ถอดบทเรียน ชีวิตผู้ลี้ภัยด้านความเชื่อทางศาสนาชาวเวียดนาม นักวิชาการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย แนะรัฐบาลไทยหาทางออกคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน

20 กุมภาพันธ์ 2563

Amnesty International Thailand

“ตอนอยู่ที่ชุมชน เราไม่ได้เรียกว่าศาสนา แต่เรามองว่ามันคือความเชื่อของมนุษย์ เราจะเรียกว่าคนที่เชื่อในพระเจ้า ผู้เชื่อในพระเจ้า”

 

เจ หนุ่มชาวเวียดนามวัย 20 ปี กล่าวอธิบายด้วยภาษาไทยที่ชัดถ้อยชัดคำ ถึงความเชื่อของเขาและครอบครัวที่ทำให้เขาต้องจากเวียดนามบ้านเกิด หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เขาอายุเพียง 15 ปี

 

เจ เล่าว่า ครอบครัวของเขา เป็นคนเวียดนาม อยู่ทางภาคกลางของเวียดนาม สังคมชนกลุ่มน้อยที่เวียดนาม เพราะเป็นคนเผ่าอยู่บนภูเขา ที่เรียกว่า “ราเด” หรือ “เอเด”เจเดินทางมาไทย เพราะตอนนั้นครอบครัวเรามีปัญหา เรื่องศาสนาที่นับถือ ตอนอยู่ที่เวียดนาม ครอบครัวของเขานับถือศาสนาคริสต์ เขาโตมากับความเชื่อในพระเจ้า ที่บ้านเป็นพื้นที่คริสตจักร เขาก็เหมือนเด็ก ๆ คนอื่นที่ไปเรียนไปศึกษาพระคัมภีร์

 

ในชุมชนที่เจอาศัยอยู่กว่าร้อยละ 90 นับถือ ศาสนาคริสต์ แต่คนที่นั้นไม่เรียกว่าเป็นศาสนา เพราะเขามองว่าคือความเชื่อ แต่ก็มีบางส่วนที่นับถือผี นมัสการปู่ยาตายาย

 

จุดพลิกผันที่ทำต้องจากบ้านเกิดมาสู่ประเทศไทย

 

“ตอนนั้นเราเกิดมาเป็นชนชาติเวียดนาม เราคือคนเวียดนามทั่วไป ตอนเด็ก ๆ เรายังไม่เข้าใจปัญหาอย่างละเอียด รัฐบาลของเราเป็นคอมมิวนิสต์ การใช้นโยบายกับกลุ่มผู้มีศาสนา มันมีความจำเป็นสำหรับรัฐบาล ซึ่งนั่นก็คือ นโยบายการที่จะต้องให้คนขออนุญาตในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติ ปัญหาคือตรงนี้” เจ กล่าว

 

อย่างที่เจบอกว่า สิ่งที่เขาถือปฏิบัติ คือ ความเชื่อในพระเจ้า พระเจ้ายิ่งใหญ่สุดแล้ว ดังนั้นการจะกระทำกิจกรรมใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราเชื่อเราจะต้องไม่มีใครมาเป็นผู้บอกว่าอนุญาตหรือไม่ เขามองว่านโยบายของรัฐบาลผิดกับความเชื่อ และเห็นว่าศักดิ์ศรีของความเชื่อหรือศาสนานั้น ไม่ควรถูกมนุษย์เข้าไปควบคุม และตั้งแต่เขาเป็นเด็กจนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เขาไม่รู้ว่าพ่อแม่กำลังทำอะไร ถึงทำให้รัฐบาลไม่พอใจ แต่เขาก็เริ่มรับรู้ว่า รัฐบาลเริ่มมาจับตาครอบครัว ตำรวจไปที่บ้านบ่อยมากจนเริ่มชิน บางครั้งเขาก็เรียกพ่อไปที่สถานีตำรวจ พ่อก็ไป พ่อจะโดนกักที่สถานีตำรวจ พ่อก็กลับมาแบบหน้าเครียด เจคิดว่าที่พ่อแม่ไม่เล่าให้ฟังเพราะว่ายังเด็กอยู่

 

พ่อของเจ เป็นผู้นำของโบสถ์ที่หมู่บ้าน สมัยเด็ก ๆ เจจะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่หมู่บ้านอยู่บ่อย ๆ ตอนนั้น เจไม่ได้สนใจอะไร แต่พอนานวันเข้าเห็นว่าเริ่มมาบ่อยขึ้น และนานอยู่หลายปี สถานการณ์ดูเครียดขึ้น พ่อแม่ก็เครียด เขาไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นอะไร ตอนนั้นเจอายุประมาณ 11-12 ขวบ เขาก็เริ่มสับสนเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ เขาก็พยายามถาม แต่ก็ไม่เคยได้คำตอบที่ชัดเจนจากพวกเขาเลย

