เมย์ นริศราวัลถ์ กับ 8 ปีของชีวิตที่ผูกติดกับกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า

14 กันยายน 2561

สัมภาษณ์และถ่ายภาพโดย วิรดา แซ่ลิ่ม

รถตู้จากสายใต้ไปกาญจนบุรีรอบนี้ถึงช้ากว่าครั้งก่อน ข้อดีคือการเดินทางที่ยาวนานช่วยเพิ่มเวลาให้เมย์ได้เคลียร์งานที่คั่งค้างได้ไม่น้อย ภารกิจจัดประชุมรอเธออยู่ และถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ ว่าชีวิตของหญิงสาวที่นั่งอยู่ท้ายรถตู้คันนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้มากมาย

 

จากนักศึกษาปีสองที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชายที่เสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานขณะเกณฑ์ทหาร ทุกวันนี้ เมย์ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์อยู่ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตลอด 8 ปีของการเดินทางบนกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า หากเปรียบการต่อสู้ครั้งนี้กับเด็ก 8 ขวบ น่าสนใจว่าเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมากับความบอบช้ำจะมีความเป็นธรรมมอบคืนให้กับสังคมที่ตนเติบโตมาได้อย่างไร

 

ก่อนงานประชุมจะเริ่ม เราชวนเมย์คุยเรื่องเด็ก 8 ขวบคนนี้ ในฐานะเครื่องสะท้อนชีวิตที่ผ่านมาและกำลังดำเนินไปของเธอ

 

คดีตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

 

ยังรออัยการตัดสินอยู่ เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายก่อน แต่ถ้ามันเกินช่วงเดือนกรกฎา เราอาจจะต้องออกมาเคลื่อนไหวอีกรอบหนึ่ง เพราะว่ามันอยู่ที่อัยการมาสองปีแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่จะรอแล้วค่ะ แทนที่จะมีคำตัดสินว่าคุณเป็นจำเลยหรือคุณหลุดพ้นจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหา มันก็ไม่มีความชัดเจน อีกอย่างหนึ่งเราก็กลัวว่าอัยการสูงสุดจะเกษียณเป็นคนที่สาม

IMG_5099.JPG

ต้องอยู่กับความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมแบบนี้มันส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างไร?

 

เรามองว่าความล่าช้ามันก็คือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง การที่ต้องมานั่งรอว่าเรากระทำความผิดไหมทั้งที่มันสามารถพิสูจน์ได้เลย มันมีหลักฐานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตำรวจหรือข้อเท็จจริงทุกอย่าง มันน่าจะมีคำตอบให้เราชัดเจน คือเรายังไม่ได้ร้องขอว่าเราต้องไม่ถูกฟ้องนะ แต่เราร้องขอแค่ว่าขอให้มีคำตัดสิน เพราะว่าการรอคอย คนรอมันย่อมทรมานอยู่แล้ว วันนี้ 8 ปีแล้วกับการที่พลทหารวิเชียรเสียไป ถ้าเป็นเด็กก็คือ วิ่งเล่น เข้าป.1 แล้วนะคะ เหมือนพอเราไม่เดิน ไม่มีบทบาท กระบวนการยุติธรรมก็หยุดนิ่ง มันเหมือนการที่คุณจะเดินได้ต้องรอให้ประชาชนผู้เสียหายลุกขึ้นมาเรียกร้องเองเหรอ?

 

