การเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊ก กระทบการสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร

18 มิถุนายน 2562

แซม ดับเบอร์ลี ผู้จัดการโครงการตรวจสอบหลักฐานทางดิจิทัล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เมื่อเกิดวิกฤตสิทธิมนุษยชนขึ้น แอมเนสตี้มีเป้าหมายส่งคนไปยังสถานที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บหลักฐานด้วยตนเอง และเปิดโปงการละเมิดที่เกิดขึ้น แต่ในบางกรณี เนื่องจากข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ปัญหาทางการทูต หรือปัญหาจากทางการ เราอาจทำเช่นนั้นไม่ได้ เป็นเหตุให้เราต้องใช้เครื่องมือสืบค้นทางไกลแทน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเกิดวิกฤตโดยทันที

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับรากหญ้าทั่วโลก เสี่ยงภัยอย่างยิ่งในการถ่ายวีดิโอขณะที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำมาแชร์ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ ให้คนอื่นได้เห็นมากสุด  

 

แพลทฟอร์มเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการกระจายข้อมูลอย่างเป็นประชาธิปไตย เป็นตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก มีการโฆษณาเพื่อดึงดูดใจนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “เอาเรื่องราวในทวีปของคุณมาแชร์สิ คนทั้งโลกจะได้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในชุมชนของคุณ” ทำให้คนติดใจที่จะโพสต์รูปและวีดิโอ เกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้ายสุด การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ภาพระเบิดแบบถังน้ำมัน การซ้อมทรมาน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เพื่อเอาผิดกับคนร้าย

 

หน่วยงานสิทธิมนุษยชนตอบรับและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เหล่านี้ ในปัจจุบัน เราต้องพึ่งพาข้อมูลจากสถานที่แลกเปลี่ยนทางดิจิทัล ในแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ทีมวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลใช้ประโยชน์มากขึ้น จากทั้งการสัมภาษณ์ประจักษ์พยานในเหตุการณ์ และการเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเรามีทีมงานตรวจสอบหลักฐานทางดิจิทัล ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักศึกษาที่เราจัดตั้งขึ้นมาและฝึกอบรม เพื่อติดตามสถานการณ์ ค้นหา ตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานจากแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อยืนยันว่าได้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนจริงหรือไม่  

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียเริ่มเปลี่ยนเครื่องมือที่เราเคยใช้ประโยชน์ โดยแทบไม่มีการปรึกษาหารือกับเราเลย ทั้งที่หลายปีก่อนหน้านี้ แพลทฟอร์มหลายแห่งเชิญให้เราเข้าร่วมการอบรมและการสนทนา บอกว่าเห็นคุณค่างานของเรา และเคารพสิทธิมนุษยชน เรารับฟังพวกเขามาตลอด แต่จู่ ๆ พวกเขาก็ดึงพรมใต้เท้าจนเราสะดุดลง ทำการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือ ซึ่งลดทอนศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเรา 

 

ในเดือนนี้เอง ชุมชนนักสอบสวนซึ่งใช้ซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สทั้งหมด ต้องตกใจกับการที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนแปลงเครื่องมือการค้นหาอย่างฉับพลัน และไม่มีการประกาศล่วงหน้า นั่นคือการเปลี่ยนแปลงกราฟเสิร์ช ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เฟซบุ๊กอนุญาตให้บุคคลสามารถค้นหาข้อมูลสาธารณะที่ถูกซ่อนไว้ได้ ช่วยให้เราสามารถงมเข็มในมหาสมุทรได้ 

 

อย่างกรณีของมามูด อัล เวอร์ฟาลลี หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธที่โหดร้ายจากลิเบีย ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ จากหลักฐานที่ส่วนใหญ่สืบค้นจากเฟซบุ๊ก โดยนักวิจัยภาคประชาสังคมจะคอยแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบถึงข้อมูลที่ได้จากการใช้กราฟเสิร์ชเพื่อค้นหา รวมทั้งการค้นหาจากภาพวีดิโอขณะที่นายอัล เวอร์ฟาลลีดำเนินการหรือสั่งการให้มีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย หากไม่มีเครื่องมือค้นหาอย่างกราฟเสิร์ช เราย่อมไม่อาจได้หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และความผิดที่อาจเป็นการสังหารล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ของกองทัพเมียนมา ต่อชาวโรฮิงญาเมื่อปลายปี 2560 เราย่อมไม่สามารถค้นหาภาพวีดิโอของโรงพยาบาลที่ถูกทิ้งระเบิดโดยรัฐบาลนายอัซซาดที่เมืองอิดลิบ ประเทศซีเรีย โดยการประมวลข้อมูลจากคำให้การของแพทย์ ซึ่งเห็นภาพของสถานพยาบาลที่ถูกทำลาย