 

เจเริ่มรับรู้ว่า ความเชื่อในพระเจ้า หรือที่หลายคนเรียกว่าการนับถือศาสนาคริสต์ มาจากเหตุการณ์ที่เขาเจอในโรงเรียน

 

“เราก็เจอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเรา เราเรียกมันว่าการเลือกปฏิบัติ คือครูเขาจะชอบเรียกให้คนที่นับถือศาสนายืนขึ้น ส่วนใหญ่คนเวียดนาม ไม่ได้นับถืออะไร ส่วนใหญ่ถือปู่ย่าตายาย ห้องเรามีนักเรียน 43 คน มีคนยืนขึ้นแค่ 3 คน คือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้นที่ยืนขึ้น การให้ยืนแบบนั้นทำให้เรารู้สึกแปลกแยกมากขึ้น ครูพยายามถามเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ว่าทำไมถึงนับถือ พิธีกรรมเราทำอะไรบ้าง มีสมาชิกกี่คน เราเริ่มสงสัยว่าความเชื่อเรามีปัญหาหรือ และเรายังเจอการเลือกปฏิบัติจากการเป็นชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยอีกด้วย ก็เท่ากับว่า เราถูกเลือกปฏิบัติจากสองทางคือ การนับถือศาสนา และเรื่องชาติพันธุ์ บางครั้งเพื่อนเราก็นำพระนามของพระเจ้ามาเป็นเรื่องตลก มาล้อ หรือพูดคุยใช้พระนามของพระเจ้าแบบไม่สุภาพ เราได้ยินแล้วมันรู้สึกเจ็บปวดจิตใจมาก แม้ว่าจะไม่ได้ถูกทำร้ายจากการใช้กำลัง เพราะมันคือความเชื่อของเรา สิ่งที่เราคิด คือถ้าครูไม่เรียกให้คนที่นับถือศาสนายืนในห้อง เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น และที่โรงเรียนยังติดตามนักเรียนที่นับถือศาสนาด้วย และสั่งไม่ให้ทำอะไร หรือ แม้กระทั่งพูดกับเพื่อนเกี่ยวกับศาสนา มีการห้ามเอาพระคัมภีร์ไปโรงเรียน และห้ามพูดเรื่องนี้กับเพื่อนเด็ดขาด” เจเล่าย้อนถึงความหลังช่วงเรียนมัธยม        

ชาวเอเด ชนเผ่าของเจ ส่วนใหญ่เป็นชาวนา การศึกษาไม่สูง เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ ใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ทำให้เพื่อนในโรงเรียนนำเรื่องเหล่านี้มากลั่นแกล้ง ทำให้เขาตั้งคำถามว่าความเชื่อของเขาผิดอะไร ที่สำคัญเด็ก ๆ ที่ได้เรียนในโรงเรียนก็น้อยมาก แม้ว่าโณงเรียนที่เจเรียนจะตั้งอยู่ในพื้นที่ชนเผ่าก็ตาม แต่เด็กส่วนใหญ่จะมาจากในเมือง และเป็นเชื่อชาติเวียดนามแท้

 

แม้กระทั่งชื่อ ก็ยังถูกนำมาเป็นเครื่องมือ ที่แบ่งแยกให้เกิดความแตกต่าง เพราะคำที่ปรากฏอยู่ในนามสกุลแตกต่างกันชัดเจนมาก พออ่านแล้วรู้เลยว่ามาจากชนเผ่าไหน เพื่อนก็ยังเอาชื่อเหล่านี้มาล้อเล่น และชอบบอกว่าชนเผ่าสกปรก จน โง่ เพราะคนส่วนใหญ่มีอาชีพชาวนา ผิวดำ หน้าตาไม่ดี อาหารไม่สะอาด ตอนนั้นเจก็รู้สึกแย่มาก และยังมีเพื่อนอีกคนที่นับถือศาสนาถูกทำร้ายร่างกายในโรงเรียนด้วย แต่เจก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมีกันอยู่ไม่กี่คน

 

เรื่องเจ็บช้ำมากที่สุด คือ การให้คะแนะการสอบ...

