เดอะเธอร์ทีน The 13th ความอยุติธรรมตามกฎหมาย #Black Lives Matter

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย ภาคภูมิ ธรรมปาโล

ภาพ The 13th

เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้บานปลายไปสู่การก่อจลาจลครั้งสำคัญทั่วโลกเป็นเหตุการณ์ที่ตอกย้ำบาดแผลที่บาดลึกในหัวใจอเมริกันชนทุกคน เหตุการณ์นั้นคือการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ผู้ซึ่งเสียชีวิตจากการปฎิบัติไม่ชอบของตำรวจผิวขาวในเมืองมินนิอาโพลิส (Minneapolis) เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แอฟริกันอเมริกันชนล้วนเผชิญกับเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้มาตลอดเวลาที่ยาวนานกว่า 200 ปี จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าเพราะอะไรที่ทำให้คน    แอฟริกันอเมริกันยังคงถูกเหยียด ถูกเลือกปฏิบัติ และพบกับความอยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจึงต้องหยิบยกสารคดีเรื่องเดอะเธอร์ทีนมาเป็นกุญแจไขข้อสงสัยนี้ด้วยกัน

 

สารคดีเรื่องเดอะเธอร์ทีน (The 13th) กำกับโดยเอวา ดูเวอร์เนย์ (Ava DuVernay) ผู้กำกับภาพยนตร์ดราม่าอิงประวัติศาสตร์มากรางวัลเรื่อง “เซลมา สมรภูมิแห่งโลกเสรี” ซึ่งกล่าวถึงการเดินประท้วงของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) และคณะ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของคนผิวดำ ภายใต้กระแสความไม่พอใจของคนผิวขาว ในที่สุดคนผิวดำก็ได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง 

 

ผมคิดว่าเดอะเธอร์ทีนเสมือนเป็นการต่อยอดทางความคิดจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ที่แสดงจุดยืนถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกสีผิว สารคดีเรื่องนี้ตั้งชื่อตามแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 (The 13th amendment) เนื้อความในรัฐธรรมนูญกล่าวในประเด็นสำคัญว่า “ให้เลิกทาสและการบังคับใช้แรงงานโดยไม่สมัครใจยกเว้นในการลงโทษใช้แรงงานสำหรับผู้กระทำ  ความผิดตามกฎหมายซึ่งได้รับการไต่สวนอย่างเหมาะสมภายใต้อำนาจศาล” กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจฟังดูเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับเสรีชนทุกคน โดยเฉพาะชาวแอฟริกันอเมริกัน แต่มันกลับกลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันตลอดกาล เดอะเธอร์ทีน (The 13th) จึงสะท้อนแนวคิดหลักเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ การมีอคติ เหยียดสีผิว การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์อเมริกาตั้งแต่ยุคแห่งการปลดปล่อยทาสจนมาถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินในปัจจุบันล้วนเป็นผลิตผลมรดกตกทอดมาจากอดีตทั้งสิ้น

 

ประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และระบบราชทัณฑ์ที่เกิดขึ้นกับแอฟริกันอเมริกันชน ตลอดจนแนวคิดการเหยียดสีผิว กฎระเบียบของรัฐ และการเมืองการปกครองที่ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคมระหว่างชาติพันธุ์สีผิว ได้ถูกเรียงร้อยถ้อยคำจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิ แองเจลา เดวิส (Angela Davis) นักเรียกร้องสิทธิพลเมืองแอฟริกันอเมริกันและผู้เขียนหนังสือ “Angela Davis”  ไมเคิล อเล็กซานเดอร์ (Michelle Alexander) นักเขียนหนังสือขายดีอย่าง “The New Jim Crow”และเมลิน่า อับดุลเลาะห์ (Melina Abdullah) นักวิชาการ และประธาน Pan-African studies California State University จึงทำให้สารคดีเรื่องนี้ที่ความน่าเชื่อถือ

 

นอกจากประเด็นทางสังคมดังกล่าวแล้ว ยังมีการสอดแทรกประเด็นอื่น ๆ ที่น่าขบคิดในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ดุเดือด อาทิ      วิวาทะของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เกมการเมืองของฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ประเด็นการเอื้อผลประโยชน์ในการให้สัมปทานของรัฐแก่องค์กรนายทุน ระบบราชการ ราชทัณฑ์ และกฎหมายที่ล้มเหลว และด้วยกลวิธีในการนำเสนอที่น่าสนใจผ่านภาพแสงสีเสียงที่สะท้อนอารมณ์ของแอฟริกันอเมริกันชน สร้างความสะเทือนใจของผู้ชม และยังมีการเรียบเรียงเรื่องราวที่เข้มขึ้นทุกขณะจนไม่สามารถละสายตาจากหน้าจอได้เลย ใครที่มีความสนใจต่อการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ควรพลาด ท่านสามารถรับชมเดอะเธอร์ทีนผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจบริบททางสังคมที่ถูกตีแผ่ในสารคดีเรื่องนี้มากขึ้น รวมไปถึงจุดเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน 

 

สารคดีเรื่องเดอะเธอร์ทีน (The 13th) ได้นำเสนอเนื้อหาตามลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองอเมริกัน ไล่เรียงจนถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน ประเด็นความไม่เท่าเทียมกันทางสีผิวได้เกิดขึ้นหลังจากหลังเสร็จสิ้นสงครามกลางเมืองก็เข้าสู่ยุคปฏิสังขรณ์ (reconstruction era) เมื่อระบบทาสที่เคยควบคุมชีวิตของชาวผิวดำนั้นหายไป มันถูกเปลี่ยนผ่านสู่แรงงานในคุกซึ่งมาจากชาวผิวดำที่ถูกจับด้วยข้อหาเพียงเล็กน้อย โดยอาศัยช่องโหว่ของ The 13th Amendment อาชญากรรมที่ถูกยัดเยียดจากชนผิวขาวจึงกลายเป็นของคู่กันกับชนผิวดำนับแต่นั้นมา ความกลัวของคนผิวขาวที่มีต่อคนผิวดำได้เพิ่มทวีคูณจนทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า “ชายชาวผิวดำเป็นอาชญากรที่เลวร้าย และเป็นอันตรายยิ่งต่อสตรีผิวขาว” แม้ว่าเหตุการณ์การข่มขืนโดยอาชญากรชายผิวขาวต่อสตรีผิวดำจะมีมากกว่าก็ตาม แนวคิดดังกล่าวปรากฏอย่างชัดเจนในสารคดีที่ได้นำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Birth of a Nation (1915) ที่ดังเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติเรื่องแรกของอเมริกา ซึ่งเสนอภาพอันเลวร้ายราวกับไม่ใช่มนุษย์ของชายผิวดำ แต่กลับชูโรงให้ คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) ผู้เข่นฆ่าชาวผิวดำได้เป็นวีรบุรุษแห่งความดีงามในการปกป้องชาวผิวขาว ด้วยหนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรก ๆ แห่งยุค และความโด่งดังของภาพยนตร์ มันได้สร้างภาพจำที่รุนแรงอย่างมากในประวัติศาสตร์ เกินกว่าที่จะลบออกได้ ภาพของชายผิวดำถูกลงโทษด้วยการแขวนคอ ฆ่า และเฆี่ยนโดยมวลชนผิวขาวอย่างโหดร้ายทารุณผ่านศาลเตี้ย โดยไม่มีการพิสูจน์ถึงความผิด มีแต่การใช้ความเกลียดชังล้วน ๆ กระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมใต้อำนาจศาลตามที่ระบุ The 13th Amendment ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในหมู่คนผิวดำ ภาพเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

