นักศึกษาธรรมศาสตร์แชร์ประสบการณ์และความประทับใจจากกิจกรรม Diversity Workshop ปี 3

14 สิงหาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
โดย ธปณัฐ สวัสดิ์เวช นักศึกษาฝึกงาน

สวัสดีครับผู้อ่านทุกคน! ก่อนอื่นเลยผมขอแนะนำตัวเองก่อนละกัน ผมชื่อ (ภู) นายธปณัฐ สวัสดิ์เวช ตอนนี้ผมกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์สาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 4 ครับ วันนี้ผมก็จะมาแชร์ถึงประสบการณ์การเข้าร่วม “Diversity Workshop ปี3” ของผม กิจกรรมส่งเสริมการเคารพความหลากหลายที่จัดขึ้นโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล ในวันที่ 12-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

เพื่อนๆ คงจะสงสัยว่า Diversity Workshop ที่ผมกำลังพูดถึงนี้คืองานอะไร? ผมจะพูดให้เข้าใจแบบคร่าวๆ ละกันนะครับ งาน Diversity Workshop นี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จัดขึ้นโดยองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยงานกิจกรรมนี้มีจุดประสงค์หลักคือการสร้างความเคารพและส่งเสริมมุมมองที่ “เท่าเทียม” ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกๆ คน ในงานก็จะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพวกนี้ เช่น สิทธิมนุษยชนศึกษา การเรียนรู้สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย งานเลี้ยงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมไปถึงการพัฒนาแคมเปญที่จะส่งเสริมการเคารพความหลากหลายในชุมชน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนถ้าคุณอยากรู้ว่ารายอะเอียดยิบย่อยของงานนี้ว่าเป็นยังไง ผมก็คงจะแนะนำได้เพียงแค่ว่าคุณต้องลองมาร่วมสนุกด้วยตัวเองสักครั้งนึงแต่สำหรับวันนี้ผมจะมาเล่าถึงสิ่งที่ตัวผมเองได้เรียนรู้และรู้สึกประทับใจจากงานเวิร์กชอปครั้งนี้ ถ้าทุกคนพร้อมกันแล้ว มาเริ่มกันเลย!

 

โอเค...สิ่งแรกที่ผมจะพูดเป็นสิ่งที่ตัวผมเองรู้สึกว่าเป็นเหมือนไฮไลท์ สำหรับเวิร์กชอปนี้เลยก็คือการที่งานอบรมนี้มีผู้ลี้ภัยจริงๆมาเข้าร่วมป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมงานนี้ด้วย ใช่แล้ว! ผู้ลี้ภัยจริงๆ หลายคนคงสงสัยว่าพวกเค้ามากันได้ยังไง? คืออย่างงี้...ผู้ลี้ภัยที่มาในงานนี้เป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับรองสถานะว่าเป็น‘ผู้ลี้ภัย’เรียบร้อยแล้วและได้รับการดูแลจาก UNHCR แห่งประเทศไทย แต่จุดสำคัญจริงๆ คือการที่พวกเค้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานและเราก็ได้มีโอกาสเจอพวกเค้าจริงๆ สำหรับผมเองก่อนหน้านี้ผมก็ไม่เคยพบกับผู้ลี้ภัยด้วยตัวเองมาก่อน แต่โดยส่วนตัวแล้วผมมีความสนใจในประเด็นของผู้ลี้ภัยและอยากจะรู้มาตลอดว่าจริงๆ แล้วพวกเค้าต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้างกว่าที่พวกเค้าจะสามารถมายืนอยู่ตรงนี้ได้ การที่ผมได้เจอพวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่าเราทุกคนควรที่จะลองมองและลองให้โอกาสคนอื่นในฐานะ “เพื่อนมนุษย์คนนึง” ให้กันและกันบ้าง บางทีผู้คนเหล่านี้เขาเองก็คงไม่ได้อยากที่จะมาอยู่ในจุดนี้แล้วต้องรบกวนคนอื่นแบบนี้หรอก แต่สำหรับพวกเขามันไม่มีทางเลือกแล้ว (จริงๆ) ผมรู้สึกโชคดีและซาบซึ้งนะ...กับโอกาสที่ผมได้เข้าใจพวกเขาจริงๆ ได้รับรู้ถึงความเป็น “มนุษย์เหมือนกัน” และมองข้ามข้อแตกต่างภายนอกต่างๆ ของกันและกัน