ถามว่า 8 ปีที่ใช้เวลาในการสืบหาข้อเท็จจริง ถ้าถามคนปฏิบัติงานเขาก็อาจจะบอกว่ามันไม่นาน แต่ตัวของผู้เสียหายหรือตัวของคนที่ได้รับผลกระทบ มุมมองหนึ่งก็คือ ถ้าเขาเป็นผู้ต้องหาแล้วเขาไม่ได้ผิด 8 ปีเขาก็ต้องโดนพักราชการอยู่อย่างนั้นหรือ? เราเลยอยากถามว่าสุดท้ายแล้ว คนที่เป็นผู้เสียหายต้องเป็นคนที่ลุกขึ้นมาเป็นพนักงานสอบสวนด้วยการหาข้อเท็จจริงเองใช่ไหม จากนั้นเมื่อมาอยู่ในชั้นของอัยการก็ต้องมาร้องขอหาข้อเท็จจริงว่าคนนี้มีความผิดมากกว่านี้หรือเปล่า กลายเป็นว่าเราต้องมาทำหน้าที่นั้นแทน ตอนนี้คดีอยู่ที่อัยการสูงสุด เราก็อยากถามกลับไปว่า วันนี้ท่านขาดอะไร? ขาดข้อมูลด้านไหน? คือเราไม่เคยได้เรียกชี้แจง เรามีแค่ยื่นหนังสือไป ไม่เคยได้เข้าไปพูดคุย แต่เอกสารทุกอย่างที่เขาขอเราก็ประสานไปตลอด ซึ่งมันนำส่งไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เราโทรไปถามเขาก็บอกว่าอยู่ที่การพิจารณาของอัยการสูงสุด แต่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าเมื่อไหร่

 

ยกตัวอย่างว่าเรามาทำงานกรมเด็กฯ เนอะ ถ้าเราปล่อยให้เด็กคนหนึ่งรออยู่ 8 ปีอย่างนี้มันจะเป็นยังไง ถ้าเด็กคนนั้นกำลังเผชิญความรุนแรงหรือรูปแบบของการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ชอบ หรือถูกกระทำอยู่ แล้วคนที่เป็นหน่วยงานรัฐหรือเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำเช่นเดียวกับที่กระบวนการยุติธรรมทำกับเรา  เด็กคนนั้นจะเป็นยังไง? มันสะท้อนจริงๆ นะคะว่าการจะเปลี่ยนให้คนดีกลายเป็นคนเลวมันง่ายขึ้นเพราะกระบวนการยุติธรรมที่บีบบังคับให้เขาไม่มีทางสู้ ในเมื่อเขาเดินตามขั้นตอนทุกอย่างแล้วแต่กระบวนการยุติธรรมไม่เอื้อให้เขา ความเพิกเฉย ความล่าช้าทุกอย่าง มันทำให้คนๆ หนึ่งเปลี่ยนมุมมองไปในด้านลบและเลือกทำในสิ่งที่เรียกว่าศาลเตี้ยแทนได้

 

เมย์เป็นทั้งโจทก์ที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แต่ก็ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นมันส่งผลต่อการต่อสู้ครั้งนี้อย่างไร?

 

พอเรามาเป็นจำเลย เราก็มองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ตัวของจำเลยในคดีน้าเรา เขาเป็นจำเลยแท้ๆ ไหม เขาเป็นผู้กระทำความผิดจริงๆ ไหม จริงๆ อัยการทหารสามารถตัดสินได้ตั้งนานแล้ว แต่เราเลือกที่จะชะลอเพื่อให้หาข้อเท็จจริงเนื่องจากเราค่อนข้างมีความเชื่อว่า ในคดีของเรา สิบนายที่ถูกกล่าวหา มีบางรายไม่ได้กระทำความผิด ตอนนี้อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง 8 นาย ฟ้อง 2 นาย มันก็ถามกลับมาว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาตลอด 7 ปีมันเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคำฟ้องของอัยการ ศาลจะตัดสินยังไง แต่มันจะต้องมีบุคคลที่รับผิดชอบคนที่ไม่ได้กระทำความผิด และคนที่กระทำความผิดก็ต้องถูกทำโทษ

 

ไม่ใช่ว่าเราไม่ให้โอกาส แต่โอกาสต้องมาหลังจากคุณได้รับความผิดตามกฎหมายก่อน อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกคน เมื่อคุณเข้าสู่กระบวนการรับโทษ หลังจากนั้นคุณจะทำความดี ขออภัยโทษเราก็ไม่ว่า แต่อันดับแรกคุณต้องเข้าสู่กระบวนการ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำมันให้ได้ แต่เราก็ยังทำไม่ได้

 

IMG_4834.JPG

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ในวันนั้น?

