การเคลื่อนไหวของ ‘เกรต้า’ ผู้กล้าดีที่ไปไกลกว่าการลดใช้พลาสติก

26 กันยายน 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
บทความโดย กวิสรา

แม้ว่าประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรามักเรียกกันชินปากว่า “โลกร้อน” จะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในสังคมมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าปรากฎการเคลื่อนไหวของเกรต้า ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) และขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays For Future) รวมถึงการนัดหยุดเรียนเพื่อเดินขบวนให้รัฐบาลจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังของเยาวชนทั่วโลกที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2019 นั้นได้จุดประเด็นความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ขึ้นมาในสังคมโลกอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

 

การมาครั้งนี้ไม่ใช่ขบวนการของเด็กนักเรียนที่ออกมารณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ เก็บขยะ หรือลดการใช้พลาสติกธรรมดาๆอย่างที่เราคุ้นเคย แต่เยาวชนเหล่านี้กล้าหาญพอที่จะพูดจาอย่างตรงไปตรงมาต่อผู้มีอำนาจโดยไม่รอมชอม ว่า ‘พวกคุณกล้าดีอย่างไร?’

 

การเคลื่อนไหวของเยาวชนทั่วโลกครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ เกรต้า ทุนเบิร์ก เด็กสาวอายุ 16 ปี จากประเทศสวีเดนได้ตัดสินใจหยุดเรียนหนังสือทุกวันศุกร์ เพื่อไปประท้วงหน้ารัฐสภาของสวีเดน จนกว่าสภาจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อมาความพยายามของเธอในการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ส่งผลให้เยาวชนหลายล้านคนจากทั่วโลก เข้าร่วมกิจกรรมในวันปฏิบัติการระดับโลก ซึ่งเป็นการนัดหยุดเรียนของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 มีการจัดการชุมนุมประท้วงในกว่า 150 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย และการชุมนุมครั้งนี้ก็ได้กลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบางประเทศอีกด้วย

 1 (3).jpg

 

สปอตไลท์ได้ส่องแสงมาที่ “เกรต้า” ไม่ว่าจะเป็นการได้รับรางวัล Ambassador of Conscience Award ประจำปี 2562 จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก หรือการได้มีโอกาสไปพูด ณ ที่ประชุมใหญ่ของสหประชาติจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่ด้วยท่าทีอันมุ่งมั่นของเธอก็กลับสร้างความไม่พอใจให้ผู้นำคนสำคัญอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และต่อมาคำพูดและท่าที่ของเธอที่แสดงล่าสุดในเวทีสหประชาชาติ ก็ได้กลายมาเป็นข้อถกเถียงในระดับโลก ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า

 

“นี่มันผิดไปหมด ฉันไม่ควรมาอยู่บนเวทีนี้ ฉันควรกลับไปเรียนหนังสือในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณก็เดินทางมาหาความหวังจากพวกเรา เยาวชน คุณกล้าดีอย่างไร คุณขโมยเอาความฝันและวัยเด็กของเราด้วยความพูดจอมปลอม นี่ฉันถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีแล้วนะ ผู้คนอยู่อย่างทรมาน คนบาดเจ็บล้มตาย และระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ แต่พวกคุณกลับพูดกันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ คุณกล้าดีอย่างไร”

 

ภาพจาก bbc.co.uk

 

นอกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Fridays For Future ยังมีอีกการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและยืนอยู่บนหลักการเดียวกันว่าผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจังก็คือ “รัฐ” และได้พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขเชิงนโยบายด้วยท่าทีที่ไม่ยอมอ้อนข้อ นั่นก็คือกลุ่ม “Extinction Rebellion” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางที่ใช้วิธี “อารยะขัดขืน” ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถ้าใครคิดว่าว่าท่าทีของเกรต้าแรงแล้ว ยิ่งต้องมาดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ที่เรียกได้ว่าไปสุดทางกว่า เช่น  แก้ผ้าประท้วงในห้องประชุมรัฐสภาอังกฤษ บอกว่ามันเสียเวลามามากพอแล้วกับการประชุมเรื่อง Brexit ที่ไร้สาระ เราควรหันมาสนใจภาวะโลกร้อนกันบ้าง หรือการที่ผู้ประท้วงใช้วิธีการนั่งชุมนุมปิดถนนสายสำคัญในกรุงลอนดอนและโจมตีสำนักงานบริษัทน้ำมันเพื่อกดดันรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ส่วนในประเทศไทยเองก็นับว่ามีกระแสในการเคลื่อนไหวและรณรงค์ในประเด็นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่เราได้เห็นกระแสของการที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับขยะในทะเลจากกระแสมาเรียม​ หรือแคมเปญงดแจกถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมประท้วง Climate Strike พร้อมกับนานาชาติโดยการเดินขบวนและยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีเยาวชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน รวมทั้งจากการสังเกตของผู้เขียนเองก็รู้สึกว่าคนรอบข้างหันมาให้มาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและควรสนับสนุนมาก

 71148750_2967962639897475_5796420169702047744_o.jpg

 

ในประเทศไทย การรณรงค์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเยาวชนนั้น ดูไม่ใช่เรื่องละเอียดอ่อนสำหรับรัฐเท่าไรนัก บางครั้งกลายเป็นประเด็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนสนับสนุนผ่านการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ด้วยซ้ำไป ซึ่งภาครัฐเองก็มีนโยบายในเรื่องนี้อยู่พอสมควรโดยการกำหนดนโยบายสำหรับภาคเอกชนให้ต้องตอบโจทย์ตัวชี้วัด โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องมีการดำเนินงานเพื่อสังคมด้วย หรือการลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องนักหากจะบอกว่า สังคมเราไม่สนใจสิ่งแวดล้อมเอาเสียเลย เพียงแต่ผู้เขียนมองว่ากระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันอาจต่างออกไปจากแนวคิดที่กำลังเป็นกระแสในหมู่คนรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้ที่ ‘กล้าดี’ ตั้งคำถามไปไกลกว่านั้น

 

ที่ผ่านมานักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Activist) ในฐานะเยาวชนมักถูกปฏิบัติจากภาครัฐค่อนข้างดี (ไม่เหมือนนักกิจกรรมในประเด็นเดียวกันที่เป็นกลุ่มชนพื้นเมือง ชุมชนที่เรียกร้องพื้นที่ป่าและที่ดินทำกิน ชาวบ้านที่ประท้วงการสร้างเหมืองแร่หรือการปล่อยมลพิษของโรงงานน้ำตาล) แต่สิ่งที่เราเห็นจากเยาวชนอย่างเกรต้าในปี 2019 นั้นแตกต่างออกไป เธอถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งจากผู้นำ สื่อ และประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้เขียนมองว่าเหตุผลที่ทำให้ท่าทีของเกรต้ากลายเป็นคนที่ดูกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ คือแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่างจากแนวคิดกระแสหลักที่หลายประเทศเชื่อมั่นและปฏิบัติกันอยู่นั่นเอง

 

แนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน ดูมีความเอนเอียงไปใกล้เคียงกับแนวคิด “เสรีนิยมสิ่งแวดล้อม” (Liberal Environmentalism) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสรีนิยมสีเขียว (Green liberalism) ที่ได้รับการเสนอโดยนักปรัชญาการเมือง Marcel Wissenburg อธิบายง่ายๆ ก็คือความคิดนี้เชื่อว่าหากตลาดร่วมมือกับผู้บริโภคก็จะสามารถช่วยโลกได้โดยยังคงมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่ จึงเชื่อมั่นในความสามารถของกลไกราคา ผู้บริโภค และนักลงทุน ตัวอย่างที่ใกล้ตัวก็คือ สินค้าอินทรีย์หรือออแกนิคที่เป็นทางเลือกและรูปแบบใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคสารเคมี หรือสารกำจัดศัตรูพืช และหนึ่งในค่านิยมหลักของแนวคิดเสรีนิยมสีเขียว ก็คือ “จริยธรรมในการรีไซเคิล” ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี แต่วิธีคิดแบบนี้ก็นำมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า นี่เป็นการผลักดันค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมและธุรกิจไปยังประชาชนต่างหาก และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ตื้น” เกินไป เพราะเน้นที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ต้องการท้าทายหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจกระแสหลัก

 

262724.jpg

 

 

สำหรับเกรต้าเอง เธอเคลื่อนไหวโดยการพุ่งเป้าที่ไป “รัฐ” โดยตรงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เธอไม่ได้สนใจการกระทำของคนในสังคมมากนักเพราะมองเห็นว่าปัญหานี้มันยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์คนไหนจะแก้ไขเองได้ เธอจึงหยุดเรียนไปประท้วงหน้ารัฐสภาของสวีเดนโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าคนที่เธอกำลังสื่อสารด้วยคือ “ผู้มีอำนาจ” นั่นเอง เกรต้าเองไม่ได้เสนอทางออกในทางปฏิบัติมากนัก จนทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวกสุดโต่งที่มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของโลก (คล้ายกับปฎิกริยาที่ชาวอนุรักษ์นิยมมีต่อข้อเสนอ Green New Deal ที่ถูกผลักดันโดย อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า AOC ส.ส.หญิงไฟแรงจากพรรคเดโมแครต) แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เธอกำลังปะทะอย่างจังและหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ทุน” และแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตซึ่งละเลยผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ว่าเธอกำลังต่อต้านทุน แต่หากเราลองคิดไปให้ไกลถึงทางออกว่า แล้วเราจะทำอย่างไรเราจึงจะมีสังคมที่เห็นแก่เรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องเงินๆทองๆ ก็คงปฏิเสธที่จะไม่พูดถึงทุนนิยมไม่ได้

 

