เสียงจากคนแปลกหน้าที่มีความหมาย หนุนนักสิทธิมนุษยชนไม่ให้โดดเดี่ยว

24 ธันวาคม 2561

บทความโดย วจนา วรรลยางกูร

ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีพลังของมนุษย์ที่จะมีความหมายเมื่อถูกใช้ถ่ายทอดความคิดความรู้สึก และจะยิ่งมีค่าเมื่อถูกใช้สร้างพลังให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันในวันที่ยากลำบากของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก การได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการยืนหยัดในหลักการที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากข้อความง่ายๆ ของคนธรรมดาที่จะสื่อสารว่าเขาหรือเธอไม่ได้ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว อันจะเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจากคนธรรมดาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

กิจกรรม Write for Rights เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้องค์กรแอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในไทยจากการเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งจดหมายหลายแสนฉบับเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับจากการประท้วงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

amnesty_infographic.png

กิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยมีทั้งการส่งจดหมายกดดันผู้มีอำนาจและการส่งจดหมายให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิจนมีหลายกรณีที่ประสบความสำเร็จ โดยขยายมาสู่การส่งข้อความทางออนไลน์หรือการใช้โซเชียลมีเดียที่ทำให้คนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

 

ผู้ที่เคยได้รับจดหมายให้กำลังใจจากการรณรงค์ของแอมเนสตี้ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในปี 2552 เนื่องจากลบความเห็นที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในเว็บบอร์ดช้าเกินไป เล่าว่าช่วงระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลที่กินเวลายาวนานหลายปี เธอได้รับจดหมายให้กำลังใจจากต่างประเทศโดยส่วนใหญ่ถูกส่งมาจาก ควิเบก แคนาดา

 

“การเห็นว่ามีคนอีกซีกโลกรับรู้เรื่องราวของเราและส่งกำลังใจมาให้เป็นพลังที่ช่วยเสริมแรงให้เรา จดหมายจำนวนมากเป็นการ์ดที่ทำในชั้นเรียนของเด็กเล็ก ส่วนตัวประทับใจกระบวนการให้ความรู้เรื่องสิทฺธิมนุษยชนต่อเด็กนักเรียน ทำให้เรื่องของเราไม่เพียงรับรู้ในหมู่ผู้ติดตามเรื่องราวในสังคม แต่เด็กตัวเล็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าสิทธิมนุษยชนผ่านเรื่องราวของเราและส่งกำลังใจมา”

 

จีรนุช เผยว่าการได้รับข้อความจากอีกซีกโลกหนึ่งทำให้เห็นว่ามีคนเข้าใจสิ่งที่ตนทำ ในเวลาที่ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในประเทศของตัวเองแต่พบว่ามีคนในสังคมอื่นมองเห็นและเชื่อในคุณค่าแบบเดียวกัน เธอเชื่อว่าคนที่

 

ออกมาต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ยืนหยัดในจุดยืนได้อย่างแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ในภาวะที่ต้องเผชิญความยากลำบาก การได้รับกำลังใจจากคนไม่รู้จักจะช่วยชุบชูใจและเป็นพลังหนุนต่อสิ่งที่เผชิญได้

 

นอกจากการส่งจดหมายให้กำลังใจต่อผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ ยังมีการรณรงค์ของแอมเนสตี้ที่ชวนสมาชิกส่งจดหมายถึงผู้มีอำนาจเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ เช่นกรณีของ รังสิมันต์ โรม หนึ่งใน 13 นักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกจองจำจากการรณรงค์เรื่องประชามติเมื่อปี 2559 ที่แอมเนสตี้ออกปฏิบัติการด่วนทั่วโลกเชิญชวนให้เขียนจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาโดยส่งไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

 

รังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะที่สังคมและคนรอบตัวบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องผิด ควรอยู่บ้านเฉยๆ และไม่ควรเห็นต่าง การได้รับเสียงสนับสนุนจากต่างประเทศช่วยยืนยันความถูกต้องในหลักการที่ทำ หากไม่มีผู้สนับสนุนจะทำให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองรู้สึกท้อถอยได้

 

“การที่คนไม่รู้จักในหลายประเทศยืนยันว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง แม้คนในสังคมจะบอกว่าผิด ผมคิดว่านี่คือวิธีหล่อหลอมจิตใจคนเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนให้มีกำลังใจในการต่อสู้ต่อไป อย่างน้อยได้ว่าขณะที่สังคมไทยทำให้คนคิดต่างกลายเป็นคนผิด แต่เมื่อออกไปนอกประเทศกลับได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ”

 

ช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการรณรงค์ออนไลน์มากขึ้น รังสิมันต์มองว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ให้คนได้แสดงออก แต่การเปิดประตูบ้านมาพบจดหมายจำนวนมากจะสร้างผลทางความรู้สึกมากกว่าตัวเลขในออนไลน์เมื่อเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่สุดท้ายไม่มีข้อสรุปว่าแบบไหนดีกว่ากันเมื่อการรณรงค์สามารถทำพร้อมกันหลายช่องทางได้เมื่อแต่ละคนมีภาระและความสะดวกที่แตกต่างกัน

 

“บางคนสะดวกออกมาเดิน บางคนส่งโปสการ์ด ลงชื่อออนไลน์ หรือจะทำทุกช่องทางก็ได้เป็นทางเลือกของคน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือ การให้คนได้แสดงออกแล้วเขามีใจร่วมกับเราต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” รังสิมันต์กล่าว

 

การเขียนข้อความให้กำลังใจสั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญที่เสริมกำลังใจให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทำงานเดินหน้าต่อ

 

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกดำเนินคดีในปี 2559 หลังให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เล่าว่า จดหมายและโปสการ์ดให้กำลังใจที่เธอได้รับจากโครงการ Write for Rights ถูกเขียนขึ้นด้วยลายมือ บางฉบับวาดภาพใบหน้าของเธอ บางฉบับพยายามเขียนด้วยภาษาไทย ข้อความเหล่านี้เขียนโดยคนที่เธอไม่รู้จัก ใส่ซอง ติดแสตมป์ส่งมาจากหลายประเทศพร้อมกำลังใจในการสนับสนุนการทำหน้าที่ของเธอในช่วงที่เจอการคุกคามทางกฎหมาย

 

“หลายครั้งที่เหนื่อยหรือท้อแล้วหยิบจดหมายขึ้นมาอ่านช่วยสร้างกำลังใจได้มากจริงๆ ทั้งที่เป็นคนไม่รู้จักกัน เป็นคนแปลกหน้าที่อยู่กันคนละที่ แต่เขาเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ เขาทำให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เป็นการสนับสนุนในหลักการ ไม่ว่าอยู่ประเทศไหนก็มีคนเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ควรปกป้องคุ้มครอง ไม่ใช่งานของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นเรื่องสากล ทำให้เราย้ำเตือนกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องปกติที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนคนก็เห็นคุณค่าร่วมกัน ย้ำให้เราอย่าหมดกำลังใจ อย่าท้อแท้”

 

ศิริกาญจน์ เห็นว่าการได้รับจดหมายที่เป็นกระดาษเป็นสิ่งที่มีค่ามากในยุคนี้และจะกลายเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งเมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่แล้วพบปัญหา ยังมีคนมากมายตั้งใจเขียนจดหมายส่งมาให้กำลังใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าการรณรงค์ออนไลน์จะไม่มีผล เนื่องจากเป็นช่องทางที่คนเข้าถึงได้กว้าง การทำทั้งสองทางจะยิ่งสร้างผลมากขึ้น

 

“เห็นความตั้งใจของคนที่ส่งจดหมายให้เรา ถ้าเขาชื่นชมว่าเรากล้าหาญ เราก็คิดว่าเขากล้าหาญเช่นกัน เขากล้าหาญที่จะไม่ละเลย ทั้งที่อยู่ไกลกันมาก แต่เขาสนใจและให้กำลังใจ”

 

ส่วนการเขียนจดหมายเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจปล่อยตัวนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุมขัง ศิริกาญจน์มองว่าสิ่งสำคัญคือเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจเป็นจุดเริ่มของการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่แม้ใช้เวลานานแต่ก็มีกรณีที่สำเร็จ ดีกว่าปล่อยให้การคุกคามเกิดขึ้นแล้วเงียบหายไป

 

ในกรณีของเธอหลังการรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีหน่วยงานรัฐของไทยติดต่อมาว่าได้รับจดหมายเรียกร้องจากประชาชนในต่างประเทศให้ตรวจสอบการดำเนินคดีที่เกิดขึ้น จึงเชิญเธอไปให้ข้อมูล แสดงว่าจดหมายจากคนธรรมดาสามารถทำให้รัฐสนใจได้ โดยมีจดหมายให้เจ้าหน้าที่อ้างอิงในการดำเนินการ ซึ่งเธอเชื่อว่าเมื่อมีจดหมายส่งไปจำนวนมากจะต้องมีฉบับที่ทางการเปิดอ่าน

 

สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือการสนับสนุนจากคนที่เห็นความสำคัญของหน้าที่นี้

 

“การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่จบสิ้น ต้องทำไปเรื่อยๆ การได้รับกำลังใจจะเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นด้วย ทั้งคนที่เราให้การช่วยเหลือและทีมงานที่ทำหน้าที่คล้ายเรา จากข้อความง่ายๆ ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วและคุณไม่ได้ทำอยู่คนเดียว มีคนอีกมากมายในโลกที่สนับสนุนให้เราทำสิ่งแบบนี้” ศิริกาญจน์กล่าว

 

คนธรรมดาเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยข้อความสั้นๆ ที่จะร่วมกันยืนยันในหลักการของผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและจะเป็นแรงหนุนให้ผู้ที่ถูกคุกคามมีกำลังใจในการทำหน้าที่ต่อไป

 

ลงชื่อรณรงค์เลย!