เสียงสะท้อน 20 ปีปัญหาประทานบัตรโรงโม่ผาฮวก-ผาจันไดสู่ทางออกที่ยั่งยืน

13 ธันวาคม 2562

Amnesty International Thailand

กว่า 25 ปีในการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เพื่อยืนหยัดในสิทธิชุมชนอุนรักษ์ ของ “กลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได” ที่เดินหน้าคัดค้านการทำเหมืองหินปูนรวมถึงการเรียกร้องให้หยุดการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการยื่นหนังสือคัดค้าน การชุมนุมประท้วง การยื่นฟ้องต่อศาล สูญเสียชีวิต สูญเสียอิสรภาพ แต่ชาวบ้านในชุมชนยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้มาจนถึงปัจจุบัน 

 

ในปี 2563 นี้สัมปทานประทานบัตรกำลังจะหมดลง และอยู่ในระยะเวลาการดำเนินการขอต่อประทานบัตรอีก 10 ปี ซึ่งหากบริษัทผู้ได้รับสัมปทานสามารถต่อใบอนุญาตได้สำเร็จแล้ว ภูเขา ป่าไม้ จะถูกระเบิด ระบบนิเวศแห่งนี้จะถูกทำลาย แหล่งอาหารและที่ทำกินของชาวบ้านจะสูญหายต่อไปนานจนถึงปี 2573

 

เมื่อวันที่  วันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2562 ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนาด้วยการลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในหัวข้อ 20ปีปัญหาประทานบัตรโรงโม่ผาฮวก-ผาจันได : ทางออกก่อนนำไปสู่การประทานบัตรอีก 10 ปี” 

DSC06103.jpg 

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดงานระบุว่า พื้นที่ปัญหานี้มีความรุนแรงในแง่ของผลกระทบต่อสิทธิของชาวบ้านที่มีมายาวนาน รวมไปถึงความเข้มแข็งในการต่อสู้ของชาวบ้าน จึงคิดว่าชุมชนนี้เป็นตัวอย่างในการสะท้อนการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนได้เป็นอย่างดี

 

“เราจึงต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งและเข้าใจในอำนาจและหน้าที่ของตัวเองมากยิ่งขึ้นให้กับ อบต. ทั่วประเทศ ให้มั่นใจว่าคุณมีอำนาจในการที่จะต่อรองกับทุกฝ่าย  เราเห็นการต่อสู้มา จำนวนมากของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม คนมักจะประมาทว่าชาวบ้านเดี๋ยวก็จะเลิกสู้ไป แต่ชาวบ้านยังยืนหยัดการต่อสู้ตลอดมาจนแก่จนตายแต่คนยังสู้อยู่ เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนหรือกลุ่มคนที่อิงผลประโยชน์ฝ่ายเดียว อย่าดูถูกพลังชาวบ้าน เพราะทำให้คุณคิดว่าทำอะไรก็ได้ ในส่วนของชาวบ้านยังต้องเรียนรู้ที่จะสามัคคีกับกลุ่มอื่นๆให้มากขึ้น”    

 

ในการเสวนาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ กลุ่มอนุรักษ์ นักโบราณคดี องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชน มาร่วมพูดคุยถกเถียงถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาให้นำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 20 ปี ที่ก่อความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนั้น 

 DSC07158.jpg

สมพร เพ็งคำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน หรือ Community Health Impact Assessment (CHIA) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเครือข่ายนักวิชาการ NGO และตัวชุมชน ในการที่จะพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่าการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน เพื่อชุมชนได้รู้จักเรียนรู้เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานอย่างเป็นระบบ จำแนกผลกระทบได้ 5 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้ 

 

ประเด็นแรก ซึ่งถือเป็นข้อกังวลของชุมชน คือ ชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เหมือนเดิม เพราะเดิมทีก่อนที่พื้นที่จะถูกขอสัมปทานในการทำเหมือง เป็นภูฮวก ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของไผ่ฮวกซึ่งเป็นหน่อไม้ชนิดหนึ่งนอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้วชาวบ้านก็สามารถเอาไปขายหารายได้ด้วย รวมถึงพืชพันธ์อื่นๆที่ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์ซึ่งการทำเหมืองนั้นทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหากินจากพื้นที่นั้นได้อีกต่อไป

 

ประเด็นที่ 2 คือ เขตพื้นที่เหมืองส่วนหนึ่งหมุดปักอยู่ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง การระเบิดหินทำให้เศษหินตกไปในที่ทำกินของชาวบ้าน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย ชาวบ้านบางส่วนต้องทิ้งพื้นที่ทำกินแห่งนี้ไป

 