เมื่อลองสำรวจแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีศัตรูตัวฉกาจเป็นระบบทุนนิยมแล้ว ผู้เขียนพบว่ามีอีกหนึ่งแนวคิดและทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือแนวคิดของ อาร์เน่ แนส (Arne Næss) นักปรัชญาชาวนอร์เวย์ ผู้มีแนวคิด "Deep Ecology" หรือนิเวศวิทยาแนวลึก ที่มองปัจเจกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ คำว่า ”ลึก” นั้นหมายถึงการตั้งคำถามในประเด็นที่ลึกถึงเป้าหมายและระบบคุณค่าที่ดำรงอยู่ในปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามและพยายามหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดของวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในระดับรากฐานอีกด้วย นอกจากนั้นยังมองว่ามนุษย์ต้องการดำรงรักษาความสมดุลของระบบธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศควบคู่กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์อย่างพึ่งพาอาศัยกัน

 

อีกหนึ่งแนวคิดที่มีกลิ่นอายของการต่อสู้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ละเลยความเป็นไปของทรัพยากรธรรมชาติก็คือ “Eco-socialism” หรือนิเวศสังคมนิยม ที่มองว่าวิกฤตการณ์ของสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นผลผลิตของทุนนิยมที่มีปัญหาในการทำลายล้างมากมายเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิธีการที่จะแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลกคือต้องมีลักษณะถอนรากถอนโคนล้มล้างระบบทุนนิยม โดยมนุษย์ต้องแสวงหาทางสังคมใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมทางสังคม และปกป้องรักษาระบบนิเวศของชุมชนของสังคมและของโลกด้วย

 

260872.jpg

 

 

หากลองมองย้อนไปถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “Occupy” ที่มีโมเดลคล้ายกัน แต่การเคลื่อนไหว Occupy นั้นพุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงิน ที่ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั่นเอง โดยเป็นขบวนการยึดครองในที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น Occupy Wallstreet ที่เกิดขึ้นในปี 2011 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการอาหรับสปริงอันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอียิปต์ และได้แพร่กระจายไปทั่วโลกในชื่อ Occupy ตามด้วยสถานที่นั้นๆ โดยแต่ละสถานที่ต่างมีกลุ่มคน เป้าหมาย และวิธีการก่อตัวที่แตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือการยึดครองสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการของรัฐหรือสัญลักษณ์ทางการเงินหรือระบบทุนนิยม และการเรียกตัวเองว่า “99%” สะท้อนมุมมองว่าพวกเขาไม่ใช่คน “1%” ที่รวยที่สุดในสังคม ที่น่าสนใจคือหนึ่งในประเด็นที่ขับเคลื่อนในการประท้วงครั้งนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำแล้ว ก็ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

 

ผู้เขียนจึงมองว่าการเคลื่อนไหวของเกรต้าและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบัน นับว่า “ลึก” ทีเดียว แต่จะลึกถึงระดับ Deep Ecology ที่เน้นตั้งคำถามไปถึงเป้าหมายและระบบคุณค่าที่ดำรงอยู่ในปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือมองไปถึงต้นตอของการแก้ไขปัญหาโดยถอนรากถอนโคนระบบทุนนิยมแบบ Eco-socialism หรือไม่ อาจจะยังเร็วไปที่จะตอบได้ตอนนี้ แต่ที่แน่ๆ คือท่าทีของเธอได้สั่นคลอนความคิดของผู้นำในหลายประเทศไปแล้ว

 

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะมีนโยบายที่สามารถเป็นทางออกอย่างไรไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ความเกรี้ยวกราดของเกรต้าหรือเยาวชนคนใด แต่ล้วนอยู่ในมือของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจและนั่งอยู่ในสภา ดังนั้นไม่ว่าอุดมการณ์ของเธอคืออะไร เธอจะโกรธแค่ไหน เธอก็เป็นเพียงเด็กสาวคนหนึ่งที่ต้องการเห็นโลกที่น่าอยู่กว่าเดิม และหากเราเชื่อว่า Climate Change กำลังเกิดขึ้นจริง มนุษยชาติก็คงอยู่ท่ามกลางคำถามและข้อถกเถียงมากมายในปัญหาที่ดูยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์คนใดจะแก้ไขแต่เพียงลำพังได้ และย่อมต้องก้าวข้ามข้อถกเถียงว่าเป็นความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่งเสียที แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคนบนโลก

           

สำหรับผู้เขียนจึงมองว่าปรากฎการณ์ที่เกิดนี้ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ การได้รับฟังเสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ การเห็นแรงเคลื่อนไหวจากคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมย่อมเป็นเรื่องดี แม้บางครั้งอาจฟังดูเกรี้ยวกราดหรือขัดหู ก็ถือเป็นอีกเสียงที่สะท้อนผลกระทบของ ‘การพัฒนา’ ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาแล้วกัน ดังนั้นปัญหาอาจไม่อยู่ที่เกรต้า แต่อาจอยู่ที่ว่าผู้ใหญ่หลายคนไม่อยากได้ยินเท่านั้นเอง

 

 

อ้างอิง

วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 "เศรษฐศาสตร์การเมือง นิเวศวิทยาการเมืองและนิเวศสังคมนิยม" โดย ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์