เก็บตกเวทีเสวนา  เสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทยกับการใช้เทคโนโลยีในสถานการณ์ COVID-19”

11 กรกฎาคม 2563

Amnesty International Thailand

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกเหนือจากปัญหาเรื่องปากท้อง และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างเห็นได้ชัดแล้ว ประเด็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์คืออีกหนึ่งปัญหาที่ถูกกดทับมานาน และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในสถานการณ์วิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล็งเห็นถึงภัยคุกคามที่มากับสื่อออนไลน์ และตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิก จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทยกับการใช้เทคโนโลยีในสถานการณ์ COVID-19” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการรับและเผยแพร่ข้อมูล และข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้สื่อในสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยมีดาริกา บำรุงโชค จาก EngageMedia และวิภาณี ชำนาญไพสณฑ์ จาก Internews มาร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งเบ็น เมืองวงศ์ นักกิจกรรมออนไลน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 108595598_2714791165456620_5985490289341060671_o.jpg

ดาริกา บำรุงโชค จาก EngageMedia ได้ให้นิยามความแตกต่างระหว่างคำว่า ‘ดิจิทัล (Digital)’ และ ‘ออนไลน์ (Online)’ ว่าดิจิทัลไม่ใช่เพียงระบบปฏิบัติการทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางกายภาพด้วย ดังนั้นคำว่าดิจิทัลจึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า ออนไลน์ ซึ่งหมายถึงพื้นที่การเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต สิทธิทางดิจิทัล (Digital right) คือหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมี และพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในบริบทสังคมสมัยใหม่ สิทธิทางดิจิตัลปกป้อง และครอบคลุมมากกว่าแค่พื้นที่ในการแสดงออก แต่รวมไปถึงระบบปฏิบัติการ ชุดข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ จากการทำงานด้านสิทธิทางดิจิทัลในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 

 

“ปัจจุบันสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์ของสื่อประเทศไทยมีคุณภาพต่ำมาก อีกทั้งรัฐได้ผลิตนวัตกรรมที่ใช้คุกคามประชาชนทางออนไลน์ทั้งในรูปแบบกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) ที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐเป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และรูปแบบที่ไม่ใช่กฎหมายเช่น IO (Information Operation) หน่วยข่าวกรองของภาครัฐที่มุ่งโจมตีข้อมูลข่าวสารบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต”

 107944408_2714791172123286_6557958171999821203_o.jpg

ด้านวิภาณี ชำนาญไพสณฑ์ จาก Internews ให้คำแนะนำว่า เมื่อกล่าวถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ เราควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘Fake news’ หรือข่าวปลอม เนื่องจากคำดังกล่าวกลายเป็นนัยยะทางการเมืองมากขึ้น อีกทั้งมีความหมายแคบ ต่างจากคำว่า ‘Misinformation’ หรือ ‘Disinformation’ ที่มีความหมายกว้าง หมายรวมถึงการให้ข้อมูลโดยทั่วไปผิดพลาด ไม่ใช่แค่ข่าวเท่านั้น วิภาณีเสนอว่าสถานการณ์โรคโควิด 19ไม่ใช่แค่เพียงโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นยุคของ ‘Infodemic’ (Information + Pandemic) หรือการแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ว่ามาจากแหล่งใด มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญเป็นความจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเท็จจากทางการสหรัฐอเมริกาเรื่องยาไฮดรอกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้ นำมาสู่ประเด็นที่น่าถกเถียงเกี่ยวกับความสามารถของสื่อประเทศไทยในการรายงานข่าวการระบาดของโรคโควิด 19 และบทบาทของบุคคลทั่วไปในฐานะผู้รับสาร 

 

“ในขณะที่นักข่าวถูกจำกัดกั้นคำถาม (Fact-checking and verification) โดยภาครัฐ ประชาชนทั่วไปก็เริ่มจำกัดการรับรู้และการแสดงออกของตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าตนเองจะตกเป็นเป้า และไม่ปลอดภัยหากถูกติดตามโดยรัฐบาล จึงทำให้การจำกัดตัวเอง (Self-censorship) พัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว สิทธิของประชาชนถูกลิดลอน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล”

 

ไทยชนะกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน (Proportionate and Necessity)

กลายเป็นประโยคยอดฮิตไปแล้วสำหรับคำถามที่ว่า ‘ระหว่างความมั่นคง และความปลอดภัย คุณจะเลือกอะไร’ ในเวทีเสวนาครั้งนี้ก็เช่นกัน หากต้องเลือกระหว่างสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกกับความมั่นคงของชาติ คำตอบนั้นควรจะเป็นอะไร วิทยากรทั้ง 2 ท่านไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าวได้ เนื่องจากทั้ง ‘ความมั่นคง’ และ ‘ความปลอดภัย’ล้วนสำคัญและเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน (ถ้าประเทศไม่ปลอดภัยและมั่นคง ประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงความส่วนตัวได้ ในทางกลับกันถ้าประชาชนไม่มีความเป็นส่วนตัว ประเทศชาติก็ไม่มั่นคง** สิ่งนี้ไม่ควรเป็นคำถามและไม่ควรมีใครถูกบังคับให้ตอบคำถามในลักษณะเช่นนี้ด้วย) 

วิภาณีได้พูดถึงการแสกนเข้าแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เมื่อไปยังสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ และรถไฟฟ้าใต้ดิน ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความจำเป็น ความได้สัดส่วน และประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการ สำรวจจากพฤติกรรมประชาชนโดยทั่วไปพบว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ละเลยขั้นตอนการเช็คอิน และเช็คเอ้าท์ หรือแม้แต่ข้ามขั้นตอนดังกล่าวไปเลย ความหละหลวมของผู้ใช้ในประเทศสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ และความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาล เมื่อประชาชนเกิดคำถามว่า ไทยชนะมีระบบเก็บข้อมูลอย่างไร เก็บรักษาไว้นานเท่าไหร่ และองค์กรหรือหน่วยงานใดเข้าถึงได้บ้าง และรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณะได้อย่างชัดเจนและเป็นขั้นตอน

 

 “นอกจากหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนแล้ว หลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการตรวจสอบประสิทธิภาพภาครัฐในการจัดการกับสถานการณ์โควิด 19 เมื่อความเป็นส่วนตัวของประชาชนทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อต่างมีความสำคัญเท่าๆกัน รัฐมีหน้าที่ดูแลความเป็นส่วนตัวเหล่านั้น ไทยชนะควรดำเนินการไปอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีองค์กรอิสระหรือภาคประชาสังคมเข้าไปตรวจสอบการทำงาน อีกทั้งเตรียมพร้อมแก้ไขข้อบกพร่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการประกันว่ารัฐจะไม่ร่วมมือกับภาคเอกชนในการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน”

 

พฤติกรรมความปลอดภัยทางออนไลน์

ถึงแม้ว่าการพูดในสิ่งที่คิด และการวิจารณ์การเมืองจะดูเป็นเรื่องต้องห้ามและไม่ปลอดภัย ปัจจุบันกลับพบว่าเยาวชน นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่กำลังตื่นตัวเรื่องการชุมนุม และออกมาประท้วงมากขึ้น เพดานในการแสดงออกทางออนไลน์สูงขึ้น พื้นที่พูดคุยทางการเมืองออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจากที่ในอดีตถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ในฐานะประชาชน เรามีวิธีรับมือและต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองอย่างไรบ้าง 

วิภาณีเตือนว่า ก่อนจะเข้าเว็บ หรือโหลดแอปพลิเคชั่นใดๆ ก็ตาม ให้ตั้งข้อสงสัยเรื่องการเข้าถึงข้อมูลทั่วไป ข้อมูลส่วนตัว โลเคชั่นที่อยู่ และตั้งคำถามก่อนเสมอ หากมีการขออนุญาตให้เข้าถึงรูปถ่าย 

ด้านดาริกายังกล่าวเสริมอีกว่า ในโลกดิจิทัล การเข้าอินเทอร์เน็ตแต่ละครั้งมีความเสี่ยงเสมอ อย่างไรก็ตามเรามีอำนาจในการเลือกว่าเราจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากแค่ไหน การทิ้งร่องรอยทางดิจิทัล (Digital footprint) เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่เราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คำถามคือเราสามารถไว้ใจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และรัฐได้หรือไม่ 

ด้วยเหตุนี้วิภาณีจึงเสนอการใช้ VPN เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงการทิ้งร่องทางดิจิทัล ทั้งในด้านการหาและการเข้าใช้ข้อมูล เช่น Tunnel Bear ** และใช้ระบบพิสูจน์ตัวตน 2 ชั้น หรือ การยืนยันตัวตนแบบ 2 ปัจจัย 

(อ่านต่อได้ที่ คู่มือแอมเนสตี้เรื่อง “ใช้ชีวิตเป็นชาวเน็ตอย่างปลอดภัยช่วงวิกฤตโรคโควิด-19” ) 

ในตอนท้าย วิทยากรทั้ง 2 ท่านฝากว่าการเสวนาในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องอันตราย และควรหลีกเลี่ยง เพียงแต่ชี้ให้เห็นข้อควรระวัง กระตุ้นให้ผู้ใช้ได้เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจากภัยไซเบอร์ และร่วมกันสร้างสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยในโลกยุคดิจิทัล 

ด้านฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คนใหม่ได้กล่าวถึงความท้าทายขององค์กรสิทธิ และภาคประชาสังคมในบทบาทผู้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่า การรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านสื่อออนไลน์ด้วยรูปแบบที่สดใหม่ จะทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย และน่าสนใจมากกว่าการสื่อสารผ่านช่องทางเดิมๆ เช่น ตำราเรียน 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะองค์กรรณรงค์ พร้อมออกมาขับเคลื่อนเพื่อสิทธิมนุษยชน และขยับมาตรฐานสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์ให้สูงขึ้น ร่วมกับสมาชิกแอมเนสตี้ทั่วโลก และบุคคลทั่วไป ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่ปลอดภัย และเป็นมิตรให้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์