ประเด็นที่ 3 คือการคมนาคม เพราะทางที่รถบรรทุกที่ขนแร่จากการระเบิดไปขายตามจุดต่างๆ ติดอยู่กับบ้านชาวบ้าน ทำให้ได้รับทั้งแรงสั่นสะเทือน ฝุ่นต่างๆ เสียงดังรบกวน อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือชาวบ้านส่วนหนึ่ง เดิมเคยใช้เส้นทางที่จะไปเหมืองผ่านไปยังที่ทำกินของตัวเอง พอมีการทำเหมืองเขาไม่สามารถใช้เส้นทางตรงนี้ได้ ต้องอ้อมไปใช้อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในการใช้ชีวิตของชาวบ้าน

 

ประเด็นที่ 4 คือ เรื่องผลกระทบของสุขภาพ เพราะในระหว่างการระเบิดหินก็จะมีทั้งเสียงดังรบกวน บางคนพอนานไปก็เริ่มจะปรับตัวได้ แต่คนที่อยู่ใกล้ๆก็จะได้ยินเสียงตลอด ไม่ใช่แค่เสียงระเบิดตูมเดียว พอระเบิดเสร็จมันก็จะต้องมีรถรถแม็คโคร ขุดหินใส่รถ มีการย่อยหินให้เป็นก้อนเล็กลง เสียงตรงนี้ก็จะเป็นเสียงรบกวน แม้จะไม่ดังมากแต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญ แล้วชาวบ้านที่เคยมีวิถีชีวิตอยู่กับภูเขาอยู่กับความเงียบสงบก็จะทำให้เขาเกิดความเครียดและบางทีที่เหมืองทำงานถึงกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับก่อให้เกิดภาวะเครียด จนส่งผลต่อสุขภาพทางกายที่เชื่อมโยงกันไป 

 

ประเด็นที่ 5 ประเด็นสุดท้าย คือผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะพื้นที่ของภูเขาหินปูนเป็นพื้นที่เทือกเขาที่ใกล้ๆกัน ลักษณะนิเวศจะเป็นลักษณะของการเก็บน้ำใต้ดินอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะระเบิดตรงนี้ก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งน้ำน้ำใต้ดิน ที่สำคัญภูเขารอบข้างซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร เวลาฝนตกลงมามันจะฉะพวกเศษใบไม้ต่างๆมาเป็นปุ๋ยในไร่นาทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติ แต่พอภูเขาตรงนี้มันหายไประบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปมันก็จะส่งผลตรงนี้  ฉะนั้นเวลาที่มองเรื่องนี้เราไม่ได้มองที่ภูเขาโดดๆ แต่ว่ามันเป็นระบบนิเวศเดียวกันที่เชื่อมโยงกัน ตั้งแต่เรื่องของถ้ำ ภาพสี โบราณสภาน แหล่งน้ำ สถานที่ศักดิ์ที่ชาวบ้านเคารพ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมถึงที่ทำกิน พื้นที่ทำการเกษตร แหล่งอาหารตามธรรมชาติ 

 

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมองไปที่สาเหตุของปัญหา ซึ่งไม่ได้อยู่ที่รายงานผลกระทบ ไม่ได้อยู่ในเวทีประชาคมในหมู่บ้าน แต่แท้ที่จริงแล้วมันมาจากเรื่องของนโยบายและการประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมของประเทศที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่มีใครได้ประโยชน์  ฉะนั้นเราควรที่จะยกเลิกประกาศรวมถึงต้องมีการทบทวนและวางนโยบายในการจัดการทรัพยากรหินอุตสาหกรรมใหม่ทั้งประเทศโดยให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ว่าควรมีการบริหารจัดการทรัพยากรนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความยั่งยืน”  

สมพรกล่าวทิ้งท้าย

DSC06211.jpg 

สมควร  เรียงโหน่ง  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบ้านต่างร่วมกันต่อสู้คัดค้านการต่อสัมปทานประทานบัตรที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านนั้นไม่อาจประเมินค่าเป็นจำนวนเงินได้ หากแต่เป็นผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา 

 

“ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนขั้นตอนการอนุญาตที่ผ่านมา รวมถึงการต่อประธานบัตรครั้งต่อไป  อยากให้ทำการประชาคม ถามความคิดเห็นให้ถูกต้อง ให้มีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ แบบที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม รวมถึงฝากถึงลูกหลานและคนรุ่นใหม่ ถ้ามีโอกาสถ้ามีอยากให้ลุกขึ้นมาปกป้องธรรมชาติของพวกเรา ลองคิดหาวิธีแบบอื่น แบบที่ยั่งยืน แบบที่ไม่ต้องทำลายธรรมชาติ” 

 

ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่ร่วมเสวนากัน มีหลายมุมมองข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่จำทำให้เสียงสะท้อนจากชาวบ้านนี้ เป็นเสียงแห่งการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง