The Beguiled’s (White) Female Perspective: ภาพยนตร์เพื่อเพื่อนหญิง พลังหญิง(ผิวขาว)

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย ญาณิศา วรารักษพงศ์

ภาพ The Beguiled

ผู้ใดที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Beguiled (2017) ของผู้กำกับหญิงชื่อดัง Sofia Coppola คงจะต้องแปลกใจกับภาพที่จับจ้อง คุกคาม ถึงเกือบจะแลบเลียเรือนร่างของตัวละครชายหลัก (Colin Ferrell) ตัวเดียวของเรื่อง แต่หาใช่เพราะการทำมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงสิ่งของ (objectification) เช่นนี้ไม่เคยมีมาให้เห็นในวงการภาพยนตร์ หากแต่เพราะคราวนี้เหยื่อของสายตาอันเล้าโลมนั้นเป็นผู้ชายแทนที่จะเป็นผู้หญิง ความผิดปกติดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากผู้สร้างนำภาพยนตร์ปี 1971 ที่ชื่อเดียวกันมาตีความใหม่ โดย The Beguiled (1971) ของ Don Siegel นั้นเล่าผ่านสายตาของผู้ชาย(male gaze) เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ อีกเกือบทุกเรื่องในฮอลลีวูด ขณะที่ภาพยนตร์ปี 2017 นี้เล่าผ่านสายตาของผู้หญิง (female gaze) อย่างไรก็ตาม ผู้ชมหลายคนสังเกตว่ามุมมองของผู้หญิงที่ว่านี้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงผิวขาวเท่านั้น การปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องราวของผู้หญิงผิวสี แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Coppola จะมีฉากหลังเป็นสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ทำให้หลายคนมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า The Beguiled (2017) ได้เพิ่มพื้นที่ให้กับผู้หญิงในสื่อและเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจริงอย่างที่นักแสดงนำ Nicole Kidman กล่าวอ้างไว้ในบทสัมภาษณ์ร่วมกับ Coppola หรือไม่ เราสามารถแยกเรื่องเชื้อชาติและเรื่องเพศออกจากกันได้ไหม

 

The Beguiled ทั้งของ Siegel และของ Coppola มีเค้าโครงมาจากนิยายเรื่อง A Painted Devil (1966) ของ Thomas P. Culligan เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูและนักเรียนในโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งในรัฐภาคใต้ของอเมริกา กิจวัตรของพวกเธอในช่วงสงครามกลางเมืองถูกขัดเมื่อนักเรียนคนหนึ่งไปพบทหารฝ่ายสหภาพ (the Union) จากภาคเหนือนอนบาดเจ็บอยู่และพาเขามาที่โรงเรียน เหล่ากุลสตรีภาคใต้ (Southern belles) ตัดสินใจไม่ส่งตัวสิบโทที่หนีทหารผู้นี้ไปให้ฝ่ายสมาพันธรัฐ (the Confederacy) จับกุมตัว แต่เลือกที่จะรักษาพยาบาลและขังเขาไว้ในห้องแทน ความขัดแย้งเกิดขึ้นด้วยกุลสตรีต่างวัยในโรงเรียนแห่งนี้ต่างหมายปองทหารนายนี้ ผู้เป็นชายหนุ่มคนแรกและคนเดียวที่พวกเธอได้เจอในเวลานาน และเขาก็รู้ตัวดี ทว่า The Beguiled ของผู้สร้างแต่ละคนนั้นมีรายละเอียดที่ต่างกัน กล่าวคือ ในนิยายนั้นมีตัวละครผิวสีถึงสองคน ได้แก่ ทาสผู้หญิงผิวดำที่ต้องคอยดูแลพลทหารตามคำสั่ง และครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่พยายามปกปิดว่าเธอมีเชื้อสายคนผิวดำ ภาพยนตร์ปี 1971 ของ Siegel เล่าถึงแค่ตัวละครทาส ส่วนภาพยนตร์ปี 2017 ของ Coppola นั้นตัดตัวละครผิวดำออกทั้งหมด

 

ผู้กำกับหญิงกล่าวว่าเธอตัดตัวละครผิวดำออกเพราะ “ประเด็นนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่” และเธอไม่อยาก “ไม่จริงจัง” กับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเธอไม่ได้อยากสำรวจประเด็นด้านการเมืองของสมาพันธรัฐ เธอสนใจเพียงเรื่องเพศและ “ตัวละครที่เธอเชื่อมโยงกับตัวเองได้” หลายคนเห็นด้วยกับ Coppola ในการตัดตัวละครผิวดำออก พวกเขามองว่า Coppola ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวขาวไม่สามารถเล่าเรื่องของคนผิวดำอย่างถูกต้องได้ อีกทั้งบทของทาสในภาพยนตร์ปี 1971 ของ Siegel นั้นเป็นเพียงตัวละครที่มีพอเป็นพิธี (token character) ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์นำมาให้คนสงสารแต่ไม่ได้ทำให้ตัวละครนั้นมีความเป็นคนจริง ๆ การเลือกไม่พูดถึงตัวละครผิวดำเลยในภาพยนตร์เรื่องใหม่จึงดีกว่า ทว่าเหตุผลเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็นเพียงข้ออ้างเมื่อพิจารณาว่าภาพยนตร์ที่ผ่านมาของ Coppola ล้วนมีตัวละครหลักเป็นคนขาว โดยเฉพาะผู้หญิงผมบลอนด์ที่มีให้เห็นตั้งแต่ในเรื่อง The Virgin Suicides (1999) มาจนถึง Lost in Translation (2003) ยิ่งไปกว่านั้น ในผลงานเรื่อง The Bling Ring (2013) อันมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขโมยของจากบ้านดาราดัง Coppola ก็ได้ปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องของเด็กสาวผิวสีเชื้อสายลาตินอเมริกาที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มจริง

 

หลายคนแย้งว่าหาก Coppola กลัวว่าตนไม่มีความรู้มากพอจะเล่าเรื่องของคนผิวสี สิ่งที่เธอควรทำคือการจ้างนักเขียนผิวสีมาช่วยเธอ ไม่ใช่ลบบทบาทของตัวละครผิวสีไปทั้งหมด และข้ออ้างของผู้กำกับหญิงที่ว่าเธอต้องการเล่าเรื่องเพศ ไม่ใช่การเมืองของเชื้อชาตินั้น ก็ถูกโจมตีว่า “การเลือกใช้นักแสดงผิวขาวเท่านั้นเพื่อลบบริบทเรื่องเชื้อชาติ คือการมองว่าผิวขาวนั้นไม่ใช่เชื้อชาติ แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นบรรทัดฐาน และเป็นมาตรฐาน” (Seren Sensei, 2017)   นอกจากนี้ ยังมีข้อโต้แย้งว่าการเล่าเรื่องเกี่ยวกับกุลสตรีภาคใต้ท่ามกลางสงครามกลางเมืองอเมริกาโดยไม่กล่าวถึงคนผิวดำนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อภาพของภาพยนตร์นี้พยายามขับเน้นความสวยงามของมรดกแห่งสหพันธรัฐ ผ่านการชื่นชมสถาปัตยกรรมของอาคารสีขาวที่ทาสสร้าง ในไร่ (plantation) ที่ใช้แรงงานทาส และการพินิจอาภรณ์และผิวพรรณสีอ่อนของเหล่ากุลสตรีอย่างละเมียดละไม อีกเมื่อผู้สร้างภาพยนตร์พยายามวาดภาพเหล่ากุลสตรีให้เป็นเหมือนตัวแทนพลังของผู้หญิงที่สู้กับปิตาธิปไตยทั้งในโลกของภาพยนตร์เองและโลกแห่งความจริง เพราะนั่นทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เหมือนจะควรได้รับการชื่นชม ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วพวกเธอเป็นเจ้าของทาส และสังคมชนชั้นสูงที่สร้างกรอบให้แก่ “กุลสตรีภาคใต้” เองก็เกิดขึ้นจากน้ำตา หยาดเหงื่อ และเลือดเนื้อของทาสผิวดำ

 

“‘ไม่การเมือง’ (apolitical) ก็คือ ‘การเมือง’ (political) แบบหนึ่ง คือ ‘การเมือง’ แห่งการกีดกัน ตั้งข้อรังเกียจ ‘การเมือง’ และเลือกรับ เลือกทำเฉพาะ ‘การเมือง’ ที่ตนต้องการ ผู้ที่อ้าง ‘ไม่การเมือง’แท้จริงแล้ว เขาก็ปฏิบัติการทางการเมืองอยู่ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม” นี่คือข้อความที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ทวีตเมื่อต้นเดือนมิถุนายน หลังมีข้อโต้แย้งกันในโลกออนไลน์ไทยว่าคนมีชื่อเสียงควรออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ ข้อความนี้เชื่อมโยงได้ดีกับการกระทำของ Sofia Coppola ที่แม้จะทำภาพยนตร์ในมุมมองผู้หญิงอยู่บ่อยครั้งและมักโฆษณางานของตัวเองด้วยวลี “มุมมองของผู้หญิง”แต่ก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงการเมืองเรื่องเชื้อชาติ เธอแสดงออกว่าไม่อยากจะสำรวจเรื่อง “การเมือง” ในภาพยนตร์ของเธอตั้งแต่ตอนกำกับเรื่อง Marie Antoinette (2006) แล้ว โดยเธอถาม Antonia Fraser ผู้เขียนชีวประวัติของ Marie Antoinette ว่าเธอ “ไม่หยิบเรื่องการเมืองมาเล่าเลยได้ไหม” ความลักลั่นในเรื่องเพศและเรื่องเชื้อชาตินี้ เปิดโปงอภิสิทธิ์ของผู้กำกับคนนี้ในฐานะผู้หญิงผิวขาว เธอเลือกที่จะกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและพยายามเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง เพราะเธอเสียประโยชน์ในฐานะสตรี แต่ในขณะเดียวกัน เธอเลือกที่จะ “ไม่การเมือง” ในเรื่องของเชื้อชาติ เพราะการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ไม่ส่งผลเสียต่อเธอโดยตรง ซ้ำร้าย เธอเองยังได้ประโยชน์จากโครงสร้างทางสังคมที่ยกย่องคนขาวอีก คงไม่เกินจริงไปนักหากจะกล่าวว่า The Beguiled (2017) เป็นตัวอย่างหนึ่งของสตรีนิยมผิวขาว (white feminism) ซึ่งสนใจเฉพาะการกดขี่ที่ผู้หญิงผิวขาวประสบ ทว่าเราสามารถเรียก “สตรีนิยม” ที่ไม่ได้เห็นใจและต่อสู้เพื่อผู้หญิงทุกคนจริง ๆ อีกทั้งยังเมินเฉยการกดขี่ทับซ้อน (intersectionality) อื่น ๆ ที่ผู้หญิงผิวสีเผชิญเช่นนี้ ว่า “สตรีนิยม” ได้จริงหรือ

 

 

อ้างอิง

Bahr, Lindsey.  (2017).  Q&A: Coppola and Kidman on female gaze of ‘The Beguiled’.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน                2020,  จากเว็บไซต์: https://apnews.com/250c39747b6a4c5292f5ee4ad2c5b651/Q&A:-Coppola-and-Kidman-on-female-gaze-of-'The-Beguiled'

Bennett, Alanna.  (2017).  Sofia Coppola Says “The Beguiled” Is About The Gender Dynamics Of The Confederacy, Not The Racial Ones.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.buzzfeednews.com/article/alannabennett/sofia-coppola-beguiled-power-dynamics

Coupcoup40cal.  (2017).  We Won’t Let Sofia Coppola’s ‘The Beguiled’ Whitewash Our American History.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://cassiuslife.com/10345/sofia-coppola-the-beguiled-whitewashing/

Fraser, Antonia.  (2006).  Sofia’s Choice.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.vanityfair.com/news/2006/11/fraser200611

Lodge, Guy.  (2017).  Sofia Coppola: ‘I never felt I had to fit into the majority view’.  สืบค้นเมื่อ11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.theguardian.com/film/2017/jul/02/sofia-coppola-beguiled-i-never-felt-i-had-to-fit-into-the-majority-view-interview?page=with%3Aimg-2

Madison III, Ira.  (2017).  Sofia Coppola’s ‘The Beguiled’ Controversy and What We Expect From White Directors.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.thedailybeast.com/sofia-coppolas-the-beguiled-and-what-we-expect-from-white-directors

Rivas, Jorge.  (2013).  The Immigrant You Won't See in Sofia Coppola's 'Bling Ring'.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.colorlines.com/articles/immigrant-you-wont-see-sofia-coppolas-bling-ring

Sensei, Seren.  (2017).  Should Sofia Coppola Stay In Her White Lane? Sure. But That Means Acknowledging Her Racism..  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://medium.com/@seren.sensei/should-sofia-coppola-stay-in-her-white-lane-sure-but-that-means-acknowledging-her-racism-56a29d1d9109