ความยุติธรรมสำหรับบิลลี่: ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบต่อการหายตัวไปของนักสิทธิมนุษยชน

17 เมษายน 2562

บทความโดย แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ต้นฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Nation

 

17 เมษายน 2562 ครบรอบห้าปี นับตั้งแต่การหายตัวไปของพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้พบเห็นเขาอีกเลย

 

ก่อนที่จะหายตัวไป บิลลี่ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง กำลังร่วมมือกับชาวบ้านคนอื่นและนักเคลื่อนไหวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านระหว่างปี 2553 และ 2554

 

ฝ่ายเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งไม่ได้บันทึกข้อมูลการควบคุมตัวของบิลลี่ยืนยันว่า ได้ปล่อยตัวเขาไปแล้ว การสอบสวนของตำรวจในพื้นที่ไม่มีความคืบหน้าในการค้นหาตัวเขา

 

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หมายถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ยอมรับว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของบุคคลที่ถูกทางการควบคุมตัว ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทารุณโหดร้าย สร้างความทุกข์ทรมานใจต่อครอบครัวและผู้ใกล้ชิด ซึ่งยังคงมีความหวังว่าบุคคลอันเป็นที่รักจะยังมีชีวิตอยู่ และยังไม่สิ้นหวังตราบที่ยังไม่สามารถค้นพบผู้สูญหายได้ 

minor-03.jpg

ภาพถ่ายโดย ยศธร ไตรยศ

 

ภายหลังการเรียกร้องเป็นเวลานานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ เป็นเหตุให้กรมสอบสวนคดีพิเศษประกาศเริ่มการสอบสวนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการให้ประกันว่า จะดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ ไม่ลำเอียง และรอบด้าน โดยต้องนำไปสู่การเยียวยาครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบทุกคนอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

 

การขาดข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของบิลลี่อย่างต่อเนื่อง และอุปสรรคที่พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาหม้ายของเขาต้องเผชิญ ในระหว่างการเรียกร้องความยุติธรรมแสดงให้เห็นว่า เรายังไม่สามารถหยุดการรณรงค์กดดันกรณีของบิลลี่ได้ เพราะความหวังที่จะเห็นความยุติธรรมยังเลือนราง

 

กรณีของบิลลี่ยังมีนัยเกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายอีกหลายกรณี ที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายในประเทศไทย และยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ

 

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่แปดเปื้อนจากการหายตัวของผู้ท้าทายอำนาจรัฐ ทนง โพธิ์อ่าน (ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทยหายตัวไปเมื่อปี 2534) และสมชาย นีละไพจิตร (ทนายความสิทธิมนุษยชนและประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมหายตัวไปเมื่อปี 2547) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 85 คนในประเทศไทยที่หายตัวไปและยังไม่ได้รับการคลี่คลาย โดยมีการรายงานข้อมูลต่อคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายของบุคคลโดยการบังคับและโดยไม่สมัครใจ

 

ความล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมกับครอบครัวของคนเหล่านี้ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศโดยรวม แม้จะเป็นความรับผิดชอบต่อบุคคลเพียงไม่กี่คน แต่ในสายตาของประชาชน ตราบที่ยังไม่มีการคลี่คลายกรณีเหล่านี้ การหายตัวไปของพวกเขาจะยังคงทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อการปกปิดข้อมูลระดับสูง การทุจริต การใช้อำนาจอย่างมิชอบ และความเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนของพลเมืองโดยรวม

 

การบังคับบุคคลให้สูญหายมักเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยควรพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเหล่านี้

 

การหายตัวไปของบุคคลทุกกรณี เน้นให้เห็นความล้มเหลวของทางการในแง่ความรับผิดชอบต่อการคุ้มครองบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเกี่ยวกับการหายตัวไปในทุกรณี เพื่อให้ความจริงรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ในปัจจุบันของบุคคลที่หายตัวไปเหล่านี้ปรากฏออกมา และเพื่อให้มีการใช้มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อบุคคลอื่นอีก

 

รัฐบาลใหม่ของไทยมีโอกาสจะทำตามคำสัญญาที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาให้ไว้ เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะแสดงให้เห็นความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาที่ทำให้ประชาชนขาดความไว้วางใจในตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำลายความมั่นใจในหลักยุติธรรม และสร้างรอยด่างต่อชื่อเสียงของประเทศในระดับสากล

 

รัฐบาลใหม่ยังควรกำหนดให้การผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังมีการแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย รัฐบาลใหม่ยังต้องปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่จะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายของบุคคลโดยการบังคับและโดยไม่สมัครใจ ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว

 

ท้ายนี้รัฐบาลต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายซึ่งยังคงอนุญาตให้มีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งการควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหา หรือนำตัวมาไต่สวนในศาล

 

วาระครบรอบการหายตัวไปของบิลลี่ เน้นให้เห็นภัยคุกคามร้ายแรงที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ ทั้งยังเผยให้เห็นความล้มเหลวของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย วันนี้ (17 เม.ย.) ควรเป็นวันที่เตือนให้รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลใหม่ ตระหนักถึงพันธกรณีของตนในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยหากจำเป็น รัฐต้องให้ความคุ้มครองอย่างเป็นผลและเป็นการเฉพาะ เพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญกับการตอบโต้ในรูปแบบใด ๆ เพียงเพราะพวกเขาต้องการให้ประเทศนี้เท่าเทียมและเป็นธรรมขึ้นเท่านั้นเอง