 

อย่างที่สองผมอยากจะพูดถึงก็คือกิจกรรมในเวิร์กชอปที่ช่วยส่งเสริมการเคารพความแตกต่าง ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในแนวความรู้วิชาการที่ทำให้ผมเข้าใจว่าจริงๆ แล้ววิกฤตผู้ลี้ภัยไม่ได้มีแค่โรฮิงญาหรือผู้ลี้ภัยซีเรียที่เราคุ้นๆ หูกัน แต่ปัญหาของผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาข้ามชาติ (Transnational issue) ที่ต้องการความร่วมมือของหลายๆ ประเทศในการช่วยเหลือและจัดการ จากข้อมูลในเวิร์กชอประบุว่า “กว่า 25 ล้านคนทั่วโลกไม่มีที่อยู่และต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย” ซึ่งประเทศที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดก็คือซีเรีย นอกจากนั้นแล้วในงานก็ยังมีกิจกรรมในแนวของความคิดสร้างสรรค์ แนวทัศนะคติมุมมองความคิดและแนวสนุกสนานที่ช่วยทำให้เรามองข้ามของแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สังคมและกลับมามองถึงความเป็นมนุษย์ที่เราทุกคนมี เช่น การมีสิ่งที่ชอบ/ไม่ชอบ ความรู้สึกมีความสุขสนุก/หรือความเศร้าทุกข์ ฯลฯ และก็ยังมีกิจกรรมที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ลี้ภัยหรือกาทำแสดงวัฒนธรรมต่างๆ ของผู้คนที่ร่วมงานซึ่งกิจกรรมพวกนี้ผมก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยลดการแบ่งอัตลักษณ์ต่างๆ ของคนแต่ละคนในสังคม ส่วนตัวผมเองก็ได้เรียนรู้จากกิจกรรมตรงนี้ว่า แม้เราแต่ละคนจะเติมโตมาจากต่างที่ต่างถิ่นและมีข้อแตกต่างมากมาย เช่น วัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งอาหาร แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความสวยงามภายนอก เพราะสุดท้ายแล้วความเป็นมนุษย์ที่คือสิ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน

 

และอย่างสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับงาน Diversity Workshop ก็คือทีมงานจัดงาน ผมรู้สึกว่าทีมงานที่จัดงานเต็มที่กับการที่จะทำให้งานนี้ออกมาดีเป็นอย่างมาก หนึ่งสิ่งที่ผมเห็นชัดเจนคือการที่เวิร์กชอปนี้ให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องประเด็นโดยตรงหรือมีความรู้แชร์ประสบการณ์และให้ความรู้กับผู้เข้าร่วม ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ผมรู้สึกประทับใจและได้ความรู้เยอะมากๆ เลยก็คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับสถานะการณ์ผู้ลี้ภัยในระดับโลกและประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่ทำงานในด้านของกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยตรงมาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูล จากตรงนี้ผมได้เข้าใจถึงข้อแตกต่างพื้นฐานในการที่ยูเอ็น (UN) จำแนกและให้สถานะกับผู้ย้ายถิ่นฐานแต่ละคนว่ามีรูปแบบยังไงบ้าง

 

นอกจากนั้นผมยังได้ความรู้เกี่ยวกับภาพรวมของสถานะการณ์ผู้ลี้ภัยในระดับโลกและเรียนรู้ถึงปัญหาและข้อขัดแย้งของประเทศไทยในเรื่องของผู้ลี้ภัย ด้วยความรู้ตรงนี้มันทำให้ผมเห็นถึงปัจจัยข้อจำกัดต่างที่ทำให้โลกที่เราคิดและรู้สึกว่ากว้างใหญ่กลายเป็นที่คับแคบสำหรับหลายล้านคน หลักๆ ที่ผมอยากจะพูดก็คงจะมีประมาณนี้ เอาจริงๆ การมาที่เวิร์กชอปนี้ ผมได้ทั้งความรู้ใหม่ๆ ได้ทั้งเพื่อนจากหลากหลายที่ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ อันนึงสำหรับผมเลย ในปีหน้าจะมีการจัดกิจกรรมแบบนี้อีกครั้ง ถ้าเพื่อนๆ มีโอกาสก็ลองสมัครกันเข้ามาดูนะรับรองว่าจะได้ประสบการณ์ที่ดีๆ กลับไปจากกิจกรรมนี้แน่นอน