่อยฟังเราเท่าไหร่ เราก็เลยรู้สึกว่าเวลาเราพูดถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องแรงงานข้ามชาติเอง หรือกรณีเด็กและผู้หญิงที่โดนกระทำ นับตั้งแต่มี 2017 ที่ทำงานและออกเวทีมากขึ้น เราก็รู้เลยว่าผู้ใหญ่เค้าไม่ได้ฟัง หรือให้น้ำหนักกับสิ่งที่เราพูดมากขนาดนั้น ทั้งที่เราเก็บข้อมูล เอาข้อมูลจากคนในพื้นที่มา และทั้งที่เราอยู่หน้างาน Grassroots จริงๆ"

สำหรับกรณีความรุนแรง บางทีเราก็ไปสถานีตำรวจกับผู้เสียหายด้วยเลย ทั้งที่เรามองว่ากรณีอาญา กรณีความรุนแรงแบบนี้ ช่องทางที่ควรจะเป็นคือ ตำรวจ อัยการ ศาล เราไม่จำเป็นต้องมีทนายก็ได้ คดีควรจะไปตามช่องทางปกติ แต่ด้วยความที่ผู้เสียหายมีความเปราะบาง ต้องการการเสริมพลัง จึงจำเป็นต้องมีคนคอยสนับสนุนระหว่างทาง บางครั้งเราก็ต้องไปกับผู้เสียหายด้วย วิธีการที่เจ้าหน้าที่พูดกับเรา ทำให้เรารู้สึกแย่ พูดเหมือนกับเรื่องนั้นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย หรือบางครั้งก็มีการถามว่า เราเป็นใคร เราเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร ทำไมเราถึงต้องมาช่วยเขา อันนี้เจอในระดับปฏิบัติ เราก็มองว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เรามองว่าถ้าเราเป็นผู้ชาย เค้าจะใช้คำพูดและท่าทางกับเราแบบนั้นมั้ย

"คำถามบางอย่างเช่น เพราะเราเป็นผู้หญิงเราก็เลยมาหยุมหยิมเรื่องพวกนี้รึเปล่า ก็เลยมา Emotional (ใส่อารมณ์) เรื่องพวกนี้หรือเปล่า เพราะว่าเป็นผู้หญิง มันก็ทำให้เราคิดเหมือนกันนะว่าเรา Emotional เกินไปมั้ย แต่ตอนหลัง เราก็คิดว่ามันไม่ใช่ เรายืนอยู่บนความถูกต้อง"

คือเวลาเราทำคดีอ่ะ หรือแม้แต่คดีเราเอง เราก็พยายามให้เป็นไปตามกลไกที่ถูกต้องให้มากที่สุด แต่บางครั้งระบบกลไกมันไม่เดิน เช่น เคยมีกรณีคุกคามออนไลน์ คุกคามทางเพศ ซึ่งกฎหมายคุ้มครองอยู่แต่พอนำมาปฏิบัติกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือ แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ถูกบ่ายเบี่ยงออกจากกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราจะใช้วิธีการแบบที่มันเร็วๆ อย่างเช่น มีคนบอกว่าน้องคนนี้ถูกคุกคาม เราไปเอาเรื่องคนที่กระทำกันเองเลยดีไหม คือมันก็ไม่ได้ เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ศาลเตี้ย (vigilante) เราคิดว่าเราเป็นคนคนหนึ่งที่ยืนอยู่บนหลักความถูกต้องและความยุติธรรม แล้วต้องมีความเป็นธรรมจริง ๆ ที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่ความยุติธรรมแบบเอียง

เราพยายามอธิบายให้ฟังว่า เวลามีกรณีเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือการข่มขืน ยกตัวอย่างตั้งแต่เราทำงานมา เราเจอกรณีที่มันเปราะบาง ผู้เสียหายโดนกระทำมาหนัก ถ้าเราใช้วิธีการจ้องจับผิดแบบนักกฎหมายทั่วไป ที่ต้องถามคำถามแบบจับผิด ก็เหมือนเขา (ผู้ถูกกระทำ) โดนข่มขืนซ้ำ มันจะมีสักกี่รอบที่เหยื่อสามารถพูดเหตุการณ์ออกมาได้อีก เราก็เลยพยายามจะรณรงค์ว่า เวลาเราพูดถึงความเท่าเทียม สังคมจำเป็นต้องตระหนักถึงกลุ่มคนที่เปราะบางจนไม่มีอะไรจะมาเท่าเทียม

ในประเทศไทย ก็จะบอกว่าหญิงชายก็เท่าเทียมแล้วหนิ แต่สังคมกับลังเทียบบนหลักคำว่า sameness (ความเท่าเทียม) แต่ลืมคำว่า Equity (ความทัดเทียม) ลืมว่าคนแต่ละคนยืนอยู่บนบันไดที่ไม่เท่ากัน

พอเรารู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงคนนึงที่ ออกมาพูดว่าอันนี้คือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ คนก็จะโกรธทันที คือคำว่าชายเป็นใหญ่ไม่รู้เป็นอะไร พูดทีไร โกรธทุกที คือคำว่าผู้ชายเป็นใหญ่ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ชายแย่ หรืออะไร แต่ก็มาจากระบบ fatherhood ระบบพ่อปกครองลูก สิ่งที่เราวิจารณ์คือกรอบความเป็นชาย ที่ไม่ได้ทำลายแค่ผู้หญิง เด็กนะ แต่มันก็ทำลายผู้ชายเองด้วย

"เราต้องออกตัวอธิบายก่อนว่า Gender-based violence (ความรุนแรงบนพื้นฐานด้านเพศสภาวะ) มันเป็น Umbrella term (ศัพท์ที่มีความหมายกว้าง) ที่ใหญ่กว่า Domestic violence (ความรุนแรงในครอบครัว) เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศจริงๆ คือผู้ชาย ก็โดน ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Toxic masculinity (ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ) แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่าในขณะที่ผู้ชายก็โดน ผู้หญิงโดยสถิติ และจาก Empirical research (งานวิจัยในเชิงประจักษ์)และสถิติต่างๆ ผู้หญิงโดนมากสุด บางคนก็จะมาน้อยใจว่าทำไมเราทำงานพูดถึงแต่ กับผู้หญิง แต่เราก็ต้องยืนยันว่าผู้หญิง Vulnerable (เปราะบาง) ต่อความรุนแรงมากที่สุด เพราะฉะนั้น แหล่งทรัพยากรหรือความสนใจก็มักจะมุ่งเป้าไปให้ผู้หญิง คือเหมือนคนที่กำลังตกเหว ในขณะที่เรามีกำลังช่วยเหลือจำกัด เราต้องรีบไปช่วยคนที่เปราะบางสุด"

บางทีมีคนเอาข่าวเราไปแชร์ บางคนมาสัมภาษณ์เรา เราก็พูดแต่เรื่องการทำงานด้วยซ้ำ ไม่ได้ว่าผู้ชาย หรือใช้คำว่าชายเป็นใหญ่เลย ก็จะมีคนมาแสดงความเห็นว่า พวก Feminist อีกแล้ว ขายสวยเหรอ อะไรอ่ะ แล้วบางทีเรากลับไปดู เนื้อหาของเราไม่ได้มุ่งโจมตีใครเลย เมื่อก่อนเราค่อนข้างเป็นกลางมาก เพราะเราทำกรณีของผู้ชาย หรือกลุ่มเด็กผู้ชายที่เปราะบางก็มี จะไม่ค่อยเอาเรื่องความชายเป็นใหญ่มาพูดขนาดนั้น เพราะกลัวเคสเข้าใจผิด หรือไม่รู้ ทั้งที่เราพูดแล้วว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกคน ก็ยังมีคนจะน้อยใจอยู่เลย

เรื่อง Gender-based violence จะมีตัวแสดงที่ทำเรื่องนี้อยู่กลุ่มหนึ่ง โดยปัจจุบันสมาชิกกลุ่มนั้นมีประมาณ 800 คนทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะออกแบบเครื่องมือต่างๆออกมา นำโดย ยูเอ็นเอเจนซี่และองค์การระหว่างประเทศที่ทำเรื่องhumanitarian ยังพูดกันเลยว่า ผู้ชายที่ทำเรื่องนี้จริงๆ ก็ยังคงหายากอยู่ ทุกคนที่ทำงานมา ไม่ว่ากี่สิบปีก็จะเจอคำถามนี้ตลอด ว่าแล้วผู้ชายล่ะ คือถามเสร็จก็ไม่ทำอะไรต่อ ถามเสร็จแทนที่หลังจากพวกเราให้ข้อมูลไปว่านี่คือสถิติ นี่คือเครื่องมือที่คุณจะเอาไปใช้ต่อได้ แล้วพวกคุณเลือกจะทำต่อมั้ย ก็ไม่ คือคนที่ถามส่วนใหญ่ คือถามแล้วก็เงียบ คำถามแบบที่เราเรียกว่า What aboutery แล้วเราล่ะ ๆ มันไม่สร้างสรรค์ถามเพื่อโจมตีอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงเจอ ไม่ว่าอย่างไรก็เจอ ไม่รู้ทำไม เหมือนกลายเป็นว่าพอเรามาทำงานเพื่อช่วยคนที่เป็นเหยื่อ เค้าก็รู้สึกขัดหูขัดตา

การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการต่อสู้ในไทยมันก่อให้เกิดบาดแผลนะ มันเหนื่อยทั้งกายและใจ เวลาเราคุยเราก็จะดูแล้วว่าเคสไหวมั้ย ถ้าไม่ไหวแน่ๆ ก็ต้องเน้นเรื่องการดูแลตัวเองก่อน เสริมพลังก่อน เราอยากจะทำงานให้เกิดการผลักดันเชิงกฎหมายด้วย ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย 

เราไม่แน่ใจว่า IO เค้าตามเราหรือเปล่า แต่จะมีตอนนึงที่คน Log in เข้ามาทวิตเตอร์เรา แล้วขึ้นว่ากรุงเทพ แล้วเข้ามาได้ยังไงในเมื่อตอนนี้เราไม่ได้อยู่ที่ไทยด้วยซ้ำ ตอนนั้นก็เลยเปลี่ยน Password ทุกอย่างในอินเตอร์เน็ต เราเคยอบรม Human Rights Defender’s security (ความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิ) หรือ online security (ความปลอดภัยทางออนไลน์) เราก็เรียนมาระดับนึง แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะใช้ เพราะตัวเองไม่ใช่บุคคลโด่งดัง แต่ตอนหลังก็เลยเริ่มใช้ VPN เปลี่ยน Password แล้วก็เริ่มคุยกับเพื่อนในช่องทางที่ปลอดภัยมากขึ้น

ถ้าเป็นผู้ชายมาพูดเรียกร้องสิทธิ เค้าจะไม่ถามเราเลย เราเคยเห็นเวลานักเคลื่อนไหวผู้ชายมาพูดเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์การฆ่าตัวตายของผู้ชาย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้ชาย คนก็จะ เออๆ ใช่ๆ ไม่มีใครมาแบบแล้วผู้หญิงอ่ะ เพราะผู้หญิงก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องมาพูดถึงผู้หญิง เพราะประเด็นก็เห็นชัดแล้วว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย

เวลาเราอ่านข่าว หรือเวลาที่เราเห็นผู้ชายพูดในเรื่องของเขา เราก็เห็นใจ เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าว่าเราจะต้องไปขัดขวางเขาเลย เพราะเราก็รู้สึกว่าเราก็มีพี่น้อง เราก็มีเพื่อนผู้ชาย วันนึงเราก็อาจจะมีลูก สิ่งนี้เราก็สนุบสนุนให้ทุกคนตระหนักรู้เลย ประเด็นระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย มันยังมีความลำเอียงอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดมาจากการหล่อหลอมในสังคม

"ภาพของผู้หญิง อย่างเช่นสะท้อนในระบบกระบวนการยุติธรรมไทย สมมติสามีทำร้ายภรรยา ลองเอาฎีกามานั่งเปิด เอาความเห็นนักวิชาการในด้านยุติธรรมมาดู ส่วนใหญ่จะให้ใช้ระบบสมานฉันท์ ใจดีกับผู้ชายไปเลยและใช้ข้ออ้างว่า ผู้ชายก็เป็นอย่างนั้นแหละ มีความเครียด กินเหล้า อย่าให้เขาติดคุกเลย ให้เขาไปบำบัดก่อน เอาคุณภรรยามาไกล่เกลี่ยกันดีกว่า แล้วมาตรการไกล่เกลี่ยก็จะโดนใช้ถ้าสามีเป็นผู้กระทำ หรือไม่ก็ผลักไปว่า ไม่ต้องมาแจ้งความหรอก เดี๋ยวก็กลับมาดีกัน แล้วก็จะมีเคสที่ผู้หญิงมาแจ้งความ 3-4 รอบ แล้วยังไม่ได้ความช่วยเหลือ สุดท้ายโดนฆ่าก็มี สุดท้ายโดนทำร้ายหนักๆ ก็มี"

"เราจะเห็นตลอดเลยถ้าผู้ชายเป็นผู้กระทำ มักจะเกิดทัศนคติโดยอัตโนมัติว่าเขาคงจะมีปัญหาอะไรซักอย่าง เราใช้ระบบการเยียวยาดีกว่า โดยถามว่าเราเห็นด้วยกับกระบวนการสมานฉันท์มั้ย เราก็เห็นด้วย เนื่องจาก Restorative justice (กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์) มันถูกนำมาใช้เพื่อไม่ให้คนไปล้นคุก แต่ถ้าจะเอามาใช้ตัวแบบในการ mediate หรือการไกล่เกลี่ย ก็ควรนำมาใช้อย่างเท่าเทียมหรือเปล่า ไม่ใช่เพื่อปิดปากเหยื่อ แต่ปัญหาของประเทศไทยคือชอบนำมาใช้ปิดปากเหยื่อ"

เวลามีคดีที่ผู้หญิงเป็นผู้กระทำบ้าง เธอมักจะถูกตราหน้าว่า ‘อีเลว’ คือเลวทันที ในทางวิชาการก็จะมีทฤษฎีเกี่ยวกับ evil woman (หญิงร้าย) ถ้าสมมติผู้หญิงเป็นผู้กระทำ นักโทษ หรือผู้หญิงเป็คนสวมบท abuser (ผู้กระทำ) การตีกลับของบทบาทผู้หญิงนั้นก็จะดูแรงขึ้นทันที ผู้หญิงคนนั้นจะดูเลวทันที

สมมติเราเห็นผู้นำประเทศที่เป็นผู้ชายแล้วทำอะไรที่มันเลวๆ คนจะบอกว่า ก็เขามี character (บุคลิก) แบบนี้แหละ ก็ตลกดี แต่ถ้าสมมติเป็นผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงแล้วทำอะไรไม่ดีขึ้นมา หรือทำอะไรที่ดูแข็งจังเลย ผู้หญิงคนนี้จะกลายเป็น bitch เป็นผู้หญิงไม่ดีในทันที ดังนั้นเราจะเห็นได้เลยว่า ถ้าเราพูดถึงความเท่าเทียมกันจริงๆ ทำไมคุณถึงไม่สามารถเอาระบบการสมานฉันท์ที่พยายามจะผลักดันกันมาตั้งนานมาใช้กับผู้กระทำที่เป็นผู้หญิง ในที่นี้หมายถึง abuser (ผู้กระทำ) เลยนะ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือกลุ่มเพศหลากหลาย ทำไมเมื่อนำ Restorative justice (กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์) อันนั้นไปปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่ใช่ใช้แบบสองมาตรฐาน และทำให้เหยื่อเงียบ

ผู้หญิงที่โดนสามีทำร้ายมา 10 กว่าปี มาทั้งชีวิต แล้ววันหนึ่งผู้หญิงคนนี้โมโห พลาดพลั้งฆ่าสามีตัวเองตาย หรือว่าทำร้ายสามีจนทุพพลภาพ ผู้หญิงเหล่านี้โดนติดคุกทันที 20 กว่าปี 16 ปี อย่างนี้ คือศาลไม่เอาเรื่องราวในอดีต ไม่ได้เอาประสบการณ์ของผู้หญิง หรือประสบการณ์ของผู้ถูกกระทำมากว่า 10 ปีมานับเลยนะ กำลังโมโห ที่พูดก็โมโห - สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิผู้หญิง

ตอนแรกเราก็คิดว่าไม่ต้องมาเรียนต่อก็ได้ เราทำงานในพื้นที่ก็น่าจะรู้ intersectionality (อำนาจทับซ้อน) ของความเปราะบางของผู้หญิง เพราะเราทำงานกับคนที่เปราะบางจริงๆ ก็คิดว่าไม่ต้องเรียนหรอกมั้ง ทำงาน หาเงินดีกว่า แต่ก็คิดว่า เรามาเรียนแล้วกัน เผื่อจะได้เขียนวิจัย หรือชิ้นงานบางอย่างที่จะให้คนอื่นฟังเราบ้าง เราก็ไม่รู้นะว่าเราต้องเป็นนักวิชาการก่อนหรือเปล่า เค้าถึงจะฟังเรา เพราะบางทีนักวิชาการพูดจนเสียงแหบ เขาก็ไม่ฟัง แต่เราอยากมาทำงานวิชาการทางนี้มากขึ้น แล้วเจาะในเรื่องที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน อย่างเช่นเรื่องที่เรากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เล่าไป งานวิจัยงานวิพากษ์ยังมีไม่มาก เราเลยอยากจะเขียนงานวิชาการทางนี้ให้มันเข้าถึง และอ่านง่าย และให้คนเห็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นผลเสียของการไกล่เกลี่ยกรณีความรุนแรงฯ

"เราเรียกตัวเองว่าเป็น Human Rights Defender ก่อนที่จะเรียกว่าเป็น Feminist อีก"

"สำหรับคำว่า Human Rights Defenders เราชอบคำนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่มีพลัง Women Human Rights Defender เราก็ชอบอีกเพราะว่าเรารู้สึกว่าคำว่า woman (ผู้หญิง) มันมีความ empower (เสริมพลัง) เรารู้สึกว่าผู้หญิงจะมีประสบการณ์บางอย่างคล้ายๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการโดน Catcalling (การแซวในที่สาธารณะ) หรือการโดนเลือกปฏิบัติ หรืออะไรก็ตามตั้งแต่เด็กจนโตมา ทุกครั้งที่เราทำ Youth forum (งานเสวนาเยาวชน) เราก็จะทำกราฟชีวิต เวลาเราไปสอน เราก็จะให้น้องๆทุกคนสะท้อนประสบการณ์ชีวิตของตนเอง มันจะมีประสบการณ์ในกรอบเพศบางอย่างที่เราโดนเหมือนกัน และเราจะมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นคนที่ออกมาทำงานปกป้องสิทธิ คนที่ออกมาทำงานเรื่องนี้เราเชื่อว่าพวกเขายืนอยู่บนหลักการ เคารพชีวิตศักดิ์ศรีของผู้คน หลายคนเคยมีบาดแผล จึงมีหัวใจที่เข้าอกเข้าใจเคส การออกมาต่อสู้เคลื่อนไหว ไม่ใช่เพราะอยากจะเป็นนางฟ้า นางสาวไทย เราออกมาทำงานเพราะว่าเราเห็นความอยุติธรรมในสังคม และคำนี้เราจะได้ยินเสมอว่าคนที่ออกมาทำงานจะพูดว่า ‘ไม่อยากให้ใครไปโดนอย่างนี้อีก’ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง"

คำว่า Women Human Rights Defenders มันไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่โกรธกับโลกที่ไม่ยุติธรรมเท่านั้น ความโกรธมันต้องมีแน่นอนแหละ แต่สำหรับเราความโกรธมันคือความรู้สึกชั้นบน จริงๆแล้วสุดท้ายมันก็คือการที่ทุกคนยืนอยู่บนหลักการที่เขาเชื่อ เขายึดเหนี่ยว และก็จะต่อสู้เพื่อมัน เรารู้สึกดีกับคำนี้ มัน Powerful และ Strong (แข้มแข็ง) และในความเข้มแข็งนั้นจะเห็นได้ถึงบาดแผลบางอย่างที่เป็นประสบการณ์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป และทุกคนคือ Survivor (ผู้รอด) มันไม่ผิดที่เราเป็นคน ๆ หนึ่งที่เคยมีประสบการณ์บางอย่าง เพราะว่าไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบ เราว่ามันจะอันตรายมากที่คิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ

โดยธรรมชาติของเรา เราไม่ชอบเห็นอะไรที่มันไม่เป็นธรรม พอทำงานไปเรื่อยๆ มันทำให้เราเห็นทั้งระบบเลย ตรงที่ระบบของประเทศไทยมันมี Abuse of Power (การใช้อำนาจในทางที่ผิด) ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่บนลงล่าง และล่างขึ้นบน รวมทั้งตอนที่เราถูกแฟนเก่าทำร้ายร่างกายและทำเพจ SHero เราเชื่อมาตลอดว่าการได้มาซึ่งความยุติธรรม มันไม่ควรจะยาก เพราะเราก็ทำงานเรื่องการเข้าถึงการบวนการยุติธรรม (Access to Justice) แล้วเราก็รู้สึกว่ากว่าเราจะเอาตัวเองเดินก้าวเข้าไปยังสถานีตำรวจได้ ตอนนั้นก็ต้องใช้พลังงานสูงมาก เพราะว่าความมั่นใจในตัวเองเราก็หายไประดับหนึ่ง ความเจ็บตัว ความเสียใจ ความอกหัก มันก็ยังอยู่ในนั้น แล้วพอเอาตัวเองไปที่สถานีตำรวจ วินาทีที่ตำรวจไม่สนใจ หรือบอกว่า ‘ไม่ต้องแจ้งหรอก ไม่ได้เป็นอะไรขนาดนั้นเลย’ คือตอนนั้นเรางงเลย แล้วก็จำได้ว่าครั้งแรกเราก็เดินออกมาจากสถานีตำรวจแล้วร้องไห้ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ จนท้ายที่สุดตัดสินใจเข้าไปสู้ใหม่ สู้ๆๆ จนตำรวจเปิดคดีให้ ทุกอย่างจบ ในวันที่คำพิพากษาออกมา เราก็ยังร้องไห้อยู่เลยว่าแบบโล่งในระดับหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือเสียใจ ทำไมมันถึงยากขนาดนี้ เหนื่อยจังเลย ทำให้เห็นถึงความปั่นป่วนของอารมณณ์ในตอนนั้นเลย

คือตอนนั้นเริ่มรู้จักกลุ่มผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนข้ามชาติ เป็นคนไร้รัฐ (Stateless) ด้วยและได้รับความรุนแรงในครอบครัว เขากำลังทำกิจกรรมเสริมพลังอยู่ เราก็เลยตกลงเข้าไปสอนกฎหมาย พอไปสอนกฎหมายเสร็จก็ไม่มีอะไร แต่มันเริ่มเกิดพลังตรงที่ว่าพอคนไม่กล้าแบ่งปันเรื่องของตัวเอง เราก็เลยเล่าเรื่องตัวเองให้เขาฟังในกลุ่มนั้น พอเราเล่าเรื่องตัวเองให้เค้าฟังเสร็จ เราก็เห็นเลยว่าทุกคนเริ่มยกมือ แม้กระทั่งล่ามที่แปลให้เราตอนนั้นก็ยังร้องไห้ เพราะมันกลายเป็นว่าทุกคนประสบปัญหานี้มาแต่ไม่กล้าเล่า เราก็เลยนึกได้ว่า keyword (คำสำคัญ) น่าจะมี 2 คำหลัก คือ Knowledge คือองค์ความรู้เรื่องกฎหมายและการขอความช่วยเหลือ อีกคำหนึ่งคือ Empathize (เห็นอกเห็นใจ) การที่อีกคนนึงรู้สึกว่าฉันสามารถพูดเรื่องนี้ได้ speak out (พูดออกมา) โดยที่ไม่ถูกตัดสิน เราก็เลยลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ แล้วพอได้มาทำแล้ว เราก็ยังคงทำงานอยู่บนพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมเหมือนเดิม เพราะนั่นคือสิ่งที่เราทำงาน และมันเกี่ยวเนื่องกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในปฏิญญาสากลจะบอกว่า ‘บุคคลทุกคนไม่พึงถูกกระทำทรมาน’ แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงที่โดนกระทำความรุนแรง เขาไม่ได้มีสิทธิมนุษยชนของเขาเลย และไม่ได้ใช้สิทธิในการปกป้องเหล่านั้น เมองสิ่งนี้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมากๆ เนื่องจากผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้มีความปลอดภัยเลย และคนที่โดนกระทำความรุนแรงเหล่านี้ได้รับผลกระทบเรื่องงานด้วย กรณีที่เจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภท ไม่ทำงานไม่ไหว หรือว่าหากต้องไปโรงพยาบาลก็จะเวลางาน กระทบอาชีพการงานของเขา สิทธิที่จะได้ทำงานอย่างมีความสุขก็หายไปอีก เราก็เลยต้องพูดเรื่องนี้มากขึ้น และพูดเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะนั่นคือจุดอ่อนที่สุดของกระบวนการยุติธรรม

แม้แต่กรณีผู้หญิงถูกข่มขืน เขายังโดนถามซ้ำๆ เพราะว่าประเทศไทยยังติดกรอบอยู่กับความเป็นเหยื่อโดยสมบูรณ์ (Perfect/ Classic Victim) ตำรวจยังคิดว่าผู้หญิงต้องเดินมาสภาพเสื้อขาด หลุดลุ่ย มีรอยแผล แล้วผู้หญิงต้องดูอ่อนแอมากๆ คือจะวางภาพอย่างนั้นเลยถึงจะเชื่อ แต่ถ้าผู้หญิงเดินเข้ามาแบบอาบตัวแล้ว และกำลังงง ๆ อยู่แล้วเข้ามาแจ้งความ คนก็จะถามว่าทำไมถึงไม่มีแผลเลย ออกไปตอนไหน แต่งตัวยังไงถึงโดนอย่างนี้ คำถามซ้ำๆ คำถามแบบจ้องจับผิดเหล่านี้ ทำให้คนเงียบไปกี่คนแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะทำเรื่องนี้ ดังนั้นเราเลยตัดสินใจว่าSHero ทำเรื่องความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) แล้วกัน เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เราก็ประสบมา เราอยากขยายความเข้าใจ อยากให้คนอื่นรู้ว่ากฎหมายเป็นยังไง และการเสริมพลัง (Empowerment) มันช่วยคนได้จริงๆ เราอยากทำงานกับคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะว่าให้คนรุ่นใหม่เนี่ยแหละเป็นตาสับปะรด เป็นคนที่พร้อมไปโต้แย้ง เราดีใจทุกครั้งที่มีคนพูดว่า ความรุนแรงในครอบครัวมันไม่โอเค เราอยากให้มีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ

"ถ้าถามในเรื่อง Awareness (ความตระหนักรู้) เราว่ามันมาแล้วในระดับหนึ่ง เรารู้สึกดีใจมากที่คนไปพูดต่อ แม้แต่ตัวผู้ถูกกระทำเองก็ไปพูดเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อ และเอาประสบการณ์นั้นไปช่วยเหลือคนอื่น แต่ในเรื่องนโยบายและกฎหมาย เรารู้สึกว่าเรายังไม่สำเร็จ ทั้งๆที่หลายๆเวทีแต่ก่อนคนยังพูดกันอยู่เลยว่าการให้ไกล่เกลี่ยเนี่ยมันไม่ดีต่อตัวผู้ถูกกระทำ แล้วเราเองก็โดนตำรวจยุให้ไกล่เกลี่ยตั้งหลายรอบ ถ้าเราไม่ใจแข็งจริงๆ ถ้าเรายอมไกล่เกลี่ยไปแล้ว ป่านนี้อะไรจะกิดขึ้นกับเรา แล้วก็ยังคงมีผู้หญิงหลายๆคน ไม่ต้องเป็นผู้หญิงก็ได้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ชาย หรือเหยื่อหลายๆคนในประเทศไทย ณ ตอนนี้ กำลังโดนบอกว่า ไกล่เกลี่ยเถอะ ช่างมัน แล้วก็โดนกระทำซ้ำ"

สิ่งนี้เราพูดกันมาหลายปีแล้วแต่ว่าปี 2019 ก็ดันมี พรบ.ฉบับใหม่ออกมาบอกว่าคุ้มครองสถาบันครอบครัว กลายเป็นว่าการที่เราสนับสนุน Survivor-centered approach (วิธีจัดการโดยมีผู้รอดเป็นศูนย์กลาง) อยู่ ๆ กลับมีพระราชบัญญัติแบบ Family-centered (ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งตัวพรบ. ปี 62 ก็ไม่ได้มีแค่ข้อเสีย ก็ยังมีข้อดีบ้าง แต่มีหลายจุดเลยที่ยังสับสนอยู่ ไม่ว่าจะป็นการเอาเรื่องสมานฉันท์มาใช้ ให้เกิดการคืนดีกัน ทั้งที่การไกล่เกลี่ยควรเป็น option (ทางเลือก) ให้เหยื่อเลือกเอง และให้เหยื่อเลือกในเวลาที่ตัวเอง Empowered (มีกำลัง) มากพอแล้ว แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจดันไปสนับสนุนให้ไกล่เกลี่ย แล้วก็ทำให้เหยื่อที่พลังน้อยอยู่แล้วถูกผลักกลับเข้าไปในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง

ด้วยความที่แต่ก่อนอยู่แม่สอด ทำงานใกล้ภูเขา เราก็มีวิธีว่าชวนเพื่อน เสาร์ อาทิตย์ขึ้นเขากันมั้ย ไปทำกิจกรรมเสริมพลังกัน Collage art (ตัดแปะรูป) คือในกระบวนการ Collage art มันจะได้คิดไปด้วย ไหนลองคิด ไหนลองเล่าเรื่องราว ว่าทำไมถึงมาทำงานตรงนี้ มันเหมือนการย้ำเตือนตัวเองว่าทำไมฉันถึงมาทำงานตรงนี้ ฉันมาทำงานตรงนี้เพราะประสบการณ์บางอย่าง และเพราะสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เรามี Passion (ความสนใจ) กับมัน แล้วก็ทำกิจกรรมวาดรูปเล็กๆด้วยกัน 7 คน วาดรูปแล้วเล่าว่าเรารู้สึกอะไรอยู่ แล้วก็เอา Keyword ออกมา ก็จะได้คำประมานว่า ‘มีพลัง’ ‘มีทางออก’ ‘ใจดีกับตัวเองบ้าง’ คือพอนั่งดูเสร็จก็น้ำตาไหล หลายคนทำงานจนลืม ‘ใจดีกับตัวเอง’ ก็ถือว่าได้เสริมพลังให้กันเอง ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังต้องย้ำเตือนกันว่าการเสริมพลังให้คนทำงานนั้นก็สำคัญ

เรารู้สึกว่ามันควรมีกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น เรากับเพื่อนที่ทำงานก็จะคอยดูแลกัน เพราะการที่เราทำงานเป็น Human Rights Defender ไปช่วยคนอื่น หลายครั้งเราก็ลืมช่วยเหลือตัวเอง

"อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ รู้สึกว่าหนทางก็ยังอีกยาวไกล เพราะฉะนั้นเราต่อสู้เพื่อคนอื่นแล้วก็อย่าลืมต่อสู้เพื่อตัวเองบ้าง เราเห็นหลายๆคนเอาพลัง เอาเวลาของตัวเองไปสู้ และจดจ่ออยู่กับการต่อสู้ในจุดยืนของตัวเองหรือต่อสู้เพื่อคนอื่น จนลืมดูแลตัวเอง ก็อย่าลืมให้เวลากับตัวเอง ดูแลตัวเอง และไม่ผิดเลยถ้าจะมีวันนึงที่เราขี้เกียจสู้ใครแล้ว เหนื่อยอยากนอนเฉยๆ ก็พักบ้าง You can’t help anyone else if you don’t help yourself first."

 

-------------------------------------------

 

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ปัจจุบันเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เจ้าของเพจ SHero