“ไม่มีใครเกลียดประเทศของตัวเองหรอก” เสียงสะท้อนจากผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย

22 สิงหาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ความเชื่อคลาสสิกอย่างหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงเมื่อมีประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย คือความเชื่อที่ว่า ผู้ลี้ภัยคืออาชญากรที่กระทำความผิดในประเทศของตัวเอง และหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ที่จริงแล้ว หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ผลักให้คนเหล่านี้ต้องจำใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ทิ้งชีวิตที่คุ้นเคยออกมาผจญภัยในโลกภายนอก คือความรุนแรงทางการเมืองและสังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และนำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ในสังคม กรณีเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศโซมาเลีย

 

ต้นตอของปัญหาความรุนแรงทางการเมืองและสังคมในโซมาเลีย คือความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า (Clan) ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลกลางและเกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ เหตุรุนแรงโดยเฉพาะเหตุระเบิด เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนอดอยาก รวมทั้งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง โดยที่ประชาชนไม่สามารถร้องเรียนใดๆ ได้ เนื่องจากขาดหน่วยงานรัฐมาช่วยเหลือ

 

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีรัฐบาลคือ คุณอาจจะถูกฆ่า โดยที่คุณไม่มีสิทธิร้องเรียน แจ้งความ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ คดีข่มขืนก็เยอะ แต่เราไม่สามารถแจ้งความได้ ดังนั้น ปัญหาหลักๆ ที่เราเจอคือเราจะถูกละเมิดสิทธิและถูกคุมขังอยู่ในประเทศโดยไม่มีอนาคต”

นัสริน (นามสมมุติ) ผู้ลี้ภัยวัย 43 ปี เริ่มบทสนทนาด้วยสถานการณ์ในโซมาเลีย

 

“เวลาที่คุณมีความทุกข์ คุณไม่มานั่งถามตัวเองหรอกว่าจะอยู่อย่างไร คุณก็แค่อดทนและพยายามแก้ปัญหา เราอาศัยอยู่ในโซมาเลีย ประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาที่คุณเองก็แก้ไขไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ นั่นแหละ ชีวิตในโซมาเลีย”

 

ผู้ลี้ภัยโซมาเรีย_190808_0003.jpg

นัสรินเป็นชาวโซมาเลียโดยกำเนิด เธอไม่มีพ่อแม่ และอาศัยอยู่กับยายในชนบทอันห่างไกล อย่างไรก็ตาม ในปีแรกที่เกิดความรุนแรงทางการเมือง คุณยายของเธอถูกฆ่าโดยคนจากเผ่าอื่น ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ชีวิตของเธอ ต้องพลิกผันไปตลอดกาล

 

“มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาฆ่าคุณยายของฉัน แต่เป็นเพราะฉันยังเด็ก คนพวกนั้นเลยพาตัวฉันไปที่ที่พักของพวกเขา ฉันอยู่ที่นั่นประมาณ 1 สัปดาห์ ฉันก็ไปอยู่ที่บ้านป้าของสามี เราเจอกันตอนนั้น พอฉันโตขึ้น ก็ไปทำงานเป็นคนรับใช้ให้คนกลุ่มนั้นเป็นเวลา 4 ปี หลังจากนั้น ฉันก็ได้รู้จักกับสามี เราชอบกัน แต่ครอบครัวของเขาไม่เห็นด้วย เพราะฉันเป็นแค่คนรับใช้ ไม่มีหัวนอนปลายเท้า พวกเขาก็ไม่ยอมให้เราคบกัน เราสองคนก็เลยหนีตามกันไปอยู่ที่ที่ไกลจากครอบครัวของเขา แล้วก็แต่งงานกัน และฉันก็ตั้งท้องลูกคนแรก”

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวกลับไม่ได้เป็นเหมือนที่พวกเขาฝันไว้ เมื่อครอบครัวของสามีตามไปรังควานครอบครัวของเธอ ทำให้เธอต้องสูญเสียลูกคนแรก ดังนั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจหนีไปอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย พวกเขาได้งานทำ และให้กำเนิดลูกชายอีก 1 คน และลูกสาวอีก 5 คน ซึ่งนัสรินกล่าวว่า นั่นคือช่วงชีวิตที่ดีที่สุดของเธอและครอบครัว จนกระทั่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียส่งตัวครอบครัวของเธอกลับโซมาเลีย และนั่นก็กลายเป็นฝันร้ายที่สุดของเธอ

 

การกลับมาที่โซมาเลียก็เหมือนกับถูกส่งไปยังนรก เมื่อญาติพี่น้องของสามีตามมาข่มขู่คุกคามครอบครัวของเธออีกครั้ง มันคงจะดี หากนั่นเป็นแค่คำขู่ ทว่าคนเหล่านั้นกลับทำสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า

 

“พอกลับมาที่โซมาเลีย ครอบครัวของสามีรู้ข่าวว่าเรากลับมา พวกเขาก็ตามมาทำร้ายเรา และยิงสามีของฉันเข้าที่หลัง ทำให้สามีของฉันเป็นอัมพาต สามีของฉันเรียกร้องสิทธิในมรดกของพ่อของเขา แต่พี่น้องของเขาไม่ยอมยกให้ โดยบอกว่าเพราะว่าเขาแต่งงานกับคนนอกเผ่า เผ่าของฉันเป็นศัตรูกับเผ่าของสามีโดยตรง ดังนั้น ครอบครัวของเขาจึงไม่ยอมให้ส่วนแบ่งมรดกใดๆ แก่เขา เพราะว่าฉันเป็นคนที่ทำลายศักดิ์ศรีของเผ่าสามี และยังให้กำเนิดลูกสาวถึง 5 คน แทนที่จะเป็นลูกชาย ฉันจึงเป็นตัวต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด รวมทั้งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาตายได้ แต่ที่จริงแล้ว คนที่ทำให้สามีฉันเป็นอัมพาตคือพี่ชายแท้ๆ ของเขาเอง”

 

นัสรินเล่าต่อว่า ในขณะที่เธอและสามีรักลูกสาวมาก แต่ตามความเชื่อของชาวโซมาเลีย หากแม่ให้กำเนิดลูกสาวหลายคน ลูกสาวมักจะนำความเสื่อมเสียมาให้ครอบครัว เช่น การหนีตามผู้ชาย ทำให้คนติฉินนินทา ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงชอบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ ในโซมาเลีย มีเด็กผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก ทั้งถูกขังไว้ในบ้าน และไม่ได้รับอนุญาตให้ทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นอิสระ เพราะจะทำให้ชื่อเสียงของครอบครัวเสียหาย ในขณะที่เด็กผู้ชายสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามใจ

 

“แต่สำหรับฉัน เด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงเท่าเทียมกัน”

 

ผู้ลี้ภัยโซมาเรีย_190808_0008.jpg

 

นัสรินทนอยู่กับการข่มขู่คุกคามนาน 4 เดือน ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจพาลูก 6 คน หนีมาอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของลูกๆ และตัวเธอเอง ส่วนสามีนั้น เธอไม่รู้เลยว่าขณะนี้เขาจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

 

“ฉันไม่อยากให้ลูกสาวของฉันต้องเจ็บตัวหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี เพราะคนพวกนั้นคอยขู่ว่าจะรังแกลูกสาวฉัน และฉันก็ทำให้ครอบครัวเขาต้องอับอาย เพราะฉันมีลูกสาวหลายคน แต่มีลูกชายคนเดียว คนพวกนั้นบอกว่าจะเผาบ้านของฉันและทำร้ายลูกสาวของฉัน เพราะเด็กๆ ทำให้เขาอับอาย ฉันก็เลยต้องพาลูกๆ หนีออกมา เพื่อความปลอดภัยของลูก” 

 

ระหว่างการเดินทางมายังประเทศไทย นัสรินยอมรับว่าเธอไม่รู้สึกลำบาก เมื่อเทียบกับชีวิตในอดีตที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เธอหวาดกลัวจับใจ คือตอนที่เธอและลูกๆ ต้องนั่งรถคนละคัน เธอกลัวว่าจะพลัดหลงกับลูก และจะไม่ได้เจอกันอีก

 

นับเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ที่นัสรินและลูกๆ อาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้ทุกวันนี้ลูกชายคนโตวัย 19 ปี จะมีงานทำแล้ว ส่วนลูกสาวอายุ 15 14 13 12 และ 11 ปี ได้เรียนในโรงเรียนไทย และสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนค่าเช่าบ้านและเบี้ยเลี้ยงรายเดือนจากยูเอ็น (UN) แต่เธอก็ยังรู้สึกว่าชีวิตครอบครัวของเธอยังไม่มั่นคงและไม่สะดวกสบาย เนื่องจากต้องอาศัยอยู่อย่างแออัด 7 ชีวิต ในห้องห้องเดียว และยังต้องหวาดระแวงว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาจับกุมตัว

 

“ลูกก็รู้สึกอึดอัด ไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าไร เพราะพวกเขาต้องอยู่กับแม่เพียงคนเดียว และสูญเสียพ่อ ไม่รู้ว่าพ่ออยู่ที่ไหน พวกเขาเติบโตที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งคุณภาพชีวิตดีกว่านี้ แต่เมื่อต้องมาอยู่ที่ประเทศไทย พวกเขาต้องกังวลว่าตำรวจจะมาที่บ้านเมื่อไร นี่ก็เป็นสถานการณ์เดียวกับที่ซาอุดีอาระเบีย ที่ตำรวจมาที่บ้านแล้วส่งตัวเรากลับไปที่โซมาเลีย ลูกๆ ก็เลยกลัวว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะเกิดขึ้นอีก” 

 

อย่างไรก็ตามนัสรินยอมรับว่า ชีวิตที่เมืองไทยนั้นไม่ได้มีปัญหามากเท่ากับเมื่ออยู่ที่โซมาเลีย อย่างน้อยลูกๆ ของเธอก็ไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกทำร้าย นอกจากนี้ การเรียนและความใฝ่ฝันของลูกสาว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แม่อย่างเธอมีความหวัง เพราะลูกสาว 2 คน เล่าความฝันให้เราฟังว่า อยากเป็นวิศวกร เพราะครูที่โรงเรียนชมว่าเรียนคณิตศาสตร์เก่ง ในขณะที่ลูกสาวอีก 3 คนอยากเป็นหมอ เพราะอยากช่วยเหลือคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นต้องประสบชะตากรรมเหมือนคุณพ่อของเธอ

 

ขณะนี้ 7 คนแม่ลูก ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเรียบร้อยแล้ว รอการส่งตัวไปยังประเทศที่สาม ซึ่งนัสรินกล่าวว่าเธออยากอยู่ในประเทศที่เธอและครอบครัวมีอิสรภาพในการทำสิ่งต่างๆ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ เธออยากให้ลูกๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษาที่ดี และมีครอบครัวที่สมบูรณ์ในอนาคต

 

“ใครๆ อาจจะมองว่าพวกเราเป็นแค่ผู้ลี้ภัย แต่เราก็ยังมีความทะเยอทะยาน มีความฝัน และเราเชื่อว่าพรุ่งนี้เราจะได้เดินทางไปสู่ที่ที่ดีกว่า และหากเราขยัน เราก็จะประสบความสำเร็จสักวัน ฉันเชื่อว่าสักวันเรื่องร้ายๆ จะผ่านพ้นไปจากชีวิตของฉันและลูกๆ”

นัสรินกล่าวอย่างมีความหวัง

 

และเมื่อถามถึงสิ่งที่เธออยากบอกกับคนไทย นัสรินกล่าวว่าผู้ลี้ภัยคือคนที่ต้องเดินทางออกจากประเทศของตัวเองด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ไม่มีใครอยากออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ซึ่งเป็นที่ที่คุ้นเคยและมีคนที่อยากจะอยู่ด้วยไปตลอดชีวิต แต่ในเมื่อประเทศไม่มีความปลอดภัยและเต็มไปด้วยปัญหา พวกเขาก็ไม่อาจทนอยู่กับความทุกข์ยากนั้นได้ จึงต้องหนีออกมาเพื่อความปลอดภัยในชีวิต

 

“ใครๆ ก็รักประเทศของตัวเอง ไม่มีใครเกลียดประเทศตัวเองหรอก เพราะฉะนั้น ฉันก็อยากให้คนไทยมองผู้ลี้ภัยในฐานะคนที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัย ไม่มีผู้ลี้ภัยที่อยากมาสร้างปัญหาให้ประเทศอื่น ฉันก็รักประเทศไทย และอยากจะมีชีวิตที่สมบูรณ์และปลอดภัย ฉันอยากให้คนไทยรู้ว่าผู้ลี้ภัยก็เป็นคนคนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ อยากให้คนไทยช่วยเหลือและเข้าใจสถานการณ์ของเรา”

นัสรินกล่าวทิ้งท้าย