ปาฐกถาเนื่องในพิธีมอบรางวัล สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2562 

24 มกราคม 2563

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ปาฐกถาเนื่องในพิธีมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2562

โดย ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรียน คณะกรรมการของ Amnesty International ประเทศไทย สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติทุกท่าน 

 

ขอขอบคุณ Amnesty International ประเทศไทย อย่างยิ่งที่ให้เกียรติดิฉันมาเป็นองค์ปาฐกในวันนี้ ต่อหน้าผู้กล้าหาญที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อนำเสนอข้อมูลและความเห็นต่อการสร้างสังคมที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในบรรทัดฐาน และบทบาทของวารสารศาสตร์ในการสร้างสังคมนั้น

 

หัวข้อที่ได้รับมอบหมายในวันนี้คือ “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม” ซึ่งมีที่มาจากการที่คุณสุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าวสถานีวอยซ์ทีวี ถูกฟ้องร้องและตัดสินให้มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากการที่เธอรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคการเกษตร

 

เดิมที ดิฉันจะขอใช้เวลาประมาณ 15 นาที และตั้งใจจะเริ่มด้วยการพูดถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ที่เรียกสั้นๆ ว่า การฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPP ต่อผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ โดยเฉพาะนักวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน ก่อนจะอภิปรายผลที่เกิดขึ้นต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อเช้ามืดวันนี้ทำให้ดิฉันขอเปลี่ยนจากการนำเสนอสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าวิตกตั้งแต่ปี 2556เป็นต้นมา ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดได้ในรายงานของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรพันธมิตรที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว มาเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวพันกับการฟ้องคดีปิดปากโดยตรง แต่สะท้อนบรรยากาศที่เอื้อให้การฟ้องคดีปิดปากเกิดขึ้นได้โดยแทบไม่มีการยับยั้ง ก่อนจะชวนท่านคิดว่า เราจะปลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไร

 

1. บรรยากาศที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

เหตุที่ขอพูดถึงประสบการณ์เมื่อเช้านี้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความรู้สึกที่ว่า ในประเทศนี้ ชีวิตของคนที่มีทางเลือกน้อย มีค่าน้อยอย่างยิ่ง

 

บ้านของดิฉันอยู่บนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 16.5 เมื่อเช้านี้ ดิฉันออกจากบ้านเวลาตีห้าครึ่ง เพื่อเลี่ยงช่วงที่จะมีรถหนาแน่น ประกอบกับที่ถนนพระราม 2 มีการก่อสร้างขยายถนนตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้การจราจรยิ่งติดขัด บางครั้งก็หยุดนิ่งเป็นเวลานานถึงขนาดสิ้นหวังได้ 

 

โดยปรกติ ถ้าออกจากบ้านเวลานี้ ดิฉันจะใช้เวลาเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยประมาณ 40 นาที แต่เช้าวันนี้ ดิฉันติดอยู่บนถนนพระราม 2 ขาเข้า จากกิโลเมตรที่ 16.5 ถึงกิโลเมตรที่ 14 ประมาณ 40 นาที พร้อมกับเพื่อนร่วมทางทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุก รถเมล์ รถสองแถวอีกนับร้อยคัน นี่เป็นระยะทางที่ปรกติจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที

 

เหตุที่รถติดตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นคือ มีการปิดถนนเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร คาดว่าเพราะเพิ่งราดยางเสร็จ ทำให้อยู่ๆ จากถนนที่มี 5 เลน ก็ถูกปรับเป็นคอขวดเหลือเพียง 2-3 เลนแคบๆ

 

ดิฉันรู้สึก “หัวร้อน” และงุนงงว่าทำไมจึงไม่มีข่าวหรือการประกาศว่าจะมีการปิดถนน เพื่อให้ผู้คนในละแวกนั้น รวมทั้งรถบรรทุกอีกหมื่นๆ คันที่จะใช้เส้นทางได้ทราบก่อน จะได้จัดการกับชีวิตได้ว่าจะต้องทำอย่างไร หรือเห็นด้วยหรือไม่กับการตัดสินใจแบบนี้

