เสียงสะท้อนคนสื่อทำข่าวเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

8 ตุลาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

“นักข่าวจำเป็นอย่างมากในสังคมปัจจุบัน ที่จะต้องทำข่าวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และข่าวของผู้คน หรือชีวิตมนุษย์”

 

คำบอกเล่าจากนักข่าวหญิงชื่อดังด้านการทำข่าวความเดือดร้อนของประชาชน “แยม” ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามรายการข่าวสามมิติ ช่อง 3 ที่หลายคนอาจได้เห็นเธอในแทบทุกเหตุการณ์ข่าว ที่เกี่ยวข้องกับความเดือนร้อนของมนุษย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ เธอเล่าว่า ข่าวสิทธิมนุษยชน ข่าวชีวิตผู้คน ความทุกข์ร้อน ของผู้คน เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่นักข่าวต้องรายงาน ซึ่งความเดือดร้อนของผู้คนมีหลายรูปแบบ ทั้งการไม่มีกิน เศรษฐกิจไม่ดี ถนนพัง ปัญหาที่ดินทำกิน มีน้ำเสียจากโรงงานใกล้บ้าน ทั้งหมดนี้คือชีวิตคน คือหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ไข

 

ฐปณีย์ อธิบายความหมายของ “ข่าวสิทธิมนุษยชน” ว่าไม่ได้หมายถึงสิทธิทางการเมือง หรือการชุมนุมเรียกร้อง เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ชีวิต สิทธิความเป็นอยู่ในหลากหลายรูปแบบ เป็นข่าวที่อยู่กับชีวิตคน ความเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือปัญหาของสังคม และเราในฐานะสื่อมวลชนก็ทำหน้าที่ นำเสนอ ส่งต่อเรื่องราว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเธอเองเคยพยายามทำข่าวช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้สังคมไทย และต่างประเทศพูดถึงเรื่องนี้จำนวนมาก

 Screen Shot 2562-10-08 at 10.30.28.png

“ข่าวที่ยังอยู่ในหัวใจของเรา คือข่าวที่ช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่อยู่บนเรือ ที่ถูกเรียกว่าเรือมนุษย์ หรือว่า Green Boat ซึ่งกลายเป็นข่าวดังทั่วโลก และข่าวดังในประเทศไทย ที่ชาวโรฮิงญา 400 คนที่ต้องอยู่กลางทะเลโดยไม่รู้ชะตากรรมแล้วก็ถูกผลักดันออกจากประเทศไทย การทำข่าวของเราถูกโจมตี ถูกกล่าวหาว่าเราขายชาติ บอกว่าเราพยายามที่จะพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในบ้านทั้งที่เราไม่สามารถทำได้ ก็ถูกเข้าใจไปในทิศทางที่ทำให้เกิดความเกลียดชังชาวโรฮิงญา และเข้าใจผิดกับการทำข่าว ก็กลายเป็นประเด็นโจมตีตัวเรา ข่าวนั้นกระทบต่อจิตใจมาก แต่เราระลึกอยู่เสมอว่า ข่าวที่เราทำนั้นมันเป็นข่าวที่เราจะช่วยชีวิตมนุษย์ 400 คน ให้รอดชีวิต” แยม ฐปณีย์ กล่าว

 

การนำเสนอข่าวครั้งนั้นเธอยืนยันว่าการทำข่าวทำเพียงเพื่อต้องการที่จะช่วยชีวิตมนุษย์ชาวโรฮิงญาที่ถูกผลักดันออกนอกประเทศโดยไม่รู้ชะตากรรมชีวิต ซึ่งเธอเองก็พยายามที่จะนำเสนอทุกแง่มุมเพื่อสะท้อนถึงที่มาของปัญหา และให้สังคมเข้าใจถึงปัญหา โดยเดินทางไปที่รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาเพื่อที่จะนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้เธอได้พบบุคคลหนึ่งที่ติดตามข่าวเธอมาตลอด และทำให้รู้สึกว่าข่าวที่นำเสนอไปเกิดคุณค่าต่อจิตใจบุคคลนั้นมากเพียงใด

 

“เราเดินทางไปรัฐยะไข่ บ้านของชาวโรฮิงญา เพื่อนำเสนอข่าว ถึงที่มาและปัญหาของพวกเขา เพื่อหวังว่าให้สังคมเข้าใจและมองเห็นปัญหา เราไปเจอแม่ ที่เป็นแม่ของเด็กผู้ชายที่อยู่ในเรือมนุษย์ลำนั้น เขาบอกเราว่าเขาเห็นภาพนั้นแล้วเขาดีใจที่รู้ว่าลูกเขาปลอดภัย ดังนั้นข่าวๆ หนึ่งไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะแค่จะช่วยชีวิตคนแค่ 400 คน แต่มันมีค่าต่อหัวใจแม่คนหนึ่งที่รอคอยที่จะเห็นว่าลูกนั้นรอดชีวิต”

ฐปณีย์ อธิบาย

 

นอกจากนี้เธอยังกล่าวอีกว่า ข่าวสิทธิมนุษยชนอาจเป็นข่าวที่คนไม่ชอบ ไม่น่าดู และมักจะไม่ถูกหยิบยกมาให้เป็นข่าวหลักในโทรทัศน์ แต่ข่าวพวกนี้มีความจำเป็นต้องมี และเชื่อว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจข่าวนี้ ยิ่งหากเรานำเสนอให้ดี มีคุณภาพ และทำอย่างสม่ำเสมอ กระตุ้นให้คนสนใจได้ ก็จะได้รับความนิยมเอง และเรายังเป็นพื้นที่ให้คนที่เดือดร้อนมาร้องเรียน และเราจะได้ช่วยเหลือเขา

 

“คาดหวังว่าสื่อจะหันมาให้ความสนใจกับข่าวแบบนี้ เพราะลำพังเราคนเดียวไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้ข่าวกลายเป็นวาระใหญ่ของสังคมได้ ถ้าหลายๆ สื่อช่วยกัน ก็จะทำให้คนเห็นมากขึ้น”

เธอกล่าวทิ้งท้าย

 

Screen Shot 2562-10-08 at 10.30.00.png 

ด้านคนทำสื่อใหม่ อย่าง จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรหนุ่มชื่อดัง ที่ให้นิยามตัวเองว่าเป็น “สื่อปลอม” เพราะเป็นสื่อที่ไม่มีสังกัดสำนักข่าว แต่ต้องการทำงานเพื่อสาธารณชน ผ่านสื่อออนไลน์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวด้านสิทธิมนุษยชนถือว่ายังมีมากไม่พอ และยังมีได้เยอะกว่านี้ ซึ่งสื่อมวลชนเองมีหน้าที่หลักคือ การบอกให้ทุกคนรู้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่เราควรใส่ใจ และควรรักษา หวงแหนให้มากที่สุด ซึ่งหากสื่อมวลชนทำหน้าที่ตรงนี้ได้สำเร็จ จะช่วยให้คนตื่นตัวในสิทธิมนุษยชนของตัวเองมากขึ้น ปัญหาที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง หรือ การละเมิด หรือเรื่องของจริยธรรม จะลดน้อยลงจากที่เป็นอยู่มากๆ อยากฝากเรื่องนี้ไปถึงสื่อกระแสหลักให้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้มากที่สุด

 

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานสุดๆ ที่เราควรจะตื่นตัวและให้ความสำคัญมากที่สุด สิทธิเสรีภาพนี่ ทุกวันนี้ที่ผมพูดเรื่องการเมือง การรัฐประหาร มันก็คือการริดรอนสิทธิของประชาชน และเป็นปัญหาที่กระทบต่อมาเรื่อยๆ เป็นวังวนที่ไม่หมดไปเสียที”

จอห์น วิญญู กล่าว

 

อีกปัญหาหนึ่ง คือการที่คนยังไม่เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากเท่าที่ควร เมื่อคนไม่รักษาหรือหวงแหนสิทธิของตัวเอง การจะไปคาดหวังให้คนอื่นใส่ใจหรือเห็นสิทธิของคนรอบข้างอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะเขาไม่เข้าใจ นี่จึงเป็นสิ่งที่เขาพยายามมากๆ ที่จะทำให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ก็รู้สึกดีใจที่เห็นว่าคนรุ่นใหม่ ตื่นตัวและหวงแหนในเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อน

 Screen Shot 2562-10-08 at 10.31.14.png

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนนับเป็นค่านิยมที่มาร่วมสมัยกับเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เข้ากันได้ดีกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นเดิมอาจจะรู้สึกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัวเป็นเรื่องของหัวก้าวหน้า เป็นเรื่องของตะวันตก แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะถ้าใครไม่สื่อสารเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือ องค์กร บุคคลใดก็ตาม อาาจะพลาดเป้าในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นเก่าที่เปิดกว้างร่วมสมัย

 

“ถ้าใครยังไม่สมาทานค่านิยมที่เป็นสากล เช่น เรื่องของสิทธมนุษยชน เรื่องของความเป็นธรรมเรื่องของการเคารพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ก็อาจจะทำให้ถูกวิจารย์กลับได้ว่าขาดความละเอียดอ่อน มีทัศนคติที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อหรือองค์กรไหนก็ตามเวลาเราต้องการจะสื่อสารกับสังคม เราจะต้องมีค่านิยมที่เป็นสากลมากขึ้นที่เรียกว่า Universal Value ก็คือการเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน”

สุภิญญา กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม อดีต กสทช. ยังกล่าวอีกว่า ในบางครั้งสื่อมวลชนก็กลายเป็นผู้ที่ละเมิดผู้อื่นเอง ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลพยายามที่จะอบรมให้ความรู้เรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันถือว่าพัฒนาขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาพ การใช้ถ้อยคำ แต่ยอมรับว่าสื่อมวลชนที่ยังละเมิดอยู่ก็มีบ้าง แต่เชื่อว่ากระแสทางสังคมที่รับไม่ได้กับการละเมิดแบบนี้จะสะท้อนกลับไปเป็นตัวบังคับให้สื่อมวลชนต้องปรับตัวให้หันมาตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น