[สกู๊ปพิเศษ] ย้อนรอย #1MDB กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ที่ลุกลามไปทั่วโลก!

24 กุมภาพันธ์ 2563

Amnesty International Thailand

ย้อนกลับไปในปี 2552 ได้เกิดโครงการ #1MDB ซึ่งก่อตั้งโดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย "นาจิบ ราซัค" โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ต่อมากองทุนกลับขาดทุน และถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชน ออกมาตั้งคำถามและเปิดเผยข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการทุจริตของกองทุน แต่พวกเขากลับถูกข่มขู่หรือตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายยุยงปลุกปั่น (Sedition Act)

 

นอกจากนั้นรัฐบาลมาเลเซียยังได้จับตาดูสื่อ 3 สำนัก ที่รายงานข่าวเรื่องนี้ คือ The Edge Financial Daily, The Edge Weekly และ Sarawak Report โดยสื่อทั้ง 3 สำนักก็ถูกระงับในเวลาต่อมา ในขณะเดียวกันนักเขียนการ์ตูนชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “ซูนาร์” (Zunar) อาจต้องเผชิญกับหลายสิบปีในคุกจากการทวีตที่วิพากษ์วิจารณ์ตุลาการ

 

ต่อมาในปี 2558 ซูนาร์ถูกตั้งข้อหารวม 9 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ยุยงปลุกปั่น หลังทวีตวิจารณ์รัฐบาลในอีกหลายกรณี อีกทั้งยังมีการข่มขู่และคุกคามสำนักพิมพ์ และร้านจำหน่ายการ์ตูนของเขาอีกด้วย โดยทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นสถานที่เหล่านี้อีกหลายครั้ง
(ซูนาร์ เป็นหนึ่งในแคมเปญ Write For Rights ประจำปี 2558 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์จนเกิดความสำเร็จในที่สุด โดยต่อมามาเลเซียได้ยกเลิกข้อกล่าวหาซูนาร์ในทุกกรณี)

 

นอกจากนั้นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน 2 คน ยังถูกแบนการเดินทางเนื่องจากการวิจารณ์รัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการวิกฤต #1MDB และผู้นำฝ่ายค้าน อันวาร์ อิบราฮิม ยังคงถูกจำคุกเป็นเวลา 5 ปีหลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน “มีเพศสัมพันธ์โดยวิตถาร”

 

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของแอมเนสตี้ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “ทางการมาเลเซียตอบโต้เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต #1MDB ในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ แทนที่จะพยายามค้นหาความจริงของข้อกล่าวหา การทุจริต และลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่กลับคุกคามและปิดปากผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลและเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบ”

 

“การโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของรัฐบาลต้องยุติลง ไม่ควรมีใครถูกจับกุมหรือถูกตั้งข้อหาเพียงเพื่อขอความโปร่งใสในการสอบสวนเรื่องอื้อฉาว #1MDB หรือแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ”

 

ช่วงปลาย 2559 ส.ส. ฝ่ายค้าน อย่าง ราฟิซี รามลี (Rafizi Ramli) ถูกตัดสินให้จำคุก 18 เดือน ภายใต้พระราชบัญญัติความลับทางการ (Official Secrets Act of 1972) เนื่องจากครอบครองและเปิดเผยเอกสารของผู้ตรวจสอบบัญชีในเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต 1MDB ซึ่งเชื่อมโยงมายังนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค

 

แอมเนสตี้ให้ความเห็นว่า ราฟิซี รามลี เพียงแต่พยายามรักษาผลประโยชน์สาธารณะ โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมาเลเซียออกมาเปิดเผย เจ้าหน้าที่ควรตีพิมพ์รายงานของผู้สอบบัญชีตั้งแต่ต้น แทนที่จะพยายามปราบปรามผู้เปิดเผยข้อมูล และตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เพื่อหยุดยั้งคนไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับกองทุน 1MDB และขัดขวางไม่ให้สังคมรับข้อมูล

 

จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2559/2560 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุไว้ว่า มาเลเซียมีความพยายามปราบปรามการ แสดงความเห็นต่างอย่างสงบและการใช้เสรีภาพ ในการพูด รวมทั้งการใช้อํานาจตามกฎหมาย ความมั่นคงภายในประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกฎหมายจํากัดสิทธิอื่นๆ ราฟิซี รามลี สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้เปิดโปงข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ ถูกศาลตัดสินลงโทษจําคุก 18 เดือน ผู้สื่อข่าวของสํานักข่าวอย่างมาเลเซียคินี (Malaysiakini) ต้องเผชิญกับ การข่มขู่และคุกคามของกลุ่มคนที่ลงโทษผู้กระทําผิดโดยพลการ จนถึงสิ้นปีที่ผ่านมาสํานักข่าวแห่งนี้จําเป็นต้องปิดตัวเองลง

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2556 ทางการมาเลเซียได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติยุยงปลุกปั่น พ.ศ.2491 เพิ่มมากขึ้น โดยกฎหมายนี้ได้ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและเดิมใช้เพื่อปราบปรามผู้เรียกร้องเอกราชให้มาเลเซีย อีกทั้งกฎหมายนี้ยังเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามของเจ้าอาณานิคมมาก่อน โดยในเดือนเมษายน 2558 รัฐสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการขยายอำนาจของกฎหมายให้ครอบคลุมสื่ออิเลคทรอนิกส์ และให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวางเพื่อจับกุม ควบคุมตัว และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับผู้วิพากษ์วิจารณ์

 

ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติปลุกระดมที่ได้รับการแก้ไขใหม่อาจต้องโทษจำคุก 3 ถึง 20 ปี ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงมีความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพราะมีการเอาผิดทางอาญากับการกระทำหลายประการ อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมีการรับรองไว้ในข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยังรับรองไว้ตามมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญมาเลเซียอีกด้วย

 

 

อ่านเพิ่มเติม
http://old.amnesty.or.th/news/press/461
https://www.amnesty.org/download/Documents/POL1048002017THAI.PDF
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2015/08/malaysia-end-far-reaching-crackdown-in-wake-of-corruption-scandal/
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2016/11/malaysia-quash-sentence-against-whistle-blowing-mp/
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2018/07/malaysia-acquittal-of-zunar-and-others-must-lead-to-repeal-of-draconian-sedition-law/