 

“เราจำได้ว่าเราสอบ เราพยายามทำให้ดีมาก พยายามอ่านหนังสือ และทำข้อสอบให้ดีมาก สุดท้ายคะแนนที่เราได้ ก็ไม่มีทางสูงกว่าชนกลุ่มใหญ่ ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังมาก ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ตอนนั้นเพื่อนคนอื่น ๆ เลิกเรียนกันไปก่อนเพราะทนไม่ไหว แต่เราเป็นคนชอบเรียนมาก ๆ เพราะเรามีความคิดว่า เราคงทำนานไม่ไหว เราต้องเปลี่ยนชีวิตด้วยการศึกษา เราให้กำลังใจตัวเองว่าต้องพยายาม ถ้าเราได้เรียนสูงขึ้นเราจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น” เจ กล่าว

 

ความกังวลในใจเด็กชายเริ่มมากขึ้น หลังจากเขาได้รับรู้ว่ามีการประชุมของรัฐบาลที่หมู่บ้านชาวเอเด แล้วเขาประกาศว่าคนที่นับถือศาสนาคริสต์ จะไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นข้าราชการ หรือทำงานเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และจะไม่ได้ทำงานดี ๆ เช่น หมอ ครู ทำให้เขาเสียความหวังมาก เพราะตอนนั้นมีความฝันว่าอยากจะเป็นครู

 

และเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องหาทางออกมาอยู่ที่ไทย คือช่วงที่ เจ อายุประมาณ 14 ปี เขาเริ่มเป็นผู้แบ่งปันพระคัมภีร์ เพราะเป็นงานที่ได้รับใช้พระเจ้า เขาไม่เคยรู้ว่ามันจะมีผลต่อชีวิต และตอนอายุ 15 แม่ส่งเขามาที่ไทย เจ ตกอยู่ในสถานะผู้ลักลอบเข้าเมือง เพราะไม่มีเอกสาร

 

อาศัยอยู่ไทย ในสถานะผู้ลักลองเข้าเมือง

 

พอเข้ามาอยู่ที่ไทย จ.นนทบุรี เจเริ่มหาข้อมูลศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา ช่วงแรกคนไทยมองว่าเราเป็นแรงงานต่างด้าว บางคนไม่ได้เข้าใจความหมายของผู้ลี้ภัย เขาก็รู้สึกแย่มาก กลายเป็นคนไม่มีสัญชาติ ส่วนใหญ่คนที่มาอยู่ด้วยก็จะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ศาสนา นักสิทธิมนุษยชน

 

“มาถึงไทยเรารู้ว่า UNHCR จะดูแลผู้ลี้ภัย เราเลยไปลงทะเบียน มีพวกองค์กรทนายความช่วยเหลือเรื่องกฎหมายและเอกสาร และให้คำแนะนำ และมีคนให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหาร เงิน ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ความช่วยเหลือนี้ก็ไม่ได้เพียงพอให้เราสามารถอยู่ได้ ตอนนี้ถ้ามีโอกาสอยากกลับไปเรียนต่อ อยากใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดาทั่วไป อยากกลับไปบ้านที่ประเทศเวียดนาม เพราะคิดถึงบ้าน รักบ้านเกิดมาก อยากทำงานช่วยเหลือคนในชุมชน” เจ กล่าว

 

และพูดทิ้งท้ายว่า สิทธิมุษยชนเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ ความเชื่อก็เหมือนกัน มันคือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ความเชื่อของเราคือ พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ขึ้นมา ให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

 

เจาะมุมมอง ทำไมรัฐบาลเวียดนามหวาดกลัวความเชื่อศาสนา

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวียดนามเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย เขายังอธิบายว่าเป็นประเทศสังคมนิยมอยู่ ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายเสรีภาพทางการเมืองแล้ว หลังสงครามเย็น วิธีคิดของเขายังเป็นเรื่องหลักการควบคุมโดยรัฐ พื้นฐานที่เขายังเป็นสังคมนิยม ประชาชนจะถูกห้ามไม่ให้นับถือศาสนา หรือถูกให้ลดบทบาท เพราะมองว่าศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อการปฏิวัติ ซึ่งหลังยุคสงครามเย็น เวียดนามก็เริ่มยินยอมให้ประชาชนนับถือศาสนาที่ตัวเองต้องการได้

 

“หลัก ๆ ประเทศเวียดนามจะเป็นศาสนาพุทธ นิกายมหายาน และมีความเชื่อต่าง ๆ กันออกไปมีคริสตอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะอยู่ศาสนานาใด ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ คือตั้งแต่การจดทะเบียน การควบคุมกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชน จึงไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการนับถือศาสนา หรือว่าการควบคุมโดยรัฐกันแน่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าว

 