 

ดิฉันถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วกะว่าจะโพสต์เหตุการณ์นี้จากแอคเคานต์ social media ของตัวเองที่ไม่ได้โพสต์อะไรเลยมา 7-8 ปีแล้ว และคิดว่าจะ tagจส 100 ด้วย เพราะนอกจากจะได้เตือนผู้ใช้เส้นทางถึงหายนะที่รออยู่แล้ว เผื่อผู้สื่อข่าวสำนักต่างๆ อาจจะเห็นว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ และมาทำข่าวอีกเหมือนเมื่อปีที่แล้ว ที่ปัญหาฝุ่นพิษเพิ่งจะรุนแรง และถนนพระราม 2 ช่วงมหาชัยก็ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่ค่า PM 2.5 สูงลิ่วเพราะมีการทำถนน

 

แต่แล้วก็มานั่งคิดว่า แทนที่จะเป็นการแจ้งเตือนปัญหา หรือทำให้สังคมฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องปรกติ ดิฉันจะถูกคนอื่นก่นด่าหรือเปล่าว่า ทำไมไม่รู้จักเช็คเส้นทางก่อน // เดี๋ยวถนนเสร็จ ก็ใช้ได้คล่องแล้ว อดทนหน่อยไม่ได้หรือไง // บ้านไกลขนาดนั้น ทำไมไม่ย้ายมาอยู่ในเมือง // หรือคำคลาสสิคของคุณพี่แท็กซี่ที่เจอเมื่อวันก่อน คือ “คนที่แถวบ้านรถติด จะเป็นคนใจเย็น”

 

หรือบางคนอาจจะบอกว่า เธออยู่ในรถ แอร์เย็นๆ ฟังเพลงสบายใจ จะเดือดร้อนอะไร // คนที่เบียดกันอยู่บนรถเมล์หรือรถสองแถว สูดฝุ่นพิษและควันรถเข้าไปเต็มๆ ยังไม่มีใครบ่น

 

นอกจากนี้ หากดิฉันใช้ถ้อยคำที่แทงใจดำของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชน แม้จะเป็นประสบการณ์ที่เจอมากับตัว หรือข้อเท็จจริงที่มีหลักฐาน ผลที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นประโยชน์กับตัวเองและครอบครัว เช่น ถูกฟ้องและเรียกค่าเสียหายฐานทำให้เสียชื่อเสียง หรือมีมาตรการทางวินัยต่อดิฉันในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

 

ท่านอาจบอกว่า ดิฉันมโนไปไกลขนาดนั้นได้อย่างไร กับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอย่างปัญหารถติด แต่รายงานสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในไทยในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มการฟ้องคดีปิดปากทั่วโลก ทำให้ดิฉันไม่คิดว่าจินตนาการไปเองว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้

 

เพราะผู้ที่ถูกฟ้องคดีปิดปากคือ ชุมชนหรือประชาชนที่คัดค้านโครงการที่อ้างว่าเป็นเพื่อการพัฒนา แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ นักกิจกรรมทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน ทนายความ นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชน ซึ่งต่างก็นำเสนอประสบการณ์ตรงและข้อเท็จจริงมีผลกระทบต่อชีวิตของตนเองและสังคม และมุ่งเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงได้รับทั้งสิ้น

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับดิฉันเมื่อเช้านี้เทียบไม่ได้แม้แต่น้อยกับสิ่งที่คุณสุชาณี หรือผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากท่านอื่นๆ ต้องเจอ แต่ดิฉันอยากชี้ให้เห็นจุดร่วม ว่าประสบการณ์เหล่านี้ต่างสะท้อนความบิดเบี้ยวในสังคมที่ถูกทำให้เป็นเรื่องคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนถูกทำให้เป็นฝ่ายรับ และแทบไม่มีส่วนร่วมในการส่งเสียงหรือออกแบบสิ่งที่จะมีผลกระทบกับชีวิต ขณะที่พื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ถูกใช้สำหรับการสื่อสาร ถกเถียง หรือหาข้อตกลงร่วมกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล

 

ทั้งหมดนี้แสดงว่า สิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงความเห็น และการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งประชาชนด้วยกันเอง เห็นว่าเป็นคุณค่าพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่เราอ้าง หรือหวังว่าเป็นประชาธิปไตย

 

เมื่อไม่มีคุณค่าพื้นฐานนี้ เสียงของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมน้อย ก็เบาจนแทบไม่ได้ยิน ถูกทำให้เงียบหาย หรือกระทั่งถูกลงโทษที่เปล่งเสียงออกมา ประชาชนจึงไม่มีข้อมูลและอำนาจพอที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสิน หรือกำหนดนโยบายที่จะมีผลต่อชีวิต 

 

นั่นจึงเป็นเหตุที่ดิฉันนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ค่าของชีวิตคนที่มีทางเลือกน้อยในสังคมนี้ มีน้อยเหลือเกิน

 

2. Implication

การฟ้องคดีปิดปากเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายที่มีเดิมพันเป็นข้อเท็จจริง ขณะที่คู่ต่อสู้มีทรัพยากรไม่เท่ากัน เพราะผู้ฟ้องมักมีอำนาจทางการเมืองและต้นทุนทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ถูกฟ้อง 

 

และไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน ผลกระทบของการฟ้องคดีปิดปากก็ไม่ต่างกัน กล่าวคือ เป็นอาวุธที่บังคับให้ผู้ถูกฟ้อง ต้องเงียบเสียงลง ด้วยภาระในการถูกดำเนินคดี ทั้งด้านทุนทรัพย์ เวลา ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจ 

 

ขณะเดียวกัน บทลงโทษก็ไม่ได้สัดส่วนกับสิ่งที่ถูกตัดสินว่าเป็นความผิด ทั้งโทษอาญาเช่นเดียวกับที่คุณสุชาณีต้องเผชิญ และค่าเสียหายจำนวนมหาศาลที่ทำให้องค์กรสื่อล้มละลายได้ เช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

 

การฟ้องคดีปิดปากยังไม่ใช่เรื่องส่วนตัวระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่าย เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน และเวลาของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ไปกับคดีที่สาธารณะไม่ได้รับประโยชน์อะไร นอกจากลดทอนความเชื่อมั่นในสถาบันสื่อ หรือผู้ที่ออกมาพูดความจริงที่แตกต่าง

 

ที่สำคัญ นี่ยังเป็นกลยุทธ์ข่มขวัญที่สร้างบรรยากาศแห่งความเกรงกลัวให้คนอื่นๆ ไม่กล้าการแสดงความเห็น หรือนำเสนอข้อเท็จจริงที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันที่ทรงอิทธิพล รวมทั้งไม่อาจหาญที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ที่ถูกชี้ว่าสั่นคลอนความเจริญและมั่นคงของชาติ

 

เมื่อสื่อล้มหายตายจาก หรือคนที่แสดงความเห็นต่างถูกลงโทษ สังคมก็ไม่มีข้อมูลที่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดไว้

 

และเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงชุดอื่นที่จะมาคัดง้าง หรือหักล้าง “ความจริง” ที่ผู้มีอิทธิพลกำหนด อำนาจก็ยังคงอยู่กับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์โดยไม่ถูกท้าทาย

 82765656_3257404227619980_2761289841021812736_o.jpg

3. Different (political) realities

การฟ้องคดีปิดปากจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการผูกขาดการนำเสนอความจริง ในแนวทางเดียวกับการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร การสื่อสารด้วยความเกลียดชัง และการคุกคามเสรีภาพการแสดงความเห็นในรูปแบบอื่นๆ

 

ผู้ฟ้องมักไม่ยอมรับว่านี่คือการฟ้องคดีปิดปาก เพราะอ้างว่าเกิดผลลบกับตน และไม่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่ทำเป็นการกระทำที่ทุจริต ใช้กฎหมายอย่างไม่ชอบธรรม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมองว่า ตนทำตามกฎหมายแล้ว หรือเมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ หรือทำไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบในสังคม หรือความมั่นคงของรัฐ

 

หากสถาบันรัฐที่เกี่ยวข้องยึดหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นที่ตั้ง การฟ้องคดีปิดปากคงไม่ยืดเยื้อและถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อทิ่มแทงผู้ที่พูดความจริงและผู้เห็นต่าง แต่ในหลายกรณี วิธีคิดเช่นเดียวกับผู้ฟ้องของสถาบันของรัฐ ก็เอื้อให้การฟ้องคดีปิดปากใช้ได้ผล ขณะที่ผู้คนก็ไม่ได้รู้สึกว่านี่คือการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง รวมถึงปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

ทำไมสังคมไทยจึงนิ่งเฉยต่อการที่มีผู้ถูกฟ้อง กระทั่งออกตัวสนับสนุนและแสดงอาการสะใจอย่างเปิดเผยได้ แม้ผู้ถูกฟ้องจะเป็นคนที่มีอำนาจน้อยกว่า มีทุนน้อยกว่า มีสิทธิมีเสียงน้อยกว่า

 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การฟ้องคดีปิดปากดำเนินไปได้โดยขาดการยับยั้ง คือ ปรากฏการณ์ที่นักวิชาการเรียกว่าเป็น “การผุกร่อนของความจริง” หรือ Truth Decay ที่ความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองและสังคมร้าวลึก ต่างฝ่ายต่างยึดถือในความเชื่อของตน จนคนในสังคมไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันในข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือองค์ความรู้ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ที่จะนำไปสู่การอภิปรายอย่างมีอารยะเพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นสาธารณะร่วมกันได้

 

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่คนในสังคมเลือกจะยึดมั่นในมายาคติ และมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรูหรือผีปีศาจที่ต้องประหัตประหารให้สิ้นซาก การจะนำมาสู่ข้อสรุปว่าสิ่งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพูดเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ จึงยากที่จะเกิดขึ้น เพราะอยู่บน “ความเป็นจริง” หรือ reality คนละชุด 

 

ปัญหาของการฟ้องคดีปิดปากจึงไม่ได้อยู่ที่ผู้ฟ้องร้องเท่านั้น แต่อยู่ที่สถาบันต่างๆ โดยเฉพาะรัฐ และผู้คนในสังคมที่ให้ใบอนุญาตในการฟ้องร้อง โดยไม่ตระหนักว่า ยิ่งปิดปากมากเท่าไหร่ สังคมก็จะยิ่งไม่ได้รับความกระจ่าง และทำให้การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ในที่โล่งแจ้ง

 

4. Solution

แล้วเราจะก้าวออกจากกับดักที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงและพูดความจริงได้อย่างไร

 

การยึดมั่นในหลักนิติรัฐและคุณค่าประชาธิปไตย เป็นฐานคิดสำคัญในการจัดการกับการฟ้องคดีปิดปาก เพื่อให้อำนาจในการผูกขาดความจริงไม่กระจุกอยู่กับผู้มีอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์

 

นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเสนอว่า การแก้ไขโครงสร้างและกลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นประมาท เป็นส่วนสำคัญที่จะยับยั้งการฟ้องคดีปิดปากได้ เพื่อลดภาระอันสาหัสของผู้ถูกฟ้อง ทั้งระหว่างการดำเนินคดีและการรับโทษ และเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้ฟ้องต้องรับผิดรับชอบต่อการกระทำของตน ไม่ใช่ฟ้องได้อย่างเสรีโดยไม่จำเป็นต้องรับภาระในการพิสูจน์มากมาย ขณะเดียวกัน ก็เสนอให้มีการสร้างบรรทัดฐานในการดำเนินธุรกิจด้วยหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อลดปัญหาการละเมิดตั้งแต่ต้นทาง