 

แต่ตอนนี้เฟซบุ๊กปิดฟังก์ชั่นกราฟเสิร์ชไปแล้ว ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงอย่างยิ่ง

 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทโซเชียลมีเดียทรยศต่อประชาคมสิทธิมนุษยชน ช่วงกลางปี 2560 จากแรงกดดันของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้ลบเนื้อหาที่มีภาพหรือเป็นการเชิดชูการก่อการร้าย ยูทูบได้ลบคลิปวีดิโอจำนวนมากที่ถูกอัพโหลดจากซีเรีย ก่อนหน้านนั้น ซีเรียนอาร์ไคฟ์ ซึ่งเป็นเอ็นจีโอตั้งอยู่ที่เบอร์ลิน ได้จัดทำชุดวิดีโอเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามในซีเรีย โดยหวังว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการหาผู้รับผิดได้ต่อไป หน่วยงานดังกล่าวต้องสูญเสียวีดิโอหลายแสนชิ้น ซึ่งเป็นคลิปที่พลเรือนในพื้นที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปถ่ายเพื่อมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย หลังการรวมตัวและแทรกแซงของประชาคมสิทธิมนุษยชน ยูทูบผ่อนคลายท่าทีและยินยอมคืนวีดิโอบางส่วน แต่ยังคงมีนโยบายลบวีดิโอด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป หมายถึงว่า เรายังต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อรักษาวีดิโอเหล่านี้ในยูทูบ

 

กรณีที่เลวร้ายสุดคือ โซเชียลมีเดียเหล่านี้ใช้อัลกอริธึมเพื่อลบวีดิโอเหล่านี้โดยอัตโนมัติ ทันทีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนนำมาโพสต์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้สอบสวน เราไม่สามารถแจ้งยูทูบให้นำวีดิโอกลับมาไว้ที่เดิมได้ หรือไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ก่อสงครามได้ เพราะเราย่อมไม่ทราบว่ามีวีดิโอเหล่านี้อยู่เลย เนื่องจากมันถูกลบไปตั้งแต่ต้น

 

ในปี 2561 กูเกิลเอิร์ธสร้างปัญหากับประชาคมสิทธิมนุษยชน โดยลบฟังก์ชั่นสำคัญที่เรียกว่า Panoramio ออกไปจากกูเกิลเอิร์ธ โปร (หนึ่งในเครื่องมือสำคัญสองชิ้นที่ผู้สอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนโดยอาศัยข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตควรมีไว้ใช้) เป็นฟังก์ชั่นที่ช่วยให้นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน สามารถย้อนเวลากลับไปดูภาพถ่ายเก่า ๆ ที่นักท่องเที่ยวเคยถ่ายไว้ตอนไปเที่ยววันหยุดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายของเมืองอาเลปโปก่อนปี 2553 หรือภาพบางส่วนของไนจีเรียและแคเมอรูน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ได้กลายเป็นสนามรบไปเสียแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานที่ซับซ้อน ทำให้สามารถจำแนกได้ว่า ภาพวีดิโอการทิ้งระเบิดทางอากาศเกิดขึ้นที่ใด ภาพการซ้อมทรมานเกิดขึ้นที่ใด หรือจุดที่มีผู้พบเห็นเหยื่อการค้ามนุษย์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะหายตัวไป 

 

เราไม่ได้ต่อต้านนโยบายการรักษาความปลอดภัยของแพลทฟอร์มเหล่านี้ เพราะถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่เราต้องการคุ้มครองเช่นกัน แต่การยกเลิกฟังก์ชั่นเหล่านี้ไปทั้งหมด ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สมดุลเลย เป็นการแก้ปัญหาโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน และย่อมไม่ช่วยให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นต่อข้ออ้างของพวกเขาว่า สนับสนุนสิทธิมนุษยชน 

 

โฆษกเฟซบุ๊กบอกว่าทางบริษัท “หยุดให้บริการบางอย่างของกราฟเสิร์ช” และอยู่ระหว่าง “ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเขายังคงมีเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้”

 

เราพร้อมเสมอที่จะพูดคุยและทำงานกับแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเคารพความเป็นส่วนตัว และการสนับสนุนช่วยเหลือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเหยื่อจากการปฏิบัติมิชอบ ซึ่งพวกเขาล้วนแต่พยายามเผยแพร่ข้อมูลของตน ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก เราจึงหวังว่าแพลทฟอร์มเหล่านี้ จะตระหนักถึงบทบาทที่ทำได้และควรทำ เพื่อช่วยเหลือการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม