“วิบากกรรมผู้ลี้ภัยในสังคมไทย” 

14 มิถุนายน 2561

เรื่องและภาพ: หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


หนังสือภาษาอังกฤษกองโตที่ผู้เขียนได้รับบริจาคจากผู้ชมและผู้อ่าน หลังนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในเมืองไทย ที่ลูกๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงินไปโรงเรียนและต้องอยู่แต่ภายในห้องแคบๆ ศึกษาด้วยตัวเอง

 

“หนังสือ” เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า คนไทยส่วนหนึ่งมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในแผ่นดินไทยอยู่พอสมควร

 

พวกเขาต้องการให้นำไปบริจาคให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในวัยเรียน

 

S__26492941.jpg

S__26492944.jpg


แต่ก็มีคนไทยจำนวนมากที่ยังแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียว่า “ไม่ควรให้คนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย”

 

บ้างบอกว่า “ผู้ลี้ภัยจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยมากขึ้น”

 

จากที่ผู้เขียนได้ติดตามเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมาระยะเวลาหนึ่ง ทราบว่า ตอนนี้มีผู้อยู่บัญชีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประมาณ 6 พันคน

 

บุคคลเหล่านี้ต้องการเพียงแค่พักอยู่กรุงเทพฯ ชั่วคราวก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3


เราทราบข้อมูลว่า นอกจากคนในบัญชีแล้ว...ยังมีคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีอีกเป็นจำนวนมาก


พวกเขาเหล่านี้อยู่อย่างไร ?


จากคำบอกเล่า “พวกเขาอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ”

 

เพราะแม้กระทั่งคนที่มีบัตรที่ UNHCR ออกให้ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและพวกเขาทำงานแบบถูกกฎหมายไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน

 

เราได้พูดคุยกับชาวอัฟกานิสถานคนหนึ่ง จบด้านเภสัชศาสตร์และมาลี้ภัยในกรุงเทพมหานคร เขาเล่าประสบการณ์หลังจากตำรวจรู้ว่า เขาเป็นผู้ลี้ภัย


“ผมถูกนำตัวไปสถานีตำรวจ จากนั้นผมก็โทรประสานงานเจ้าหน้าที่จาก UNHCR แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ตอนนั้นผมเห็นสถานการณ์ไม่ค่อยดี จึงถามตำรวจไปว่า ทำอย่างไรคุณจะปล่อยผม เขาบอกว่า ถ้าผมช่วยคุณ คุณต้องช่วยผม สุดท้ายผมต้องจ่ายเงินไปหนึ่งหมื่นบาทเพื่อแลกกับการถูกปล่อยตัว” 

ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานคนนี้ลี้ภัยในเมืองไทยได้ประมาณหนึ่งปี ด้วยเหตุผลทางศาสนาและการเมือง เพราะเขาอยู่กับเหตุการณ์ที่เลวร้ายนับตั้งแต่สงครามเกิดขึ้นเมื่อปี 2544


ครั้งนั้นสหรัฐอเมริกาปฏิบัติการโจมตีกลุ่มก่ออัลกออิดะฮ์ โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการตัวโอซามะห์ บิน ลาเดน หลังทราบข้อมูลว่า เป็นอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หรือเหตุการณ์ 9/11


นับจากวันนั้นอัฟกานิสถานก็ไม่เคยมี “สันติภาพ” อีกเลย ขณะเดียวจำนวนผู้บาดบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วนับแสนคน

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยที่ต้องผ่านวิบากกรรมการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่... “ประเทศไทย” 

 

แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ UNHCR ประจำประเทศไทยจะพยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 เพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้รับรองสิทธิตามอนุสัญญา แต่ก็ไม่เป็นผล


เพราะสุดท้ายพวกเขาก็ยังถูกมองว่า “เป็นบุคคลที่หลบหนีเข้าเมือง แม้จะมีบัตรที่ UNHCR ออกให้ก็ตาม”

ขณะเดียวกันพวกเขาต้องรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง


“แต่ละปีจะสามารถส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 ได้เพียง 1 % เท่านั้น” เป็นคำชี้แจงจาก ฮัลนาห์ แมคโดนัลด์ ผู้แทน UNHCR ประเทศไทย


จากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในเมืองไทยตอนนี้พวกเขาต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด เพราะลำเพียงเงินสนับสนุนจาก UUHCR ครอบครัวละ 1,500 บาทไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลายชีวิตจึงต้องหาเลี้ยงชีพตัวเอง บ้างก็ขายอาหาร บ้างก็เป็นแรงงานรับจ้างสารพัด


“พวกเราไม่ได้เป็นบุคคลอันตราย เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย พวกเรามาที่นี่เพราะรู้สึกปลอดภัยกว่าอยู่ประเทศของเราและพวกเราต้องการไปประเทศอื่น ไม่ได้ต้องการอยู่เมืองไทย”

เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่บอกกับเราเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทยต่อผู้ลี้ภัย