ปัจจุบัน ไทยมีผู้ลี้ภัยในเมือง ที่สำคัญ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย ชาวปากีสถานที่เป็นเป็นคนมุสลิม และคริสตเตียน และชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันและกลุ่มที่มาก็จะเป็นคริสต์ ซึ่งก็เจอปัญหา แต่หากจะหาเหตุผลว่าทำไมถึงมีประเด็นนี้ นั่นเป็นเพราะรัฐบาลเขาหวาดกลัวคนที่ทำกิจกรรมโดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าจะทำกิจกรรมใด ๆ ก็ต้องขออนุญาตรัฐบาล นั่นหมายความว่าคนเวียดนามก็ไม่สามารถชุมชุมได้ การทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลเวียดนามเกิดความกังวล ถ้ามีกิจกรรมใด ๆ ต้องแจ้งกับรัฐ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ ต้องผ่านการตรวจสอบตลอดเวลา จึงเกิดเป็นปัญหาเรื่องสิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในเรื่องของความเชื่อทางศาสนา ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องทางการมือง ก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะต้องให้รัฐบาบควบคุม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด

 

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียระบุว่า จากรายงานของแอมเนสตี้ เมื่อปี พ.ศ. 2561 เวียดนามมีการจับกุมนักโทษทางความคิด ทั้งการเมือง และศาสนา เกือบ 100 คน ถูกจำคุก กังขัง ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ รัฐต้องการควบคุมให้มั่นใจว่ากิจกรรมทางศาสนาจะไม่กระทบต่อการทำงานของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลจึงกลัวว่า กลุ่มที่เป็นคริสต์อาจจะอิงความเชื่อแบบตะวันตก ที่อาจนำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งไม่ใช่ระบอบการเมืองที่เวียดนามเป็นอยู่ จึงทำให้เกิดกรณีที่ถูกจับกุม โดยกลุ่มที่โดนจับนี้จะถูกเรียกว่า “กลุ่มภาราดรภาพเพื่อประชาธิปไตย” นี่แสดงให้เห็นความหวาดระแวงของรัฐบาลที่กลัวการจะล้มล้างการปกครองแบบสังคมนิยมแบบที่เวียดนามเป็นอยู่ ทำให้กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกจับตามมองมากกว่าคนที่มีความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ ยิ่งไม่จดทะเบียน ไม่ยอมทำตามที่รัฐสั่ง ก็จะยิ่งถูกจับตามองแต่เวียดนามเองก็จะมีอีกหนึ่งความเชื่อ ในเรื่องของกลุ่มที่มีความเชื่อผีสาง กลุ่มนี้ก็จะไม่ถูกจับตามมอง

 

รัฐบาลไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยได้อย่างไร

 

อย่างที่เราทราบไทยไม่ได้รับรองผู้ลี้ภัยทางความคิด แต่ไทยจะมีการปฏิบัติลักษณะมนุษยธรรม เพราะติดปัญหาทางกฎหมายไทย ที่ยังถือว่าบุคคลกลุ่มนี้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ผู้ลี้ภัยในเมืองจะเจอปัญหามาก เพราะเสี่ยงถูกส่งกลับประเทศ และยิ่งหากหนีมาเพราะเรื่องความเชื่อ จะยิ่งกลัวสิ่งที่ไทยทำ หรืออนุโลมในกรณีผู้ที่หนีภัยมาอยู่ด้วยมนุษยธรรม แต่ถ้าตำรวจเจอ ก็มีสิทธิ์ถูกจับและส่งกลับประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหา

 

ผู้ลี้ภัยในเมืองไทย มีจำนวนมาก 6,000-7,000 คน อีกกลุ่มที่ไทยยังปฏิเสธไม่รับเข้ามาคือชาวโรฮิงญา ผู้ลี้ภัยก็จะต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือUNHCR เพื่อขอสถานะ บุคคลในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ Person of Concern to UNHCR : POC ทางแก้คือไทยอาจจะต้องคุยกับ UNHCR อย่างจริงจัง เพราะแนวโน้มผู้ลี้ภัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ หรือโลกที่มีความขัดแย้งในปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลไทย UNHCR อาจจะต้องมีระบบการจัดการที่ดี เช่น มีการลงทะเบียน มีการให้สิทธิบางระดับ

 

ส่วนในกรอบของการทำงานอาเซียน เรามีคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชาร์-AICHR ไทยก็มีผู้แทนคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ อาจมีการเสนอว่าอาจจะสนใจนำเรื่องนี้ไปพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องของ ผู้หญิง เด็ก สิทธิทางความเชื่อทางศาสนา เพื่อใช้กลไกทางภูมิภาค เชื่อว่าอาจจะสามารถจัดการเรื่องนี้ได้

 

ส่วนเรื่องหลักมนุษยธรรม ไทยกำลังมีการปรับแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์ และมีท่าทีผ่อนปรน ที่ชัดเจนขึ้น ต่อการนำผู้ลี้ภัยไปไว้ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Detention Centre- IDC) หรือแม้กระทั่งการยืนยันตาม กฎหมายเข้าเมืองที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ดีต่อภาพลักษณ์ไทย ซึ่งเสนอว่ารัฐบาลไทยอาจจะต้องทบทวนเรื่องนี้ใหม่