 

นอกจากนี้ การเปิดพื้นที่สาธารณะให้สังคมได้ร่วมกันทำความเข้าใจ อภิปราย และถกเถียงในประเด็นสาธารณะบนฐานข้อเท็จจริง น่าจะช่วยให้ “ความเป็นจริง” ของทุกฝ่ายขยับมาใกล้เคียงและเห็นพ้องกันได้บ้าง 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการนิเทศศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสื่อ และผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ซึ่งกรุณาให้ข้อคิดและคำแนะนำแก่ดิฉันในการปาฐกถาในวันนี้ กล่าวว่า การฟ้องคดีปิดปาก เปรียบเสมือนการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางสังคมและการเมือง การสร้างบรรทัดฐานให้การฟ้องคดีปิดปากเป็นเรื่องปรกติ เท่ากับทุกคนมีส่วนอุ้มชูวัฒนธรรมการรังแกคนที่มีอำนาจน้อยกว่า หรือคนไม่มีทางสู้ ให้หลังชนกำแพง และถูกบดขยี้ต่อหน้าต่อตาในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 

 

การฟ้องคดีปิดปากเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ กล้าท้าทายรัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์ ดังนั้น การนิ่งเฉยของสถาบันต่างๆ และประชาชนต่อการฟ้องคดีปิดปาก จึงเท่ากับสังคมไม่ได้ช่วยกันปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ที่ต่อสู้เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รับความยุติธรรม หรือไม่ได้ปกป้องนักวารสารศาสตร์ที่ทำให้ความจริงปรากฏ

 

แน่นอนว่าการจะทำให้สาธารณะยอมรับและมาเป็นแนวร่วมในการเรียกร้องความยุติธรรมได้ องค์กรสื่อ นักวารสารศาสตร์ และสมาคมวิชาชีพ ต้องแสดงให้เห็นการยึดมั่นในปรัชญาและเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพ และสร้างความน่าเชื่อถือที่อยู่บนการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เป็นธรรม และสร้างสรรค์ 

 

นักวารสารศาสตร์และสื่อมวลชนต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ เพื่อให้เห็นว่าสถาบันสื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ พึ่งพาได้ในยามสับสน ส่องให้เห็นความอยุติธรรม เป็นแรงเสริมในการใช้สิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเป็นปากเป็นเสียงแทนกลุ่มคนที่ถูกจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพนี้ 

 

ขณะเดียวกัน องค์กรภาครัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ภาคเอกชน และประชาชนต้องเห็นว่า “วารสารศาสตร์ไม่ใช่อาชญากรรม” // การ “ทำความจริงให้ปรากฏ” เป็นหัวใจของปรัชญาวารสารศาสตร์ในสังคมประชาธิปไตย แม้ความจริงนั้นจะตั้งคำถามต่ออำนาจ หรืออยู่คนละขั้วกับความเข้าใจที่มีอยู่เดิม // การเปิดเผยความจริงอาจทำให้โกรธ ผิดหวัง ละอาย หรือเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกัน นักวารสารศาสตร์ก็ไม่ใช่ “คนช่างติ” ที่ตั้งใจแต่จะ “หาเรื่อง” หรือ ชี้ให้เห็นแต่ข้อผิดพลาด หากเป็นผู้กระตุ้นเตือนให้สังคมร่วมกันหาทางคลี่คลายความขัดแย้ง อุ้มชูเพื่อนมนุษย์ที่ถูกเบียดจนตกขอบ ให้กลับมามีพื้นที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงสร้างความหวังให้สังคม ด้วยการเสนอแนวทางใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย อย่างมีอารยะและไม่ใช้ความรุนแรง 

 

ทั้งหมดนี้ เพื่อที่คนในสังคมจะได้ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของ “ความเป็นจริง” ที่สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน

ขอบคุณและสวัสดีค่ะ