ต่อมากฎหมายจิมโครว์ (Jim Crow laws) ก็ได้เข้ามามีบทบาทในยุคปฏิสังขรณ์นี้ด้วยและได้บังคับใช้ต่อมากว่าหนึ่งศตวรรษ นโยบายแบ่งแยกแต่เท่าเทียม (separate but equal) การกีดกันทางสีผิวขั้นสุดได้เริ่มขึ้น ประชาชนผิวสีทั้งหมดต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสองตลอดชีวิต นักเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองแอฟริกันอเมริกันกลายเป็นขั้วตรงข้ามกับตำรวจเสมอในฐานะอาชญากรผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ ด้วยการต่อสู้อย่างยาวนานกว่าศตวรรษ ของนักเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง ทุกอย่างจึงเริ่มดีขึ้น ความเท่าเทียมกันตามกฎหมายเกิดขึ้นจริง แต่ภาพความเป็นอาชญากรของคนผิวดำก็ไม่เคยเลือนหายไป ประชากรที่เพิ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาความยากจนส่งผลโดยตรงต่ออัตราอาชญากรรมโดยเฉพาะจากคนผิวดำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคทศวรรษที่ 1970 เกิดเป็นวลีในหมู่คนผิวขาวว่า “ถ้าหากเราให้อิสระคนดำ ประเทศชาติของเราก็ได้รับการตอบแทนเป็นอาชญากรรม” พรรครีพับลิกัน (Republican Party) สามารถชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบายการสร้างชาติให้เข้มแข็งด้วยการลดอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดนั้นทำให้มีการสั่งขังคนในคุกมากเกินไปเกิดเป็นคำนิยามว่า การจองจำมวลชน (mass incarceration) พรรคเดโมแครต (Democrat Party) ฝ่ายเสรีนิยมที่เคยมีจุดยืนเป็นกลางมาตลอดก็เปลี่ยนมาชนะการเลือกตั้งในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ด้วยการใช้นโยบายการลดอาชญากรรมเช่นเดียวกัน ในสมัยนี้นี่เองที่ระบบตำรวจได้รับพัฒนาอย่างถึงที่สุด และใช้มาจนถึงปัจจุบัน กฎหมายของรัฐได้ถูกบังคับใช้และมีการอนุญาตให้ตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างเต็มที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของการใช้อำนาจในทางไม่ชอบของตำรวจชาวผิวขาวต่อชาวผิวดำ เมลิน่า อับดุลเลาะห์ (Melina Abdullah) นักวิชาการ และประธาน Pan-African Studies, California State university ได้กล่าวยกตัวอย่างถึงการประท้วงในเฟอร์กูสัน รัฐมิชิแกนในปีค.ศ. 2014 เธอกล่าวว่า “ความอยุติธรรมเกิดขึ้นเสมอในเหล่าคนผิวดำ พวกเขาเหล่านี้ได้กลายเป็นอาชญากร และศัตรูของรัฐอย่างสมบูรณ์ กลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิชาวผิวสีได้กลายเป็นกองกำลังศัตรู ผู้ซึ่งไม่มีสิทธิใด ๆ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสืบสวนสอบสวนซักถาม สั่งให้หยุดเรียกค้นตัวได้ตลอดเวลา จับกุมตัว กักตัว หรือฆ่าได้โดยไม่มีความผิด”

 

อีกหนึ่งตัวอย่างของความผิดพลาดทางกฎหมายที่ได้สร้างความอยุติธรรมก่ำชาวแอฟริกันได้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.2012 ได้เกิดเหตุอันน่าสลดใจขึ้นกับเด็กชายแอฟริกันอเมริกันวัย 17 ปีชื่อ เทรย์วอน มาร์ติน (Trayvon Martin) เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามเพียงแค่เดินผ่านบริเวณบ้านชายผิวขาวชื่อ จอร์จ ซิมเมอร์แมน (George Zimmerman) แม้ว่าจะไม่มีอาวุธก็ตาม ชายผิวขาวได้สะกดรอยตามพร้อมอาวุธปืน ตำรวจได้พยายามห้ามปรามเขาทางโทรศัพท์แต่ไม่สำเร็จ เขาได้ยิงเด็กหนุ่มเคราะห์ร้ายจนเสียชีวิต แต่เขาก็ไม่ต้องรับโทษหรือมีความผิดใด ๆ เพราะกฎหมายของรัฐฟลอริด้า “Stand Your Ground” ซึ่งระบุว่าสามารถฆ่าบุคคลใดก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกถูกคุกคาม มันเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ กฎหมายเหมือนถูกเขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องคนผิวขาว การเคลื่อนไหวด้วย #BlackLivesMatter ในโซเชียลมีเดียได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก การเคลื่อนไหวก็กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ การประท้วงเรียกร้องเกิดขึ้นตามถนนทั่วประเทศ ต่อมา การเคลื่อนไหวด้วยแฮชแทกนี้ก็ได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทุกครั้งในเหตุการณ์ที่แอฟริกันอเมริกันชนต้องสังเวยชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจผิวขาว และล่าสุดในโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตอันอยุติธรรมของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่ผ่านมา

 

หลังจากรับชมสารคดีเรื่องนี้ มันทำให้ผมเข้าใจในบริบททางสังคมปัจจุบันของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมีมิติมากขึ้น ผมคิดว่าสองปัจจัยหลักที่ทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสีผิว ความบาดหมางระหว่างสีผิวยังคงอยู่ในปัจจุบัน ปัจจัยแรกคือ ความกลัวของคนผิวขาวต่อคนผิวดำ เพราะเมื่อคนผิวดำหลุดจากอำนาจจึงเกิดเป็นความกลัวที่ชาวผิวดำจะลุกฮือกระทำต่อตน จึงจำเป็นที่ต้องมีกฎหมาย และบรรทัดฐานสังคมที่ควบคุมชาวผิวดำได้ เช่น กฎหมายจิมโครว์ และนโยบายแบ่งแยกแต่เท่าเทียมซึ่งยังคงมีผลบางส่วนก็ยังส่งผลต่อกฎหมายในปัจจุบัน ปัจจัยที่สอง คือ ความไม่ยุติธรรมของกระบวนการทางอาญา และกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีต่อชาวผิวดำซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เช่น ในยุคที่มีการใช้กฎหมายจิมโครว์ และในการจองจำมวลชนคนผิวดำจำนวนมาแม้ว่ากระทำความผิดสถานเบา เป็นต้น

 

การเหยียดผิวที่รุนแรงเช่นในอดีตนั้นเกิดขึ้นน้อยลง แต่มันก็ได้หยั่งรากลึกในสังคมอเมริกันอย่างเหนียวแน่น กฎหมายบางส่วนยังปรากฏลักษณะการกีดกันทางสีผิว และไม่เป็นธรรมต่อคนผิวดำ โดยเฉพาะคนผิวดำส่วนใหญ่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ค่อยสู้ดีนัก ประกอบกับบุคลากรส่วนใหญ่ในระบบยุติธรรมล้วนเป็นคนผิวขาว ตำรวจได้ถูกวางตัวไว้ต่อต้านอาชญากรรม และแอฟริกันอเมริกันชนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรจึงเกิดเป็นความขัดแย้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มาตลอดเวลากว่าสองศตวรรษ จนกลายเป็นบาดแผลที่ยากเกินเยียวยา การจองจำมวลชนทำให้คนผิวดำที่ก่ออาชญากรรม หมดโอกาสในการสร้างอนาคต สร้างชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว เสียสิทธิบางอย่างของพลเมือง รวมไปถึงสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ แล้วทุกอย่างก็กลับไปสู่วังวนเดิมของการก่ออาชญากรรม ภาพลักษณ์ของคนผิวดำก็มีแต่จะแย่ลง ทั้งหมดก็กลายเป็นเหตุผลเดิม ๆ ในการเกิดความอยุติธรรมในสังคม 

 

การวิจารณ์ภาพยนตร์สารคดีในครั้งนี้มิได้มีจุดประสงค์ที่จะสร้างความขัดแย้ง หรือกล่าวโทษถึงบุคคลใด แต่เป็นเพียงการพยายามที่จะสนับสนุน #BlackLivesMatter เพื่อเรียกร้องความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว  เพราะสีผิวเป็นแค่เพียงลักษณะภายนอกที่ยืนยัน อัตลักษณ์ของเรา ไม่ใช่เครื่องมือที่จะมาใช้ตัดสินคุณค่าความเป็นมนุษย์ ผมหวังว่าหากเราทุกคนบนโลกใบนี้เปิดใจ เรียนรู้ สร้างความรักความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ และเคารพซึ่งกันและกัน เวลาและความเข้าใจจะช่วยเยียวยาบาดแผลนี้ให้ทุเลาบรรเทาได้ในสักวันหนึ่ง 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

Smithsonian National museum of American history,Behring center. (n.d.) Separate but equal : the law of the land. Retrieve from https://americanhistory.si.edu/brown/history/1-segregated/separate-but-equal.html

History.com Editors. (n.d.). Reconstruction. Retrieve June 13, 2020. from https://www.

history.com/topics/american-civil-war/reconstruction

Peter Bradshaw. (2016, 6 october).13th review – Ava DuVernay's angry, persuasive film about the jailing of black men. Retrieve June 13, 2020.from https: // www. The guardian.com/film/2016/oct/06/13th-review-ava-duvernay-jailing-black-men-netflix-selma-13th-constitutional-amendment-slavery.

Producer, Spencer. Averick. (Producer) & Director, Ava. DuVernay. (Director). (2016). 

The 13th [Motion picture]. United States: Netflix

Wendy ide. (2016, 9 october). 13th review – fiercely intelligent prison documentary. Retrieved June 13, 2020. from https://www.theguardian.com/film/2016/oct/09/13th -review-bracing-fiercely-intelligent-prison-documentary-ava-duvernay

CBC News. (2020, 1 June). From Eric Garner to George Floyd: Recent U.S. police killings of black people. Retrieve June 13, 2020. fromhttps://www.cbc.ca /news/world/police-killings-recent-history-george-floyd-1.5593768