 

จุดเริ่มต้นของเรามาจากเรื่องของพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเป็นน้าชายของเราไปเกณฑ์ทหารแล้วโดนครูฝึกซ้อมจนเสียชีวิต ตรงนี้เป็นเรื่องราวของเรา เป็นการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม สิ่งสำคัญคือเรามองว่า ทำยังไงไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนอื่น เพราะตัวเราก็ยังมีน้องชาย ซึ่งเขาไม่ได้เรียนรด. เราก็รู้อยู่แล้วว่าวันข้างหน้าเขาจะต้องเกณฑ์ทหาร ถ้าโชคดี เขาจับใบดำใบแดงแล้วไม่ได้เป็น แต่ถ้าโชคร้าย เขาจับแล้วได้เป็น แล้วเกิดกรณีแบบน้าชาย เขาต้องกลับมาเป็นศพที่สองเหรอ? นี่คือสิ่งที่ทำให้เราลุกขึ้น วันนี้น้าเราเสียแล้ว เราไม่ได้รับความยุติธรรมแล้ว แต่ถ้าวันข้างหน้าเป็นน้องชายเราล่ะ เราจะทำใจได้ไหม?

 

อีกเหตุผลสำคัญคือ ทุกคนมองว่าเราทำไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะมาอยู่ตรงนี้ได้ ทุกคนคิดว่าเราจะเสียชีวิตตั้งแต่สองปีแรกที่เราออกมาเรียกร้อง แต่เราเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่าภายใต้ความไม่ดีมันยังมีสิ่งที่ดีอยู่ แม้ว่าคนที่กระทำความผิดจะมีอิทธิพลแค่ไหน แต่เราก็เชื่อว่าภายในหน่วยงาเนดียวกัน หรือภายในสังคม มันยังมีคนที่เลือกความถูกต้อง แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรก็พร้อมจะยื่นมือเข้ามา ซึ่งตรงนั้นคือสิ่งที่เราเจอ

 

8 ปีผ่านมาเราเรียนรู้ หรือมองเห็นอะไรบ้าง?

 

เด็กปีสองต้องเผชิญกับการหาข้อเท็จจริงว่าน้าเสียชีวิตจากลูกนายพลจริงไหม ต้องมาร้องเรียน มาฟ้องร้องกองทัพ ตอนนั้นฟ้องทั้งคดีแพ่ง และอาญาพร้อมกัน คดีแพ่งเราฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักนายกฯ เพื่อเรียกสินไหมทดแทน ก็ต้องขึ้นศาลแพ่งกัน ต้องเทียวไปเทียวมาเรื่องข้อมูลและเงินชดเชยทั้งหลาย รวมถึงต้องระวังเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว การถูกคุกคาม มันทำให้เราเองได้เรียนรู้จาก 8 ปีเคสของน้าเรา จากทัศนคติแรกที่เราแค่ต้องการตัวของผู้กระทความผิด รู้อยู่แล้วว่าใครทำก็จะเอาตัวคนนั้น กลายเป็นว่าเวลาผ่านไป ช่วงสองปีแรกเราก็ย้อนถามตัวเองว่าเราเอาคนผิดมาลงโทษแล้วมันทำให้น้าเราฟื้นไหม?

 

เราเองเรียนสังคมสงเคราะห์ เขาก็สอนให้ให้โอกาสผู้กระทำความผิด แต่เรามองว่าการจะให้โอกาสคนกระทำความผิดหนึ่งคือเขาต้องมีสามัญสำนึก สองคือเขาต้องได้รับโทษตามกฎหมายก่อน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  สิ่งสำคัญคือมันต้องมีตัวอย่างให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะตำแหน่งใหญ่แค่ไหน เมื่อกระทำความผิดแล้วคุณต้องได้รับโทษ หลักสำคัญที่เราทำทุกวันนี้ คือเราอยากจะทำให้สังคมเห็นว่ามันต้องมีบรรทัดฐานบางอย่างเกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีใครคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมา วันข้างหน้าทุกคนก็จะเพิกเฉย มองว่ายังไงก็สู้ไม่ได้ ยังไงก็ไม่สามารถสู้อำนาจอิทธิพล สู้เงิน สู้พวกพ้องได้ ทุกคนก็จะมีข้อจำกัดแบบนี้ แต่พอมันมีใครสักคนที่กล้าลุกขึ้นมาโดยที่เขาไม่ได้สนว่าอีกฝ่ายเป็นใคร แต่เลือกที่จะเดินตามความถูกต้อง มันก็ทำให้ทุกคนกล้าที่จะลุกขึ้น

 

วันนี้ถามว่าเคสการซ้อมพลทหารลดลงไหม มันไม่สามารถลดลงได้ร้อยเปอเซ็นต์ เนื่องจากทุกคนถูกหล่อหลอมมาจากสังคมที่ต่างกัน ร้อยพ่อพันแม่ กองทัพเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เอาไปขัดเกลา เขาก็มีนโยบายตอบสนองมาชัดเจนว่าห้ามถูกเนื้อต้องตัว ห้ามกระทำความรุนแรงกับพลทหาร มีคำสั่งชัดเจน แต่มันก็มีบางบุคคลที่กระทำ แต่วันนี้สิ่งที่กองทัพตอบโจทย์เราคือ เมื่อมันเกิดขึ้น มีการจัดการที่รวดเร็วขึ้น สองคือมีการให้ความยุติธรรมโดยที่ไม่เพิกเฉย นั่นคือสิ่งที่เรามองว่ากองทัพมีการปรับปรุง แม้ว่ามันจะเป็นค่ายทหารที่อยู่ภายใต้กองทัพ แต่กองทัพเองก็ไม่สามารถไปดูได้ทั้งหมด มันขึ้นอยู่กับบุคลลที่อยู่ในนั้นด้วย ถ้าคุณโดนครูฝึกกระทำ คุณรวมตัวกันสิ ไม่ใช่ว่าทั้งค่ายจะเลวร้ายทั้งค่าย คุณแค่แจ้งคนระดับที่สูงกว่า มันก็จะช่วยปกป้อง ไม่ใช่ปล่อยให้คนๆ เดียวลุกขึ้นมาต่อสู้ มันก็จะทำให้เขาเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณรวมพลังกันทั้งหมดเลย เขาจะกล้าเหรอ ในเมื่อมันขัดต่อคำสั่ง

 

เคสของพลทหารวิเชียร วันนั้นไม่มีใครลุกขึ้นมา ทุกคนเลือกที่จะก้มหน้ารับ มันก็เลยทำให้เกิดแบบนี้ แต่พอพลทหารวิเชียรเสียชีวิตแล้ว อย่างน้อยกองทัพเองเข้ามามีส่วนในการเฝ้าระวัง มีการป้องกันมากขึ้น รวมถึงพลทหารเองรู้สิทธิของตัวเอง รู้ว่าตัวเองควรจะทำยังไง มันจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ตรงนี้คือสิ่งสำคัญมากกว่า

IMG_5079.JPG

 

ใครๆ ก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้จริงไหม?

 

เราอาจจะให้นิยามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้คือเมื่อคุณเห็นความไม่ถูกต้องหรืออะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิ ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเราควรลุกขึ้นมา พึ่งตัวเองก่อน แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่นเราก็ประเมินสถานการณ์ว่าเราช่วยได้ไหม ถ้าทำไม่ได้เราก็ไม่เพิกเฉยนะคะ เราก็แจ้งไปยังหน่วยงานหรือคนที่มีอำนาจมากกว่า แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่เพิกเฉยกับการที่มีการละเมิดเกิดขึ้น

 

ทุกคนสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิได้ ช่วยเหลือคนอื่นได้ ขอแค่ก้าวข้ามความกลัวออกมา ก้าวข้ามความรู้สึกว่าเราทำไม่ได้ ออกมาจากตรงนั้น แล้วลุกขึ้นมาทำดู ได้หรือไม่ได้มันไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่อย่างน้อยเราจะไม่มานั่งเสียใจว่าทำไมเราไม่ทำมันตั้งแต่วันนั้น

 

หลายๆ คนอาจจะมองเราว่าเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า แต่เรามองว่าเราแค่ทำตามบทบาทหนึ่งที่สังคมควรจะมี คือการรักษาความถูกต้อง ความยุติธรรม การไม่เพิกเฉยต่อความไม่ถูกต้อง